เที่ยวกรุงเทพฯ 1 วัน ณ สามแพร่ง ย่านเก่าแก่ของเมืองกรุง ไปสักการะศาลเจ้าพ่อเสือ ก่อนเดินมุ่งหน้าไปยังแพร่งสรรพศาสตร์ แล้วค่อย ๆ ลัดเลี้ยวไปย่านแพร่งนรา แวะกินของอร่อย และปิดทริปกันที่แพร่งภูธร
เช้าวันหยุดที่อากาศสดใส บางคนเลือกที่จะพักผ่อนอยู่บ้านเพลิน ๆ บางคนก็เลือกที่จะออกไปโลดแล่นท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ตามแพลนที่วางไว้ แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าวันหยุดเที่ยวไหนดี...ตามมาทางนี้เลย เพราะเราจะชวนไปตะลุยเดิน
เที่ยวกรุงเทพฯ 1 วัน ณ ย่านเก่าแก่ของเมืองกรุงอย่าง
“สามแพร่ง” ซึ่งคำว่า แพร่ง หมายถึง ทางแยกทางบก สามแพร่ง คือ ทางที่แยกเป็น 3 สาย เกิดจากทางสายหนึ่งมาบรรจบเป็นมุมฉากกับทางอีกสายหนึ่ง ประกอบด้วย
“แพร่งสรรพสาตร์”, “แพร่งนรา” และ “แพร่งภูธร” ที่ตั้งอยู่ในละแวกเดียวกัน ซึ่งเสน่ห์ของย่านนี้ที่ทำให้เราอยากไปเดินสำรวจสอดส่อง คือบ้านเก่าที่ยังคงความสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมโบราณ
เที่ยวสามแพร่ง ฉบับ One Day Trip
เราเริ่มต้นเที่ยวกรุงเทพฯ แบบฉบับ One Day Trip กันที่
“ศาลเจ้าพ่อเสือ” เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาฤกษ์เอาชัยซะหน่อย สำหรับศาลเจ้าพ่อเสือตั้งอยู่บริเวณทางสามแพร่งถนนตะนาว ใกล้กับเสาชิงช้า เป็นศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วที่เก่าแก่ คนจีนเรียกกันว่า
“ตั่วเหล่าเอี๊ย” ภายในประดิษฐาน เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ (องค์ประธาน), เจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู, เจ้าพ่อเห้งเจีย, ไฉ่ซิงเอี้ย และเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและชาวจีนเป็นอย่างมาก
บริเวณด้านหน้าของศาลเจ้าพ่อเสือจะมีจุดขายเครื่องสักการะต่าง ๆ สามารถเลือกซื้อเลือกหากันได้ตามกำลังทรัพย์ จากนั้นก็เดินผ่านประตูเข้าไปด้านใน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะกำหนดจุดที่ต้องไหว้ไว้ให้ชัดเจน โดยต้องจุดธูปเทียนบริเวณโถงด้านนอก ควันจากธูปและเทียนลอยคลุ้งเต็มอากาศ อาจเพราะว่าทุกคนต้องชูมือที่ถือธูปขึ้นด้านบน จะได้ไม่ให้เกิดอันตรายกับคนรอบข้าง เมื่อเรียบร้อยแล้วก็เข้าไปด้านในเพื่อไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ และด้วยควันธูปที่ค่อนข้างทำให้แสบตา เราเลยใช้เวลาอยู่ที่นี่กันไม่นาน (บริเวณด้านในงดถ่ายภาพ)
ก่อนจะออกมาสูดอากาศด้านนอกให้เต็มปอด และค่อย ๆ เดินเลาะมุ่งตรงไปที่สามแพร่งที่ตั้งอยู่ใกล้กันนิดเดียว แต่ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับย่านนี้กันสักนิด เพราะหลาย ๆ คนอาจไม่รู้ว่าชื่อของแต่ละแพร่งมาจากชื่อเจ้านายสามพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่มีวังประทับอยู่บริเวณนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์
ในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 สามแพร่งถือเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองมาก เพราะมีถนนตัดผ่าน อีกทั้งยังมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายเป็นที่แรก ๆ จึงทำให้มีบรรยากาศคึกคักเป็นพิเศษ ก่อนที่เวลาจะล่วงเลยผ่านและความคึกคักค่อย ๆ ลดระดับลง แต่ปัจจุบันสามแพร่งยังเป็นชุมชนเก่าแก่ที่รักษารูปแบบของตึกในสไตล์ชิโน-โปรตุกีสในอดีตไว้ได้อย่างดีเยี่ยม แถมตลอดสองฟากถนนมีร้านค้า ร้านอาหารอร่อย ๆ ตั้งเรียงรายอยู่มากมาย เอาล่ะ...พร้อมแล้วก็ไปเดินเที่ยวทั้งสามแพร่งกันเลย
แพร่งสรรพศาสตร์ : ตั้งอยู่ระหว่างถนนตะนาวกับถนนอัษฎางค์
จากศาลเจ้าพ่อเสือเดินมาเรื่อย ๆ เหงื่อยังไม่ทันออกก็ถึง “ซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์” แลนด์มาร์กที่ตั้งเด่นเป็นสง่าบ่งบอกว่าเราได้เดินมาถึงจุดหมายแรกของวันแล้ว
ภาพของซุ้มประตูที่มีสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตกตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า มีประติมากรรมรูปเทพธิดาประดับอยู่หน้าบัน อิฐบล็อกสีส้มก่อตั้งเป็นฐานสร้างความมั่นคง นับเป็นสถาปัตยกรรมที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน โดยซุ้มประตูนี้ถือเป็นหลักฐานที่เหลืออยู่ของวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ (พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินพระราชทานสร้างวังแห่งนี้ขึ้นในราว พ.ศ. 2444 ต่อมาใน พ.ศ. 2501 และ พ.ศ. 2510 วังนี้เกิดเพลิงไหม้เสียหายจนหมด เหลือเพียงแค่ซุ้มประตูวังแห่งนี้
ยืนเมียงมองซุ้มประตูอยู่สักพักก็เลี้ยวเข้าไปภายในถนนแพร่งสรรพศาสตร์ เป็นซอยเล็ก ๆ ที่มีร้านรวงต่าง ๆ เปิดบ้าง ปิดบ้างเรียงรายอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Vivit Hostel Bangkok โฮสเทลขนาดกะทัดรัดที่ตกแต่งสไตล์ไทย ๆ หรือร้านข้าวแกงประตูแพร่ง ที่เปิดขายข้าวแกงเมนูเด็ดมากมาย จากที่เดินมาเรื่อย ๆ สังเกตได้ว่าอาคารบ้านเรือนหลายหลังยังคงรักษาแบบดั้งเดิมเอาไว้อย่างดิบดี
เดินทอดน่องชมบรรยากาศสองฟากฝั่งไปเรื่อย ๆ ก่อนจะย้อนไปยังซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์อีกครั้ง เพื่อไปยังจุดหมายที่ 2 ของวัน
แพร่งนรา : ตั้งอยู่ระหว่างวัดสุทัศนเทพวรารามกับวัดมหรรณพาราม
