วัดอุปคุต เชียงใหม่
วัดอุปคุต ที่ตั้งและประวัติความเป็นมา
วัดอุปคุต ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โซนเดียวกันกับ กาดหลวง หรือ ตลาดวโรรส เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2456 โดยชื่อของวัดตั้งตาม พระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม พระภิกษุในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
มีตำนานเกี่ยวกับพระอุปคุตเล่าสืบกันมาว่า ครั้งหนึ่งมีสามีภรรยาฐานะยากจนคู่หนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ ประกอบอาชีพทำนาและค้าขาย วันหนึ่งในฤดูหนาว สองสามีภรรยาตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางเข้าตัวเมือง ระหว่างเดินทางมาจนข้ามแม่น้ำปิงมาฝั่งตะวันตก เข้าถนนท่าแพ ขณะนั้นยังเป็นเวลาเช้ามืด และเป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์เต็มดวงสาดแสงสว่างไสว ขณะเพลิดเพลินกับบรรยากาศอยู่นั้น สายตาของทั้งคู่ก็เหลือบไปเห็นสามเณรน้อยรูปหนึ่งกำลังอุ้มบาตร ครองผ้าเป็นปริมณฑลตัดกับแสงจันทร์นวล เป็นภาพที่งดงาม จึงบังเกิดศรัทธาในตัวสามเณร และได้แบ่งสิ่งของที่ตั้งใจนำไปขายยกขึ้นอธิษฐานแล้วใส่ในบาตรของสามเณร หลังจากรับพรจากสามเณรแล้ว ชายผู้เป็นสามีนึกแปลกใจว่าสามเณรจากวัดใดกันแน่ที่ออกบิณฑบาตแต่เช้าตรู่ เขาจึงเดินตามสามเณรไป แต่สามเณรก็เดินไปถึงชายป่าแล้วหายวับไปที่ต้นไทรต้นหนึ่ง สามีเห็นเช่นนั้นก็วิ่งกลับมาบอกกับภรรยาและต่างเก็บความสงสัยไว้ในใจ
นับแต่วันนั้นสองสามีภรรยาก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ได้ผลกำไรงามและมีฐานะร่ำรวยขึ้น ต่อมาจึงทราบจากพระผู้เฒ่ารูปหนึ่ง ผู้ทรงอภิญญาญาณเคร่งครัดในศีล ว่าการที่เจริญก้าวหน้าค้าขายร่ำรวยนั้น เนื่องจากอานิสงส์ที่ได้ตักบาตรกับสามเณร ผู้ซึ่งก็คือ พระอุปคุต มหาเถระที่เข้านิโรธสมาบัติอยู่ใต้สะดือทะเล ครั้นถึงวันพระขึ้น 15 ค่ำ ท่านจะแปลงเป็นสามเณรน้อยออกบิณฑบาตแต่เช้าตรู่เพื่อโปรดสัตว์ บุคคลใดได้ตักบาตรท่านพระมหาอุปคุตถือว่าเป็นบุคคลที่โชคดี ทำให้เจริญรุ่งเรือง สองสามีภรรยาได้ฟังก็เกิดปีติศรัทธา จึงได้สร้างวัดขึ้นบริเวณที่พบสามเณรน้อย ชาวบ้านทราบข่าวต่างมาอนุโมทนาและร่วมทำบุญ โดยตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดพระอุปคุต ต่อมาเปลี่ยนเป็นเรียกสั้น ๆ ว่า วัดอุปคุต จนทุกวันนี้
พระอุปคุต เป็นใคร
ตามคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ผู้สำเร็จธรรม กล่าวว่า พระอุปคุต มีปฏิปทาดำเนินไปในทางสันโดษ มักน้อย ทรงสภาวะธาตุขันธ์ชั้นละเอียดเหนือยิ่งกว่าความเป็นทิพย์เนรมิตอยู่ในมณฑปแก้ว ณ ท้องทะเลหลวง (สะดือทะเล) ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ท่านจะออกจากสมาบัติขึ้นมาบิณฑบาตในโลกมนุษย์เฉพาะในวันเพ็ญพุธ (วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ) เนรมิตกายเป็นเณรน้อยออกมาบิณฑบาตในตอนเช้ามืด แล้วจะลงไปอยู่ประจำที่กุฏิแก้วในท้องทะเลหลวงเช่นเดิม
ตามความเชื่อของชาวพุทธล้านนามีว่า โอกาสที่จะได้ทำบุญกับพระอรหันต์นั้นยากเต็มที ใครที่ได้ทำบุญใส่บาตรกับพระอรหันต์นั้นถือเป็นการสร้างมหากุศล และยิ่งได้ทำบุญกับพระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธสมาบัตินั้นยิ่งยากกว่า ผลจากการที่ได้สร้างมหากุศลนี้มีผลไพบูลย์ สามารถพลิกชะตาให้แก่ผู้สร้างกลายเป็นผู้อุดมไปด้วยโภคทรัพย์เพียงชั่วข้ามคืน
ทั้งนี้ ชื่อ อุปคุต มีความหมายว่า ผู้คุ้มครองรักษา ส่วนรูปหล่อพระอุปคุตนั้นมีลักษณะมือตกลงไปในบาตรแล้วพระเศียรหันเชิดขึ้น หรือที่เรียกกันว่า ปางจกบาตร หมายถึง หน้ามองฟ้าหยุดพระอาทิตย์ชั่วคราว เพื่อฉันภัตตาหารให้ทันก่อนเพล แสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์มีกินมีใช้ ที่แม้แต่พระอาทิตย์ก็ยังต้องหยุดด้วยอานุภาพของท่าน
