ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา เที่ยวอยุธยาด้วยการทัวร์ 9 วัด ที่สำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยากัน
ชาวพุทธเราไม่ว่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง การเข้าวัดไหว้พระ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ถือเป็นเรื่องดี และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นตามคติความเชื่อว่ากันว่า ควรเข้าวัดไหว้พระ 9 วัด เพราะเปรียบเสมือนการได้ทำบุญครั้งใหญ่ เสริมมงคลให้ชีวิต ซึ่งในแต่ละจังหวัดก็จะมีวัดดังแตกต่างกันไป แต่ที่มีชื่อเสียงและคนนิยมไปไหว้คือ "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" เมืองเก่าใกล้กรุงเทพฯ เพราะที่นี่มีวัดเก่าแก่ชื่อดังมากมาย ว่าแล้ววันนี้จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักวัดชื่อดังที่ผู้คนนิยมไป "ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา" เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิตกันค่ะ
1. วัดตูม
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ริมคลองวัดตูม ริมถนนอยุทธยา-อ่างทอง
ห่างจากตัวเมืองอยุธยาประมาณ 5-6 กิโลเมตรเป็นวัดโบราณสร้างมาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
และเคยเป็นวัดร้างมาครั้งหนึ่งเมื่อคราวเสียกรุงใน พ.ศ. 2310
จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 จึงได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นอีก
ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี
และรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ
วัดนี้หลายครั้ง
วัดนี้จึงเป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญวัดหนึ่งมาแต่ในรัชกาลที่ 5
เป็นต้นมา
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือพระเศียรตอนเหนือพระนลาฎ (หน้าผาก)
เปิดออกได้และพระเกศมาลาถอดได้
ภายในพระเศียรเป็นบ่อกว้างลึกลงไปเกือบถึงพระศอ
มีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลาเหมือนหยาดเหงื่อ
เป็นน้ำใสเย็นบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน
สามารถรับประทานได้โดยปราศจากกอันตรายใด ๆ และไม่แห้งขาดหาย
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงเครื่อง ปางมารวิชัย
นามเดิมของท่าน คือ "หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์" เรียกกันเป็นสามัญคือ
"หลวงพ่อสุข" สร้างสมัยใดไม่ปรากฎตำนาน
เป็นพระทรงเครื่องแบบมหาจักรพรรดิ์ราชาอธิวาสสวมมงกุฎ มีกุณฑลทับทรวง
สังวาลพาหุรัดประดับด้วยเนาวรัตน์ ประทับนั่งขัดสมาธิ
พระพุทธรูปองค์นี้จะเปิดเศียรพระทุกวันที่ 1 ของเดือน
2. วัดท่าการ้อง
ภาพจาก ททท.
เป็นวัดโบราณมีมาแต่สมัยอยุธยา สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2092 หรือประมาณ 460
ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าคงเป็นวัดที่ราษฎรสร้าง
เพราะไม่ปรากฏรายชื่อพระอารามหลวงสมัยอยุธยา ตามบันทึกพระราชพงศาวดาร
วัดท่าการ้องมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยามากมาย
ทั้งยังเป็นที่ฝึกฝนศิลปะแม่ไม้มวยไทยของนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง
คือ นายขนมต้ม นั่นเอง
สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้ คือ หลวงพ่อยิ้ม พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยอยุธยาใกล้ ๆ กับโบสถ์มีศาลเจ้าแม่ตะเคียน
ซึ่งคนที่มากราบไหว้เจ้าแม่ตะเคียนส่วนใหญ่มักจะมาขอเลขเด็ดกันทั้งนั้น
ถัดจากศาลเจ้าแม่ตะเคียนเดินไปศาลาการเปรียญเป็นอาคารทรงไทยไม้สัก
บนศาลาเต็มไปด้วยญาติโยมที่มาทำบุญ
ถัดไปเป็นที่ตั้งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอยู่ในห้องแอร์
วัดท่าการ้องมีทุกอย่างที่คนไทยชาวพุทธนับถือทั้งเจ้าแม่กวนอิม
เจ้าแม่ตะเคียน รูปหล่อองค์จตุคามขนาดใหญ่ 4 องค์ และพระพิฆเนศ สำหรับใครที่เริ่มมีอาการอยากจะเข้าห้องน้ำละก็
วัดท่าการ้องขึ้นชื่อว่าเป็นวัดที่ห้องน้ำสะอาดมากที่สุดแห่งหนึ่ง
การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศตอนประกวดห้องน้ำวัดทั่วประเทศไทย
3. วัดกษัตราธิราชวรวิหาร
ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองตรงข้ามกับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สามารถใช้เส้นทางเดียวกับสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ไปจนถึงสี่แยก แล้วเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร
จากนั้นเลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนักก็จะถึงวัดนี้ ซึ่งเดิมชื่อ "วัดกษัตรา"
หรือ "วัดกษัตราราม" เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา
มีพระปรางค์ใหญ่เป็นประธานหลักของวัด
และยังมีพระอุโบสถสมัยอยุธยาซึ่งมีลายดาวเพดานจำหลักไม้งดงามมาก
ภายในวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์
เป็นวัดที่มีความสวยงามมากวัดหนึ่ง
4. วัดใหญ่ชัยมงคล
ภาพจาก ททท.
