x close

ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร สักการะเสริมสิริมงคลปี 2567

          พระธาตุประจำปีเกิด ชวนไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดตามนักษัตรต่าง ๆ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต
          ชุธาตุ คือ ความเชื่อของชาวล้านนาในเรื่องการบูชาพระธาตุเจดีย์องค์สำคัญ โดยจะมีความเชื่อว่าดวงจิตของมนุษย์ก่อนกำเนิดจะสถิตกับพระธาตุที่ต่างกันไปตามที่ “ตั๋วเปิ้ง” (สัตว์ประจำนักษัตร) พาไปพักเพื่อรอการถือกำเนิดขึ้น ดังนั้น จึงควรหาโอกาสไปท่องเที่ยว ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด สักครั้งในชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคล ชีวิตอยู่ดีมีสุข พร้อมกับเสริมบารมี (ความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณ) ลองไปดูกันว่าแต่ละปีนักษัตรจะต้องไปสักการะที่ไหนบ้าง 

พระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร

1. พระธาตุประจําปีชวด (หนู) พระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

          วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุศรีจอมทอง พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 60 กิโลเมตร สถานที่ประดิษฐาน พระธาตุศรีจอมทอง พระเจดีย์สีทองอร่ามงดงาม อันเป็นพระธาตุประจำปีชวด รวมถึง พระทักษิณโมลีธาตุ (พระธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ภายในพระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายพระเจดีย์ สามารถอัญเชิญมาสรงน้ำได้ 
พระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

          คำไหว้พระธาตุศรีจอมทอง

          ตั้งนะโม 3 จบ

          นะโม พุทธายะ นะมามิ ติโลกะโมลิง โลหะกูเฎ ปะติฎฐิตัง ปูชิตัง สัพพะโลเกหิ กิตติมันตัง มะโนหะรัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา 

          อังคะวะเย ปุเร รัมเม โกวิลาลัคคะปัพพะเต สะหิเหมะคูหาคัพเภ ทักขิณะโมลี ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะทาฯ

2. พระธาตุประจําปีฉลู (วัว) พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง

          วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดคู่บ้านคู่เมืองลำปาง ตั้งอยู่บริเวณถนนลำปาง-เกาะคา อำเภอเกาะคา สถานที่ประดิษฐาน พระธาตุลำปางหลวง ลักษณะทรงกลมแบบล้านนา ภายในบรรจุพระเกศา (เส้นผม) และพระอัฐิธาตุจากพระนลาฏ (หน้าผาก) ข้างขวา พระศอ (คอ) ด้านหน้าและด้านหลัง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู โดยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จสิ้นในปีฉลูเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น วิหารหลวง ภายในมีพระเจ้าล้านทอง, พระเจ้าทันใจ, วิหารพระพุทธ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ และยังปรากฏเงาพระธาตุด้วย, ซุ้มพระบาท สร้างครอบพระพุทธบาทไว้ สามารถมองเห็นแสงหักเหปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ และพระแก้วดอนเต้า (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปปางสมาธิ สลักด้วยหยกสีเขียว เป็นต้น
พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง

          คำไหว้พระธาตุเจ้าลำปางหลวง

          ตั้งนะโม 3 จบ

          ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวา จีรัง ปะติฎฐา ลัมภะกัปปะ 
          ปุเร เทเวนะคุตตา อุตตะราภิธัยยา นะมามิหันตัง วะระชิ
          นะธาตุง กุมาระกัสสะปะ นะลาตะธาตุโย เมฆิยะมะหาเถโร 
          กะนะธาตุง ฐะเปติ มะหาถาเน เจติยัง ปูชิตา นะระ
          เทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโย

3. พระธาตุประจําปีขาล (เสือ) พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

          วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่ริมถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแต่โบราณ สถานที่ประดิษฐาน พระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ภายในบรรจุพระเกศา (เส้นผม) และพระบรมสารีริกธาตุพระกัประ (ศอก) ซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสน ความสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ลงรักปิดทอง เชื่อกันว่าหากนำผ้าแพร 3 สีไปถวาย จะทำให้ชีวิตมีพลัง คุ้มครองป้องกันศัตรูได้ มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและหน้าที่การงาน
พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