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ พระอุปคุต ว่าพระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์ปราบท้าววสวัตตี โดยในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาฏลีบุตรราชธานี พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก และได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างขึ้นมาตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ต่อมาได้ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพญามารจนยอมแพ้พ่ายไป จากนั้นพระอุปคุตก็มีชื่อเสียงในทางปราบมาร
วัดอุปคุต มีอะไรบ้าง
ภายในวัดอุปคุต มีวิหารประดิษฐานพระอุปคุต หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่า พระบัวเข็ม ซึ่งเป็นพระประธาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเหนือ วาดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 โดยพ่อบุญปั๋น พงษ์ประดิษฐ์ ศิลปินล้านนา หอเก็บพระพุทธรูปทรงลูกบาศก์ ยกพื้นสูง มีลายปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบผนังด้านนอก ทวารบาลเป็นยักษ์ปูนปั้น บานประตูลงรักปิดทอง
ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน วันเป็งปุ๊ด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเดิมวัดอุปคุตจะเป็นวัดเพียงหนึ่งเดียวที่จัดประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด โดยสืบสานประเพณีมาไม่ต่ำกว่า 250 ปี แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางวัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่ก็เริ่มจัดประเพณีนี้ เพื่อช่วยกันสืบสานประเพณีเก่าแก่ของล้านนา และส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะวัดที่ตั้งอยู่บริเวณยอดดอยสูงจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นดอยสูง มีธรรมชาติที่สวยงามและบรรยากาศดีสไตล์ล้านนา อีกทั้งบางวัดยังได้เสริมการจุดผางประทีปและปล่อยโคมเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาร่วมงานด้วย
วัดอุปคุต วัตถุมงคล
วัดอุปคุต มีวัตถุมงคลขึ้นชื่อคือ พระบัวเข็ม ที่เป็นพระเครื่อง ทั้งนี้ พระอุปคุตกับพระบัวเข็มนั้นแตกต่างกันทั้งในทางประติมากรรมและประวัติความเป็นมา แต่ก็มักถูกสับสนและถือให้เป็นองค์เดียวกันในทางพระเครื่อง โดยพระบัวเข็มนั้นเป็นพระพุทธรูปมอญในตำนานของพม่า-มอญ-ล้านนา เข้ามาแพร่หลายในไทยช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยพระรามัญได้นำมาถวายพระวชิรญาณภิกขุ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) โดยเชื่อในพุทธคุณว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดลาภผล ความมั่งมี ขจัดภยันตราย และมีอิทธิฤทธิ์ในทางขอฝนอีกด้วย
วัดอุปคุต เวลาเปิด-ปิด และข้อมูลการติดต่อ
วัดอุปคุต วัดดังในเมืองเชียงใหม่ กับตำนานความเชื่อเกี่ยวกับพระอุปคุตที่มีมายาวนาน เป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มาก หากใครได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตจะเป็นมงคลกับชีวิต มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามา เหลือกินเหลือใช้ ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี สุขภาพแข็งแรง ความรักยืนยาว ทำให้วัดแห่งนี้มีผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสแวะเวียนเข้ามากราบไหว้ขอพรพระอุปคุตอย่างไม่ขาดสาย ใครที่มีแพลนไปเที่ยวเชียงใหม่ ลองไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลสักครั้งนะ
บทความ เที่ยวเชียงใหม่ ที่พักเชียงใหม่ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ที่เที่ยวเชียงใหม่หน้าฝน ปี 2024 จัดเต็มพิกัดเที่ยวฟินชุ่มฉ่ำรับสายฝนและไอหมอก
- ตะลุยเที่ยวเชียงใหม่หน้าฝน กับ 10 สถานที่ท่องเที่ยวสุดคูล
- แจกแพลนเที่ยวเชียงใหม่ 3 วัน 2 คืน กับพิกัดจุดเช็กอินไปได้ตลอดทั้งปี
- 9 สถานที่ชมสัตว์ในเชียงใหม่ ม่วนอกม่วนใจ๋ไปกับสัตว์สุดน่าฮัก
- ชี้เป้าที่เที่ยวเชียงใหม่ยอดฮิต 60 แห่ง พร้อมพาตะลอนทัวร์ให้ทั่วเมือง
- 10 ที่พักเชียงใหม่ในเมือง บรรยากาศสบาย ๆ ราคาเบา อยู่ใกล้ที่เที่ยว