ไหว้พระ 9 วัด เชียงใหม่
ชมวัด...แอ่วเวียงเชียงใหม่ (ททท.)
อาณาจักรล้านนา นับได้ว่าเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาสูงสุด จึงปรากฏให้เห็นวัดวาอารามในเขตอำเภอเมืองของจังหวัดเชียงใหม่อยู่มากมาย เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน และเป็นแหล่งโบราณสถานที่รวบรวมเอาศิลปะ สถาปัตยกรรมที่วิจิตรบรรจงสวยงามที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์และรักษาสืบไป
การไหว้พระ 9 วัด พระพุทธศาสนิกชนเชื่อว่าเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต ชาวเชียงใหม่นิยมไปกราบสักการะวัดที่มีชื่อดี นามมงคล รวมถึงวัดสำคัญ ๆ เพราะเชื่อว่าจะยิ่งช่วยเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งแต่ละวัดล้วนแล้วแต่เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน และมีความสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้
1. วัดดับภัย ตั้งอยู่ที่ถนนสิงหราช ตำบลศรีภูมิ
วัดดับภัย เดิมชื่อ "วัดอภัย" หรือ "วัดตุงกระด้าง" มีตำนานเล่าว่า เมื่อพญาอภัยล้มป่วยทำการรักษาอย่างไรก็ไม่ทุเลา จึงตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าหลวงพ่อดับภัย อาการเจ็บป่วยก็หายไปพลัน พญาอภัยจึงให้บริวารลูกหลานตั้งบ้านเรือนบริเวณวัดและบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงเรียกชื่อใหม่ว่า วัดดับภัย เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนา วัดแห่งนี้มีบ่อน้ำอยู่หน้าวิหาร เชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ สมัยพระเจ้าอินทวโรรส เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 เสด็จกลับจากกรุงเทพฯ ต้องแวะมาวัดดับภัยเพื่อนำน้ำในบ่อนี้ไปสรงน้ำพระพุทธมนต์ ก่อนแวะไปวัดเชียงยืนเพื่อสืบดวงชะตา
2. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์
(พระธาตุประจำปีนักษัตรมะโรง) เป็นวัดสำคัญของเชียงใหม่ มีประวัติยาวนานกว่า 655 ปี สมัยแรกวัดนี้ได้ชื่อว่า "วัดลีเชียงพระ" หมายความว่า วัดที่ตั้งใกล้ตลาดกลางเมือง ในสมัยกษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ จึงเรียกว่า "วัดพระสิงห์" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วัดพระสิงห์ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกประเภทวรมหาวิหาร วัตถุสถานในวัดมีทั้งพระอุโบสถ วิหารลายคำ วิหารหลวง หอไตร และภาพจิตรกรรมในวิหารลายคำ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า วัดแห่งนี้จึงเป็นที่รวมของตัวอย่างศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมสมัยล้านนามากที่สุด
3. วัดหมื่นเงินกอง ตั้งอยู่ที่ 30 ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์
วัดหมื่นเงินกอง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังราย เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนา ในย่านสามล้านอันเป็นที่พักขุนนางชั้นสูง หมื่นเงินกอง เป็นชื่อของอำมาตย์ท่านหนึ่งในรัชกาลของพญากือนา ที่ได้โปรดฯ ให้ไปอาราธนาพระสุมนเถระที่กรุงสุโขทัยมาเผยแพร่ศาสนาในล้านนา จึงสันนิษฐานว่ามหาอำมาตย์ท่านนี้สร้างวัดนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ตนเอง
4. วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร (วัดโชติการาม) ตั้งอยู่ที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์
เป็นวัดที่มีเจดีย์องค์ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางใจเมืองเชียงใหม่ วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย (พญาแสนเมืองมา) เพื่อสนองดวงวิญญาณของพญากือนา ผู้เป็นบิดาที่ไปบังเกิดเป็นเทวดาสิงสถิตย์อยู่ใต้ร่มไทรใหญ่เมืองพุกาม และต้องการให้พญาแสนเมืองมาสร้างเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุด ในปี พ.ศ. 2024 สมัยของพญาติโลกราชพระองค์โปรดฯ ให้ช่างสร้างเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ สูงถึง 92 เมตร ฐานกว้างด้านละ 54 เมตร ต่อมาสมัยพระนางเจ้าจิระประภาครองเมืองเชียงใหม่ ได้เกิดแผ่นดินไหวทำให้ยอดเจดีย์โค่นลงมา จากนั้นกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะเสริมความมั่นคง องค์พระเจดีย์ในส่วนที่เหลืออยู่ให้แข็งแรง เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์สืบไป