          คำไหว้องค์พระธาตุช่อแฮ

          ตั้งนะโม 3 จบ

          โกเสยัง ธะชัคคะ ปัพพะเต พุทธะธาตุ ปะติฏฐิตัง ปะสันเนนะ อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ สัพพะโส

          ขอไหว้พระเกศาธาตุ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่บนธะชัคคะบรรพตแห่งเมืองโกศัย อันเป็นที่รื่นรมย์ใจของชนทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง ในกาลทุกเมื่อแลฯ

4. พระธาตุประจําปีเถาะ (กระต่าย) พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

          วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา และเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ตามคติการไหว้พระธาตุตามปีนักษัตรของชาวล้านนา เพราะประดิษฐาน พระธาตุแช่แห้ง พระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อพระกรข้างซ้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สันนิษฐานว่ามีอายุราว 600 ปี องค์พระธาตุมีความสูง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 22.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหมดทั้งองค์ ทางเดินขึ้นสู่องค์พระธาตุจะเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าลักษณะของการปั้นจะเป็นลายนาคเกี้ยว ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของช่างฝีมือและศิลปะของจังหวัดน่าน
พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

          คำไหว้องค์พระธาตุแช่แห้ง

          ตั้งนะโม 3 จบ

          ยา ธาตุภูตา อะตุลานุภาวาจิรัง ปะติฎฐิตา นันทะกัปปะเก
          ปุเรเทเวนะ คุตตา วะระพุทธะธาตุงจิรัง วันทามิ หันตังชินะธาตุโย 
          โส ตะถาคะตัง อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ทูระโต (3 จบ)

5. พระธาตุประจําปีมะโรง (งูใหญ่) พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

          วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร วัดที่มีประวัติยาวนาน เป็นที่ตั้งของ พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ หรือ พระมหาธาตุเจดีย์ (พระธาตุหลวง) พระเจดีย์เก่าแก่สร้างในสมัยเดียวกับการตั้งวัด ความสูง 25 วา ฐานสี่เหลี่ยมยาวด้านละ 16 วา 1 ศอก 6 นิ้ว ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระนำมาจากทวีปลังกา จึงมีความเชื่อว่าผู้เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) หากได้มีโอกาสมานมัสการจะเป็นมงคล อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์ของไทยด้วย 
พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

          คำบูชาพระธาตุประจำปีมะโรง

          ตั้งนะโม 3 จบ

          นะมามิ สิหิงคะพิมพัง สุวัณณา
          ภิรัมมัง ลังกาชาตัง โสภาภโสภัง
          สะราภิกันตัง นะมามิหัง

6. พระธาตุประจําปีมะเส็ง (งูเล็ก) พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา ประเทศอินเดีย / เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา จังหวัดเชียงใหม่

          พระธาตุประจําปีมะเส็ง คือ พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ปูชนียสถานที่สำคัญมาแต่โบราณ เพราะประดิษฐานพระแท่นวัชรอาสน์ สถานที่ประทับตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหากไม่มีโอกาสไปเยือน แนะนำให้ไปนมัสการ เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง (วัดโพธารามมหาวิหาร) พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ที่ตั้งอยู่บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีลักษณะคล้ายกับมหาวิหารโพธิที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ที่ฐานเจดีย์ประดับปูนปั้นรูปเทวดา ด้านนอกพระเจดีย์ประดับงานปูนปั้นรูปเทวดาทั้งนั่งขัดสมาธิและยืน ทรงเครื่องที่มีลวดลายต่างกัน
เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา วัดเจ็ดยอด

          คำไหว้บูชาพระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา

          ตั้งนะโม 3 จบ

          ปะฐะมัง โพธิปัลลังกัง ทุติยัง
          อะนิมิสสะกัง ตะติยัง จังกะมะ
          เสฏฐัง จะตุตถะกัง ระตะนะฆะรัง
          ปัญจะมัง อะชะปาละนิโคธัง
          ฉัฏฐัง ราชายะตะนัง สัตตะมัง มุจ
          จะลินทัง อะหัง วันทามิ ทูระโต

7. พระธาตุประจําปีมะเมีย (ม้า) พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง เมียนมา / พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดตาก

          พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง เจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศเมียนมา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุรวม 8 เส้น ของพระพุทธเจ้า เป็นพระธาตุประจําปีของคนเกิดปีมะเมีย สำหรับประเทศไทยแนะนำให้ไปไหว้ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก แทน ที่นี่เป็นวัดเก่าแก่ แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดพระเจ้าทันใจ เนื่องจากประดิษฐาน พระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย ที่ร่ำลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ก่อนที่ พระครูพิทักษ์บรมธาตุ (ครูบาทองอยู่) อดีตเจ้าอาวาส ได้นำเอารูปทรงเจดีย์ชเวดากองมาสร้างครอบเจดีย์องค์เก่าไว้ รวมถึงสร้างพระบรมธาตุองค์เล็ก ๆ 16 องค์ เจดีย์ใส่พระพุทธรูปอีก 16 องค์ และโขงจุดไฟเทียนอีก 6 โขง ไว้รายรอบเจดีย์องค์ใหญ่ด้วย
พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดตาก

          คำไหว้พระบรมสารีริกธาตุ

          ตั้งนะโม 3 จบ

          สัมมา สัมพุทธะ นะลาตะอัฏฐิจะตุเกสาธาตุยา คันธะวะรังฐิตัง 
          ประระมะธาตุ เจติยัง อะหังวันทามิ สัพพะทาฯ

          ข้าพเจ้า ขอไหว้ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุอันมีกลิ่นหอม เป็นที่ประดิษฐานซึ่งพระอัฐิ คือ กระดูกหน้าผากและเกศา 4 เส้นขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนานเทอญ

8. พระธาตุประจําปีมะแม (แพะ) พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

          วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 1927 ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงแยกพระบรมสารีริกธาตุไว้ 2 ส่วน โดยอัญเชิญองค์หนึ่งบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนอีกองค์หนึ่งได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างมงคล และทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายว่า หากช้างเชือกนั้นหยุดลงตรงที่ใดก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้นที่แห่งนั้น ซึ่งช้างได้มาหยุดบริเวณยอดดอยสุเทพแห่งนี้ ดังนั้น พระเจ้ากือนาธรรมิกราชจึงรับสั่งให้สร้างพระบรมธาตุอันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ ณ ยอดดอยสุเทพ จึงได้ถือกำเนิดพระธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทั้งยังเป็นพระธาตุประจําปีมะแมอีกด้วย
พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

          คำไหว้พระบรมธาตุดอยสุเทพ 

          ตั้งนะโม 3 จบ 

          สุวรรณณะเจติยัง เกลาวะระมัตถะลุงคัง วะรัญญะธาตุง สุเทวะนามะกัง
          นะระเทเวหิ สัพพะปูชิตัง อะหังวันทามิ สัพพะทา
          ปัญญะวา อัสมิงเยวะ จันทามิ อิวะธาระยัง ปิฏะกัตตะเยสาสะนะ นียานิเกติ
          โมกขะ ปะฐะมะวะรังม อะปายะนิวาระณัง อะระหัง สัคคะโส ปาณัง ปะฐะมัง
          อุปัชฌัง คาหาเปตวา ปัตตะจีวะรังยังยังชาตัง สังฆะมัชเฌ ปุจฉาสะวาหะฯ

9. พระธาตุประจําปีวอก (ลิง) พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

          วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในอำเภอธาตุพนม สถานที่ประดิษฐาน พระธาตุพนม ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน และยังเป็นพระธาตุประจําปีวอกด้วย สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1200-1400 ตามตำนานกล่าวว่า ผู้สร้างคือพระมหากัสสปะ พระอรหันต์ 500 องค์ และท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ซึ่งภายในบรรจุพระอุรังคธาตุ (พระบรมธาตุส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และของมีค่าอีกมากมาย ต่อมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ได้เกิดเหตุการณ์พระธาตุพนมล้มลงมาทั้งองค์ ประชาชนจึงร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 ปัจจุบันพระธาตุพนมเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ มีลวดลายสลักลงบนแผ่นอิฐสวยงาม บนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำและมีพลอยประดับงดงาม
พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

          คำไหว้พระธาตุพนม

          ตั้งนะโม 3 จบ

          ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฎฐิมายะ 
          อุปะริมายะ ทิสายะ กะปะณะคิริสะมิง ปัพพะเต  มหากัสสะเปนะ
          ฐาปิตัง พุทธะอุรังคะธาตุง สิระสา นะมามิ

          คำไหว้ยอด

          สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง 
          พุทธะอุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
          ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฎฐิมายะ อุปะริมายะ