บรรยากาศยามสายอากาศและแสงแดดกำลังดี ไม่ร้อนจนเกินไป เหมาะแก่การเดินไป “แพร่งนรา” ที่อยู่ทางทิศใต้ของแพร่งสรรพศาสตร์ และไม่ไกลจากแพร่งภูธรมากนัก ย่านนี้ขึ้นชื่อเรื่องของกินอร่อย ระหว่างทางเลยเห็นร้านรวงขายอาหารคาวหวานตั้งอยู่พอสมควร เรียกน้ำย่อยในกระเพาะที่เริ่มร้องจ๊อก ๆ ประท้วงขออาหารมื้อแรกของวัน เราเลยแวะกินขนมจีนน้ำยากระทิที่ร้านขนมจีนแม่จันทร์แพร่งนรา เสิร์ฟพร้อมผักเคียงหลากหลาย กินกับไข่ต้มสักฟอง อืม...อร่อยเด็ด
ก่อนจะโฉบไปร้านชื่อดังอย่างร้านลูกชิ้นแพร่งนรา แม่ค้าสาวสวยหน้าตาจิ้มลิ้ม ยืนปิ้งลูกชิ้นหมูอยู่พอดี จัดแจงสั่งมากินเสริมทัพ 2 ไม้ เดินไปกินไปเพลิน ๆ ดี
ระหว่างทางจะเจอกับอาคารบ้านเรือนที่ทาด้วยสีพาสเทลอ่อน ๆ อย่างสีขาว สีเหลือง และสีเขียวอ่อน มีสีสด ๆ อย่างสีแดงบ้างประปราย ไม่รอช้าหยิบกล้องคู่ใจแชะภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ก่อนที่สายตาจะไปปะทะกับหม้อใบเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ที่ตั้งเรียงรายอยู่บนโต๊ะไม้ขนาดกลาง ๆ ในหม้อบรรจุขนมไทยหน้าตาน่ากินเอาไว้เพียบ มีทั้งเต้าส่วน ถั่วดำแกงบวด กล้วยบวดชี ฟักทองแกงบวด และข้าวเหนียวดำเปียก เป็นต้น ไม่รอช้าสั่งเต้าส่วนของโปรดมากินอย่างรวดเร็ว พร้อมกับหมดในพริบตา กระซิบนิดหนึ่งว่าอิ่มอร่อยในราคาเบา ๆ เริ่มต้นเพียงแค่ 15 บาท
ท้องอิ่มขาก็เริ่มมีเรี่ยวมีแรง ออกเดินสัมผัสกับกลิ่นอายของวันวานที่แพร่งนราอีกครั้ง สายตาสอดส่องบรรยากาศสองฝั่งถนน สอดรับกับสองมือที่คอยลั่นชัตเตอร์อยู่เสมอ แต่ด้วยอากาศที่เริ่มร้อนแรงขึ้น ดวงอาทิตย์ตั้งฉากตำแหน่งเหนือศีรษะบอกเวลาเที่ยงวัน สองเท้าเลยก้าวเร็วขึ้นไปอีกนิด เสียงหายใจหอบเป็นระยะ ก่อนที่ความสนใจจะมุ่งไปอยู่ที่บ้านไม้หลังเก่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ ของย่านนี้ นั่นก็คือ “โรงเรียนตะละภัฏศึกษา”
ในอดีตเป็นโรงเรียนเอกชนที่ตั้งอยู่ในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ภายในชุมชนแพร่งนรา สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของตำหนักที่ประทับของสมเด็จกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตัวอาคารมีทั้งที่เป็นตึกและเป็นไม้ที่สร้างต่อเนื่องกัน การตกแต่งส่วนใหญ่เป็นไม้ฉลุ มีลวดลายสวยงามอ่อนหวานแบบไทย ส่วนที่เป็นปูนก็มีการตกแต่งเป็นลวดลายปูนปั้น เรียกได้ว่าถึงจะเก่าแต่ยังเก๋ามีเสน่ห์ชวนให้หยุดมอง
เพลิดเพลินกับสถาปัตยกรรมเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 จนหนำใจแล้ว เราตั้งใจจะเดินไปถนนอัษฎางค์เพื่อไปยังจุดหมายที่ 3 คือ “แพร่งภูธร” แต่ก่อนจะถึงเสียงรองเท้าเบรกดังเอี๊ยดจนหน้าเกือบล้มคะมำ เพราะไปสะดุดกับร้านขายเครปที่มีลูกค้ายืนรอผลผลิตอยู่หน้าร้านพอสมควร ที่ใช้คำว่าสะดุดเพราะตอนแรกตั้งใจจะข้ามผ่าน ก็แหม...ของที่กินไปยังไม่ย่อยเลย แต่ด้วยกลิ่นหอมหวานของแป้งเครปที่ลอยมาเตะจมูก ทำให้ตัดสินใจทันทีเลยว่าปล่อยผ่านไม่ได้