5. วัดดวงดี ตั้งอยู่ที่ 228 ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ
วัดดวงดี เดิมชื่อ "วัดต้นหมากเหนือ" ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว และมีเจ้านายเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งเป็นผู้คิดค้นการสร้าง ลักษณะของวิหารและโบสถ์เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา มีลวดลายแกะสลักไม้ประดับสถาปัตยกรรมที่สวยงาม
6. วัดเชียงมั่น ตั้งอยู่ที่ ถนนราชภาคินัย ตำบลศรีภูมิ
เป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1840 ศิลาจารึกวัดเชียงมั่นกล่าวว่า หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์ที่หอนอนบ้านเชียงมั่น ซึ่งใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวเพื่อควบคุมการสร้างเมืองเชียงใหม่ ต่อมาพระองค์ทรงยกพระตำหนักที่ประทับถวายเป็นพระอาราม ให้ชื่อว่า "วัดเชียงมั่น" เป็นที่ประดิษฐานพระเสตังคมณีหรือพระแก้วขาว พระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวปางมารวิชัย เป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่
7. วัดเชียงยืน ตั้งอยู่ที่ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ
เป็นวัดโบราณแห่งหนึ่งซึ่งมีโบสถ์แปดเหลี่ยมที่เก่าแก่ด้วยรูปแบบศิลปะพม่า แม้ตัวโบสถ์จะทรุดโทรมตามกาลเวลา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปพม่า ห้ามผู้หญิงเข้าตามความเชื่อของชาวล้านนา ที่มีความเชื่อว่าสถานที่ประกอบ พิธีทางศาสนาหรือพิธีสำคัญ ๆ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องการความสะอาดบริสุทธิ์ ตำนานกล่าวไว้ว่าหากกษัตริย์องค์ใดจะขึ้นครองราชย์ต้องมานมัสการพระประธานที่วัดนี้ก่อนจนเป็นธรรมเนียมประเพณี แต่ก็ยกเลิกไปเมื่อครั้งเชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า
8. วัดลอยเคราะห์ ตั้งอยู่ที่ 65 ถนนลอยเคราะห์ ตำบลช้างคลาน
วัดลอยเคราะห์ เดิมชื่อว่า "วัดร้อยข้อ" (วัดฮ้อยข้อ) สร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย วัดนี้จึงมีอายุราว 500 ปี ในสมัยที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดแห่งนี้ไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จึงมีสภาพทรุดโทรมมาก และกลายเป็นวัดร้างกว่า 20 ปี ต่อมาในสมัยพญากาวิละปกครองล้านนา พระองค์ทรงบูรณะซ่อมแซมวัดให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พระองค์ทรงกวาดต้อนพลเมืองเชียงแสน และโปรดให้ชาวเชียงแสนตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ เวียงชั้นนอกด้านขวาของประตูท่าแพ ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบริเวณวัดลอยเคราะห์ในปัจจุบัน และมีศิลปะสถาปัตยกรรมเป็นแบบพื้นเมืองของชาวล้านนา มีพระพุทธรูปปางถวายเนตรและพระเจ้าทันใจประดิษฐานอยู่
9. วัดชัยมงคล ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน
วัดชัยมงคล อยู่ริมแม่น้ำปิง สร้างราวสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์นครเชียงใหม่ ในสมัยที่เชียงใหม่ถูกพม่าปกครอง วัดนี้ถูกเรียกว่า "วัดอุปาเพ็ง" หรือ "วัดอุปาพอก" จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนมาเรียกชื่อวัดนี้ว่าวัดชัยมงคล ลักษณะของเจดีย์วัดชัยมงคลเป็นศิลปะพม่า-มอญ
นอกจากนี้ยังมีวัดสำคัญอื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่
