อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ทำความรู้จักมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย และแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่ายินดีกับการประกาศให้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของประเทศไทย ต่อจากเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2566 วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ให้มากขึ้น เผื่อใครสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงที่มาที่ไป ตามเราไปดูด้วยกันเลย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อยู่ที่ไหน
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน
รู้จักอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ภูพระบาท ภูเขาหินทรายที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาภูพาน โดยพื้นที่ของภูพระบาทนั้นเป็นป่าไม้เบญจพรรณอันสมบูรณ์ และมีไม้เนื้อแข็งอยู่หลายชนิด เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ ด้วยเหตุนี้เอง กรมป่าไม้ จึงประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ” ต่อมากรมศิลปากรได้ขออนุญาตกรมป่าไม้ใช้พื้นที่ป่าจำนวน 3,430 ไร่ของป่าเขือน้ำ เพื่อประกาศเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ภาพจาก : mai111 / shutterstock.com
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จุดเด่น
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ไม่ใช่เป็นเพียงแค่อุทยานประวัติศาสตร์ธรรมดา แต่ยังเป็นสถานที่ให้ทุกคนได้มาสัมผัสความมหัศจรรย์ของธรรมชาติและอารยธรรมโบราณที่สอดประสานกันอย่างลงตัว โดยมีเอกลักษณ์โดดเด่นในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท คือโขดหินทรายที่กระจายตามพื้นที่จำนวนมาก
นักธรณีวิทยาได้สันนิษฐานเอาไว้ว่า ในยุคโบราณนั้นพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ จนเมื่อ 180 ล้านปีก่อน ธารน้ำแข็งละลายและไหลลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่า ทำให้เกิดการกัดเซาะบนเทือกเขาภูพาน จนกระทั่งในท้ายที่สุดสภาพภูมิประเทศบนภูพระบาทจึงปรากฏเป็นโขดหินและเพิงผารูปร่างแปลก ๆ ดังที่เห็นจนถึงปัจจุบัน
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ร่องรอยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
นอกเหนือไปจากการพบเห็นโขดหินรูปร่างต่าง ๆ แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการมีอยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เคยอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ปรากกฏร่องรอยหลักฐานผ่านการสร้างสรรค์ภาพ เช่น ภาพฝ่ามือ ภาพคน และภาพสัตว์ เนื่องจากมนุษย์ในยุคนั้นยังไม่ได้ประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาเพื่อใช้สื่อความหมาย
ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ก็มีการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ในสมัยทวารวดี ซึ่งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 โดยมีการดัดแปลงโขดหินและเพิงหินทรายบนภูพระบาทไปเป็นศาสนสถาน มีการปักใบเสมาหินขนาดใหญ่ล้อมรอบศาสนสถาน จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23 วัฒนธรรมลาวก็เข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่อีสานตอนบนเกือบทั้งหมด รวมถึงบนภูพระบาท ดังปรากฏมีงานศิลปกรรมช่างลาวอยู่บนภูพระบาทด้วย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โบราณสถาน
ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ประกอบด้วยโบราณสถานน่าสนใจอยู่หลายจุด ได้แก่
หอนางอุสา
โขดหินขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายเห็ดที่ประดับด้วยใบเสมาหิน มนุษย์ในสมัยก่อนได้ก่อหินล้อมไว้เป็นเพิงด้านบน มีประตูและหน้าต่างขนาดเล็ก ใช้เป็นห้องประกอบพิธีกรรม และบริเวณนอกหอนางอุสาก็ยังมีใบเสมาขนาดเล็กและใหญ่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ภายในวงล้อมเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนามาตั้งแต่โบราณกาล
กู่นางอุสา
มีลักษณะเป็นหินทราย 2 ก้อนวางทับกัน มีการสกัดพื้นทำเป็นห้องขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าใช้เป็นห้องบำเพ็ญเพียร หรือประดิษฐานรูปเคารพ และบริเวณโดยรอบมีใบเสมาขนาดใหญ่ล้อมรอบตั้งอยู่ 8 ทิศ
บ่อน้ำนางอุสา
