ที่เที่ยวอยุธยา 2567 รวบรวมทั้งสถานที่ไหว้พระและที่เที่ยวอยุธยาไม่ใช่วัดต่าง ๆ มาแนะนำกัน เผื่อจะจัดทริปที่เที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ชิล ๆ
ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา เลอคุณค่ามรดกโลก ... คำขวัญประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ทั้งวัดวาอาราม สถานที่ท่องเที่ยว และอาหารการกิน ที่นี่จึงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเสมอ ซึ่งกิจกรรมที่นิยมมีทั้งไหว้พระอยุธยา ตระเวนหาของกินรสเด็ด ชมโบราณสถานมากคุณค่า หรือนั่งชิลตามคาเฟ่ตกแต่งเก๋ ๆ วันนี้เราจึงหยิบเอา ที่เที่ยวอยุธยา 2567 มาแนะนำ ไปดูกันว่ามีที่ไหนบ้าง
ที่เที่ยวอยุธยา 2567
1. วิหารพระมงคลบพิตร
วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สถานที่ประดิษฐาน พระมงคลบพิตร พระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร และสูง 12.45 เมตร ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้รับความเสียหาย ต่อมาได้รับการบูรณะใหม่ด้วยทองสัมฤทธิ์ หุ้มทองดังเช่นในปัจจุบัน คนมักไปไหว้ขอพรเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลและเสริมเมตตาบารมี
2. วัดราชบูรณะ
วัดราชบูรณะ วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ติดกับวัดมหาธาตุทางทิศตะวันออก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1967 บริเวณที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา และโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเจดีย์ 2 องค์ ปัจจุบันปรากฏซากของเสาพระวิหารและฐานชุกชีพระประธานเหลืออยู่ พระปรางค์ประธาน เป็นศิลปะอยุธยาสมัยแรกซึ่งนิยมสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมขอม ที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด ช่องคูหาของพระปรางค์มีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นประดิษฐานช่องละ 1 องค์ องค์ปรางค์ประดับด้วยปูนปั้นรูปครุฑ ยักษ์ เทวดา นาค พระปรางค์องค์นี้มีลวดลายสวยงามมาก
3. วัดโลกยสุธาราม (วัดพระนอน)
วัดโลกยสุธาราม ตั้งอยู่บริเวณเกาะเมืองอยุธยา ในพื้นที่เขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ใกล้เจดีย์พระศรีสุริโยทัย เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา สถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ขนาดความยาว 42 เมตร ความสูง 8 เมตร มีดอกบัวเกยซ้อนรองรับพระเศียรแทนพระเขนย สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นพระพุทธรูปไม่ทรงเครื่อง แต่การบูรณะใน พ.ศ. 2499 คงมีการแก้พระเศียรเป็นอย่างพระพุทธรูปทรงเครื่อง รอบองค์พระมีเสาอิฐแปดเหลี่ยม รวม 24 ต้น สันนิษฐานว่าในอดีตคงจะมีการสร้างวิหารครอบไว้ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพังทลายลงเมื่อใด เชื่อกันว่าหากได้มาสักการะจะช่วยเสริมเมตตามหานิยม
4. วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม วัดโบราณที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระตำหนักสิริยาลัย เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันยังคงสวยงามและน่าไปเที่ยวชมมาก ๆ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด เช่น พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เป็นปรางค์ประธานของวัด, ระเบียงคด มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยเก่าแก่ตั้งอยู่มากกว่า 100 องค์ และพระอุโบสถ ภายในมีซากพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยหินทราย ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะมาตลอด ซึ่งคนนิยมไปเที่ยวชมโบราณสถานต่าง ๆ พร้อมใส่ชุดไทยถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
5. วัดพุทไธศวรรย์
วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เป็นวัดเก่าแก่ที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 ภายในวัดจึงมีสิ่งน่าชมมากมาย เช่น องค์ปรางค์ประธาน ภายในประดิษฐานพระเจดีย์องค์เล็ก ๆ และรอยพระพุทธบาท ให้กราบสักการะ, ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เชื่อกันว่าเป็นที่ประทับของพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้เป็นอาจารย์ของสมเด็จพระเพทราชา, วิหารพระพุทไธศวรรย์ (วิหารพระนอน) รวมถึงยังมี หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปปูนปั้นสีดำปางมารวิชัย คนมักไปขอพรในเรื่องของสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ
6. วัดใหญ่ชัยมงคล
วัดใหญ่ชัยมงคล วัดโบราณที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา ไม่ไกลจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ เจดีย์ชัยมงคล อนุสรณ์แห่งชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเหนือมังกะยอชวา พระมหาอุปราชของหงสาวดี, พระพุทธชัยมงคล พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ปั้นด้วยหินทรายทั้งองค์ และ วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเป็นที่ถวายสักการบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีผู้นิยมไปนมัสการอย่างสม่ำเสมอ
7. วัดพนัญเชิงวรวิหาร
วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา ริมแม่น้ำป่าสักบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) หรือที่เรียกกันว่า เจ้าพ่อซำปอกง พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 20 เมตร สูง 19 เมตร อันเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชน ผู้คนมักไปขอพรให้แคล้วคลาดปลอดภัย เสริมบารมี นอกจากนี้ยังมีตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ประดิษฐานรูปปั้น เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก อนุสรณ์ความรัก ซึ่งคนมักขอพรเรื่องคู่ครอง รวมถึงขอพรในเรื่องอื่น ๆ เช่น ขอบุตร การเงิน และความสำเร็จในหน้าที่การงาน
8. วัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหาร
วัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวทางทิศเหนือของคูเมือง เป็นวัดที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะพระอุโบสถที่มีหน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาค คนนิยมลอดซุ้มประตูหน้าบันเพื่อแก้เคราะห์และขอพรในเรื่องต่าง ๆ ภายในประดิษฐาน พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช เชื่อกันว่าเป็นพระผู้มีชัยชนะเหนือหมู่มารทั้ง 3 โลก นอกจากนี้ยังนิยมไปไหว้ พระพุทธคันธารราฐมหาประสิทธิ์ พระพุทธรูปสมัยทวารวดี อายุประมาณ 1,500 ปี
9. วัดภูเขาทอง
วัดภูเขาทอง ตั้งอยู่ในตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา ห่างจากพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่ไกลนัก โดดเด่นด้วย เจดีย์ภูเขาทอง สีขาวสูงตระหง่าน เมื่อ พ.ศ. 1930 สมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้น ต่อมาเมื่อคราวที่พระเจ้าหงสาวดีมีชัยชนะต่อกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดแห่งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอารามและพระเจดีย์ใหญ่ซึ่งหักพังลงมาก่อนหน้าแล้ว แต่ทรงให้เปลี่ยนรูปเจดีย์ของเดิมเป็นแบบไทย ทำให้ตัวเจดีย์ในปัจจุบันมีสถาปัตยกรรม 2 แบบผสมกัน
10. วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร
วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร วัดพุทธที่สร้างขึ้นบนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระราชวังบางปะอิน เมื่อ พ.ศ. 2421 ตามแบบโบสถ์คริสต์สไตล์ฟื้นฟูโกธิก บรรยากาศร่มรื่น จุดเด่นของวัดคือความงดงามของพระอุโบสถแบบโกธิก ประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ ภายในประดิษฐาน พระพุทธนฤมลธรรโมภาส และพระสาวก พระคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปยืนปางขอฝน พระพุทธศิลาเก่าแก่ปางนาคปรก รวมถึงพระตำหนักสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สุสานสวนหินดิศกุลอนุสรณ์ และนั่งกระเช้าข้ามแม่น้ำเพื่อเข้าวัด ซึ่งเป็นวิธีการสัญจรทางเดียว
11. วัดตะโก (หลวงพ่อรวย)
วัดตะโก วัดชื่อดังแห่งอำเภอภาชี เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ ฝ่ายมหานิกาย หนึ่งในเส้นทางไหว้พระอยุธยายอดนิยม เพราะผู้คนนิยมไปไหว้สรีรสังขาร หลวงพ่อรวย ปาสาทิโก หรือ พระมงคลสิทธาจารย์ พระเกจิอาจารย์แห่งกรุงเก่า ที่เด่นดังด้านมหาลาภ เมตตามหานิยม และแคล้วคลาดปลอดภัย นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้ได้ไปสักการบูชามากมาย อีกทั้งบริเวณด้านข้างวัดยังมีสถานที่เช่าวัตถุมงคลหลวงพ่อรวยให้ได้บูชากันด้วย
12. ปราสาทนครหลวง
ปราสาทนครหลวง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ในอำเภอนครหลวง เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ใช้เป็นพระตำหนักที่ประทับแรมระหว่างเสด็จฯ ไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรีและลพบุรี ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ช่างจำลองแบบมาจากปราสาทเมืองพระนคร สร้างเป็นที่ประทับก่ออิฐถือปูน และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศกรมศิลปากร ภายในประดิษฐาน พระพิฆเนศประทับบนหัวกะโหลก และ หลวงพ่อสมหวัง นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าปราสาทนครหลวงยังเป็นที่ตั้งของตำหนักพระนครหลวง (ศาลพระจันทร์ลอย) ให้ได้สักการะขอพรกันด้วย
13. วัดสะตือ (พระพุทธไสยาสน์)
วัดสะตือ วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักในอำเภอท่าเรือ ทางด้านทิศใต้ของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2413 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ชาวบ้านนิยมเรียกว่า หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน มีความยาว 52 เมตร กว้าง 9 เมตร และสูง 16 เมตร ซึ่งเป็นที่นับถือของคนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงที่นิยมเดินทางมากราบไหว้เพื่อเสริมสิริมงคล ขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากตัว พร้อมรับเมตตามหานิยม รวมถึงขอพรและโชคลาภต่าง ๆ แก่ตัวเองและครอบครัว เมื่อสำเร็จดังประสงค์มักแก้บนด้วยขนมจีน ไข่ต้ม หรือว่าจ้างขบวนแตรวงแห่ไปรอบองค์พระ
14. วัดกลางคลองวัฒนาราม
วัดกลางคลองวัฒนาราม วัดสวยขนาดกะทัดรัดที่ตั้งอยู่ในอำเภอเสนา เดิมชื่อว่า วัดบ่อหัก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น วัดกลางคลองวัฒนาราม โดดเด่นด้วยอุโบสถสีม่วงสดใส สื่อถึงความสงบและเย็นสบายใจ ออกแบบและประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นและกระจกงดงาม จากฝีมือ พระใบฎีกาเอกลักษณ์ อาภสฺสโร เจ้าอาวาสวัด ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อโป เป็นพระประธานประจำอุโบสถ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก วัดกลางคลองวัฒนาราม
15. วัดนักบุญยอแซฟ
วัดนักบุญยอแซฟ (หมู่บ้านฝรั่งเศส) ตั้งอยู่ทางตอนใต้นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2209 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลังจากคณะธรรมทูตรุ่นแรกแห่งปารีส คือ นายลอมแบรต์ เดอ ลาม็อต และพระสงฆ์ 2 รูป เดินทางมากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2205 ซึ่งหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาวัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์ดูแล ต่อมาในปี พ.ศ. 2374 พระสังฆราชปาเลอกัวจากฝรั่งเศสเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีการบูรณะฟื้นฟูอีกครั้ง ปัจจุบันอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ดําเนินการบูรณะฟื้นฟูส่วนต่าง ๆ และประดับตกแต่งภายในทั้งหมด
16. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ริมถนนโรจนะ ตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันทรงคุณค่ามากมาย เพื่อเก็บรักษาให้เป็นมรดกของท้องถิ่น ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 อาคาร ได้แก่ หมู่อาคารเรือนไทย จัดแสดงเพื่อรักษารูปแบบเรือนไทยแบบภาคกลางและจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ, อาคารศิลปะในประเทศไทย อาคาร 2 ชั้น จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่รวบรวมได้จากอยุธยา และอาคารตึกเจ้าสามพระยา อาคารหลักเก็บศิลปวัตถุอยุธยาชิ้นสำคัญ
17. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม หรือ วังจันทรเกษม หรือ วังหน้า ตั้งอยู่บนถนนอู่ทอง ใกล้กับตลาดหัวรอ สร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ประมาณ พ.ศ. 2120 เพื่อให้เป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นสูง เมื่อคราวเสียกรุงได้ถูกทำลายเสียหาย จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัตยาและพลับพลาจตุรมุขไว้เป็นที่ประทับ พระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม สิ่งน่าสนใจภายใน เช่น กำแพงและประตูวัง, พลับพลาจตุรมุข จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่มีอยู่เดิมภายในพระราชวัง, พระที่นั่งพิมานรัตยา จัดแสดงประติมากรรมที่สลักจากศิลา, พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง) หอสูง 4 ชั้น ใช้เป็นที่ทอดพระเนตรดวงดาว และตึกที่ทำการภาค จัดนิทรรศการถาวร 5 เรื่อง เป็นต้น
18. หมู่บ้านฮอลันดา
หมู่บ้านฮอลันดา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยคานเรือ ตำบลหอรัตนไชย ไม่ไกลจากวัดพนัญเชิงวรวิหาร อดีตบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนชาวดัตช์ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2147 (ค.ศ. 1604) ตรงกับปลายช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และจากซากฐานรากเดิมของสถานีการค้า บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (วีโอซี) ถูกสร้างขึ้นใหม่ในรูปแบบอาคาร 2 ชั้น เป็นศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-เนเธอร์แลนด์ (ฮอลันดา) และใช้จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่ขุดค้นพบ เช่น เครื่องกระเบื้องจีน เครื่องปั้นดินเผา กล้องสูบยาของดัตช์ และเหรียญเงินตราดัตช์ เป็นต้น
19. หมู่บ้านญี่ปุ่น
หมู่บ้านญี่ปุ่น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลเกาะเรียน ไม่ไกลจากหมู่บ้านฮอลันดา ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยเป็นชุมชนชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งรกราก ปัจจุบันสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ได้จารึกประวัติศาสตร์ความเป็นมา ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับต่างประเทศ และนิทรรศการยามาดะ นางามาซะ (ออกญาเสนาภิมุข) และท้าวทองกีบม้า บุคคลสำคัญชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทในราชสำนักอยุธยา นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงและจําลองสินค้าในการค้าขายนําเข้าและส่งออกในสมัยนั้น สวนญี่ปุ่น และมีร้านอาหารอยู่ริมน้ำ เป็นต้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก หมู่บ้านญี่ปุ่น Japanese Village 日本人村
20. หมู่บ้านโปรตุเกส
