x close

วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา ขอพรพระเจดีย์ชัยมงคล เสริมอำนาจบารมี

           วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา ไปสักการะพระเจดีย์ชัยมงคล เชื่อกันว่าจะมีแต่ความยิ่งใหญ่ เสริมอำนาจบารมี และเป็นมงคลแก่ชีวิต
          วัดใหญ่ชัยมงคล พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก เป็นวัดยอดนิยมที่อยู่ในโปรแกรมไหว้พระอยุธยา เพราะเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระเจดีย์ชัยมงคล อนุสรณ์แห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ ว่ากันว่าหากได้ไปสักการบูชาจะช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ความน่าสนใจของวัดแห่งนี้ยังมีอีกมาก ตามเราไปทำความรู้จักให้มากขึ้นกันดีกว่า
วัดใหญ่ชัยมงคล

ไหว้พระ วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา

วัดใหญ่ชัยมงคล ตั้งอยู่ที่ไหน

           วัดใหญ่ชัยมงคล (Wat Yai Chaimongkhon) ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา ใกล้กับสนามกีฬาอยุธยา และไม่ไกลจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม วัดพระนอน 600 ปี (พระพุทธศรีอยุธยาประชาพิทักษ์) สามารถคลิกดู Google Map วัดใหญ่ชัยมงคล ได้ที่ goo.gl/maps/T7GofkuS9Uoy9jMM9

ประวัติวัดใหญ่ชัยมงคล

           วัดนี้เดิมพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ ซึ่งไปบวชเรียนมาตั้งแต่สำนักพระวันรัตมหาเถรในลังกาทวีป เรียกนามนิกายนี้ว่า "คณะป่าแก้ว" จึงได้นามว่า "วัดป่าแก้ว" ต่อมาผู้คนเลื่อมใสบวชเรียนพระสงฆ์นิกายนี้จนเจริญแพร่หลาย พระเจ้าอู่ทองจึงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้ขึ้นเป็นสมเด็จพระวันรัต มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายขวา คู่กับพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอธิบดีสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ คือสังฆราชฝ่ายซ้าย โดยวัดนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช สมัยโบราณเรียกพระสงฆ์ว่า "เจ้าไท" ฉะนั้นเจ้าพญาไทจึงหมายถึงตำแหน่งพระสังฆราช จึงได้ชื่อว่า "วัดเจ้าพญาไท"
วัดใหญ่ชัยมงคล

          ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2135 พระมหาอุปราชแห่งพม่าได้ยกกองทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา หมายจะปราบปรามเมืองไทยไว้ในอำนาจ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพออกไปต่อสู้ข้าศึก จนได้ทำศึกชนช้างกับพระมหาอุปราชที่ตำบลหนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีชัยชนะในศึกยุทธหัตถีครั้งนี้ ทรงฟันพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง แต่ครั้งนั้นไม่สามารถที่จะตีกองทัพของข้าศึกให้แตกยับเยินไปได้ เนื่องจากกองทัพต่าง ๆ ติดตามไม่ทันพระองค์ เมื่อเสร็จการสงครามแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงทรงพิโรธแม่ทัพนายกองเหล่านั้น จะให้ประหารชีวิตเสียให้หมด สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้วได้ขอบิณฑบาตชีวิตทหารเหล่านั้นเอาไว้ แล้วทูลแนะนำให้ทรงสร้างเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศที่ได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น

          โดยให้เหตุผลว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเปรียบดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แวดล้อมด้วยหมู่มารก่อนที่จะตรัสรู้ ทั้งยังเป็นการประกาศเกียรติและบารมีความกล้าหาญและเก่งกาจของพระองค์ให้กระจายไปทั่วแผ่นดิน สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความมีน้ำพระทัยของพระองค์ที่มีต่อเหล่าทหารเหล่านั้น และถูกขนานนามว่า "พระเจดีย์ชัยมงคล" ต่อมาเรียกกันว่า "วัดใหญ่ชัยมงคล" ทว่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถูกกองทัพพม่าเผาทำลาย วัดใหญ่ชัยมงคลจึงถูกทิ้งร้างไปในที่สุด ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์และมีภิกษุสงฆ์จำพรรษาดังเช่นในปัจจุบัน

