เที่ยวอยุธยา เรียนรู้ 9 วัด ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน

เที่ยวอยุธยา เรียนรู้ 9 วัด ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน

เที่ยวอยุธยา เรียนรู้ 9 วัด ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          417 ปีแห่งการเป็นราชธานีเก่าแก่ของสยามประเทศ เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า “กรุงศรีอยุธยา” เป็นราชธานีแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันก็ยังมีร่องรอยหลักฐาน ซึ่งแสดงอัจฉริยภาพและความสามารถอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษเอาไว้ จึงไม่แปลกเลยที่นักเดินทางต่างก็อยากไปเยี่ยมชมเมืองหลวงเก่าของเราแห่งนี้ อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นโบราณสถานสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือพระราชวัง หรือแม้แต่วังและตำหนักนอกอำเภอพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส ดังนั้น กระปุกท่องเที่ยวเลยจะพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวกรุงเก่า ด้วยการทัวร์ 9 วัด ที่สำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยากันค่ะ เริ่มกันที่...


1. วิหารพระมงคลบพิตร

วิหารพระมงคลบพิตร

          วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปคุ้มขุนแผน วิหารพระมงคลบพิตรจะอยู่ถัดไปไม่ไกลนัก พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร และสูง 12.45 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ระหว่างปี พ.ศ. 1991-2145 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯ ให้ก่อมณฑปสวมไว้

          ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อปี พ.ศ. 2249 อสุนีบาตตกลงมาต้องยอดมณฑปพระมงคลบพิตรเกิดไฟไหม้ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นมหาวิหารและต่อพระเศียรพระมงคลบพิตรในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2285-2286) ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 วิหารพระมงคลบพิตรถูกข้าศึกเผาชำรุดทรุดโทรม เครื่องบนวิหารหักลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรขวาของพระมงคลบพิตรหัก  รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้การปฏิสังขรณ์ใหม่

          สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออก แต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ

          แผนที่การเดินทาง 


2. วัดพระศรีสรรเพชญ์


วัดพระศรีสรรเพชญ์

          ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตร เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานคร หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับบริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือ และอุทิศที่ดินเดิมให้สร้างวัดขึ้นภายในเขตพระราชวัง และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา

          ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์ เมื่อ พ.ศ. 2035 องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา และองค์ที่สองคือองค์กลาง เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ต่อมาในปี พ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปี พ.ศ. 2043 ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา (16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร พระนามว่า "พระศรีสรรเพชญดาญาณ" ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด

          ในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานองค์นี้ลงมากรุงเทพฯ และบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า "เจดีย์สรรเพชญดาญาณ"

          สำหรับเจดีย์องค์ที่สามถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ ซึ่งคงจะมีการสร้างในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และมีร่องรอยการบูรณปฏิสังขรณ์หนึ่งครั้งในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากนั้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

          แผนที่เดินทางวัดพระศรีสรรเพชญ์ 


3. วัดหน้าพระเมรุ

วัดหน้าพระเมรุ

          วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง (เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พุทธศักราช 2046 มีชื่อเดิมว่า "วัดพระเมรุราชิการาม" ที่ตั้งของวัดนี้เดิมคงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้น ต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้น มีตำนานเล่าว่า พระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างวัดนี้ เมื่อ พ.ศ. 2046

          อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้วยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองได้มีการทำสัญญาสงบศึก เมื่อ พ.ศ. 2106 และได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส นอกจากนี้ วัดหน้าพระเมรุยังเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลาย และยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอุโบสถมีขนาดยาว 50 เมตร กว้าง 16 เมตรเป็นแบบอยุธยาตอนต้น ซึ่งมีเสาอยู่ภายใน ต่อมาสร้างขยายออกโดยเพิ่มเสารับชายคาภายนอก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาค และมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค หน้าต่างเจาะเป็นช่องยาวตามแนวตั้ง เสาเหลี่ยมสองแถว ๆ ละแปดต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถแบบอยุธยา ด้านบนประดับด้วยดาวเพดานเป็นงานจำหลักไม้ลงรักปิดทอง ส่วนลายแกะสลักบานประตูพระวิหารน้อย เป็นลายแกะสลักด้วยไม้สักหนา แกะสลักจากพื้นไม้ไม่มีการนำชิ้นส่วนที่อื่นมาติดต่อเป็นลายซ้อนกันหลายชั้น

          พระประธานในอุโบสถสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า "พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ" จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และมีความสมบูรณ์งดงามมากสูงประมาณ 6 เมตร หน้าตักกว้างประมาณ 4.40 เมตร

          ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดนี้ โดยรักษาแบบอย่างเดิมไว้และได้เชิญพระพุทธรูปศิลาสีเขียวหรือพระคันธารราฐ ประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีจากวัดมหาธาตุมาไว้ในวิหารสรรเพชญ์ (หรือเรียกว่า วิหารน้อยเพราะขนาดวิหารเล็ก มีความยาว 16 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร) ซึ่งอยู่ข้างพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีนี้ นับเป็น 1 ใน 5 องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงนับเป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การเก็บรักษาไว้

          แผนที่การเดินทางไปวัดหน้าพระเมรุ


4. วัดพนัญเชิงวรวิหาร

วัดพนัญเชิงวรวิหาร

          ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร หรือเมื่อออกจากวัดใหญ่ชัยมงคล ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นวัดพนัญเชิงอยู่ทางขวามือ วัดพนัญเชิงเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งครองเมืองอโยธยาเป็นผู้สร้างขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทานนามวัดว่า "วัดพระเจ้าพระนางเชิง" (หรือวัดพระนางเชิง)

          พระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามพงศาวดารกล่าวว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 1867 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปีเดิมชื่อ "พระพุทธเจ้าพนัญเชิง" (พระเจ้าพะแนงเชิง) แต่ในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์นี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า "พระพุทธไตรรัตนนายก" (ชาวบ้านนิยมเรียกหลวงพ่อโต ชาวจีนนิยมเรียกว่าซำปอกง ผู้คุ้มครองการเดินทางทางทะเล) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอู่ทองปางมารวิชัยลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตรและสูง 19.13 เมตร ฝีมือปั้นงดงามมาก เบื้องหน้ามีตาลปัตรหรือพัดยศและพระอัครสาวกที่ทำด้วยปูนปั้นลงรักปิดทองประดิษฐานอยู่เบื้องซ้ายและขวา อาจนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งสมัยอยุธยาตอนต้นที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง เข้าใจว่าเมื่อสร้างพระองค์ใหม่เสร็จแล้วจึงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นคลุมอีกทีหนึ่ง

          ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อคราวพระนครศรีอยุธยาจะเสียกรุงแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง ส่วนในพระวิหาร เสาพระวิหารเขียนสีเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสีแดงที่หัวเสามีปูนปั้นเป็นบัวกลุ่มที่มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น ผนังทั้งสี่ด้านเจาะเป็นซุ้มเล็กประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กโดยรอบจำนวน 84,000 องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนประตูทางเข้าด้านหน้าซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นบานประตูไม้แกะสลักลอยตัวเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมา เป็นลักษณะของศิลปะอยุธยาที่งดงามมากแห่งหนึ่ง

          พระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูป 5 องค์ ศิลปะสุโขทัย วิหารเซียน อยู่ด้านหน้าของพระวิหารหลวงเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งแต่เดิมมีภาพจิตรกรรมเขียนไว้บนผนังทั้งสี่ด้าน แต่ถูกโบกปูนทับไปแล้วเมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์ ข้างในพระวิหารหลังนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยา ศาลาการเปรียญ หลังเก่าย้ายจากริมแม่น้ำมาอยู่ด้านหลังของวัด เป็นศาลาทรงไทยสร้างด้วยไม้ หน้าบันประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ บริเวณคอสอง (ขื่อ) ด้านในศาลามีภาพเขียนสีบนผ้าเป็นภาพพุทธประวัติอยู่โดยรอบ มีตัวอักษรเขียนไว้ว่าภาพเขียนสีนี้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2472 ภายในศาลามีธรรมาสน์อยู่ 1 หลังสลักลวดลายสวยงามเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์

          ภายในวัดพนัญเชิงยังจะพบตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ก่อสร้างเป็นตึกแบบจีนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในเครื่องแต่งกายแบบจีน ชาวจีนเรียกว่า "จูแซเนี๊ย" เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนทั่วไป

           แผนที่การเดินทางไปวัดพนัญเชิงวรวิหาร 


5. วัดใหญ่ชัยมงคล

วัดใหญ่ชัยมงคล

          วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อวัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าพระยาไท ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วจะเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมา แต่สำนักพระวันรัตน์มหาเถรในประเทศลังกา คณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยเรียกนามนิกายในภาษาไทยว่า "คณะป่าแก้ว" วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดคณะป่าแก้ว ต่อมาเรียกให้สั้นลงว่า “วัดป่าแก้ว”