หมู่บ้านโปรตุเกส ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก อยู่ทางใต้ของตัวเมืองในตําบลสําเภาล่ม ตรงข้ามหมู่บ้านญี่ปุ่น ในอดีตสร้างขึ้นเพื่อเผยแผ่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวโปรตุเกส ปัจจุบันยังมีร่องรอยซากสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็น เช่น โบราณสถานซานเปโตร หรือโบสถ์เซนต์โดมินิค เป็นโบสถ์ในคณะโดมินิกัน นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทย เมื่อปี พ.ศ. 2083 ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นสุสานของชาวคาทอลิก คณะโดมินิกัน ส่วนกลางใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและฝังศพบาทหลวง ส่วนด้านหลังและด้านข้างเป็นที่พักอาศัย โดยมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องประดับ กำไลแก้ว และเครื่องประกอบพิธีทางศาสนา เป็นต้น
21. ศรีอยุธยา ไลอ้อน ปาร์ค
ศรีอยุธยา ไลอ้อน ปาร์ค (Sriayuthaya Lion Park) สวนสัตว์อยุธยาที่ตั้งอยู่ในอำเภอท่าเรือ ไม่ไกลจากวัดตะโก หลวงพ่อรวย เป็นสวนสัตว์ที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีโซนสัตว์ทั้งเสือ สิงโต ช้าง ม้า ม้าลาย ยีราฟ จระเข้ อูฐ นก หนูคาปิบาร่า กระต่าย แพะ แกะ และอื่น ๆ อีกมากมาย พร้อมทั้งกิจกรรมโชว์ช้างและลิงอุรังอุตัง รวมถึงการให้อาหารสัตว์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดอีกด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก : Sriayuthaya Lion Park - ศรีอยุธยา ไลอ้อน ปาร์ค
22. ตลาดน้ำอโยธยา
ตลาดน้ำอโยธยา ตลาดน้ำใกล้กรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ในตำบลไผ่ลิง ห่างจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้มเพียง 1 กิโลเมตร ไม่ไกลจากวัดสมณโกฏฐาราม บรรยากาศตลาดน้ำแบบไทย ๆ เป็นแหล่งรวมของกินและสินค้านานาชนิด เช่น สินค้า OTOP, สินค้าหัตถกรรม, ของทำมือ, ของที่ระลึกพวกดาบและอาวุธโบราณ, เสื้อผ้าและเครื่องประดับต่าง ๆ รวมถึงอาหารคาวและหวาน เช่น ไก่ย่าง, ส้มตำ, ขนมจีน, ก๋วยเตี๋ยว, ห่อหมก, หมูสะเต๊ะ, โรตีสายไหม และขนมไทยต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ให้ได้ชมกันด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก ตลาดน้ำอโยธยา อยุธยา - Ayothaya Floating market
23. พระราชวังบางปะอิน
พระราชวังบางปะอิน ตั้งอยู่ในอำเภอบางปะอิน ไม่ไกลจากวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร สถานที่ท่องเที่ยวอยุธยาที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน ภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พระราชฐานชั้นนอก สำหรับพระเจ้าอยู่หัวออกมหาสมาคมและพระราชพิธีต่าง ๆ ประกอบด้วย หอเหมมณเฑียรเทวราช, สภาคารราชประยูร, พระที่นั่งวโรภาษพิมาน และพระราชฐานชั้นใน ใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วย พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร, พระที่นั่งวิฑูรทัศนา, พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ (พระที่นั่งเก๋งจีน), อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และอนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ เป็นต้น
24. อาคารเรียน-รู้-เรื่อง-โขน
อาคารเรียน-รู้-เรื่อง-โขน แหล่งเรียนรู้เรื่องราวของศิลปะการแสดงโขนที่ตั้งอยู่ในตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน ในพื้นที่ของศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2540 จากพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นอาคาร 2 ชั้น ที่จัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับโขนพระราชทานต่าง ๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน All about Khon
25. ตลาดหัวรอ
ตลาดสดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือที่เรียกว่า ตลาดหัวรอ ตั้งอยู่ในเกาะเมืองอยุธยา เยื้อง ๆ กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เป็นย่านชุมชนค้าขายสินค้าสารพัดชนิด ในรูปแบบพื้นที่ตลาดสดที่อยู่คู่วิถีชีวิตของชาวเมืองอยุธยามากว่า 200 ปี ภายในมีสารพัดของกินขึ้นชื่อ ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ไม่ว่าจะเป็นร้านเต้าหู้ทอด (ป้ายุพิน), ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเอนก-แม่แจ๋ว, ร้านขนมจีนซาวน้ำ, ซ้อย้งก๋วยเตี๋ยวหมู, ไอศกรีมป้านา, ร้านซาลาเปาอาม่า และร้านโจ๊กเจ๊นิ เป็นต้น
26. ตลาดกลางเพื่อการเกษตร
ตลาดกลางเพื่อการเกษตร หรือที่เรียกติดปากกันว่า ตลาดกลางอยุธยา ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย (ขาเข้า) เส้นทางหลวงหมายเลข 32 เป็นแหล่งขายอาหารทะเลสด อาหารแห้ง และขนมของฝากต่าง ๆ ราคาย่อมเยา โดยเฉพาะกุ้งแม่น้ำตัวโต ๆ หรือปลาแม่น้ำต่าง ๆ โดยจะมีทั้งแบบซื้อกลับบ้านและนั่งรับประทานที่ร้าน ซึ่งมีร้านอาหารเปิดบริการอยู่หลายร้าน
27. ตลาดน้ำวัดท่าการ้อง
ตลาดน้ำวัดท่าการ้อง ตั้งอยู่บริเวณหลังวัดท่าการ้อง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ของกิน ของใช้ ของฝากของที่ระลึกครบครัน แถมยังมีที่นั่งรับประทานอาหาร พักผ่อน ให้อาหารปลา และยังเป็นท่าขึ้น-ลงเรือเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก ตลาดน้ำวัดท่าการ้อง
28. พุทธอุทยานมหาราช และตลาดหลวงปู่ทวด
พุทธอุทยานมหาราช และ ตลาดหลวงปู่ทวด ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 32 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอมหาราช สถานที่ประดิษฐานองค์ หลวงปู่ทวด ขนาดใหญ่ ความสูง 51 เมตร และหน้าตักกว้าง 24 เมตร ให้ได้สักการะขอพร ใกล้กันเป็นที่ตั้งของ ตลาดหลวงปู่ทวด แหล่งรวมของกิน ของฝาก ของใช้ ให้ได้เลือกช้อปมากมาย บรรยากาศร่มรื่น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก เที่ยวอยุธยามาตลาดหลวงปู่ทวด
29. ตลาดโก้งโค้ง
ตลาดโก้งโค้ง ตั้งอยู่ที่บ้านแสงโสม ถนนบางปะอิน-วัดพนัญเชิง ตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน ในอดีตเป็นด่านขนอน (ด่านเก็บภาษี) และเป็นสถานที่ที่มีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิด ทั้งสินค้าชุมชนและสินค้าที่มาจากต่างเมือง ปัจจุบันเป็นตลาดย้อนยุคโบราณที่จำหน่ายพืช ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ และอาหารคาว-หวาน พ่อค้าแม่ค้าแต่งกายย้อนยุคสร้างบรรยากาศเก่า ๆ แบบสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี แถมยังมีโซนให้นั่งรับประทานอาหารด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก ตลาดโก้งโค้ง Kong Khong Market
30. ตลาดสดเทศบาลเมืองเสนา (ตลาดบ้านแพน)
ตลาดสดเทศบาลเมืองเสนา หรือ ตลาดบ้านแพน ตลาดเก่าแก่ของอำเภอเสนา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ใกล้กับหอนาฬิกา มีจำหน่ายทั้งของสด ของแห้ง ผัก ผลไม้ ของหวาน อาหารปรุงสำเร็จต่าง ๆ สองฟากฝั่งยังพอมีบ้านเรือนไม้อยู่บ้าง รวมถึงมีร้านอาหารรสเด็ดมากมาย เช่น ร้านจุ้งบริการ 1 (เฮียคุง), ร้านหมี่กรอบโบราณ, ร้านโอโภชนา, ร้านรุ้งสุกี้เสนา, ร้านข้าวต้มน้องน้อย, ร้านเป็ดย่างมงคลไพศาล, ร้านโจ้ คากิ หมูตุ๋น และก๋วยเตี๋ยวเรือเป็ดป้าต้อย เป็นต้น
นี่เป็นที่เที่ยวอยุธยา 2567 เพียงไม่กี่แห่งที่เรานำมาแนะนำกัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยายังมีสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก และที่กินอีกมากมาย เอาเป็นว่าหากมีโอกาสก็ปักหมุดสักวัน แล้วจัดเส้นทางท่องเที่ยวฉบับวันเดย์ทริป หรือเที่ยวอยุธยา 2 วัน 1 คืน ได้เลย
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
บทความ ที่เที่ยวอยุธยา ไหว้พระอยุธยา อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : go.ayutthaya.go.th, ww2.ayutthaya.go.th, finearts.go.th, thai.tourismthailand.org, finearts.go.th, japanesevillage.org, prd.go.th