x close

ภูกระดึง ขุนเขามหัศจรรย์แห่งเมืองเลย

          ภูกระดึง จังหวัดเลย ชวนขึ้นไปสัมผัสความงามทางธรรมชาติที่ไม่เหมือนใคร แถมยังเป็นการพิสูจน์ใจตัวเองอีกด้วย

          ว่ากันว่า....หากอยากพิสูจน์รักแท้ให้พาคนที่เรารักไปร่วมพิสูจน์รักด้วยการเดินทางพิชิตยอดภูของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง และถ้าหากเขาคนนั้นสามารถร่วมเดินทางไปกับคุณจนกระทั่งถึงยอดดอย และคอยช่วยเหลือดูแลกันและกันเป็นอย่างดีแล้วละก็ เขาก็คือรักแท้ของเราเป็นแน่แท้ !!!

          นี่คือตำนานคำกล่าวขานที่มักได้ยินเสมอ ๆ เมื่อเอ่ยถึง ภูกระดึง หรือ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการที่เราจะขึ้นไปถึงยอดดอยได้ต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร คือขึ้นเขา 5 กิโลเมตร บวกทางราบอีกประมาณ 3-4 กิโลเมตร (โห...ไหวไหมเนี่ย) ซึ่งนอกจากจะมีคู่รักไปพิสูจน์รักแท้แล้ว ภูกระดึงมักจะได้รับความนิยมในการไปแบบกลุ่มเพื่อน ๆ อีกด้วย และทุกคนที่ได้ไปสัมผัสต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนเดินเหนื่อยมาก ๆ แต่พอได้ไปสัมผัสกับธรรมชาติข้างบนภูกระดึงแล้วคุ้มค่าสุด ๆ

ภูกระดึงภาพจาก Ging o_o / Shutterstock.com

          แหม...มีเสียงการันตีความท้าทาย ผจญภัย และน่าไปสัมผัสแบบนี้ คงอดใจไม่ได้แล้วที่จะไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภูกระดึง เอาเป็นว่าเราไปทำความรู้จักอุทยานแห่งนี้พร้อม ๆ กันเลย
 
ทำความรู้จักภูกระดึง

          ภูกระดึง เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 2 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร มีความสูง 400-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ภูกระดึงภาพจาก Sumeth anu / Shutterstock.com

เสน่ห์ของภูกระดึง

          สภาพทั่วไปของภูกระดึงประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาพรรณ สัตว์ป่านานาชนิด หน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร และน้ำตก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพอง ซึ่งเป็นลำน้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความสูง บรรยากาศ และสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปีบนยอดภูกระดึง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิอาจลดต่ำจนถึง 0 องศาเซลเซียส จึงเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาและหวังจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ภูกระดึง

การเดินทางพิชิตยอดภูกระดึง

          สำหรับการเดินทางขึ้นภูกระดึงนั้น จากเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติภูกระดึง - Phu Kradueng National Park อัปเดตข้อมูลได้มีการปรับเวลาขึ้น-ลงภูกระดึง มีรายละเอียด ดังนี้

         - วันจันทร์-พฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 06.00-13.00 น.
         - วันศุกร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 05.30-13.00 น. 

         *** หลังจากเวลา 13.00 น. ไม่อนุญาตให้ผ่านขึ้นเขาทุกกรณี 

         และเพราะระยะทางในการเดินขึ้นเขาต้องใช้เวลาในการเดินเท้าประมาณ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งจะตรงกับเวลาพลบค่ำในระหว่างทาง ดังนั้นนักท่องเที่ยวจำเป็นที่จะต้องวางแผนให้ดี ๆ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง 

ภูกระดึง

          เส้นทางขึ้นบนยอดภูกระดึงจะต้องเดินเท้าวัดใจผ่านไล่เรียงไปตั้งแต่ซำแฮก ซำบอน ซำกกกอก ซำกกหว้า ซำกกไผ่ ซำกกโดน ซำแคร่ และช่วงสุดท้ายที่จะผ่านขึ้นไปยังหลังแป เป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด เพราะจะต้องปีนป่ายขึ้นโขดหินและต้องเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน แต่ถ้าใครเหนื่อยก็นั่งลงแวะพักดื่มน้ำหาของกินกันได้ มีร้านค้าประจำอยู่ทุกซำ ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีอะไรกิน

