ตามรอยละครพรหมลิขิต กับพิกัดที่เที่ยวอยุธยา 2566

           พิกัดเที่ยวอยุธยาตามรอยละครดังแห่งปี พรหมลิขิต ชมวัดสวย เมืองเก่าไปพร้อม ๆ กัน ออเจ้าทั้งหลายเตรียมไปเที่ยวกันได้แล้วหนา
           ที่เที่ยวอยุธยา 2566 กลายมาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากเป็นกระแสดังอย่างต่อเนื่อง กับละครเรื่อง พรหมลิขิต ซึ่งเป็นภาคต่อจากละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ละครที่แฝงความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ทำให้หลายคนสนใจออกเดินทางท่องเที่ยวตามรอยพรหมลิขิต ใส่ชุดไทยไปเที่ยวตามวัดวาอารามที่อยุธยา ไปจนถึงเมนูอาหารรสเด็ดจากละคร เพื่อให้ได้อรรถรสของการชมละครมากขึ้น จะมีที่ไหนน่าเที่ยวตามรอยละครพรหมลิขิตบ้าง เรามีข้อมูลมาฝาก ดังนี้
เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : ch3plus.com

ตามรอยละครพรหมลิขิต

ภาพจาก : ch3plus.com

ที่เที่ยวอยุธยา
ตามรอยละครพรหมลิขิต

1. วัดไชยวัฒนาราม

          วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกของเกาะเมือง เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีการนำรูปแบบแผนผังของวัดมาจากนครวัด มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลางตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีปรางค์บริวารอยู่รายล้อม ระเบียงคดภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 120 องค์ อีกทั้งเป็นสถานที่ที่ปรากฏทั้งในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส และ พรหมลิขิต โดยเรือนของพระยาวิสูตรสาคร หรือคุณพี่เดช ตั้งอยู่ริมคลองใกล้กับวัดแห่งนี้นั่นเอง
เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

         จุดเช็กอินยอดฮิตที่พลาดไม่ได้สำหรับวัดไชยวัฒนาราม คือ ปรางค์ประธานองค์ใหญ่เด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง มีปรางค์บริวารอยู่รอบ ๆ พร้อมกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยในช่วงระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2566 (เฉพาะวันศุกร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ) กำลังมีการจัดงาน “ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม” เพื่อให้ทุกคนได้ยลโฉมความงามของโบราณสถานยามค่ำคืน ผ่านการประดับเเสงสีอย่างสวยงามรอบบริเวณวัดด้วย
 

ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม แต่งชุดไทย ชมแสงสีตระการตายามค่ำคืน

2. วัดพุทไธศวรรย์

           พระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์ ปรากฏตามตำนานว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่ตั้งพลับพลาที่ประทับ เมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่ตรงนี้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า ตำบลเวียงเล็ก หรือเวียงเหล็ก ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จฯ มาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม และพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็คงจะโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง 
เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

          วัดพุทไธศวรรย์ มีการวางผังตามความนิยมของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ มีพระปรางค์องค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง ระเบียงคดล้อมรอบ ภายในระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นเรียงรายอยู่โดยรอบ ด้านข้างพระปรางค์มีมณฑปข้าง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ส่วนด้านหน้ามีพระวิหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธาน ด้านหลังเป็นโบสถ์ นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมล้ำค่าสมัยอยุธยาตอนปลายอยู่ภายในพระตําหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ที่นับได้ว่าเป็นงานศิลป์อันซีนอยุธยา
          ทั้งนี้ วัดพุทไธศวรรย์ ปรากฏอยู่ในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ในฉากสถานที่ฝึกดาบของท่านอาจารย์ชีปะขาว ส่วนในเรื่อง พรหมลิขิต เป็นฉากในพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม
เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : ch3plus.com

3. วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร

          วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ภายในกำแพงกรุงศรีอยุธยาทางทิศใต้ ริมป้อมเพชร ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดประจำตระกูลราชวงศ์จักรี เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดทอง” เป็นวัดที่พระบรมมหาชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงสร้างไว้สมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดนั้น ตัวโบสถ์จะตกท้องช้าง ทำให้คล้ายท้องเรือสำเภา ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปิดทองปางมารวิชัย มีจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่เขียนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งได้รับการบูรณะมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

