มรดกโลกของไทย 8 แห่ง มีที่ไหนบ้าง ตามไปดูกัน

           มรดกโลกของไทย ชวนไปท่องเที่ยวพร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียน จากแหล่งมรดกโลกของไทยล่าสุดกัน

          สถานที่ท่องเที่ยว ในไทยมีหลากหลายประเภท ทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณี รวมถึงวิถีชีวิตต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้ได้เรียนรู้เป็นอย่างดี ซึ่งบางแห่งยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก ถือเป็นสมบัติอันทรงคุณค่าของชาติที่ไม่ควรพลาดไปเยือนสักครั้ง ลองไปดูกันว่า มรดกโลกของไทย มีที่ไหนบ้าง

มรดกโลกของไทย

แหล่งมรดกโลก คืออะไร

          แหล่งมรดกโลก (World Heritage Site) คือ พื้นที่หรือจุดหลัก (Landmark) ที่ได้รับคัดเลือกจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และเชิดชูสมบัติอันล้ำค่าของโลกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาวัฒนธรรมและความเป็นมาของประวัติศาสตร์ผ่านโบราณสถานและสถานที่สำคัญเหล่านี้ เพราะมีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่น ๆ และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา สถานที่เหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ แบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม มรดกโลกทางธรรมชาติ และแบบผสมทั้งสองประเภท

          ในส่วนแหล่งมรดกโลกของประเทศไทยนั้น มีสถานที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 8 แห่ง ประกอบด้วยแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 5 แห่ง และทางธรรมชาติอีก 3 แห่ง ดังนี้

มรดกโลกทางวัฒนธรรม

1. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (เมืองเก่าสุโขทัย)

           ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย ครอบคุลมพื้นที่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ 3 แห่ง ได้แก่
  • อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโทัย
  • อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
  • อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

วัดช้างล้อม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

          โดยในอดีตเมืองประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงร่องรอยอารยธรรมโบราณที่เป็นเสน่ห์อันงดงามและทรงคุณค่าของอาณาจักรสุโขทัยไทยในอดีต เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม หรือตัวแทนของความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาด เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม

          ทั้งนี้ ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก คือ เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม หรือตัวแทนของความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาด เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
 

ที่เที่ยวสุโขทัย ไปพักร้อน เที่ยวชิล ๆ กันที่เมืองโบราณ

2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (เมืองเก่าอยุธยา)

           ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ณ เมืองคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย ซึ่งจะอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา เขตเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ เช่น พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุ, วิหารพระมงคลบพิตร วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดโลกยสุธา และวัดธรรมิกราช เป็นต้น รวมถึงโบราณสถานประเภทวัด ถนน คูคลอง และย่านโบราณ ทั้งที่ดำเนินงานทางโบราณคดีและยังไม่ได้ดำเนินงาน
พระราชวังโบราณ

วัดโลกยสุธา

          อดีตราชธานีแห่งนี้เป็นประจักษ์พยานหลักฐานที่แสดงถึงพัฒนาการทางศิลปะของไทย ยังคงปรากฏร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมอันงดงามและทรงคุณค่า ตลอดจนวิถีชีวิตในอดีตและความชาญฉลาดในการเลือกที่ตั้งชุมชนของชุมชน รวมถึงการสร้างถนน คู คลอง อย่างเป็นระบบ

          ทั้งนี้ ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก คือ เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
 

สถานที่ท่องเที่ยวอยุธยา ราชธานีเก่าน่าเที่ยว เมืองแห่งมรดกโลก

3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (บ้านเชียง)

           ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ. 2535 ณ เมืองซานตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ภาพจาก : PixHound / shutterstock.com

          ที่นี่เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญในแถบเอเชียอาคเนย์ ที่นี่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในประเทศไทยสมัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิตและสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน วัฒนธรรมบ้านเชียง ได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่ง เป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้องค์การยูเนสโกของสหประชาชาติจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ภาพจาก : Ipsimus / shutterstock.com

         ทั้งนี้ ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก คือ เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
 

ตามรอยยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี

4. เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (แหล่งวัฒนธรรม)

           ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566  ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยเป็นแหล่งมรดกโลกแบบ Serial Nomination นับเอาพื้นที่ที่เป็น 3 องค์ประกอบอันทรงคุณค่าและมีความเชื่อมโยงกันทั้งในด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และเขาถมอรัตน์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในบริเวณเขตที่สูงภาคกลาง อันเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18)
เมืองโบราณศรีเทพ

          ที่นี่เป็นแหล่งอารยธรรมสมัยทวารวดีที่ดีที่สุดของเมืองไทย โดยภายในยังคงไว้ซึ่งซากปรักหักพังและสิ่งปลูกสร้างของเมืองโบราณที่ยังคงสมบูรณ์ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาและเยี่ยมชม ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เมืองในและเมืองนอก และมีกำแพงเมืองล้อมรอบ พื้นที่กว่า 2,800 กว่าไร่ นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี ภายในบริเวณเมืองศรีเทพด้วย
โบราณสถานเขาคลังนอก

         ทั้งนี้ ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก คือ แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่วัฒนธรรมใด ๆ ของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี อนุสรณ์ศิลป์ การวางผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
 

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ที่เที่ยวเพชรบูรณ์ เมืองโบราณแหล่งอารยธรรมสำคัญ

5. ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี

         ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรมสีมาหิน สมัยทวารวดี และเป็นการสืบทอดของวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องมากว่า 400 ปี โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสี
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

           อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า ภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่าปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุได้ราว 2,500-3,000 ปี มาแล้ว นอกจากนี้ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้าง และรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ ซึ่งร่อยรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

        ทั้งนี้ ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก คือ เป็นเอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม และเป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัด หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่ายจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
 

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ย้อนรอยอารยธรรมโบราณ มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย

แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ

6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

          ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี พ.ศ. 2534 ณ เมืองคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มีอาณาเขตทอดยาวอยู่บนแนวเทือกเขาถนนธงชัยเชื่อมต่อกับตอนเหนือของเทือกเขาตะนาวศรี ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก นับเป็นสถานที่ธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เป็นมรดกโลก ประกอบไปด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

ห้วยขาแข้ง

          ทั้งนี้ ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก 3 ข้อ คือ เป็นแหล่งที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเห็นได้ชัด หรือเป็นพื้นที่ที่มีความงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้, เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยาและชีววิทยา ซึ่งก่อให้เกิดและมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก หรือระบบนิเวศน้ำจืด หรือระบบนิเวศชายฝั่งและทางทะเล และสังคมสัตว์ และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพรรณพืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
ห้วยขาแข้ง

7. พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (เขาใหญ่)

           ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี พ.ศ. 2548 ณ กรุงเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ประกอบไปด้วยพื้นที่คุ้มครอง (Protected Areas) หรือพื้นที่อนุรักษ์สภาพธรรมชาติ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
  • อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
  • อุทยานแห่งชาติทับลาน
  • อุทยานแห่งชาติปางสีดา
  • อุทยานแห่งชาติตาพระยา
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

          ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงตั้งแต่ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า อีกทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ตลอดจนเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพรรณพืชและสัตว์ป่ามากมายนานาชนิด
ดงพญาเย็น-เขาใหญ่

         ทั้งนี้ ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก คือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพรรณพืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
น้ำตกปางสีดา

อุทยานแห่งชาติปางสีดา

8. พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน

           ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 กลุ่มป่าที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี (Tenasserim Range) ซึ่งทอดตัวตามแนวชายแดนไทย-พม่า ประกอบด้วยพื้นที่ป่า 4 แห่ง ได้แก่
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
  • อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน
  • อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
  • อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน

            ด้วยพื้นที่ของกลุ่มป่าแก่งกระจานมีอาณาเขตกว้างใหญ่ นั่นจึงเป็นจุดเด่นตรงที่ความหลากหลายทางธรรมชาติ ประกอบด้วยแหล่งต้นน้ำสำคัญอย่างแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี ตลอดจนยังเป็นพื้นที่เชื่อมถึงกันของระบบนิเวศจากภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งรวมระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญต่าง ๆ ไว้ โดยกลุ่มป่าแก่งกระจานประกอบด้วยถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์ในถิ่นของความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 549 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 23 ชนิด สัตว์ป่าที่อยู่ในขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ จำนวน 4 ชนิด และสัตว์ป่าที่อยู่ในสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม จำนวน 25 ชนิด
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

          ทั้งนี้ ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก คือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพรรณพืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีความโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
 

เรื่องน่ารู้กลุ่มป่าแก่งกระจาน มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งการอนุรักษ์

           และนี่คือ 8 มรดกโลกในไทย ณ ปัจจุบัน เอาเป็นว่าหากมีโอกาสก็อย่าลืมไปสัมผัสกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เหล่านี้กันดูนะ

บทความ แหล่งมรดกโลก มรดกโลก อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มรดกโลกของไทย 8 แห่ง มีที่ไหนบ้าง ตามไปดูกัน อัปเดตล่าสุด 4 ตุลาคม 2567 เวลา 09:42:17 46,220 อ่าน
TOP
x close