"วัดใหญ่ชัยมงคล" ตั้งอยู่นอกเกาะมืองอยุธยาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ
หรือห่างจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้มไปทางใต้ประมาณ 800 เมตร
ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าไท
จุดเด่นของวัด ได้แก่ เจดีย์องค์ใหญ่ ที่เชื่อกันว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ที่ภายในได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถาบรรจุอยู่
ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคล พระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์
สิทธิ์ของวัด นอกจากนี้แล้วภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2544 อีกด้วย
5. วัดพนัญเชิง
ภาพจาก ททท.
"วัดพนัญเชิง" เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
วัดแห่งนี้มีความเชื่อกันว่าเมื่อมากราบไหว้จะช่วยเสริมมงคลด้านการค้าพาณิชย์รุ่งเรือง ความสำเร็จในงาน
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง
ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร หรือเมื่อออกจากวัดใหญ่ชัยมงคลให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร
ก็จะเห็นวัดพนัญเชิงอยู่ทางขวามือ
สิ่งสำคัญที่สุดของวัดนี้ก็คือพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง
20 เมตร 17 เซนติเมตร สูง 19 เมตร ซึ่งแต่เดิมนั้นประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง
ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อโต" หรือชาวไทยเชื้อสายจีนเรียกว่า "ซำปอกง"
และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า
"พระพุทธไตรรัตนนายก" ตำนานกล่าวว่าเมื่อคราวจะเสียกรุงครั้งที่ 2
มีน้ำพระเนตรไหลลงมาถึงพระนาภี วัดและองค์พระชำรุดเนื่องจากไฟไหม้ใน
พ.ศ. 2444
จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีเก๋งจีนขนาดเล็กซึ่งอยู่ทางด้านข้างของพระวิหารใหญ่
ชาวบ้านเรียกอาคารเก๋งจีนนี้ว่า "ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก"
ตัวอาคารเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแบบจีน ชั้นบนประดิษฐานรูปเคารพ
ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เจ้าแม่สร้อยดอกหมากตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา
6. วัดกลางคลองตะเคียน
"วัดกลางคลองตะเคียน" หรือ "วัดกลางปากกราน" ตั้งอยู่ที่ตำบลปากกราน
อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตรงข้ามกับวัดกษัตรา
ไปทางวัดไชยวัฒนาราม ห่างกันประมาณ 800 เมตร วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ
ที่วัดแห่งนี้เราจะได้พบกับสิ่งอันเป็นมงคลยิ่ง คือ พระบรมสารีริกธาตุ
ที่ทางวัดได้อันเชิญประดิษฐานไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มากราบนมัสการ
อีกทั้งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 3 องค์ ของวัดกลางคลองตะเคียน ได้แก่
1. พระพุทธมหามิ่งมงคล อายุกว่า 556 ปี สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
2.