          ส่วนวิหารเป็นอาคารที่สร้างขึ้นในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจมาดูภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างมาก เพราะเป็นภาพเขียนสีน้ำมันฝีมือของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตร เป็นภาพเรื่องพระราชพงศาวดารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพเขียนที่มีความเหมือนจริง มีใบหน้า ร่างกาย กล้ามเนื้อและสัดส่วนตามสรีระของบุคคลจริง อันมีอิทธิพลมาจากตะวันตกและได้นำมาประยุกต์ใช้ในจิตรกรรมไทย ซึ่งเชื่อว่าเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

          ทั้งนี้ วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เป็นจุดถ่ายทำละครเรื่อง พรหมลิขิต ในฉากพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม และตอนที่แม่แก้วและแม่ปรางมากราบพระในวัด

วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมจิตรกรรมฝาผนัง

4. พระราชวังโบราณ และวัดพระศรีสรรเพชญ์

          พระราชวังโบราณ หรือ พระราชวังหลวง ที่ปรากฏในพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันคงเหลือแต่ฐานอาคารให้เห็นเท่านั้น สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ มีการสร้างพระที่นั่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายครั้งตลอดระยะเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

          ไม่ไกลจากพระราชวังโบราณ คือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวง เทียบได้กับ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร หรือ วัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในปัจจุบันยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่งดงามและทรงคุณค่า ภายในมีเจดีย์ทรงลังกาจำนวน 3 องค์ วางตัวเรียงยาวตลอดทิศตะวันออกและทิศตะวันตก สร้างขึ้นเป็นองค์แรกทางฝั่งตะวันออก โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พระราชบิดา) ต่อมาทรงให้สร้างเจดีย์องค์ต่อมา (องค์กลาง) เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) และเจดีย์ฝั่งตะวันตก สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร) เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระราชบิดา) รวมเป็น 3 องค์ตามที่เห็นในปัจจุบัน

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

วัดพระศรีสรรเพชญ์อยู่ติดกับพระราชวังโบราณ

          ทั้งนี้ วัดพระศรีสรรเพชญ์ และพระราชวังโบราณ ถือเป็นโบราณสถานสำคัญ ที่แต่เดิมคือที่ตั้งของพระราชวังโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในเรื่องพรหมลิขิตนั้น เกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการถ่ายทำฉากสำคัญต่าง ๆ เช่น วันที่ทำพิธีราชาภิเษกพระเพทราชา 
ตามรอยละครพรหมลิขิต

ภาพจาก ch3plus.com

ตามรอยละครพรหมลิขิต

ภาพจาก ch3plus.com

5. วัดย่านอ่างทอง (จุฬาโลก)

          วัดย่านอ่างทอง หรือเดิมชื่อ วัดจุฬาโลก เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ตำบลบ้านใหญ่ อำเภอผักไห่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่หากพิจารณาจากภูมิศาสตร์พื้นที่ของวัด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เพราะแม่น้ำน้อยถือเป็นเส้นทางสัญจรหลักที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่สามารถเชื่อมโยงกับหัวเมืองที่สำคัญทางตอนเหนือ ได้แก่ เมืองแพรกศรีราชา เมืองชัยนาท เมืองพระบาง (นครสวรรค์) ดังปรากฏอยู่ตามหลักฐานต่าง ๆ เช่น แผนที่ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เป็นต้น

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก วัดย่านอ่างทอง-จุฬาโลก

          วัดย่านอ่างทอง เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำฉากที่พุดตาน (ตอนเด็ก) มาพบคุณยายสิปาง รวมทั้งยังใช้เป็นฉากถ่ายทำวัดชานเมืองที่พระเรืองฤทธิ์พำนักอยู่ด้วย
เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : ch3plus.com

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : ch3plus.com

6. วัดพระงาม คลองสระบัว

         วัดพระงาม หรือ วัดชะราม เป็นโบราณสถานในกลุ่มโบราณสถานคลองสระบัว นอกเกาะเมืองอยุธยา ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสระบัว ไม่ปรากฏหลักฐานตามเอกสารว่าวัดพระงามสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากการขุดค้นทางโบราณคดีและการวางผังของวัด เป็นแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้น และเป็นที่นิยมในกลุ่มศิลปะจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบ มีเจดีย์ประธานอยู่หน้าโบสถ์ เป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานสี่เหลี่ยมซ้อนอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม ทั้งนี้ สันนิษฐานว่า วัดพระงาม น่าจะถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 231

