วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร (Wat Suwan Dara Ram Ratchaworawihan) เป็นวัดเก่าแก่ที่พระอุโบสถยังคงรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย และมีความโดดเด่นคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามและทรงคุณค่า กล่าวกันว่าเป็นภาพจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย กลายเป็นที่เที่ยวอยุธยาที่กำลังเป็นกระแสมาแรงสุด ๆ ตามรอยละครเรื่อง พรหมลิขิต เพราะวัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในฉากสำคัญที่ใช้ถ่ายทำละครด้วย เราจะพาทุกคนไปเที่ยว วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร วัดสวยของเมืองหลวงเก่า ชมความงามที่มีมาตั้งแต่อดีตและสืบทอดมาถึงปัจจุบันกัน
- บริเวณพื้นที่ระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถ เป็นฉากสำคัญที่ใช้ในการถ่ายทำพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม
- ภายในพระอุโบสถ ใช้พื้นที่เป็นฉากถ่ายทำตอนแม่แก้วและแม่ปราง ซึ่งเป็นลูกสาวของแม่หญิงการะเกด มาไหว้พระปฏิมากรในวัด
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
ประวัติและที่ตั้ง
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในเกาะเมืองเขตพระนคร ด้านทิศตะวันออกค่อนลงมาทางใต้ ใกล้ป้อมเพชร ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถาปนาขึ้นโดยพระสุนทรอักษร (ทองดี) พระชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ บริเวณอันเป็นนิวาสถานเดิมของตระกูล วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า วัดทอง
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2310 พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก วัดทองก็ถูกพม่าทำลายกลายเป็นวัดร้างมานานถึง 18 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงปราบดาภิเษกและสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแล้ว ในปี พ.ศ. 2328 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดทองที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่กรุงแตกใหม่หมดทั้งอาราม ในการปฏิสังขรณ์และการก่อสร้างครั้งนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชา ได้ทรงร่วมปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ด้วย เมื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ตามชื่อของพระราชบิดา (ทองดี) และพระราชมารดา (ดาวเรือง) ว่า วัดสุวรรณดาราราม
ปัจจุบัน วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นเอก การที่วัดสร้างขึ้นโดยพระปฐมบรมชนก และในหลวง รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์เคยโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมหรือเสด็จฯ มาบำเพ็ญพระราชกุศล วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหารจึงนับเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรีสิ่งที่น่าสนใจ
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
อุโบสถ
บริเวณที่สร้างพระอุโบสถนี้เป็นอาคารประธานของวัดมาตั้งแต่เดิม องค์พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย มีลักษณะแอ่นโค้งทรงท้องสำเภา ด้านหน้ามีมุขและเสาย่อมุมไม้สิบสองรองรับมุข หน้าต่างมีซุ้มบันแถลง ติดช่อฟ้า ใบระกา และ “คันทวย” (ส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมทำหน้าที่ค้ำยันชายคา ระเบียง หรือหลังคาของสิ่งก่อสร้างติดตั้งไว้ตอนบนของเสา ให้เอนขึ้นไปรับน้ำหนักชายคา (เต้า) มีทั้งที่เป็นไม้และปูนปั้น) หางหงส์นาคเบือน 3 เศียร ศิลปกรรมสกุลช่างวังหน้า ด้านหลังบานประตูมีภาพวาดนายทวารบาล “เซียวกาง” ที่สมบูรณ์มาก อีกสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดคือ “เสมา” เพราะใบเสมาของโบสถ์ทุกใบเป็นศิลปะอยุธยาตอนกลางที่สมบูรณ์ที่สุดในอยุธยา
ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบเหนือรัตนบัลลังก์ฐานสิงห์ หน้าตักกว้างประมาณ 1.5 เมตร สูง 2 เมตร เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รายล้อมด้วยพุทธสาวกขนาดเล็ก 8 องค์
