เมื่อพูดถึง บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี หลายคนคงนึกถึงสถานที่ได้ร่ำเรียนในประวัติศาสตร์ แต่มีหลายคนยังไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับบ้านเชียง วันนี้กระปุกท่องเที่ยวเลยขอเสนอเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง แหล่งโบราณคดีที่สำคัญของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง ส่วนที่นี่จะมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์อย่างไรและมีอะไรที่เราควรรู้และศึกษาจากแหล่งท่องเที่ยวนี้บ้างค่ะ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง หรือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่เศษ จัดแสดงวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 5,000-1,400 ปีมาแล้ว และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปีอีกด้วย
ด้วย เหตุนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จึงเป็นที่ยอมรับจากคณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก (Unesco) ให้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกอันดับที่ 359 ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2535 ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็น "แหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง" และนับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดีอันดับที่ 4 ของประเทศไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง มีสถานที่ให้ชม 2 ส่วน คือ...
ส่วนที่ 1 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของทางเข้า อยู่ในบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดที่เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นนิทรรศการถาวร ซึ่งแสดงขั้นตอนการขุดค้นทางโบราณคดี ที่ยังคงลักษณะของศิลปวัตถุที่พบตามชั้นดิน เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาถึงการขุดค้นทางโบราณคดี และโบราณวัตถุ โดยส่วนใหญ่เป็นภาชนะเผาที่ฝังรวมกับศพที่กลายมาเป็นโครงกระดูกในปัจจุบัน ค่ะ
ส่วนที่ 2 ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของทางเข้าเป็นอาคาร ที่จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวและวัฒนธรรมของบ้านเชียงในอดีต ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ที่แสดงถึงเทคโนโลยีในสมัยโบราณ รวมทั้งโบราณวัตถุ และนิทรรศการบ้านเชียงที่เคยจัดแสดง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา มาแล้วค่ะ นอกจากนั้น ภายในบริเวณอาคารส่วนที่ 2 ยังมีห้องนิทรรศการ ห้องบรรยาย ฉายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง และการให้บริการการศึกษาต่างอีกด้วยค่ะ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ ทำจากวัสดุนานาชนิดที่ช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องสังคมและเทคโนโลยี การขุดค้นที่บ้านเชียงยังพบกระดูกสัตว์ชนิดต่าง ๆ และเปลือกหอยด้วย ซึ่งทำให้เข้าใจและอธิบายถึงวิถีทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสมัยก่อน ประวัติศาสตร์ โดยหลักฐานที่พบ คือ การขวานทำจากเหล็กและกระดูกควาย ก็สรุปได้ว่ามนุษย์รู้จักการทำนาในที่ลุ่ม และมีการไถนาแล้วเมื่อ ราวเกือบ 3 พันปีมาแล้ว รวมทั้งกระดูกสัตว์ต่าง ๆ และเปลือกหอยหลายชนิด โดยนักโบราณคดีสามารถจำแนกโครงกระดูกของสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ที่ถูกล่ามาเป็นอาการได้เลยจากหลักฐานดังกล่าวค่ะ
สำหรับ ใครที่ยังไม่เคยเดินทางไปเที่ยวที่บ้านเชียง ลองแวะเข้าไปชมโบราณคดีที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ได้ทุกวันเลยค่ะ เผื่อไว้สำหรับวันหยุดพักผ่อนภายในครอบครัว
อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท
ที่อยู่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 13 ถนนสุทธิพงษ์ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 41320
โทรศัพท์ : 0 4220 8340 โทรสาร : 0 4220 8341
เวลาเปิด-ปิด : เปิดบริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
การเดินทาง
การเดินทางไป พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง มีความสะดวก เนื่องจากอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 55 กิโลเมตร สามารถเดินทางตามเส้นทางหมายเลข 22 เส้นอุดรธานี-สกลนคร ตรงกิโลเมตรที่ 50 ก็จะถึงปากทางเข้าบ้านปูลู จะเห็นป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ทางด้านซ้ายมือ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2225 อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์แล้วล่ะค่ะ
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล สามารถเดินทางจากสถานีขนส่งเก่าของจังหวัด (เยื้องกับห้างสรรพสินค้าเซนทรัล) โดยโดยสารรถขนส่งประจำทาง อุดรธานี-บ้านดุง, อุดรธานี-สกลนคร, อุดรธานี-บึงกาฬ มายังสี่แยกหนองเม็กเพื่อต่อมอเตอร์ไซต์รับจ้าง หรือรถสามล้อรับจ้างเข้าสู่แหล่งโบราณคดี
หมายเหตุ : แก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 เวลา 16.56 น.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง กรมศิลปากร