ภูกระดึง
ภาพจาก Sumeth anu / Shutterstock.com

ภูกระดึงเปิด-ปิดฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงไหน

          อุทยานแห่งชาติภูกระดึงจะเปิดการท่องเที่ยวและพักแรมบนยอดภู ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี และจะทำการปิดการท่องเที่ยวและพักแรมบนยอดภูกระดึง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 กันยายน ของทุกปี เช่นกัน เพื่อเป็นการฟื้นฟูในช่วงฤดูฝน

          มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid 19)

          1. มาตรการสำหรับนักท่องเที่ยว

          1.1 ผู้ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติภูกระดึงและขึ้นเขาเพื่อค้างแรม ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุข และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของจังหวัดเลย และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรับวัคซีนตามที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงกำหนด ดังนี้

          1.1.1 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน
          1.1.2 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
          1.1.3 ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม
          1.1.4 ฉีดแบบผสม (ซิโนแวค เข็มที่ 1 และ แอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2)
          1.1.5 วัคซีนยี่ห้ออื่นให้เป็นไปตามสาธารณสุขกำหนด
          1.1.6 ผลตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยชุด Antigen Test Kit หรือวิธี RT-PCR ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง (3 วัน)

          1.2 นักท่องเที่ยวต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ตลอดระยะเวลาการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

          1.3 นักท่องเที่ยวที่เข้าในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ต้องลงทะเบียนเข้าท่องเที่ยวอุทยานล่วงหน้า 15 วันผ่านแอปพลิเคชัน QueQ หรือลงทะเบียนตามแบบฟอร์มอุทยานแห่งชาติภูกระดึงกำหนด และลงทะเบียนเข้า-ออก อุทยานแห่งชาติภูกระดึงผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะทุกกรณี โดยไม่ปกปิดข้อมูลหรือไม่ให้ข้อมูลอื่นที่เป็นเท็จเด็ดขาด

          1.4 จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้ไม่เกินจำนวนสูงสุดที่พื้นที่สามารถรองรับได้ (ในช่วงที่ยังคงมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019) ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูกระดึงกำหนดขีดความสามารถที่รองรับได้ของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่ง จำนวน 1,000 คน/วัน หากนักท่องเที่ยวครบตามจำนวนที่กำหนดแล้ว ต้องรอให้นักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ก่อนจึงสามารถเข้าท่องเที่ยวในพื้นที่ได้

          1.5 การเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ในแหล่งท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ให้เว้นห่าง 1-2 เมตร สำหรับร้านค้าในอุทยาน อนุญาตให้นักท่องเที่ยวนั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้ แต่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ต้องไม่มีการรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน โดยเจ้าหน้าที่อุทยานจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นระยะ

          1.6 การทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อตามบริเวณด่านตรวจ อาคารต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวใช้บริการห้องน้ำ-ห้องสุขา บ้านพักท่องเที่ยว ร้านค้า และบริเวณพื้นที่สัมผัสสูงทุกจุดบริการรวมถึงการคัดแยกถังขยะสำหรับขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ

          1.7 ในระหว่างท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

ภูกระดึง
ภาพจาก Tanasara / Shutterstock.com

          สถานที่ท่องเที่ยวภูกระดึง

          ผานกแอ่น ลานหินเล็ก ๆ มีสนต้นหนึ่งขึ้นโดดเด่นอยู่ริมหน้าผา เป็นจุดท่องเที่ยวชมพระอาทิตย์ขึ้น ที่สำคัญอยู่ห่างจากที่พักศูนย์วังกวางเพียง 2 กิโลเมตร ในทุกเช้าของหน้าหนาวจะมีนักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปกันมาก และมักจะมีการชิงทำเลดี ๆ เสมอ สมัยนี้ทางไปมักมีช้างอาละวาด ตอนเช้าจะต้องไปพร้อมเจ้าหน้าที่ ห้ามไปเองเป็นอันขาด

ภูกระดึง
ภาพจาก Udom Aunlamai / Shutterstock.com

          นอกจากนั้นหากอากาศดีพอในช่วงเวลาที่เดินเท้าฝ่าความมืดมาชมพระอาทิตย์ขึ้นนั้น เป็นช่วงที่ประจวบเหมาะกับเวลาที่พระจันทร์กำลังจะลับขอบฟ้า ด้านตะวันตกนั้นจะได้เห็นภาพสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นเป็นสวนหินมีดอกกุหลาบป่าขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ ซึ่งจะบานสะพรั่งเต็มต้นในเดือนมีนาคม-เมษายน และใครที่อยากไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่นควรเตรียมไฟฉายสำหรับใช้ส่องทางไปด้วย

