ชวนสักการะพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ พระธาตุประจำคนเกิดปีขาล

           แนะนำพระธาตุช่อแฮ ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ อีกทั้งยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล
           ปีฉลูผ่านไปก็เข้าสู่ “ปีขาล” หลายคนเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการไหว้พระทำบุญเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีขาลที่อายุมาบรรจบกันอีก 1 รอบ จึงอยากสร้างความพิเศษให้ขวบปีนี้เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง รวมถึงนิยมเดินทางมาสักการะ "พระธาตุช่อแฮ" ในจังหวัดแพร่ เนื่องจากเป็นพระธาตุประจำปีขาล นั่นเอง และว่ากันว่าหากมาจังหวัดแพร่แล้วไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮก็เหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่ แต่ก่อนไปไหว้เราไปทำความรู้จักกับเรื่องน่ารู้ต่าง ๆ ประวัติความเป็นมาของพระธาตุช่อแฮกันก่อน

สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาไหว้พระธาตุช่อแฮ นอกจากจะมาสักการะองค์พระธาตุแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะพลาดไมได้ก็คือการชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม บริเวณพระธาตุช่อแฮมีภูเขาล้อมรอบ อากาศบริสุทธิ์ บรรยากาศร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างยิ่ง และต้องไม่ลืมที่จะขอพรซึ่งการขอพรพระธาตุช่อแฮนั้นสามารถทำได้โดยจุดธูป เทียน และดอกไม้ ไหว้พระประธานในพระวิหาร แล้วเดินรอบพระธาตุ ขณะเดินให้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระธาตุฯหรือสวดเทวะมันตราขอพรให้เทวดาปกปักษ์รักษาเพื่อดลบันดาลให้มีความสุขกายสบายใจ

พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

พระธาตุช่อแฮ ตั้งอยู่ที่ไหน

          พระธาตุช่อแฮ ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อยู่บนเนินเขาสูงประมาณ 28 เมตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2523

ประวัติพระธาตุช่อแฮ

          พระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่มาแต่โบราณกาล ตามตำนานกล่าวว่า ขุนลัวะอ้ายก๊อม เป็นผู้สร้าง ปรากฏหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ระหว่างปี พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย

          สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮมีความเชื่อดั้งเดิมว่า ขุนลัวะอ้ายก๊อมได้นำผ้าแพรมาถวายพระพุทธเจ้า และต่อมาชาวบ้านได้นำผ้าแพรชั้นดีทอจากสิบสองปันนามาผูกบูชาพระธาตุ คำว่าช่อแฮจึงหมายถึง “ช่อแพร” นั่นเอง ทั้งนี้ พระธาตุช่อแฮ ซึ่งพบว่าเขียนเป็นอักษรธรรมว่า “ช่อแฮ” และ “ช่อแร” อ่านว่า “ช่อแฮ” ทั้งสองอย่างนั้นมีความหมายว่า “ธงสามเหลี่ยมทำด้วยแพร”

พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

พระธาตุช่อแฮ
           ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสน ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก องค์พระธาตุสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้น รองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำ และชุดท้องไม้แปดเหลี่ยมซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดาน 1 ชั้น จนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา มีรั้วเหล็ก รอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้า-ออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม
พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

           โดยพระธาตุช่อแฮ เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีเสือ (ปีขาล) เชื่อกันว่าหากนำผ้าแพร 3 สีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลัง คุ้มครองป้องกันศัตรูได้ มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต หน้าที่การงาน การสวดและไหว้ให้เริ่มต้นนะโม 3 จบ แล้วสวดตามด้วยคาถาบูชาพระธาตุ 5 จบ พลังบารมีจะดลบันดาลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
คำไหว้องค์พระธาตุช่อแฮ

          (ตั้งนะโม 3 จบ)

          โกเสยัง ธะชัคคะ ปัพพะเต พุทธะธาตุ ปะติฏฐิตัง ปะสันเนนะ อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ สัพพะโส

          ขอไหว้พระเกศาธาตุ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่บนธะชัคคะบรรพตแห่งเมืองโกศัย อันเป็นที่รื่นรมย์ใจของชนทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง ในกาลทุกเมื่อแลฯ