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

          ไฮไลต์ของวัดแห่งนี้คือ ซุ้มประตูแห่งกาลเวลา สถานที่ที่ปรากฏในละครเรื่อง พรหมลิขิต ฉากเปิดตัวที่แม่พุดตานขี่สกูตเตอร์ผ่าน เป็นซุ้มประตูโค้งรูปกลีบบัวที่ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกเมื่อคราวที่น่าจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซุ้มประตูนี้ก่อด้วยอิฐ และมีเสน่ห์ที่โดดเด่นคือ มีต้นโพธิ์อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี โอบล้อมและเลื้อยพันปกคลุมอยู่ โดยเฉพาะยามเย็นประมาณ 16.30 น. ที่แสงอาทิตย์อัสดงส่องลอดประตูออกมา
เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : ch3plus.com

7. วัดพระราม

          หนึ่งในสถานที่ที่พุดตานขี่สกูตเตอร์เที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดย วัดพระราม เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเขตพระราชวังทางด้านทิศตะวันออก อยู่ใจกลางเกาะเมืองเก่าอยุธยา ใกล้กับสวนสาธารณะพระราม มีพระปรางค์ขนาดใหญ่เห็นเด่นชัดแต่ไกล องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐสอปูน เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมทำเป็นพระปรางค์ เพราะได้รับอิทธิพลแบบเขมรโบราณจากเมืองละโว้ (ลพบุรี)

          สมเด็จพระราเมศวร โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระราชบิดา วัดนี้มีบึงขนาดใหญ่อยู่หน้าวัด เมื่อมีการสร้างกรุงศรีอยุธยา คงจะมีการขุดเอาดินในหนองมาถมพื้นที่วังและวัด พื้นที่ที่ขุดเอาดินมาได้กลายเป็นบึงใหญ่ บึงมีชื่อปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่า บึงชีขัน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บึงพระราม ปัจจุบันคือ สวนสาธารณะบึงพระราม ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : ch3plus.com

8. วัดนก (โบราณสถานร้าง)

          วัดนก วัดร้างที่ตั้งอยู่ในตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัดมหาธาตุ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง โดยได้ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าเป็นที่พำนักจำพรรษาของ พระมหาเถรคันฉ่อง หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกวาดต้อนครอบครัวมอญลงมาหลังจากประกาศอิสรภาพ ส่วนพระยาเกียรติ พระยาราม โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดขุนแสน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดนกเป็นโบราณสถาน และได้ทำการขุดแต่งบูรณปฏิสังขรณ์ โดยโบราณสถานของวัดที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือพระปรางค์กับพระวิหาร 

          สถานที่แห่งนี้ถูกใช้ถ่ายทำฉากที่พุดตานขี่สกูตเตอร์เที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอีกเช่นกัน

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : ch3plus.com

9. วัดบรมพุทธาราม

           วัดบรมพุทธาราม ตั้งอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณในเขตเกาะเมืองอยุธยา ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อราว พ.ศ. 2232 เป็นวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง สร้างโดยพระเพทราชา ในพระราชพงศาวดารบันทึกเอาไว้ว่า สมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯ ให้หมื่นจันทรา ช่างทำเครื่องเคลือบที่ฝีมือดีมากในขณะนั้น ทำกระเบื้องเคลือบมุงหลังคาโบสถ์และวิหารด้วยสีทอง เป็นที่แปลกตาจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัด ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่า วัดกระเบื้องเคลือบ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีการบูรณะซ่อมแซมและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อ พ.ศ. 2526 แท่นชุกชีก่อฐานสูงเพื่อให้เกิดความโดดเด่นของพระประธาน ในฐานะศูนย์กลางจักรวาล นอกจากนี้บริเวณฝาผนังของอุโบสถยังเคยมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรงดงาม แต่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา อีกทั้งถูกพม่าเผาในคราวเสียกรุง
เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : amnat30 / Shutterstock.com