สั่งเครปใส่พริกเผา-หมูหย็องมาลิ้มลอง 1 ชิ้น กัดไปคำแรกแป้งกรอบกำลังดี กัดอีกคำโดนเครื่องแน่น ๆ กัดไปเรื่อย ๆ เอ้า...หมดชิ้นซะแล้ว พร้อมกับเห็นอาคารสีเหลืองอ่อนของกระทรวงกลาโหมอยู่เบื้องหน้า เลี้ยวซ้ายเดินไปเรื่อย ๆ ก็จะเจอกับแพร่งภูธร
แพร่งภูธร : ตั้งอยู่ระหว่างถนนตะนาวกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองหลอด
เราเดินบนทางเท้าไปถึงบริเวณแพร่งภูธร เหงื่อเม็ดเล็ก ๆ เริ่มไหลลงมาข้างไรผม หยิบผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาซับแล้วเก็บใส่กระเป๋า ซึ่งเป็นจังหวะที่สองเท้ามาหยุดอยู่ตรงร้านลูกชิ้น-มันสมองหมู ไทยทำ ร้านอาหารชื่อดังของย่านนี้ และถึงแม้ว่าเพิ่งจะกินเครปหมดไปไม่นาน แต่ด้วยความอยากลองเลยต้องกินซะหน่อย
เมนูไฮไลต์ก็คือ “เกาเหลามันสมองหมู” ที่ครบครันไปด้วยมันสมองหมู เครื่องในหมู หมูสามชั้น ลูกชิ้นต่าง ๆ รสชาติมัน ๆ กลมกล่อม ซดน้ำซุปใสที่เข้มข้นกำลังดี กินกับข้าวสวยร้อน ๆ แหม...ถือเป็นมื้อเที่ยงค่อนบ่ายที่เรียกกำลังขาได้อย่างดี
จากนั้นก็ค่อย ๆ เดินเลียบบ้านเรือนเก่าที่ถูกดูแลรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม ฉลุช่องระบายอากาศเป็นลวดลายต่าง ๆ ประตูบานเฟี้ยม 6 บานพับในโทนสีเขียว เข้ากันดีกับตัวบ้านที่ทาโทนสีเหลืองอ่อน ทำให้มองเพลินตา มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินสวนไป-มา หยุดถ่ายรูปที่มีกำแพงเก่าเป็นฉากหลังอยู่เป็นระยะ ๆ
จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างของแพร่งภูธร คือ ลานภูธเรศ ลานกว้างกลางพื้นที่แพร่งภูธร ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ (พระองค์เจ้าทวีวงศ์) ในอดีตเคยเป็นตลาดโต้รุ่งชื่อดังที่มีอาหารหลากหลายชนิด ปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นลานอเนกประสงค์ที่เป็นสวนสาธารณะและลานทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวสามแพร่ง ถึงแม้จะมีแนวตึกแถวเก่าที่เรียงรายล้อมรอบแต่ก็ไม่ได้ทำให้ดูอึดอัด เพราะร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ที่สร้างร่มเงาช่วยบดบังแสงแดด บรรเทาความร้อน
นั่งคลายเมื่อยสักพักก็ตะลุยแพร่งภูธรกันต่อไปอีกนิด ดื่มด่ำกับบรรยากาศของวันวานที่ยังถูกคนรุ่นหลังเฉกเช่นเราอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ก่อนจะจบ One Day Trip ในช่วงที่ดวงอาทิตย์ทอแสงอ่อน ๆ แล้ว นกร้องจิ๊บ ๆ ๆ บินว่อนอยู่ใกล้ ๆ ยืนหลับตานึกภาพของสามแพร่งอยู่อึดใจ แล้วค่อย ๆ เดินไปหาป้ายรถเมล์ขึ้นรถกลับบ้าน พร้อมกับโบกมือลา “สามแพร่ง” ย่านเก่าแก่ที่ยังมีตัวตน
บทความ ที่เที่ยวกรุงเทพฯ ร้านอาหาร ที่พัก อื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก :
royin.go.th