          ในทุกปีจะมีประเพณีการไหว้พระธาตุช่อแฮ หรือ “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน โดยจะจัด 7 วัน 7 คืน วันแรกของงานจะเริ่มขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 เหนือ เดือน 4 ใต้ ของทุกปี (ประมาณเดือนมีนาคม) ซึ่งการจัดงานจะมีขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ ประกอบไปด้วย ริ้วขบวนของทุกอำเภอ การฟ้อนรำ ขบวนช้างเจ้าหลวง และเครื่องบรรณาการ ขบวนแห่กังสดาล ขบวนแห่หมากเป็ง ขบวนต้นผึ้ง ขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศี ขบวนตุง การเทศน์ และมีการเทศน์และฟังเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดก ทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับกลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดงาน 

พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

สิ่งน่าสนใจภายในวัดพระธาตุช่อแฮ

หลวงพ่อช่อแฮ

           พระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ เป็นศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย มีอายุหลายร้อยปี หน้าตักกว้าง 3.8 เมตร สูง 4.50 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูนลงรักปิดทอง มีการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายหลังจากสร้างองค์พระธาตุ
พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

พระเจ้าทันใจ (หลวงพ่อทันใจ)

          เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้น ลงรักปิดทอง เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ใครมาขอพรก็สมปรารถนา และที่ด้านหลังพระเจ้าทันใจจะมีซุ้มไม้เสี่ยงทายให้ได้ลองเสี่ยงทายกันด้วย

คำไหว้พระเจ้าทันใจ

          นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 จบ)

          นะโม นะมะ สะขัง โกธะมัง ใจจะคุ (ว่า 3 จบ)

พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

พระพุทธโลกนารถบพิตร

           เป็นพระพุทธรูปปางพระนาคปรก หน้าตักกว้าง 3.60 เมตร สูง 7 เมตร สร้างด้วยโลหะทองเหลือง ลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในวิหารศิลปะล้านนาประยุกต์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างสวยงาม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534
พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

ภาพจาก Rut_Luecha / Shutterstock.com

พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

ภาพจาก nymphoenix / Shutterstock.com

พระเจ้านอน

           เป็นพระเจ้านอนศิลปะพม่า ขนาดยาว 3.70 เมตร สูง 1.35 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทอง สร้างเมื่อขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 2459 โดยก่อนจะขึ้นไหว้องค์พระธาตุช่อแฮ ชาวบ้านมักจะแวะไหว้พระเจ้านอนก่อนเสมอ

ธรรมาสน์โบราณ

           มีความสวยงามวิจิตรบรรจง ลวดลายไทยผสมศิลปะทางล้านนา

กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย

           บรรจุอัฐิธาตุส่วนที่ 5 จากจำนวน 7 ส่วนของครูบาศรีวิชัย

บันไดนาคโบราณ

           ภายในวัดพระธาตุช่อแฮมีบันไดนาคอยู่ 4 ด้าน และบันไดสิงห์ 1 ด้าน รวม 5 บันได ซึ่งล้วนมีความยาวและจำนวนขั้นไม่เท่ากัน
พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

เจ้ากุมภัณฑ์

           มีความเชื่อว่านาคที่เฝ้าบันไดกุมภัณฑ์ ด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุช่อแฮ ชอบหนีออกไปเล่นน้ำที่ลำน้ำแม่สาย หมู่บ้านใน เป็นประจำ ชาวบ้านจึงสร้างเจ้ากุมภัณฑ์นั่งทับขดหางนาคไว้ เพื่อไม่ให้หนีไปเล่นน้ำอีก

แผ่นศิลาจารึก

           ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระเจ้าทันใจ จารึกเรื่องราวการสร้างบันไดด้านทิศตะวันตกและสวนรุกขชาติช่อแฮ
เส้นทางไปวัดพระธาตุช่อแฮ
           วัดพระธาตุช่อแฮ อยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ 9 กิโลเมตร จากสี่แยกบ้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ มุ่งหน้าไปตามทางหลวงหมายเลข 1022 เข้าสู่ถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบิน หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแต หมู่บ้านมุ้ง ก็จะพบกับวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ที่ตั้งอยู่ทางขวามือ
 
พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

ภาพจาก Tunyanat jamonjureekul / Shutterstock.com

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนสักการะพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ พระธาตุประจำคนเกิดปีขาล อัปเดตล่าสุด 31 กรกฎาคม 2566 เวลา 15:42:07 22,230 อ่าน
TOP
x close