10. วัดพนัญเชิงวรวิหาร

          วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดเก่าแก่ที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง จากหนังสือพงศาวดารเหนือนั้นกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิง ส่วนในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐก็บอกไว้อีกว่า ได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปชื่อ พระเจ้าพแนงเชิง เมื่อปี พ.ศ. 1867 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

          เมื่อมาวัดพนัญเชิงวรวิหาร ต้องไม่พลาดมากราบไหว้สักการะขอพรกับ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปทองคำสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ประทับนั่งอยู่ในท่าขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 19 เมตร ลงรักปิดทองอย่างสวยงาม อีกทั้งหลวงพ่อโตยังเป็นพระองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชาวจีนมากอีกด้วย โดยจะเรียกกันเป็นภาษาจีนว่า ซำปอกง เลยทำให้มีผู้ศรัทธาเดินทางมากราบไหว้บูชากันเป็นจำนวนมาก
          สำหรับวัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ถูกเอ่ยถึงในฉากที่ พระยาวิสูตรสาคร เอ่ยถามแม่หญิงการะเกดเกี่ยวกับในเวลาข้างหน้าอยุธยายังอยู่ดีหรือไม่
เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : ch3plus.com

11. วัดกุฎีดาว

           วัดกุฏีดาว เป็นวัดร้างที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมือง ทางด้านทิศตะวันออกของสถานีรถไฟพระนครศรีอยุธยา มีลักษณะรูปแบบศิลปะคล้ายกับวัดหลวงในสมัยอยุธยาตอนปลาย ปรากฏร่องรอยฝีมือการสร้างอย่างงดงามตามอย่างศิลปะสมัยอยุธยา แต่ประวัติการก่อสร้างวัดนั้นไม่ปรากฏชัดเจน นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นรุ่นราวคราวเดียวกับการสร้างวัดมเหยงคณ์
เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

12. วัดมเหยงคณ์

          วัดมเหยงคณ์ พระอารามที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมือง ทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณเดียวกับวัดช้างและวัดสีกาสมุด เคยเป็นวัดหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระที่สำคัญ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) โดยสมเด็จพระเจ้าสามพระยา (เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์) พระราชโอรสของพระองค์ ในบริเวณพื้นที่ท้องทุ่งโบราณที่เรียกว่า ทุ่งพระอุทัย (ปัจจุบันคือทุ่งหันตรา) และเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ใน พ.ศ. 2112

          วัดมเหยงคณ์เป็นที่ตั้งทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง การศึกครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่หงสาวดี สมเด็จพระมหินทราธิราชถูกนำตัวไปถวายพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ณ ค่ายวัดมเหยงคณ์ อันเป็นที่ตั้งทัพหลวง วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์จากพระมหากษัตริย์ตลอดมา จนถึงรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทอดพระเนตรเห็นสภาพทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักกำมะเลียน ริมวัดมเหยงคณ์ ทรงเป็นแม่กองเพื่อควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยพระองค์เองถึง 3 ปี จึงแล้วเสร็จ จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมหรสพสมโภชอยู่หลายวัน นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการต่อเรือกำปั่นบริเวณหน้าวัดมเหยงคณ์ เพื่อบรรทุกช้างไปขายยังเมืองมะริดด้วย


          ปัจจุบันวัดมเหยงคณ์เป็นวัดร้างมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว สันนิษฐานว่าสาเหตุของการกลายเป็นวัดร้างนั้นน่าจะมาจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ที่มีการทำลายล้างวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

13. วัดโคกพระยา

            วัดโคกพระยา ตั้งอยู่นอกเกาะเมือง ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดหน้าพระเมรุ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้น เป็นวัดโบราณที่มีหลักฐานกล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร เพราะเป็นสถานที่สําเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ปรากฏความครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์อู่ทอง ที่กล่าวถึงการสำเร็จโทษ พระเจ้าทองลัน โอรสของขุนหลวงพะงั่ว แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ

          ทั้งยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยต่อมาที่กล่าวถึงเหตุการณ์สำเร็จโทษเจ้านายอีกหลายพระองค์บริเวณโคกพระยา เช่น พระรัษฎาธิราช พระศรีศิลป์ เจ้าฟ้าไชย พระศรีสุธรรมราชา ในยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวงก็ปรากฏเหตุการณ์สำเร็จโทษเจ้านายอีกหลายพระองค์ ได้แก่ เจ้าพระขวัญ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชาที่ประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ เจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เป็นต้น
เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