ภูกระดึง

         
ผาหล่มสัก ถ้าไม่ไปชมพระอาทิตย์ตกที่นี่ก็เหมือนไม่ได้ไปเยือนภูกระดึง หลายคนถึงกับออกปากไว้แบบนั้น ตัวผาหล่มสักอยู่ห่างจากผาแดง 2.5 กิโลเมตร หากเดินมาจากแยกศูนย์โทรคมนาคมกองทัพอากาศ บนเส้นทางน้ำตก แต่ถ้าเดินจากที่พักศูนย์วังกวางจะมีระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร หากจะไปต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะขากลับจะมืดกลางทางอย่างแน่นอน ด้วยลักษณะแผ่นหินแปลกตากับโค้งกิ่งสนที่รองรับกันพอดิบพอดีเช่นนี้ นักท่องเที่ยวจึงนิยมใช้เป็นจุดชมวิวดูพระอาทิตย์ตกดิน และน่าจะถือได้ว่าเป็นภาพที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

ภูกระดึง

          แนะนำสักนิดสำหรับผู้ที่จะไปชมพระอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสัก ควรเตรียมเสื้อกันหนาวและไฟฉายสำหรับใช้ส่องทางเวลาเดินกลับที่พัก ซึ่งถ้าเดินเท้าอาจกินเวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่นักท่องเที่ยวสามารถย่นระยะเวลาได้ ด้วยการเช่ารถจักรยานจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการประหยัดเวลาการเดินทาง

ภูกระดึง

          ผาหมากดูก อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2.5 กิโลเมตร เป็นผาที่มีลานหินกว้างขวาง และเป็นผาสำหรับชมพระอาทิตย์ตกที่ใกล้ที่พักมากที่สุด สามารถชมทิวทัศน์ภูผาจิตในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ในช่วงต้นฤดูฝนจะมีดอกกระเจียวขึ้นเต็มทุ่งตามเส้นทางสู่ผาหมากดูก

ภูกระดึง
ภาพจาก sittichai butlop / Shutterstock.com

          ผาเหยียบเมฆ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างผาหมากดูกและผาหล่มสัก มีลักษณะเป็นลานหินกว้างสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ในระยะไกล

ภูกระดึง

          ผาแดง หน้าผาหินทรายตัดตรงและมีก้อนหินเรียงราย บริเวณโดยรอบเป็นป่าสน เหมะสำหรับไปนั่งชมวิวถ่ายรูปเพลิน ๆ

ภูกระดึง
ภาพจาก Sumeth anu / Shutterstock.com

          น้ำตกวังกวาง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าอยู่ใกล้ที่พักศูนย์วังกวางมากที่สุด โดยมีระยะทางห่างแค่ราว 1 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ห้วยเล็ก ๆ ที่โอบล้อมที่พักอีกด้านจะไหลลงน้ำตกที่นี่ วังกวางเป็นน้ำตกเล็ก ๆ ชั้นที่สูงสุดจะสูงประมาณ 7 เมตร ด้านข้างของน้ำตกมีทางแคบ ๆ สำหรับปีนลงไปทีละคน จะพบหลืบหินมีลักษณะคล้ายถ้ำใต้น้ำตก น้ำตกวังกวางจะมีความสวยงามมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ส่วนในฤดูท่องเที่ยวซึ่งเป็นฤดูแล้ง ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมได้ง่ายใกล้ที่พัก

ภูกระดึง

         
น้ำตกถ้ำสอเหนือ อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 4.8 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง สูง 10 เมตร น้ำไหลมาจากผาเป็นม่านน้ำตก บริเวณเหนือน้ำตกมีดงกุหลาบแดง ซึ่งในช่วงฤดูร้อนจะผลิดอกสร้างสีสันให้กับบริเวณนี้ให้สวยงามยิ่งขึ้น