          จากนั้นมีคนเลื่อมใสบวชเรียนพระสงฆ์นิกายนี้ พระราชาธิบดีจึงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน์ มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายขวา คู่กับพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอธิบดีสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดเจ้าพระยาไท" สันนิษฐานว่ามาจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสร้างวัดป่าแก้วขึ้น ณ บริเวณที่ซึ่งได้ถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าแก้วเจ้าไท หรืออาจมาจากการที่วัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งในสมัยโบราณเรียกพระสงฆ์ว่า "เจ้าไท" ฉะนั้น เจ้าพระยาไทจึงหมายถึงตำแหน่งพระสังฆราช

          ในปี พ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่า ที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ การสร้างพระเจดีย์อาจสร้างเสริมพระเจดีย์เดิมที่มีอยู่หรืออาจสร้างใหม่ทั้งองค์ก็ได้ ไม่มีหลักฐานแน่นอน ขนานนามว่า "พระเจดีย์ชัยมงคล" แต่ราษฎรเรียกว่า "พระเจดีย์ใหญ่" ฉะนั้น นานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น "วัดใหญ่ชัยมงคล" วัดนี้ร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย และเพิ่งจะตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเมื่อไม่นานมานี้ นอกจากนี้ ยังมี วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพื่อเป็นที่ถวายสักการบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีผู้นิยมไปนมัสการอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก

          แผนที่เดินทางไปวัดใหญ่ชัยมงคล


6. วัดไชยวัฒนาราม

วัดไชยวัฒนาราม

          วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 (พ.ศ. 2173-2198) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2173 ได้ชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่ง ความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาล ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

          สิ่งที่น่าชมภายในวัด ได้แก่ พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เป็นปรางค์ประธานของวัดตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสและที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำอยู่ทั้งสี่มุม การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลายทรงสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด เท่ากับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด เช่นการสร้างปรางค์ที่วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ เนื่องจากพระองค์ทรงได้เขมรมาอยู่ใต้อำนาจจึงมีการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรเข้ามาใช้ในการก่อสร้างปรางค์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีพระระเบียงรอบปรางค์ประธาน ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังระเบียงก่อด้วยอิฐถือปูน มีลูกกรงหลอกเป็นรูปลายกุดั่น พระอุโบสถ อยู่ด้านหน้าของวัด ภายในมีซากพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยหินทราย ใบเสมาของพระอุโบสถทำด้วยหินสีค่อนข้างเขียว จำหลักเป็นลายประจำยามและลายก้านขด และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ 2 องค์ ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 12 เมตร ซึ่งถือเป็นศิลปะที่เริ่มมีแพร่หลายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

          วัดไชยวัฒนารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะตลอดมาจนปัจจุบันไม่มีสภาพรกร้างอยู่ในป่าอีกแล้ว และยังคงมองเห็นเค้าแห่งความสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งผู้ไปเยือนไม่ควรพลาดชมอย่างยิ่ง


7. วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ

          ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่า วัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อมาสมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัด เมื่อ พ.ศ. 1927 พระปรางค์วัดมหาธาตุถือเป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรางค์ขอม ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลงแต่ที่เสริมใหม่ตอนบนเป็นอิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์ใหม่โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม แต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายเพราะมีหลักฐานว่าเป็นปรางค์ที่มีขนาดใหญ่มากและก่อสร้างอย่างวิจิตรสวยงามมาก

          เมื่อ พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้และพบของโบราณหลายชิ้น ที่สำคัญ คือ ผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมน และทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุนำไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สิ่งที่น่าสนใจในวัดอีกอย่าง คือ เศียรพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งมีรากไม้ปกคลุมเข้าใจว่าเศียรพระพุทธรูปนี้จะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุง จนรากไม้ขึ้นปกคลุมมีความงดงามแปลกตาไปอีกแบบ

          แผนที่เดินทางไปวัดมหาธาตุ 


8. วัดราชบูรณะ (อยุธยา)

