x close

เรื่องน่ารู้กลุ่มป่าแก่งกระจาน มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งการอนุรักษ์

          กลุ่มป่าแก่งกระจาน กับเรื่องราวน่ารู้แง่มุมต่าง ๆ ในฐานะพื้นป่ามรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 และมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย
          กลุ่มป่าแก่งกระจาน บ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่า กับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ของไทย พาสำรวจความหลากหลายและความสมบูรณ์ของธรรมชาติ กับเรื่องราวน่ารู้ต่าง ๆ มากมาย และร่วมภาคภูมิใจไปกับสถานที่แห่งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างแห่งความสำเร็จในการดำเนินงานการอนุรักษ์พื้นที่ระดับโลก
แก่งกระจาน มรดกโลก

กลุ่มป่าแก่งกระจานอยู่ที่ไหน

          กลุ่มป่าแก่งกระจาน อยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี, อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  2.5 ล้านไร่ หรือ 4,089 ตารางกิโลเมตร
แก่งกระจาน มรดกโลก

ลักษณะเด่นของกลุ่มป่าแก่งกระจาน

          ด้วยพื้นที่ของกลุ่มป่าแก่งกระจานมีอาณาเขตกว้างใหญ่ นั่นจึงเป็นจุดเด่นตรงที่ความหลากหลายทางธรรมชาติ ประกอบด้วยแหล่งต้นน้ำสำคัญอย่างแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี ตลอดจนยังเป็นพื้นที่เชื่อมถึงกันของระบบนิเวศจากภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งรวมระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญต่าง ๆ ไว้นั่นเอง
แก่งกระจาน มรดกโลก

ประกาศกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนมรดกโลก

          นับเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มป่าแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ถือเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย ต่อจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548

เหตุผลที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับเลือกเป็นมรดกโลก

         เกณฑ์การพิจารณาแหล่งมรดกโลก (World Heritage Criteria) ได้กำหนดเกณฑ์แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ (ข้อที่ 7-10) ไว้ดังนี้
 

  • เกณฑ์ข้อที่ 7 เป็นแหล่งที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเห็นได้ชัด หรือเป็นพื้นที่ที่มีความงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้ 
     
  • เกณฑ์ข้อที่ 8 เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงวิวัฒนาการความเป็นมาของโลกในช่วงเวลาต่างๆ กัน ซึ่งรวมไปถึงร่องรอยของสิ่งมีชีวิตหรือกระบวนการทางธรณีวิทยาที่สำคัญอันทำให้เกิดรูปลักษณ์ของแผ่นดินหรือลักษณะธรณีสัณฐาน หรือลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ
     
  • เกณฑ์ข้อที่ 9 เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยาและชีววิทยา ซึ่งก่อให้เกิดและมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก หรือระบบนิเวศน้ำจืด หรือระบบนิเวศชายฝั่งและทางทะเล และสังคมสัตว์และพืช
     
  • เกณฑ์ข้อที่ 10 เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก


         (*** ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ naturalworldheritage.dnp.go.th)

          โดยกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นั่นคือ ภายใต้เกณฑ์ข้อ 10 ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานประกอบด้วยถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์ในถิ่นของความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 549 ชนิด แบ่งเป็น

- สัตว์ป่าที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 23 ชนิด

- สัตว์ป่าที่อยู่ในขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ จำนวน 4 ชนิด

- สัตว์ป่าที่อยู่ในสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม จำนวน 25 ชนิด

แหล่งท่องเที่ยวภายในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน

          กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วยพื้นที่ป่า 4 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี, อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งแต่ละแห่งมีแหล่งท่องเที่ยวที่แตกต่างกันไป

- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี

          ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านบึง ตำบลบ้านคา กิ่งอำเภอบ้านคา และตำบลท่าเคย ตำบลสวนผึ้ง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ประกอบด้วยผืนป่าและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ทั้งป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง อุดมด้วยสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด และเพราะความโดดเด่นทางความหลากหลายของสัตว์ป่านี้เอง ที่มีส่วนทำให้ยูเนสโกพิจารณาให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน อันรวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ของเมืองไทย
 

          ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่สนใจจำเป็นต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ในการเข้าเยี่ยมชม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี

- อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน

          ตั้งอยู่ที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวสไตล์ผจญภัย เพราะมีกิจกรรมกลางแจ้ง ห้วยลำธาร ตลอดจนเพลิดเพลินกับการชมความสมบูณ์ของป่าตะวันตกได้ไม่มีเบื่อ ภายในมีสถานที่น่าสนใจ เช่น ชมทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ, น้ำตกไทยประจัน, น้ำพุร้อนโป่งกระทิง และโตรกห้วย เป็นต้น
 

          ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน

- อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

          อุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ ได้แก่ ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งดูนก ดูผีเสื้อ และสัตว์ป่านานาชนิด แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น เขื่อนแก่งกระจาน, จุดชมทะเลหมอก กม.36, เขาพะเนินทุ่ง, น้ำตกป่าละอู, น้ำตกทอทิพย์ และแคมป์บ้านกร่าง เป็นต้น
แก่งกระจาน มรดกโลก

          ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน - Kaeng Krachan National Park

- อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

          มีอาณาเขตครอบคลุม 4 อำเภอ คือ อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักกันดีในนาม “ป่าซาฟารีเมืองไทย” ด้วยเพราะผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ช้างป่า” ที่อยู่กันอย่างชุกชุม และเหล่าฝูงวัวกระทิง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ตามเวลาที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีกำหนด และต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่เป็นการกระทบสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า
แก่งกระจาน มรดกโลก

แก่งกระจาน มรดกโลก

          ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี - Kui Buri National Park
 

          การได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทยของกลุ่มป่าแก่งกระจาน จึงเป็นดั่งประจักษ์พยานหลักฐานแห่งการอนุรักษ์ผืนป่าไทย ในฐานะบ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่า และรอโอกาสให้เราทุกคนได้ไปเยือน ^ ^

แก่งกระจาน มรดกโลก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้กลุ่มป่าแก่งกระจาน มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งการอนุรักษ์ อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2567 เวลา 16:37:47 16,683 อ่าน
TOP