ภูกระดึง

          น้ำตกเพ็ญพบใหม่ เกิดจากลำธารวังกวาง น้ำตกไหลผ่านผาหินรูปโค้ง ในหน้าหนาวใบเมเปิลที่อยู่บริเวณริมน้ำตกจะร่วงหล่นลอยไปตามผิวน้ำ ยามแดดสาดส่องผ่านลงมาจะเป็นสีแดงจัดตัดกับสีเขียวขจีของตะไคร่น้ำตามโขดหิน ลำธารวังกวางเป็นต้นกำเนิดน้ำตกที่มีชื่ออีกแห่งหนึ่ง คือ “น้ำตกโผนพบ” ซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ โผน กิ่งเพชร นักชกแชมเปี้ยนโลกคนแรกของชาวไทยในฐานะเป็นผู้ค้นพบคนแรก เมื่อคราวที่ขึ้นไปซ้อมมวยให้ชินกับอากาศหนาว ก่อนเดินทางไปชกในต่างประเทศ

ภูกระดึง

          น้ำตกถ้ำใหญ่ ห่างจากน้ำตกเพ็ญพบใหม่ประมาณ 1.4 กิโลเมตร เส้นทางเดินไปสู่น้ำตกจะครอบคลุมไปด้วยป่าดิบเขาที่มีพรรณไม้ใหญ่และร่มครึ้ม บางช่วงจะมีลำห้วยเล็ก ๆ ที่มีต้นเมเปิลอยู่เป็นระยะ ๆ และในช่วงต้นเดือนมกราคมจะแดงฉานด้วยใบเมเปิลที่ร่วงหล่นเกลื่อนพื้นป่า เป็นอีกหนึ่งความงามที่ใคร ๆ ก็อยากไปเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง

ภูกระดึง

          น้ำตกธารสวรรค์ จากน้ำตกถ้ำใหญ่เมื่อออกสู่ป่าสนไม่ไกลนักจะมีทางแยกบนลานหินสู่น้ำตกธารสวรรค์ อยู่ห่างจากที่พักตามเส้นทางป่าสนผ่านลานองค์พระพุทธเมตตาเพียง 1.6 กิโลเมตรเท่านั้น เป็นน้ำตกขนาดเล็ก

          สระอโนดาต อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2.7 กิโลเมตร เป็นสระน้ำขนาดไม่ใหญ่นักที่มีต้นสนขึ้นเป็นแนวแน่นขนัด ใกล้กันยังมีลานกินรี ซึ่งเป็นสวนหินธรรมชาติที่อุดมไปด้วยพรรณไม้ ทั้งพวกกินแมลงอย่างดุสิตา หยาดน้ำค้าง หรือเฟิร์น เช่น กระปรอกสิงห์ บนหินยังมีไลเคนขึ้นอยู่เต็มไปหมดด้วย

ภูกระดึง

          นอกจากที่เอ่ยมาแล้ว อุทยานแห่งชาติภูกระดึงยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกรัตนา น้ำตกพระองค์ น้ำตกธารสวรรค์ ผาแดง ผาส่องโลก ผานาน้อย ผาจำศีล สวนสีดา ลานกินรี ลานวัดพระแก้ว และอีกมากมายบรรยายกันไม่หมด ดังนั้นใครที่ชอบเดินป่า ปีนเขา และสัมผัสธรรมชาติแบบถึงเนื้อถึงตัว ภูกระดึง...คงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่คุณจะพลาดไม่ได้

ภูกระดึง

          การจองที่พักบนภูกระดึง


          ถ้าต้องการนอนบ้านพักจะต้องเข้าไปจองล่วงหน้า 60 วัน ที่เว็บไซต์ nps.dnp.go.th หรือติดต่อฝ่ายบริการที่พัก โทรศัพท์ 0-2562-0760, 0-2561-0777 ต่อ 1743, 1744 หรืออุทยานแห่งชาติภูกระดึง โทรศัพท์ 0-4281-0833, 0-4281-0834 สำหรับใครที่ต้องการนอนเต็นท์ ทางอุทยานมีทั้งเต็นท์ไว้ให้บริการและพื้นที่กางเต็นท์รองรับอย่างเพียงพอ

ภูกระดึง
ภาพจาก Sumeth anu / Shutterstock.com

          การเดินทาง

          รถโดยสารประจำทาง : โดยสารรถยนต์จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) กรุงเทพมหานคร ไปลงที่ผานกเค้า ซึ่งเป็นเขตต่อแดนระหว่างชุมแพ-ภูกระดึง แล้วโดยสารรถประจำทาง (รถสองแถว) ไปลงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จากนั้นก็เดินต่อขึ้นไปยอดภูกระดึง ควรใช้รถประจำทาง หรือหากนักท่องเที่ยวใช้รถประจำทางเส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ลงที่ชุมแพ และต่อรถสายขอนแก่น-เลย ไปลงที่ตลาดอำเภอภูกระดึง ซึ่งจะมีรถสองแถวต่อไปถึงอุทยาน