เป็นบ่อน้ำที่สกัดลงไปบนพื้นหิน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า บ่อน้ำแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งน้ำที่คนโบราณใช้สำหรับบริโภค หรือสำหรับการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ นอกบ่อสลักเป็นร่องน้ำตื้นเป็นทางยาว ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นทางระบายน้ำลงไปสู่เบื้องล่าง
ถ้ำวัว-ถ้ำคน
มีลักษณะเป็นเพิงหินที่ซ้อนทับกันจนเกิดเป็นชะง่อนหิน ภายในถ้ำวัวมีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนในถ้ำคน ภายในมีภาพคนที่วาดด้วยสีแดงบนผนัง และเพดานถ้ำยังปรากฏภาพลายตารางสีขาวและภาพคนแบบทึบ
ถ้ำช้าง
มีลักษณะเป็นแท่นหินที่ซ้อนทับกัน ด้านในมีร่องรอยการสกัดด้วยสิ่วจนเรียบ ด้านนอกปรากฏภาพเขียนสี สันนิษฐานว่าเป็นภาพวาดยุคประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมลาว
ถ้ำพระ
มีลักษณะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่วางซ้อนทับกัน ต่อมาคนโบราณได้สกัดหินที่พื้นออกจนเรียบ กลายเป็นห้องขนาดใหญ่ และปรากฏการสลักรูปพระพุทธรูป ด้านนอกพบรอยหลุมเสา
คอกม้าท้าวบารส
มีลักษณะเป็นโขดหินทราย 2 ก้อนซ้อนกัน ด้านล่างของหินก้อนล่างมีการสกัดหินออกเป็นห้อง 2 ห้อง สันนิษฐานว่าแต่เดิมใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ในสมัยโบราณ
หีบศพท้าวบารส
มีลักษณะเป็นโขดหินวางทับกัน สันนิษฐานว่าใช้เป็นสถานที่นั่งจำศีล ทางด้านทิศเหนือของเพิงมีการสกัดเป็นลานหิน และเจาะสกัดเป็นหลุมกลมหลายหลุมเรียงตามแนวขอบของหิน สันนิษฐานว่าน่าจะมีการสร้างเป็นรั้วไม้เพื่อป้องกันสัตว์ หรือไม่ก็เป็นหลุมตะคัน เพื่อจุดไฟให้แสงสว่างตอนกลางคืน
หีบศพนางอุสา
มีลักษณะเป็นเพิงหิน มีแท่นหินสองข้างค้ำยันหินขนาดใหญ่ที่ทับอยู่ด้านบน จนมีลักษณะคล้ายกับโต๊ะหิน ด้านล่างเป็นห้อง มีการสกัดพื้นหินจนเรียบ แม้จะเล็กแต่ก็สามารถใช้บำเพ็ญเพียรได้
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มรดกโลก
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ข่าวสารท่องเที่ยว ททท. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ประกาศแสดงความยินดีกับ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ที่ได้รับการประกาศจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
โดยวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period)
ภาพจาก : เว็บไซต์ whc.unesco.org
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2566 และเป็นแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO เมื่อ พ.ศ. 2535
วิธีเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
สำหรับใครที่อยากเดินทางมาเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีวิธีการเดินทางดังนี้
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท คำแนะนำ
- การเดินทางมาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทค่อนข้างสะดวก ถนนหนทางดี และด้านหน้าอุทยานมีลานจอดรถกว้าง พร้อมร้านอาหารและครื่องดื่มบริการ
- บรรยากาศโดยรอบในการเดินชมจุดต่าง ๆ เหมือนเดินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสมบูรณ์ โดยใช้เวลาเดินทั้งหมดประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการแวะแต่ละจุดนานแค่ไหน
- แนะนำเส้นทางเดินให้เดินทวนเข็ม เลี้ยวขวาหอนางอุสาก่อน แล้วค่อยเดินวนตามเส้นทาง เพราะช่วงปลายเส้นทางจะเป็นทางเดินลงเขา
- ติดน้ำเปล่าไปด้วยสักขวดเพื่อเอาไว้จิบแก้กระหายกลางทาง
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เวลาเปิด-ปิด
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. (ไม่มีวันหยุด) และมีบริการนำชม (ไทย-อังกฤษ) ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ค่าเข้าชม
จุดบริการขายบัตร ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
(ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้พิการ พระภิกษุ-สามเณร ภิกษุณี) เข้าชมฟรี
*** มีบริการแผ่นพับ จุดชมวีดิทัศน์ นิทรรศการ ร่ม รถวีลแชร์ รถไฟฟ้า ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จึงนับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวประวัติศาสตร์น่าสนใจ ตลอดจนสัมผัสมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท หรือโทรศัพท์ 0-4221-9838
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
แนะนำ ที่เที่ยวมรดกโลก ที่เที่ยวอุดรธานี อื่น ๆ ที่น่าสนใจ