วัดพุทไธศวรรย์ ไปขอพรหลวงพ่อดำเรื่องสุขภาพ ไหว้พระนอนให้การงานก้าวหน้า

          วัดพุทไธศวรรย์ พระอารามหลวงที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ผู้คนนิยมไปสักการะหลวงพ่อดํา ขอพรให้หายเจ็บป่วย รวมถึงไหว้พระนอนเสริมเมตตามหานิยม

          วัดพุทไธศวรรย์ พระอารามหลวงเก่าแก่ที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก สร้างมานานกว่า 600 ปี จุดหมายปลายทางในการเดินทางไปไหว้พระอยุธยายอดนิยม ภายในวัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโบราณน่าสนใจ ทั้งพระปรางค์ศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่กึ่งกลางอาณาเขตพุทธาวาส วิหารพระพุทไธศวรรย์ (พระนอน) หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ว่ากันว่าหากเจ็บป่วยมักไปขอพรให้หายหรืออาการทุเลาลง นอกจากนี้ยังมีเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ และเล่าขานกันว่าเคยเป็นสถานที่ฝึกอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารก่อนที่จะออกศึกสงคราม รวมถึงยังมีโบราณสถานอีกมากมาย โดยเฉพาะตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ความน่าสนใจของวัดพุทไธศวรรย์ยังมีอีกมากมาย ตามเราไปเที่ยวชมกันดีกว่า

วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา

วัดพุทไธศวรรย์

วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ที่ไหน

          วัดพุทไธศวรรย์ พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันตก (นอกเกาะเมือง) ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างมายาวนานกว่า 600 ปี และปัจจุบันยังคงมีความสมบูรณ์สวยงาม

ประวัติวัดพุทไธศวรรย์

          ตามประวัติศาสตร์กล่าวกันว่า วัดพุทไธศวรรย์ สร้างขึ้นในบริเวณที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)  อพยพจากเมืองอู่ทองมาตั้งอยู่ก่อนที่จะสร้างกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า เวียงเหล็ก หรือ เวียงเล็ก ครั้นเมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้วถึง พ.ศ. 1896 สมเด็จพระเจ้าอู่ทองจึงโปรดให้สร้างวัดพุทไธศวรรย์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกตรงที่ที่พระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิมเพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์

          โดยมีบันทึกเกี่ยวกับวัดพุทไธศวรรย์ในหลายช่วงตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้บอกเล่าว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่เป็นสถานที่ตั้งค่าย อย่างในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ วัดพุทไธศวรรย์ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งทัพของพม่าในคราวที่ยกทัพมาล้อมกรุง เพื่อทำการรบกับกรุงศรีอยุธยา ส่วนในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ราว พ.ศ. 2243 สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ และสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ สมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวาของพระองค์ ได้ทูลลาสมเด็จพระเจ้าเสือออกจากพระราชวัง พร้อมด้วยเจ้าตรัสน้อยราชบุตร ไปตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดพุทไธศวรรย์

          ช่วงตอนปลายสมัยอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์ก็ยังได้เป็นสถานที่ประกอบการเมรุสำคัญถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ปี พ.ศ. 2258 กรมหลวงโยธาทิพทิวงคต ณ ตำหนักริม วัดพุทไธศวรรย์ ก็ได้มีการสร้างพระเมรุทองขึ้นตามราชประเพณีที่วัดแห่งนี้ ครั้งที่ 2 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพทิวงคต ณ ตำหนักริม วัดพุทไธศวรรย์ เช่นกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้สร้างพระเมรุมาศขึ้นที่วัดแห่งนี้ตามโบราณราชพิธี

          ในปัจจุบันยังเหลือซากโบราณสถานอยู่หลายอย่าง เช่น พระปรางค์องค์ใหญ่ พระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารพระนอน และตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
พระอุโบสถ วัดพุทไธศวรรย์

สิ่งน่าสนใจภายในวัดพุทไธศวรรย์

  • พระมหาธาตุ (ปรางค์ประธาน) องค์พระปรางค์ซึ่งเป็นประธานของวัด ตั้งหันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก อยู่บนฐานไฟทีที่รองรับไปถึงมณฑปที่อยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้อีก 2 หลัง ลักษณะโดยทั่วไปได้รับอิทธิพลรูปแบบของสถาปัตยกรรมมาจากปราสาทขอม เปรียบประดุจเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาสที่ประทับของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ในการสร้างปราสาทตามคติเดิมของขอม ได้จำลองตัวอาคารหรือเรีอนธาตุซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปตามลำดับ ซึ่งก็คือ วิมานของเทพเจ้า และมีเทพผู้รักษาทิศอยู่ครบทุกด้าน ประจำอยู่ตามทิศต่าง ๆ โดยพระปรางค์ประธานองค์นี้จะมีห้องพระครรภธาตุ ภายในมีพระเจดีย์ทรงปราสาทยอด ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระมหาธาตุ (ปรางค์ประธาน) วัดพุทไธศวรรย์

  • พระระเบียง รอบองค์พระมหาธาตุมีพระระเบียงล้อมรอบผนัง ด้านนอกทึบ ด้านในมีเสารับเครื่องบนหลังคาและชายคาเป็นระยะ ๆ ทำให้ไม่มีผนังทางด้านใน ที่ริมผนังด้านทึบ มีพระพุทธรูปสีทองอร่าม ศิลปะแบบสุโขทัยนั่งเรียงอยู่โดยรอบ บนผนังระเบียงมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีภาพกิจกรรมบนฝาผนังรูปเรือนแก้ว  ส่วนที่เป็นรัศมีด้านหลังพระพุทธรูปที่นั่งเรียงอยู่ในพระระเบียง  ลักษณะของภาพจิตกรรมเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 5 ภาพนี้คงจะเขียนขึ้นมาเมื่อครั้งมีการซ่อมปฏิสังขรณ์พระปรางค์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2441
พระระเบียง วัดพุทไธศวรรย์

  • พระอุโบสถ อยู่ทางด้านตะวันตกของปรางค์ประธาน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ยาว 32 เมตร กว้าง 14 เมตร ภายในมีพระพุทธรูป 3 องค์ขนาดใหญ่ที่บนฐานชุกชี ได้รับการปฏิสังขรณ์ลงรักปิดทองใหม่ แม้รูปแบบของประติมากรรมจะดูไม่ชัดเจนนักว่าเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ลักษณะของฐานพระพุทธรูปที่ทำเป็นบัวคว่ำบัวหงายอยู่บนฐานเขียงไม่สูงนั้น อาจสะท้อนให้เห็นได้ว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ มีอายุเก่าไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลางราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยรอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ มีใบเสมาหินชนวนขนาดใหญ่และหนาจำนวน 8 คู่ 16 ใบ
          ทั้งนี้ ด้านในอุโบสถเป็นสถานที่ประดิษฐานของ "หลวงพ่อดำ" พระพุทธรูปปูนปั้นสีดำปางมารวิชัย ลักษณะศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น สมัยก่อนใครเจ็บป่วยก็มาขอหลวงพ่อดำให้หายเจ็บป่วย ขอบุตรก็จะได้บุตร หากต้องการสอบเข้าทหารตำรวจ หรือเป็นใหญ่เป็นโตในการงานต้องมาไหว้ หากสัมฤทธิ์ผลมักนำส่วนดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมมาถวาย
หลวงพ่อดำ วัดพุทไธศวรรย์

  • วิหารพระพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ในเขตพุทธาวาส ลักษณะของพระวิหารมีลักษณะแอ่นท้องสำเภาเล็กน้อย เจาะช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมทางด้านยาวด้านละ 3 ช่อง มีช่องประตูทางเข้า 1 ช่อง เครื่องบนหลังคาหักพังหมดแล้ว เหลือแต่เพียงผนังและกรอบหน้าต่างบางส่วน โดยองค์พระพุทธไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตกตรงกับช่องประตูทางเข้าพอดี
วิหารพระพุทไธศวรรย์

          องค์พระพุทธไสยาสน์ ก่อด้วยอิฐถือปูน มีพุทธลักษณะพิเศษ คือ เป็นหนึ่งในพระพุทธไสยาสน์ของอยุธยาเพียงไม่กี่องค์ที่แสดงลักษณะ การวางพระบาทเหลื่อม อันเป็นลักษณะเบื้องต้นของการคลี่คลายพุทธลักษณะให้คล้ายคนธรรมดา นอกจากนั้นพระพาหาและพระกรที่พับวางราบด้านหน้า ในลักษณะหงายพระหัตถ์เพื่อรองรับพระเศียรนั้น เป็นรูปแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี อู่ทอง แตกต่างจากพระนอนในอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่พบในเขตเกาะเมืองอยุธยา จึงนับเป็นตัวอย่างในการศึกษาพุทธศิลป์ในสมัยอยุธยาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง หากใครได้มาสักการะถือว่าจะได้เรื่องเมตตามหานิยม ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