14. หมู่บ้านโปรตุเกส

          ตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นชุมชนของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายและอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสถือเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาค้าขายในสมัยอยุธยา มีการเจริญสัมพันธไมตรีกันอย่างเป็นทางการ จากนั้นชาวโปรตุเกสมีความดีความชอบในการเข้าร่วมสงคราม จึงได้รับพระราชทานที่ดินเป็นบำเหน็จรางวัล ให้ชาวโปรตุเกสมาตั้งบ้านเรือนและสร้างวัดนับถือศาสนาคริสต์ได้อย่างเสรี

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

          ในหมู่บ้านโปรตุเกสยุคกรุงศรีอยุธยา จะมีโบสถ์ในคริสต์ศาสนาอยู่ 3 แห่ง คือ โบสถ์นักบุญเปรโตร คณะโดมินิกัน, โบสถ์คณะฟรานซิสกัน และ โบสถ์เซนต์เปาโล (คณะเยซูอิต) ในปัจจุบันหากมาที่หมู่บ้านโปรตุเกสก็จะพบเพียงแค่ซากโบสถ์นักบุญเปรโตร คณะโดมินิกัน และบริเวณด้านหน้าโบสถ์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีการขุดค้นพบสุสานที่มีโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่กว่า 200 โครง ซึ่งมีการจัดแสดงเป็นตัวอย่าง และมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับชุมชนชาวโปรตุเกสด้วย

          สำหรับหมู่บ้านโปรตุเกส เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ถูกเอ่ยถึงในฉากที่พระยาวิสูตรสาครพาแม่หญิงการะเกดไปเยี่ยมท้าวทองกีบม้าอีกครั้ง ณ ชุมชนโปรตุเกส 

15. หอกลอง

          หอกลอง สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยเครื่องไม้ จึงน่าจะถูกเผาทำลายไปพร้อมกับสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ทำให้ในปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ อย่างไรก็ตาม ในเอกสารคำพรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา หรือคำให้การขุนหลวงหาวัด ได้พรรณนาถึงรูปลักษณ์ของหอกลอง ตำแหน่งที่ตั้ง รวมถึงการใช้ประโยชน์และการดูแลรักษา โดยสรุปว่า หอกลองตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณคุกนครบาล ป่า (ตลาด) ผ้าเขียว ศาลพระกาฬ วัดเกษ และจุดตัดระหว่างถนนมหารัถยากับถนนป่าโทน ชาวเมืองนิยมเรียกจุดนี้ว่า ตะแลงแกง ซึ่งมีรากมาจากภาษาเขมรโบราณคือคำว่า ตรอแลงแกง หมายถึงทางแยก บริเวณนี้จึงเป็นทางสี่แพร่ง เป็นศูนย์กลางของพระนครศรีอยุธยา

เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต

ภาพจาก : ch3plus.com

          สำหรับหอกลองในละครพรหมลิขิต จะเป็นสถานที่ที่ถูกเอ่ยถึงในฉากที่แม่แก้วบอกว่าจะไปเล่นกับแมวที่หอกลองให้ฉ่ำปอด 

          จากกระแสละคร พรหมลิขิต ทำให้ที่เที่ยวอยุธยา โดยเฉพาะวัดวาอารามเก่าแก่ กลับมาเป็นกระแสยอดฮิตอีกครั้ง มีทั้งนักท่องเที่ยวและแฟนละครตามรอยไปเที่ยวกันอย่างคึกคัก ทั้งนี้ ละคร พรหมลิขิต ยังมีผังออนแอร์ไปจนถึงช่วงกลางเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งยังพอมีเวลาให้เตรียมตัวไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้สบาย ๆ แถมไปเที่ยวได้ง่าย ๆ เพราะใกล้กรุงเทพฯ จะไปแบบวันเดียว เช้าไป-เย็นกลับ หรือนอนพักค้างแรมสักคืนก็ดีนะ

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ เที่ยวอยุธยา วัดอยุธยา อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตามรอยละครพรหมลิขิต กับพิกัดที่เที่ยวอยุธยา 2566 อัปเดตล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10:22:33 25,011 อ่าน
TOP
x close