วัดใหญ่ชัยมงคล

สิ่งน่าสนใจในวัดใหญ่ชัยมงคล

           ภายในวัดใหญ่ชัยมงคลมีสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งยังได้รับการประกาศให้อยู่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2540 เมื่อคราวที่มีการประกาศเพิ่มเติมขยายเขตอุทยาน ไม่ว่าจะเป็น

พระเจดีย์ชัยมงคล

           อนุสรณ์แห่งชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเหนือมังกยอชวา พระมหาอุปราชของหงสาวดี เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยม ความสูง 15 เมตร ความกว้างด้านละ 32.40 เมตร ซึ่งรวมความสูงองค์เจดีย์จากฐานถึงยอดได้ 62.10 เมตร ภายในพระเจดีย์บรรจุชัยมงคลคาถา (พาหุงมหากา) เป็นบทสรรเสริญชัยชนะของพระพุทธองค์ 8 ประการ และบริเวณรอบพระเจดีย์มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยตั้งเรียงรายอยู่ด้วย สามารถเดินขึ้นไปไหว้พระด้านบนพระเจดีย์ได้ รวมถึงมีห้องขนาดเล็กที่ตรงกลางมีบ่อลึกลงไปด้านล่างใจกลางเจดีย์ ทั้งนี้ ควรระมัดระวังเพราะบันไดค่อนข้างชัน
วัดใหญ่ชัยมงคล

วัดใหญ่ชัยมงคล

ภาพจาก : John Stocker / shutterstock.com

อุโบสถ

         ตั้งอยู่ด้านหน้าพระเจดีย์ชัยมงคล พ.ศ. 2522 พระครูภาวนารังสี เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ได้สร้างพระอุโบสถใหม่บนซากเดิม โดยย่อส่วนให้เล็กลงเพื่อรักษาโบราณสถานไว้ ซึ่งกรมศิลปากรได้ออกแบบแปลนให้บริเวณด้านหน้าประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” ไว้สักการบูชา สามารถจุดธูป เทียน และปิดทององค์พระได้ ส่วนภายในประดิษฐาน “พระพุทธชัยมงคล” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ปั้นด้วยหินทรายทั้งองค์ จีวรลงรักปิดทองประดับแก้ว หน้าตักมีความกว้างเกือบ 2 เมตร เล่ากันว่าพระเทียรราชาเคยไปเสี่ยงเทียนอธิษฐานแข่งบารมีกับขุนวรวงศาธิราช ก่อนที่จะได้ราชสมบัติในแผ่นดิน

วัดใหญ่ชัยมงคล

พระพุทธชัยมงคล

วัดใหญ่ชัยมงคล

ภาพจาก : Bangprikphoto / shutterstock.com

พระพุทธชินราช

คาถาบูชาพระพุทธชินราช

     ตั้งนะโม 3 จบ
     อิเมหิ นานาสักกาเรหิ อภิปูชิเตหิ
     ทีฆายุโก โหมิ อะโรโค สุขิโต สิทธิกัจจัง
     สิทธิกัมมัง ปิยังมะมะ ประสิทธิลาโภ
     ชะโย โหตุ สัพพัททา พุทธชินะราชา
     อภิปะเลนตุมัง นะโมพุทธายะ

วัดใหญ่ชัยมงคล

ภาพจาก : Anotai Y / shutterstock.com

วิหารพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน)

          ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สีขาว ห่มคลุมด้วยจีวรตลอดทั้งองค์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเป็นที่ถวายสักการบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ในอดีตเป็นวิหารขนาดใหญ่สร้างคลุมองค์พระไว้ แต่ปัจจุบันหลงเหลือเพียงเสา 2 ต้น และกำแพงบางส่วน หลังจากองค์พระพุทธไสยาสน์ซึ่งได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ ผู้คนนิยมไปห่มผ้าองค์พระพุทธไสยาสน์ เพราะเชื่อกันว่าจะได้เรื่องเมตตามหานิยม ปรารถนาความสำเร็จ และแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง
วัดใหญ่ชัยมงคล

คาถาบูชา พระปางไสยาสน์ (พระพุทธรูปประจำวันอังคาร)

     ตั้งนะโม 3 จบ แล้วว่า
     ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต
     รัตตินทิวะ มะตันทิโต สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ
     เอวะมาทิคุณู เปตัง ปะริตตันตัมภะณามะเหฯ  
     (สวดวันละ 1 จบ หรือ 8 จบ)

พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

           สร้างปี พ.ศ. 2535 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2544 ภายในประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในพระอิริยาบถทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกเพื่อประกาศอิสรภาพ ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพร หากสมปรารถนามักนำเครื่องสักการะมาถวาย เช่น พานพุ่ม รูปปั้นไก่ชน ชุดทหาร หรือชุดมวยไทย เป็นต้น
วัดใหญ่ชัยมงคล

คาถาบูชาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

     ตั้งนะโม 3 จบ
     อิติจิตตัง เอหิ เทวะตาหิ จะมหาเตโช นะระปูชิโต
     โสระโส ปัจจะยา ทิปปะติ นะเรโส จะ มหาราชา เมตตา
     จะ กะโรยัง มหาลาภัง จะ ทาโสตถี ภะวันตุเม

วัดใหญ่ชัยมงคล

ศาลเจ้าพ่อสิทธิชัย

          ตั้งอยู่ใกล้พระอุโบสถ เป็นศาลไม้สักทองทั้งหลัง เชื่อกันว่าดวงพระวิญญาณของพระราชโอรสในพระครรภ์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือร่ม) พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 สถิตอยู่ที่นี่ ชาวบ้านมักมาขอพรเรื่องลูกและเรื่องต่าง ๆ เชื่อกันว่าขออะไรมักสมประสงค์
วัดใหญ่ชัยมงคล

ภาพจาก : Danny Ye / shutterstock.com

วัดใหญ่ชัยมงคล ขอพรเรื่องอะไร

            มีความเชื่อกันว่าสักครั้งในชีวิตให้ไปกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นมงคลอันยิ่งใหญ่ จะมีชัยชนะเหนืออุปสรรคทั้งปวง เสริมอำนาจบารมี และเป็นมงคลแก่ชีวิต พร้อมกับแนะนำให้คนที่มีเคราะห์ภัยไปห่มผ้าพระพุทธไสยาสน์และองค์พระเจดีย์ชัยมงคล สะเดาะเคราะห์แก้ดวงตก

พิธีห่มผ้าพระเจดีย์ชัยมงคล วัดใหญ่ชัยมงคล

           ในทุกปีทางวัดจะจัดงานพิธีห่มผ้าพระเจดีย์ชัยมงคลในวันวิสาขบูชา ซึ่ง 1 ปี จัดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันวิสาขบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมกับบูรพกษัตริยาธิราช และเหล่าทหารของกรุงศรีอยุธยา ทำให้มีผู้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. พิธีทำบุญตักบาตรตามประเพณีของไทย ต่อมาจะเริ่มขบวนแห่ผ้าห่มพระเจดีย์ชัยมงคลและเชิญผ้าขึ้นห่มองค์พระเจดีย์
วัดใหญ่ชัยมงคล

วัดใหญ่ชัยมงคล เปิดกี่โมง

          เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ชาวไทยเข้าชมฟรี ส่วนชาวต่างชาติเสียค่าบริการ 20 บาท
วัดใหญ่ชัยมงคล

ภาพจาก : Nopwaratch Stock / shutterstock.com

การเดินทางไปวัดใหญ่ชัยมงคล

           จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา จะเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวเรือวัดใหญ่ วัดใหญ่ชัยมงคล อยู่ทางซ้ายมือ พื้นที่จอดรถกว้างขวาง รวมถึงมีพื้นที่ภายในห้องน้ำสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ใช้รถเข็น
วัดใหญ่ชัยมงคล

  • ที่ตั้ง : 40/3 หมู่ 3 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
  • เฟซบุ๊ก : วัดใหญ่ชัยมงคล
  • Google Map : วัดใหญ่ชัยมงคล

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ อยุธยา เที่ยวอยุธยา ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา ขอพรพระเจดีย์ชัยมงคล เสริมอำนาจบารมี อัปเดตล่าสุด 30 พฤษภาคม 2566 เวลา 09:37:14 61,535 อ่าน
TOP