วัดราชบูรณะ

          วัดราชบูรณะ อยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ตรงข้ามวัดมหาธาตุ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1967 ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา ซึ่งชนช้างกันจนถึงแก่พิราลัย และโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเจดีย์ 2 องค์บริเวณนั้น วัดนี้และวัดมหาธาตุเมื่อคราวเสียกรุงถูกไฟไหม้เสียหายมาก ซากที่เหลืออยู่แสดงว่าวิหารและส่วนต่าง ๆ ของวัดนี้ใหญ่โตมาก วิหารหลวงมีขนาดยาว 63 เมตร กว้าง 20 เมตร ด้านหน้ามีบันไดขึ้น 3 ทาง ที่ผนังวิหารเจาะเป็นบานหน้าต่าง ปัจจุบันยังปรากฏซากของเสาพระวิหารและฐานชุกชีพระประธานเหลืออยู่ พระปรางค์ประธาน เป็นศิลปะอยุธยาสมัยแรกซึ่งนิยมสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมขอม ที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด ช่องคูหาของพระปรางค์มีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นประดิษฐานช่องละ 1 องค์ องค์ปรางค์ประดับด้วยปูนปั้นรูปครุฑ ยักษ์ เทวดา นาค พระปรางค์องค์นี้มีลวดลายสวยงามมาก

          ภายในกรุปรางค์มีห้องกรุ 2 ชั้น สามารถลงไปชมได้ ชั้นบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเลือนลาง ชั้นล่างซึ่งเคยเป็นที่เก็บเครื่องทอง มีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีแดงชาดปิดทองเป็นรูปพระพุทธรูปปางลีลาและปางสมาธิ รวมทั้งรูปเทวดาและรูปดอกไม้ เมื่อ พ.ศ. 2500 คนร้ายได้ลักลอบขุดโบราณวัตถุที่ฝังไว้ในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ โดยขุดเจาะจากพื้นคูหาเรือนธาตุลงไปพบห้องที่ฝังโบราณวัตถุ 2 ห้อง ต่อมาทางราชการติดตามจับคนร้ายและยึดโบราณวัตถุได้เพียงบางส่วน โบราณวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะทำด้วยทองคำ สำริด หิน ดินเผาและอัญมณี เมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งพระปรางค์วัดราชบูรณะต่อ ได้นำโบราณวัตถุที่มีค่าไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ซึ่งสร้างโดยเงินบริจาคจากการนำพระพิมพ์ขนาดเล็กที่ได้จากกรุนี้มาจำหน่ายเป็นของชำร่วย

         แผนที่การเดินทางไปวัดราชบูรณะ


9. วัดพุทไธสวรรย์

วัดพุทไธสวรรย์

          วัดพุทไธสวรรย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทางด้านใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง สร้างขึ้นบริเวณตำหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเรียกว่า "ตำหนักเวียงเหล็กหรือเวียงเล็ก" หลังจากนั้นพระองค์ไปสร้างพระราชวังใหม่ที่ตำบลหนองโสน (บึงพระราม) จึงสถาปนาสถานที่นี้เป็นวัดพุทไธสวรรย์ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ปรางค์ประธาน องค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่กึ่งกลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพที ซึ่งมีลักษณะย่อเหลี่ยมมีบันไดขึ้น 2 ทาง คือ ทางทิศตะวันออกและทางทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือทิศใต้มีมณฑปสองหลัง

          ภายในพระมณฑปมีพระประธาน พระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำหนักนี้อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรมแต่ภายในผนังของตำหนัก มีภาพสีเกี่ยวกับเรื่องหมู่เทวดา นักพรต นมัสการพระพุทธบาท และเรือสำเภาตอนพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา ภาพเหล่านี้อยู่ในสภาพไม่ชัดเจนนัก นอกจากนี้ ยังมีพระอุโบสถอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของปรางค์ หมู่พระเจดีย์สิบสององค์ และวิหารพระนอน

          แผนที่เดินทางไปวัดพุทไธสวรรย์ 


          และนี่คือ 9 วัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและน่าสนใจ หากเพื่อน ๆ มีโอกาสได้ไปเที่ยวอยุธยาก็อย่าลืมแวะไปสัมผัสกับกลิ่นอายความขลังของเมืองเก่าแห่งนี้กันดูนะคะ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ 0 3524 6076-7, 0 3524 6078 เวลา 08.30-16.30 น. หรือ TAT Call Center 1672 กันดูนะคะ






ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวอยุธยา เรียนรู้ 9 วัด ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อัปเดตล่าสุด 18 มิถุนายน 2567 เวลา 10:28:17 164,985 อ่าน
TOP
x close