พระพุทธรูปสมเด็จกริ่งคลองตะเคียน
เป็นพระพุทธรูปองค์แรกของเมืองไทยที่หล่อเป็นเนื้อโลหะเนื้อผสม
จำลองมาจากพระเครื่องสมเด็จกริ่งคลองตะเคียน
เป็นองค์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
3. พระแผงพระเจ้าสิบชาติ องค์แรกของเมืองไทยที่หล่อด้วยโลหะผสมสวยงามและใหญ่ที่สุด
นอกจากนี้วัตถุมงคลพระกริ่งวัดกลางคลองตะเคียนกับพระแผงสิบชาติ ยังเป็นที่เล่าลือกันมากในเรื่องแคล้วคลาดและปลอดภัย
7. วัดสมณโกฏฐาราม
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น
และปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก)
และเจ้าพระยาโกษา (ปาน) อาจเป็นในช่วงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
"ในจดหมายเหตุของแกมเฟอร์
แพทย์ชาวเยอรมันที่ทำงานในบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดา
เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2233 ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
ได้บันทึกไว้ว่า
ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันออกมีวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งเรียกว่า
วัดพระยาคลัง
แผนผังที่นายแกมเฟอร์เขียนประกอบไว้ปรากฏว่าเป็นวัดสมณโกฎฐารามและวัดกุฎีดาว
และยังระบุว่าสมเด็จพระเพทราชาได้เสด็จไปที่วัดนี้ เพื่อราชทานเพลิงศพเจ้าแม่ดุสิต ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษา (ปาน)
และยังเป็นพระแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2233"
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ
เป็นพระอุโบสถสมัยอยุธยาก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกทางด้านข้าง 4 ด้าน
ภายในพระอุโบสถมีหลังคาต่อเป็นโครงไม้แบบหน้าจั่ว ประดิษฐานพระประธาน
กว้างประมาณ 3.5 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกมีวิหารขนาดใหญ่
วัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหญ่รูปทรงสัณฐานแปลกตากว่าแห่งอื่น
เข้าใจว่าเลียนแบบเจดีย์เจ็ดยอดของเชียงใหม่
เป็นพระปรางค์ที่สร้างบนเจดีย์องค์เดิม มีมุขยื่นออกไปทางทิศตะวันออก
มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ 2 ทาง
สันนิษฐานว่าพระปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นในราวสมัยอยุธยาตอนกลาง
นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ระฆังขนาดใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างพระปรางค์และพระอุโบสถ
สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาแต่แรกเริ่มการสร้างวัดตามลักษณะของเจดีย์และลวดลายที่ประดับอยู่บนบัลลังก์
ซึ่งโบราณสถานเหล่านี้ได้สร้างทับรากฐานอาคารเดิมอันเป็นงานที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
8. วัดธรรมิกราช
ภาพจาก ททท.
เดิมชื่อ "วัดมุขราช" อยู่บริเวณใกล้เคียงกับพระราชวังโบราณ
นักท่องเที่ยวสามารถสังเกตจะมีป้ายตามข้างถนนจะบอกทาง
ปัจจุบันวัดธรรมิกราชยังเป็นวัดที่พระสงฆ์ประจำอยู่
และทางทิศเหนือของวัดธรรมิกราชปัจจุบัน
มีวิหารพระนอนที่มีผู้นิยมศรัทธามานมัสการอยู่สม่ำเสมอ
ว่ากันว่าเมื่อมากราบไหว้ที่วัดแห่งนี้จะให้คุณเมตตามหานิยม
คุ้มครองรักษาโรคภัยอันตรา
สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้เห็นจะหนีไม่พ้นวิหารหลวงขนาดใหญ่
ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐ์ของเศียรพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ ศิลปะสมัยอู่ทอง
หรือศิลปะยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา คือพระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยมแลดูเคร่งเครียด
พระพักตร์ถมึงทึง จนชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า "หล่วงพ่อแก่"
ปัจจุบันกรมศิลปากรนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ทรงกลมที่มีปูนปั้นรูปสิงห์ล้อม 52 ตัว
ที่แตกต่างไปจากที่อื่น ๆ
มีความงามสง่าและหาชมได้ยากในเมืองไทย
9. วัดหน้าพระเมรุ
ภาพจาก ททท.
ถ้าใครอยากมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองเป็นมหามงคลของชีวิตละก็
ว่ากันว่าต้องมาที่ "วัดหน้าพระเมรุ" มีชื่อเดิมว่า "วัดพระเมรุราชิการาม"
แห่งนี้
ซึ่งเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลาย และยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุด
ตั้งอยู่ริมคลองสระบัว ตำบลท่าวาสุกรี ตรงข้ามพระราชวังโบราณเป็นอารามหลวง
สามัญชั้นตรี
ภายในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดใหญ่
พระประธานในอุโบสถถูกสร้างขึ้นปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า
"พระพุทธนิมิตวิชิตมาร โมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ"
จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา
ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันและมีความสมบูรณ์งดงามมาก
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ นึกอยากจะไปกันแล้วใช่ไหมล่ะ
แต่ต้องขอบอกก่อนว่าทั้ง 9
วัด ที่นำมาเสนอกันในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัดที่หลายคนนิยมไป
หากใครสนใจจะเดินทางไปเองล่ะก็ ควรศึกษาเส้นทางของวัดให้ดีเสียก่อนนะคะ
จะได้ไม่เป็นการเสียเวลา
หรือจะเลือกไปกับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ก็สะดวกสบายไม่แพ้กัน เพราะมีบริการนำเที่ยว ไหว้พระ 9 วัด ตามจังหวัดต่าง ๆ
ในราคาย่อมเยา
ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศูนย์บริการข่าวสารท่องเที่ยว ททท. 1672 แล้วนำบุญกลับบ้านกันเยอะ ๆ นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, ayutthayanews.com, ayutthayastudies.aru.ac.th, dhammathai.org และ board.palungjit.com