          คาถาบูชาพระพุทธไสยาสน์

          ตั้งนะโม 3 จบ
          ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง

  • ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขตพุทธาวาส เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทย 2 ชั้น ภายในอาคารมีภาพจิตกรรมฝาผนังโดยรอบ ชั้นล่างของอาคารมีช่องประตูและหน้าต่างเหมือนกับขั้นบน แต่หน้าต่างมี ลักษณะเป็นซุ้มโค้งยอดแหลม โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นงานจิตรกรรมในสมัยอยุธยา เพราะเป็นการเขียนภาพที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศาสนา สังคม และวัฒนธรรม สามารถลำดับเรื่องราวได้ ดังนี้ ผนังทิศเหนือเขียนภาพไตรภูมิ ผนังด้านทิศใต้เขียนภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย ผนังด้านทิศตะวันตกเขียนเรื่องทศชาติชาดก และผนังทางด้านทิศตะวันออกเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เสด็จไปนมัสการรอยพระบาท ณ ประเทศลังกา ซึ่งลักษณะของงานจิตรกรรมนี้ จัดเป็นงานจิตรกรรมในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ตรงกับรัชสมัยของพระเพทราชา ราวปี พ.ศ. 2231-2245
ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์

ตำนานเหล็กไหลและสำนักดาบวัดพุทไธศวรรย์

          นอกจากจะเป็นวัดที่มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์อันยาวนานและสำคัญแล้ว วัดพุทไธศวรรย์ยังถูกพูดถึงในแง่ที่ว่าเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปและเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ มีการเล่าขานกันว่าอดีตวัดแห่งนี้เป็นสถานที่ฝึกอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารก่อนที่จะออกศึกสงคราม จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้านอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะในช่วงสมัยที่พระพุทไธศวรรย์วรคุณ หรือหลวงพ่อหวล ภูริภัทโท เป็นเจ้าอาวาส ก็ได้ทำพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลเหล็กไหล ใครรับไปบูชาก็รอดพ้นจากอันตราย ไม่มีใครทำร้ายได้

จตุคามรามเทพ วัดพุทไธศวรรย์

          องค์ท่านพ่อจตุคามรามเทพที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพุทไธศวรรย์ มีลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนิยมมากราบไหว้ขอพรกัน

          คำบูชาดวงตราพญาราหู องค์ราชันดำ ท่านพ่อจตุคามรามเทพ

          ว่านะโม 3 จบ
          ข้าฯ ขอน้อมถวายสักการะ สุริยัน จันทรา จันทรภาณุ ดวงตราสองแผ่นดิน
          ศรีวิชัย สุวรรณภูมิ พญาศรีธรรมโศกราช 12 นักษัตร ดวงตราพญาราหู
          ศรีมหาราชพังพะกาฬ องค์ราชันดำท่านพ่อจตุคามรามเทพ
          พระเจ้าอู่ทอง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ
          พระเจ้าตากสินมหาราช พระสยามเทวาธิราช

          วิธีบูชา

          จัดตั้งของถวาย บายศรีปากชาม ดอกไม้ หรือพวงมาลัย หมากพลู ยาเส้น น้ำจืด หรือของอื่น ๆ ที่ต้องการถวาย จุดเทียน ธูป ใช้ธูปและกระดาษดวงตราพญาราหู (ถ้ามีหรือจำเป็นต้องใช้) ไหว้บูชาและอธิษฐานขอพรในสิ่งที่ปรารถนา หรือบอกกล่าวเรื่องราวความทุกข์ร้อน เพื่อขอพึ่งบารมีองค์พ่อจตุคามรามเทพ (อาจจะบนบานด้วยประทัดหรือของอื่น ๆ หรือไม่ต้องบนบานก็ได้)

วิว วัดพุทไธศวรรย์

การเดินทางไปวัดพุทไธศวรรย์

          วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งใต้ ตรงข้ามกับเกาะเมือง ใช้เส้นทางสายอยุธยา - เสนา ข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร เลี้ยวซ้ายไปทางวัดไชยวัฒนาราม จะมีป้ายบอกทางเป็นระยะ ไปจนถึงทางแยกเข้าวัดพุทไธศวรรย์ หรือจากกรุงเทพฯ ขึ้นทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน ไปลงที่เชียงรากน้อยบรรจบกับถนนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 หรือถนนกาญจนาภิเษก ขับตรงไปอีกนิดเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 ตรงไปจนถึงสี่แยกวรเชษฐ์ เลี้ยวขวามาทางอยุธยาพาวิเลียน ตรงไปจนเจอไฟแดงแรก เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3469 ตรงไปอย่างเดียวจะมีป้ายบอกตลอดทาง

          ทั้งนี้ คนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว สามารถนั่งรถตู้โดยสารประจำทางไปลงได้ที่ตัวเมืองอยุธยา แล้วเช่าเหมารถตุ๊ก ๆ หรือสองแถวไปยังวัดพุทไธศวรรย์ก็ได้

วิว วัดพุทไธศวรรย์

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ ที่เที่ยวอยุธยา ไหว้พระอยุธยา อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดพุทไธศวรรย์ ไปขอพรหลวงพ่อดำเรื่องสุขภาพ ไหว้พระนอนให้การงานก้าวหน้า อัปเดตล่าสุด 31 พฤษภาคม 2567 เวลา 18:16:55 24,444 อ่าน
TOP
x close