10. พระธาตุประจําปีระกา (ไก่) พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

          วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองลำพูนมาหลายร้อยปี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1651 โดยพระเจ้าอาทิตยราช โดยสร้างมณฑปครอบโกศทองคำบรรจุพระบรมธาตุไว้ภายใน ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายสมัย จนเป็นรูปร่างที่เห็นในปัจจุบัน สำหรับ พระบรมธาตุหริภุญชัย มีลักษณะเป็นทรงเจดีย์ฐานกลมแบบทรงลังกา หุ้มแผ่นทองจังโกทั้งองค์ องค์พระเจดีย์สูงประมาณ 92 ศอก มีฐานเป็นบัวลูกแก้วย่อเก็จ ยอดพระเจดีย์มีทองเหลืองหุ้มอยู่ ภายใต้ฐานล่างเป็นกรุบรรจุพระเครื่อง เป็นพระธาตุประจําปีระกา และในวันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปี จะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระบรมธาตุ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีปและแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

          คำไหว้พระบรมธาตุหริภุญชัย 

          ตั้งนะโม 3 จบ

          สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฏฐัง
          สะหะอังคุลิฏฐิง กัจจายะเนนานีตะ ปัตตะปูรัง สีเสนะ มัยหัง
          ปะณะมามิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สัพพะทาฯ

          ข้าพเจ้า ขอเอาเศียรเกล้าของข้าพเจ้า นอบน้อมพระธาตุอันเป็นพระเจดีย์ทอง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหริภุญชัย คือพระอัฐิเบื้องพระธารพระโมลีอันประเสริฐ พระอัฐิเบื้องพระทรวงอันประเสริฐสุด กับทั้งพระอัฐิพระองคุลี และพระธาตุย่อยเต็มพระบาตรหนึ่ง อันพระกัจจายนะนำมา ข้าพเจ้าขอวันทา ในกาละทุกเมื่อแลฯ

11. พระธาตุประจําปีจอ (สุนัข) พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี / วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่

          เนื่องด้วยพระธาตุประจําปีจอ คือ พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ที่ประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ จึงขอแนะนำให้ไปไหว้เจดีย์จุฬามณี (พระธาตุวัดเกต)วัดเกตการาม อำเภอเมืองเชียงใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 1971 สมัยพญาสามฝั่งแกน เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ซึ่งถือเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ พระธาตุเจดีย์ไจก์ทิโย หรือ พระธาตุอินทร์แขวน ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีจอด้วย
วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่

          คำบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี 

          ตั้งนะโม 3 จบ

          ตาวะติงสายะ ปุรัมเม เกสะจุฬา
          มะณี สะรีระปัพพะตา ปูชิตา
          สัพพะ เทวานัง ตังสิระสา ธาตุ
          อุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

12. พระธาตุประจําปีกุน (หมู) พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย

          พระธาตุดอยตุง ประดิษฐานอยู่บนยอดดอยตุง บริเวณ กม.ที่ 17.5 ของทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดเชียงราย สถานที่บรรจุพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) เบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีกุน มีลักษณะเป็นเจดีย์สีทองอร่าม 2 องค์คู่กัน ตำนานของพระธาตุดอยตุงกล่าวว่า พระเจ้าอชุตราชทรงอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ต่อมาครูบาศรีวิชัยได้ทำการบูรณะ และได้มีการสร้างพระธาตุองค์ปัจจุบันครอบพระธาตุองค์เก่าไว้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่ากันว่า ในอดีตได้มีการปักธงตะขาบ (ตุง) ที่มีความยาวถึงพันวาไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงไปตกที่ไหนก็จะยึดเอาเป็นที่ตั้งพระสถูป เหตุนี้จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อ พระธาตุดอยตุง นั่นเอง
พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย

          คำสักการะบูชาพระธาตุดอยตุง

          ตั้งนะโม 3 จบ

          พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรัง
          มะหาคะมา นะมามิหัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา 
          ขอกราบน้อมถวายเป็นพุทธบูชา
          นี่คือสถานที่ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร หากมีโอกาสก็วางแผนไปสักการะกันสักครั้ง เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร สักการะเสริมสิริมงคลปี 2567 อัปเดตล่าสุด 8 มกราคม 2567 เวลา 09:23:28 29,639 อ่าน
TOP