วัดพันเตา ตั้งอยู่ที่ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ วิหารเดิมเป็นหอคำหรือท้องพระโรงหน้าของพระเจ้ามโหตรประเทศ เป็นอาคารเครื่องไม้แบบพื้นเมือง ซุ้มประตูประดับไม้แกะสลักรูปนกยูง อันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือ
วัดกู่เต้า ตั้งอยู่ที่ถนนสนามกีฬา ตำบลศรีภูมิ ติดกับสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ เดิมชื่อว่าวัดเวฬุวนาราม มีเจดีย์ที่มีลักษณะแปลกไปกว่าเจดีย์อื่น ๆ ในเมืองไทย คือ คล้ายกับผลแตงโมวางซ้อนกันอยู่หลายลูก ชาวบ้านจึงเรียกว่าเจดีย์กู่เต้า มีตำนานเล่าว่าเจดีย์กู่เต้านี้เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าสารวดีซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง
วัดแสนฝาง ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ เป็นย่านการค้าของพ่อค้าชาวพม่าที่มีศิลปะการก่อสร้างแบบพม่า นอกจากนี้ยังมีกุฏิเจ้าอาวาสซึ่งสร้างมานานกว่า 100 ปี
วัดบุพพาราม ตั้งอยู่ที่ซอย 3 ถนนท่าแพ เยื้องกับวัดแสนฝาง เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่ พระเมืองแก้วโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2039 ภายในหอมณเฑียรธรรมประดิษฐานพระพุทธรูปไม้สักขนาดหน้าตักกว้าง 1 วาเศษ มีอายุประมาณ 400 ปี ตามประวัติเล่าว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพจากเมืองอยุธยา เพื่อขึ้นมาปราบอริราชศัตรูที่ มารุกรานเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2147 จนทัพศัตรูได้ล่าถอยไปทางเมืองแหงและเมืองต๋วน สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงพักรบและสร้าง "พระพุทธนเรศศักดิ์ชัยไพรีพินาศ" องค์นี้ขึ้น
วัดป่าเป้า ตั้งอยู่ที่ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ เป็นวัดเงี้ยวแห่งแรกในเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2426 ลักษณะของพระธาตุที่วัดป่าเป้านี้เป็นแบบไทยใหญ่ มีการจัดประเพณีปอยส่างลองขึ้นเป็นประจำในเดือนเมษายนของทุกปี
วัดช่างฆ้อง ตั้งอยู่ที่ถนนลอยเคราะห์ ตำบลช้างคลาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 1900 โดยชาวบ้านช่างฆ้องที่อพยพมาจากเชียงแสนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมีหอไตรซึ่งเป็นตึกสองชั้นตกแต่งด้วยลายปูนปั้นและไม้ฉลุ เป็นศิลปะผสมระหว่างจีนและพม่า ด้านนอกอาคารมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเจ้าสิบชาติฝีมือช่างพื้นบ้าน ซึ่งยังคงสมบูรณ์อยู่
พระสิงห์หยก วัดอู่ทรายคำ แกะสลักจากหยกประเภท Jadeite น้ำหนัก 900 กิโลกรัม เป็นศิลปะแบบเชียงแสนประยุกต์ และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเศียร พระพักตร์มีสีใส ลักษณะสงบเย็น พระสิงห์หยกประดิษฐานอยู่ที่วัดอู่ทรายคำ ตั้งอยู่ที่ถนนช้างม่อยเก่า ตำบลช้างม่อย
วัดโลกโมฬี ตั้งอยู่ที่ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ เดิมวัดโลกโมฬี มีสภาพเป็นวัดร้าง เมื่อคราวเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการรื้อฟื้นจากการเป็นวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ โดยคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่
วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่ที่ถนนวัวลาย เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านศรีสุพรรณ เป็นแหล่งรวมสล่าเงินฝีมือดีของเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันมีการก่อสร้างอุโบสถเงินอันวิจิตรและงดงามหลังแรกของโลก รวมถึงมีการจัดตั้งวัดให้เป็นศูนย์ในการเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมล้านนาและงานสล่าสิบหมู่ เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ และถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่เยาวชน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก