เที่ยวปราสาทนครหลวง อยุธยา ยลความงามสถาปัตยกรรมใกล้กรุงเทพฯ

           ปราสาทนครหลวง อยุธยา โบราณสถานทรงคุณค่า และพร้อมยลความงดงามทางสถาปัตยกรรมมากด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์
           หากเอ่ยถึงที่เที่ยวอยุธยา ส่วนใหญ่เราก็มักจะนึกถึงที่เที่ยวโบราณสถานต่าง ๆ เพราะอดีตเป็นราชธานีเก่าของไทย อยุธยาจึงเป็นคลังความรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ซึ่งนอกเหนือจากโบราณสถาน วัดวาอารามสำคัญ ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ ปราสาทนครหลวง หลายคนน่าจะคุ้นชื่อ หากแต่ยังไม่มีโอกาสไปเยี่ยมชม เราเลยถือโอกาสนี้มาแนะนำสถานที่เที่ยวแห่งนี้กันเสียหน่อยว่ามีประวัติหรืออะไรน่าสนใจบ้าง เรามีข้อมูลมาฝากกันแล้ว

ปราสาทนครหลวง

ปราสาทนครหลวง

ปราสาทนครหลวง อยู่ที่ไหน

          ปราสาทนครหลวง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับเป็นหนึ่งในปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่ต่างเดินทางมาเที่ยวชมสถาปัตยกรรมอันงดงาม

ประวัติปราสาทนครหลวง

          สันนิษฐานกันว่าปราสาทนครหลวงสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นพระตำหนักที่ประทับแรมระหว่างเสด็จฯ ไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีและลพบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2174 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดเกล้าฯ ให้ช่างจำลองแบบมาจากปราสาทเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา สร้างเป็นที่ประทับก่ออิฐถือปูน ปี พ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่นได้มาสร้างวัดนครหลวงขึ้นพร้อม ๆ กับสร้างพระพุทธบาทสี่รอยไว้บนลานชั้นบนของปราสาท นับแต่นั้นมาปราสาทนครหลวงก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัด ด้วยประวัติศาสตร์ตลอดจนคุณค่า และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศกรมศิลปากร

ปราสาทนครหลวง

ปราสาทนครหลวง

ความโดดเด่นของปราสาทนครหลวง

          หลายคนที่เคยมีโอกาสไปเที่ยวปราสาทนครหลวง จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายศิลปะที่ผสมผสานกันระหว่างไทยและขอม มีจุดเด่นน่าสนใจอยู่ที่ตัวปราสาท ซึ่งจะมีช่องทางเดินและมีจุดที่มีองค์พระอยู่ โดยสามารถเดินขึ้นไปถึงบริเวณชั้นที่สาม พระมณฑปพระจันทร์ลอยที่มีรอยพระพุทธบาทสี่รอย

ปราสาทนครหลวง

         ทั้งนี้ บริเวณโดยรอบตัวปราสาทนครหลวงจะมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ด้านหลัง เป็นมุมที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันมาก โดยด้านบนจะเป็นโพรงมองขึ้นไปเห็นท้องฟ้า ยิ่งถ้าวันไหนท้องฟ้าใสเป็นใจ มุมนี้จะกลายเป็นมุมถ่ายรูปของเหล่ามหาชนทันที นอกจากนี้ยังมี พระพิฆเนศประทับนั่งบนหัวกะโหลก และเมื่อเข้ามาในศาลาก็จะพบกับ หลวงพ่อสมหวัง เป็นอีกหนึ่งจุดที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้สักการะ

ปราสาทนครหลวง

          คาถาบูชาหลวงพ่อสมหวัง ปราสาทนครหลวง

          ตั้งนะโม 3 จบ

          มะอะอุ อะอุมะ พุทโธ นะโมพุทธายะ
          นะมะพะทะ สัตตะนะตะยา นุภาเวนะ
          สะทาโสตถี ภะวันตุเม อิทธิ อิทธิ ฤทธิ
          ฤทธิ สิทธิ สิทธิ ชัยยะ ชัยยะ
          ลาภะ อุตะระเรนะ
          พุทธะ นิมิตตัง อิติ
          ธัมมะ นิมิตตัง อิติ
          สังฆัง นิมิตตัง อิติ
          (ตั้งจิตอธิษฐานตามความปรารถนา…ขอให้พบแต่ความดี ไม่มีทุกข์)

พระพิฆเนศประทับบัลลังก์กะโหลก

          พระพิฆเนศปูนปั้นปางชนะมาร มี 4 พระกร ทรงตรีศูล บ่วง งา ถ้วยขนม ประทับอยู่บนแท่นหัวกะโหลก ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าของพระมณฑปพระพุทธบาท เชื่อกันว่าใครบูชาจะพ้นจากอุปสรรค มีอำนาจเหนือสิ่งชั่วร้าย และประสบความสำเร็จ
ปราสาทนครหลวง

          คาถาบูชาพระพิฆเนศประทับบัลลังก์กะโหลก

          โอม ศรีคะเนศายะนะมะ ชะยะคะเณศะ ชะยะคะเณศะ ชะยะคะเณศะ
          เทวา มาตา ชากี ปะระวะตี ปิตามะหา เทวา ละทุวันกา โภคะ ละเค สันตะ กะเร เสวา
          เอกะทันตะ ทะยาวันตะ จาระ ภุชา ธารี มาเถ สินทูระ เสเห มูเส กี อะสะวารี อันธะนะ
          โก อางขะ เทตะ โก กายา พามณะนะ โก กุตระ เทตะ โกทินะ นิระทะนะ มายาฯ
ปราสาทนครหลวง

เกี่ยวกับพระพิฆเนศนั้น พระองค์เป็นเทพเจ้าแห่งปัญญา ความสำเร็จ และการเริ่มต้นใหม่ ชาวฮินดูเชื่อว่าพระพิฆเนศสามารถช่วยประทานพรให้ประสบความสำเร็จในทุกด้านของชีวิต ทั้งด้านการเงิน ความรัก สุขภาพ และการทำงาน พระพิฆเนศยังเป็นหนึ่งเทพประทับของไพ่เทวะมันตรา พยากรณ์ซึ่งถือเป็นไพ่พยากรณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถือกำเนิดมาจากความศรัทธาที่มีต่อเทพเชื้อสายต่าง ๆ ของผู้คนทั่วโลกอีกด้วย

ศิลาพระจันทร์ลอย ปราสาทนครหลวง

          ตำหนักพระนครหลวง หรือ ศาลพระจันทร์ลอย ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทนครหลวง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารจตุรมุข ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ัว รัชกาลที่ 5 พระปลัด (ปลื้ม) หรือ พระครูวิหารกิจจานุการ ได้นำพระจันทร์ลอยจากวัดเทพจันทร์ลอย ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาทนครหลวง มาประดิษฐานไว้ แผ่นหินพระจันทร์ลอยมีลักษณะเป็นแผ่นหินแกรนิตทรงกลมคล้ายดวงจันทร์ขนาดใหญ่ และมีผู้สันนิษฐานว่าแผ่นหินดังกล่าวอาจเป็นธรรมจักรที่ยังสร้างไม่เสร็จก็เป็นได้
ปราสาทนครหลวง

          คาถาบูชาศิลาพระจันทร์ลอย

          นะโม อิติปิโส ภะคะวา ศิลาจันทรวาโร มานิมา
          ขอให้โชคดี มีลาภ ขอให้ได้ยศศักดิ์ ขอให้มีธุรกิจ การค้าขาย ราชการ การงาน ได้อย่างอัศจรรย์ (จับศิลาบีบสองมือ)

          แล้วอธิษฐานว่า

          “ขอให้ข้าพเจ้ามีจิตใจหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตของข้าพเจ้า เหมือนดั่งศิลาพระจันทร์ลอยฉันใด ขอให้ข้าพเจ้าได้ทุกอย่างที่ปรารถนาอย่างอัศจรรย์ดั่งศิลาพระจันทร์ลอยที่ลอยน้ำมา สาธุ”

การเดินทางมายังปราสาทนครหลวง

          การเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้เส้นบางปะอิน-อยุธยา แล้วมาทางหลวงหมายเลข 33 ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก โดยให้ตรงมาถึงสี่แยก หลังจากนั้นเลี้ยวขวา และเลี้ยวขวาอีกครั้งไปทางวัดนครหลวง

ปราสาทนครหลวง

การเข้าชมปราสาทนครหลวง

         ปราสาทนครหลวงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. มีที่จอดรถ ห้องน้ำ รวมถึงร้านค้าบริการ (แต่อาจมีจำนวนไม่มาก)
ปราสาทนครหลวง

          ปราสาทนครหลวง นับเป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวอยุธยาที่ยังคงมีเสน่ห์ความสวยงาม ใครอยากหาที่เที่ยวสงบ ๆ ผู้คนไม่เยอะมาก ลองแวะไปเที่ยวที่นี่ดูกันนะ

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก : nakhonloung.go.thmuseumthailand.com, เฟซบุ๊ก Tat Ayutthaya
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวปราสาทนครหลวง อยุธยา ยลความงามสถาปัตยกรรมใกล้กรุงเทพฯ อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2567 เวลา 13:12:04 64,656 อ่าน
TOP
x close