          หมายเหตุ รถสองแถวแดงที่รับจ้างนำนักท่องเที่ยวส่งระหว่างจุดจอดรถที่ผานกเค้ามาที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง คำแนะนำคือถ้าเราไปไม่กี่คนให้รวมทีมกับกรุ๊ปอื่นจะได้เฉลี่ยค่าสองแถว ไม่ต้องเหมารถให้เปลืองสตางค์

          รถไฟ : จากกรุงเทพมหานครโดยสารรถไฟไปลงที่ขอนแก่น จากนั้นโดยสารรถประจำทางสายขอนแก่น-เลย ไปยังหน้าตลาดที่ว่าการอำเภอภูกระดึง แล้วต่อรถสองแถว หรือเดินทางต่อไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นปีนเขาขึ้นยอดภู จากนั้นต้องเดินเท้าขึ้นยอดภูอีก 5 กิโลเมตร จึงจะถึง “หลังแป” แล้วเดินเท้าไปตามทุ่งหญ้าอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงที่พัก บนยอดภูกระดึงทางอุทยาน ได้จัดลูกหาบสัมภาระของนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนยอดภูกระดึง คิดค่าบริการเป็นกิโลกรัม

          รถส่วนตัว : เดินทางโดยรถยนต์ สามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง ดังนี้

          1. เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก หล่มเก่า ด่านซ้าย ภูเรือ และอำเภอเมืองเลย เลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (เลย-ขอนแก่น) และเลี้ยวเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2019 เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

          2. ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา จนถึงจังหวัดขอนแก่น เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูผาม่านและตำบลผานกเค้า เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

          3. เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 201 ผ่านจังหวัดชัยภูมิ อำเภอภูเขียว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ จากนั้นเดินทางเช่นเดียวกับเส้นทางที่ 2

          ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

          มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวทั้งบนยอดภูกระดึงและบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ด้านล่าง ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08.00-16.30 น. อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โทรศัพท์ 042 810 833, 042 810 834

ภูกระดึง

          หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

          บริเวณที่ทำการอุทยานมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผู้ใหญ่ (คนไทย) คนละ 40 บาท เด็ก 20 บาท, ผู้ใหญ่ (ต่างชาติ) 100 บาท เด็ก 200 บาท และบริการลูกหาบสัมภาระ กิโลกรัมละ 30 บาท นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเต็นท์และบ้านพักได้ที่ที่ทำการอุทยาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 042 810 833 และ 042 810 834

          **หมายเหตุ เมื่อชำระค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติแล้วกรุณาพกบัตรค่าบริการติดตัว ขณะท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเพื่อการตรวจสอบ

ภูกระดึง

          ท้ายสุดฝากไว้สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากไปท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติบนภูกระดึง ควรใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน จึงจะเที่ยวชมธรรมชาติได้ทั่วถึง ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูกระดึงจะเปิดให้เที่ยวบนยอดภูกระดึงได้เฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคมเท่านั้น ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ของทุกปี ทางอุทยานจะปิดเพื่อปรับสภาพธรรมชาติให้ฟื้นตัว และปรับปรุงสถานที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ฉะนั้นเช็กก่อนออกเดินทางกันด้วยล่ะ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วบรรดาแบ็กแพ็กเกอร์ทั้งหลายก็เตรียมแพ็กกระเป๋าแล้วออกเดินทางกันได้เลย...

          การเที่ยวภูกระดึงอย่างมีจิตสำนึกจะเป็นหนึ่งหนทางรักษาความสวยงามของภูกระดึงได้อย่างยั่งยืนที่สุด นักท่องเที่ยวจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ทิ้งขยะในที่ที่จัดไว้ให้ ไม่ส่งเสียงดังรบกวนสัตว์ป่า ไม่แกะสลักชื่อหรือขูดขีดร่องรอยไว้ที่ต้นไม้ ก้อนหิน หรือหน้าผา

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติภูกระดึง - Phu Kradueng National Park, thai.tourismthailand.org, i-san.tourismthailand.org, อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภูกระดึง ขุนเขามหัศจรรย์แห่งเมืองเลย อัปเดตล่าสุด 7 กันยายน 2565 เวลา 12:33:56 471,132 อ่าน
TOP