วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ไหว้พระพุทธชินราช ขอพรเสริมสิริมงคล

           วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เที่ยวพิษณุโลกสักการะพระพุทธชินราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง พร้อมแนะนำเรื่องน่ารู้ต่าง ๆ
           วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร วัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพิษณุโลก ที่มักเรียกติดปากกันว่า วัดใหญ่ หรือวัดพระพุทธชินราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ด้านทิศตะวันออก สถานที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” พระพุทธรูปทองคำอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของเหล่าพุทธศาสนิกชน และภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก วันนี้เราเลยจะพาไปทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ภาพจาก : tonkid / shutterstock.com

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ไหน

          วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก บนถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก และไม่ไกลจากวัดนางพญา

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ประวัติวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

          วัดที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม เพราะได้พบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยมีความว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์ ส่วนในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า ในราวปี พ.ศ. 1900 พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร 4 ทิศ มีพระระเบียง 2 ชั้น และรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง 3 หลัง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Eak.Temwanich / shutterstock.com

          ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2548 ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยจะมีงานนมัสการพระพุทธชินราชในวันขึ้น 6 ค่ำ ถึงวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

สิ่งน่าสนใจในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

พระพุทธชินราช

          พระพุทธชินราช หรือที่เรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่ ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตก ได้รับการถวายพระเกียรติคุณยกย่องให้เป็นพระพุทธรูปที่สง่างามที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธรูปอีก 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา โดยวัสดุหล่อด้วยทองสำริด ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง มีหน้าตักกว้าง 5 ศอก  1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก มีพุทธลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ พระวรกายสมส่วน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเรียบเสมอกัน มีพระอุณาโลมที่พระนลาฏ พระขนงใหญ่ พระเนตรทอดต่ำ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีที่มีบัวคว่ำบัวหงาย มีซุ้มเรือนแก้วแกะสลักไม้ลงรักปิดทองที่มีความประณีตอ่อนช้อยงดงาม ด้านข้างซ้าย-ขวาจะมีท้าวเวสสุวรรณและท้าวอาฬวกยักษ์คอยพิทักษ์รักษา ทั้งนี้ ภายในพระวิหารห้ามยืนถ่ายรูป

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

           ปัจจุบัน พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารยังมีวิหารองค์จำลองให้ได้สักการะกันด้วย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Chongsiri Chaitongngam / shutterstock.com

พระพุทธชินสีห์

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Cooler8 / shutterstock.com

พระศรีศาสดา

คาถาบูชาพระพุทธชินราช

          ตั้งนะโม 3 จบ

          อิเมหิ นานา สักกาเรหิ อภิปูชิเตหิ ทีกายุโก โหมิ

          อะโรโค สุขิโต สิทธิกัจจัง สิทธิกัมมัง ปิยัง มะมะ

          ประสิทธิลาโภ ชะโย โหตุ สัพพัททา พุทธชินะราชา

          อภิปะเลตุ มัง นะโมพุทธายะ

ท้าวเวสสุวรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

           ณ บริเวณวิหารพระพุทธชินราช จะมีท้าวเวสสุวรรณ ปางประทับนั่ง ถือคทาวุธัง สถิตถวายการอภิบาลอยู่ที่ฐานชุกชีรัตนบัลลังก์ ข้างพระชานุด้านซ้ายขององค์พระพุทธชินราชมายาวนาน ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพร
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Jula Store / shutterstock.com

คำบูชาท้าวเวสสุวรรณ พระวิหารพระพุทธชินราช

          ตั้งนะโม 3 จบ ภาวนาน้อมบูชา องค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช ว่า สทา พุทธชินราชา อภิปาเลตุ มัง

          ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ แล้วภาวนาบูชา ขอพร ท้าวเวสสุวรรณ ว่า

          ปุตตะ กาโม ละเภปุตตัง ธะนะกาโม ละเภธะนัง อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานัง ปิยะตังสุตตะวาฯ

          อิติปิโส ภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มะระณังสุขัง อะหังสุคะโต นะโม พุทธายะฯ

          ท้าวเวสสุวรรณโณ จตุมหาราชิกา ยักขะพันตา ภัทภูริโต เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโม พุทธายะ

          เวส สะ พุ สะ  เวส สุ วัณ ณัส สะ คะ ทา วุธ ทัง เทวประสิทธิ เม
 

สถานที่ไหว้ท้าวเวสสุวรรณ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

วิหารหลวงพ่อเหลือ

          พระเสสันตปฏิมากร หรือ พระเหลือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก หน้าตักกว้าง 1 ศอกเศษ ประดิษฐาน ณ วิหารน้อย บริเวณโพธิ์สามเส้า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 จากเศษสำริดที่เหลือหลังการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา พร้อมกับพระอัครสาวกอีก 1 คู่ เชื่อกันว่าหากได้กราบไหว้จะมีเงินทองเหลือกินเหลือใช้

วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน

         ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของพระวิหารพระศรีศาสดา ภายในวิหารประดิษฐาน “พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน” มีพุทธลักษณะเป็นหีบทอง ทำจากศิลาลงรักปิดทอง บรรจุพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า ทำด้วยศิลา ขนาดกว้าง 46 เซนติเมตร ยาว 160 เซนติเมตร สูง 45 เซนติเมตร บริเวณปลายหีบจะมีพระบาท 2 ข้างยื่นออกมา และพระมหากัสสปเถระนั่งนมัสการอยู่ด้วย เชื่อกันว่าหากได้มากราบไหว้พรขอสิ่งใดมักสัมฤทธิผล

พระปรางค์

          ปูชนีย์สถานเก่าแก่ที่เป็น​องค์ประธานของวัด เจดีย์ทรงฝักข้าวโพดที่เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ความสูงประมาณ 15 วา รอบ ๆ มีระเบียงคตและวิหารทิศ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Jula Store / shutterstock.com

พระอัฎฐารส

          พระพุทธรูปยืน ปางห้ามญาติ ความสูง 18 ศอก (ประมาณ 10 เมตร) สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่ แต่วิหารพังเหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า เนินวิหารเก้าห้อง เชื่อกันว่าหากได้มากราบไหว้จะหายทุกข์หายโศก
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

หลวงพ่อขาว

          พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่คู่วัดมาแต่เดิม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ก่ออิฐถือปูน ขนาดหน้าตักกว้าง 2.63 เมตร ความสูง 3.39 เมตร ผู้ใดได้บูชาจะเจริญรุ่งเรือง จิตใจผ่องใส ปราศจากโรคภัยและอุปสรรคอันตรายทั้งปวง

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

หลวงพ่อคง

          ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระอัฎฐารส หลังวิหารพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ที่สร้างแบบก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Chongsiri Chaitongngam / shutterstock.com

การเดินทางไปวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

           จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนหมายเลข 32 และถนนหมายเลข 117 ไปทางพุทธบูชา มุ่งไปตำบลในเมือง เทศบาลนครพิษณุโลก จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 12 (ถนนพิษณุโลก-หล่มสัก) มุ่งตรงไปยังเส้นทางไปศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ข้ามสะพานแม่น้ำน่าน วัดจะตั้งอยู่ขวามือ โดยอยู่ห่างจากสนามบินพิษณุโลกประมาณ 8 กิโลเมตร
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ไหว้พระพุทธชินราช ขอพรเสริมสิริมงคล อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2567 เวลา 17:12:34 65,203 อ่าน
TOP
x close