ฝาผนังด้านในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรม อายุมากกว่า 200 ปี โดยฝีมือของช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2328 ต่อมาได้รับการบูรณะเขียนซ่อมแซมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2393 โดยเค้าโครงของภาพยังคงไว้ในรูปแบบเดิม ภาพจิตรกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนบนเหนือผนังหน้าต่างขึ้นไปจรดเพดาน เขียนภาพเทพชุมนุมนั่งประนมมือหันหน้าไปที่พระประธาน ส่วนด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างซึ่งมี 8 ช่อง เขียนภาพเล่าเรื่องพระเจ้าสิบชาติ หรือ ทศชาติชาดก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติที่ล่วงมาแล้วของพระพุทธเจ้า แต่เป็นชาติที่ใกล้จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เพราะต่อจากสิบชาติแล้วก็มาเป็นสิทธัตถะกุมาร แล้วออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า มี เตมียชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก พรหมนารทชาดก วิธุรบัณฑิตชาดก เวสสันดรชาดก (13 กัณฑ์) ด้านหลังพระประธานเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องไตรภูมิ ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนมารวิชัย
นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หาดูได้ยากคือ บนเพดานโบสถ์ ประดับด้วยไม้จำหลักลายดวงดาว ประกอบไปด้วยดาวประธานที่รายล้อมไปด้วยดาวบริวาร 12 ดวง
พระวิหาร
จิตรกรรมฝาผนังวิหาร
ภายในฝาผนังพระวิหาร มีภาพเขียนด้วยสีน้ำมัน เขียนโดยพระมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ผู้มีฝีมือทางด้านศิลปะ โดยเฉพาะด้านจิตรกรรมและการถ่ายภาพ จนได้เป็นจิตรกรเอกและช่างภาพประจำพระองค์ ในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)
จิตรกรรมในฝาผนังพระวิหาร เล่าเรื่องราวพระราชพงศาวดารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผลงานชิ้นเอกที่คนไทยรู้จักมากที่สุดคือ ภาพเขียนการสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชมังกะยอชวา “พระมหาอุปราชา” แห่งพม่า ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2135 เนื้อหาของภาพสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงฟันพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะ (บ่า) ขวา จนสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง และภาพเล่าพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเขียนตามช่องว่างระหว่างประตูและหน้าต่างช่องละตอน มีคำบรรยายประกอบอยู่ใต้ภาพ รวมทั้งสิ้น 20 ตอน ลำดับภาพเริ่มจากทางด้านซ้ายมือของพระประธานวนไปตามเข็มนาฬิกา เขียนเล่าเรื่องตั้งแต่ตอนพระอิศวรแบ่งภาคลงมาประสูติเป็นสมเด็จพระนเรศวร จนถึงเรื่องราวตอนที่สมเด็จพระนเรศวรสวรรคต และอัญเชิญพระบรมศพกลับมาสู่พระนครศรีอยุธยา เป็นภาพเขียนที่มีความเหมือนจริง มีอิทธิพลมาจากตะวันตก และได้นำมาประยุกต์ใช้ในจิตรกรรมไทย ซึ่งเชื่อว่าเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย
การเดินทางไป
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
ข้อมูลติดต่อวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
-
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
-
ที่อยู่ : 1/6 หมู่ 4 ซอยอู่ทอง 4 ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
-
พิกัด : วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
-
โทรศัพท์ : 08-1373-7430
- เฟซบุ๊ก : วัดสุวรรณดาราราม ราชวรวิหาร
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร วัดเก่าแก่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดดเด่นที่สุดด้วยภาพวาดฝาผนังประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวิหาร ได้กลายมาเป็นฉากหลังของละครยอดฮิตอย่าง พรหมลิขิต ที่อีกไม่นานคงจะมีแฟน ๆ ไปเที่ยวตามรอยอย่างแน่นอน
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
บทความ เที่ยวอยุธยา วัดอยุธยา อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
+++ ตามรอยบุพเพสันนิวาส ไปเที่ยววัดดังจังหวัดอยุธยา
+++ ตามรอย บุพเพสันนิวาส ชมสถานที่ถ่ายทำและสถานที่สำคัญในละคร
+++ เที่ยวอยุธยา 1 วัน ตามรอยบุพเพสันนิวาสในวันหยุด
+++ ไหว้พระอยุธยา 9 วัด สายมูห้ามพลาด ทำบุญเสริมมงคล ส่งผลดีตลอดปี
+++ ทริปไหว้พระ 9 วัดอยุธยา ไปง่าย ๆ ด้วยรถไฟ ใกล้ ๆ กรุงเทพฯ
ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก วัดสุวรรณดาราราม ราชวรวิหาร, ayutthaya.go.th, watportal.com, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ch3plus.com