ศาลเจ้าพ่อเสือ เสี่ยงเซียมซีศาลเจ้าพ่อเสือและไหว้ขอพร

          พาไปทำความรู้จักกับศาลเจ้าพ่อเสือ ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ในย่านเสาชิงช้า พร้อมบอกถึงวิธีการสักการะเทพต่าง ๆ ในศาลเจ้าพ่อเสือ ไหว้อย่างไรให้ปังตลอดปีตลอดไป มีเงินใช้ไหลมาเทมา

          ทุกเทศกาลสำคัญเรียกได้ว่าบริเวณ "ศาลเจ้าพ่อเสือ" เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มากราบสักการบูชา หลายครอบครัวต่างพากันมาขอพรกับ "เจ้าพ่อเสือ" เพื่อนำความเป็นสิริมงคลมาสู่ตัวเองและสมาชิกในครอบครัว ที่นี่จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งที่ไม่ควรพลาด และวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักประวัติ "ศาลเจ้าพ่อเสือ" กัน...

           ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่เลขที่ 468 ถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง คนจีนเรียกกันว่า "ตั่วเหล่าเอี๊ย" เป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐาน เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ (องค์ประธาน), เจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู, เจ้าพ่อเห้งเจีย, ไฉ่ซิงเอี้ย และเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและชาวจีนเป็นอย่างมาก

          สำหรับผู้ที่เคารพบูชาเทพเจ้าของชาวจีนที่กำลังมองหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้สำหรับสักการะบูชา ไพ่เทวะมันตรา พยากรณ์เป็นไพ่เทพพยากรณ์ 78 ใบ ที่เกิดจากความศรัทธาที่มีต่อเทพเชื้อสายต่าง ๆทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมพลังศรัทธาของคนหลากหลายเชื้อชาติมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

ศาลเจ้าพ่อเสือ
ภาพจาก PongMoji / Shutterstock.com


           ศาลเจ้าพ่อเสือ ถือกำเนิดจากการที่คนไทยเห็นชาวแต้จิ๋วไหว้ "ตั่วเหล่าเอี๊ย" 大老爷 (เทพเจ้าที่เป็นประธานของศาลเจ้าพ่อเสือองค์ตรงกลางในปัจจุบัน) หรือ "เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่" 玄天上帝 แล้วรวยวันรวยคืน จึงไหว้ "ตั่วเหล่าเอี๊ย" ตามชาวจีนแต้จิ๋ว แต่ด้วยพระนามของท่านเอ่ยยาก แล้วบังเอิญศาลเจ้าที่ประดิษฐานเทพตั่วเหล่าเอี๊ยที่ถนนตะนาว เสาชิงช้า มีรูปบูชาของเทพอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นเสือ คนไทยก็เลยเรียกเป็นศาลเจ้าพ่อเสือ (องค์ที่เป็นเสือ เดินเข้าประตูศาลเจ้าจะอยู่ทางด้านซ้ายสุด คนแต้จิ๋วเรียกย่อ ๆ ว่า "หลีเอี๊ย" 李爷 ) เทพ "ตั่วเหล่าเอี๊ย" หรือ "เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่" ของชาวแต้จิ๋วก็เลยกลายเป็นเจ้าพ่อเสือ



           ศาลเจ้าพ่อเสือ สร้างตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ขยายถนนบำรุงเมือง โดยให้ย้ายและพระราชทานที่ให้แก่ศาลเจ้าพ่อเสือมาไว้ที่ทางสามแพร่ง ถนนตะนาว ใกล้กับวัดมหรรณพาราม ซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับเจ้าพ่อเสืออยู่แต่เดิม จึงมีการรวมศาลกันเกิดขึ้นจนเป็นศาลเจ้าพ่อเสือในปัจจุบัน
 
          ศาลเจ้าพ่อเสือ สร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน องค์เทพประธานประจำศาล คือ "เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่" และยังมีเจ้าพ่อเสือประดิษฐานอยู่ด้วย ทั้งนี้เจ้าพ่อเสือก็เป็นเทพที่ประชาชนทั้งชาวจีนและชาวไทยให้ความเคารพกราบไหว้มาก โดยเฉพาะคนที่มีลูกน้องบริวารมาก ๆ ต้องการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง โชคลาภ และที่กำลังมีคดีความต้องขึ้นศาล ซึ่งของที่ประชาชนนิยมนำมาถวายเจ้าพ่อเสือคือหมูสามชั้นและไข่


วิธีสักการะ

          เทียนแดง 1 คู่ ธูปทั้งหมด 18 ดอก (หากท่านนำพวงมาลัย กระดาษไหว้ หมูสามชั้น หรือไข่ มาถวาย ให้นำไปจัดตั้งให้เรียบร้อยตามจุดต่าง ๆ โดยหมูสามชั้นและไข่ ตั้งถวายที่เจ้าพ่อเสือเท่านั้น ห้ามตั้งตรงอื่นเด็ดขาด)

          จุดไหว้มีทั้งหมด 8 ที่สำคัญ ได้แก่

          1. ทีกง เทพยดาฟ้าดิน
          2. ตั่วเหล่าเอี๊ยกง (เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ องค์ประธาน)
          3. เจ้าพ่อเสือ (ซ้ายสุด)
          4. เจ้าพ่อกวนอู ไฉ่ซิงเอี้ยกง (ขวาสุด)
          5. เทพเจ้าเห้งเจีย
          6. เสด็จพ่อปิยมหาราช
          7. องครักษ์เจ้าพ่อข้างประตูขวา
          8. องครักษ์เจ้าพ่อข้างประตูซ้าย


บทสวดถวายตั่วเหล่าเอี๊ยกง (ปัก เก็ก จิง บู้ เหี่ยง เทียง เสี่ยง ตี่)

          เหี่ยง เทียง เสียง ตี่ กง

          เหี่ยง เทียง เสียง ตี่ กง

          เหี่ยง เทียง เสียง ตี่ กง ฮุกโจ้ว (สวดถวาย 9 ครั้ง)

          เทียง เอียง เอียง จุ้ย เหมี่ยง เมี้ยง     ปัก เทียง จุ้ย เต็ก เหล่ง ขี่ เชี้ยง

          จิง บู้ สิ่ง เจี่ยง เง็ก ฮือ ห่วย     เสี่ยง เต็ง กิม ขวก ตี่ หง่วง เทียง

          จี๋ เพ้า กิม ตั่ว เง็ก กวง เหยี่ยว     โหงว ลุ้ย สิ่ง เปีย หู่ แก่ เปี่ยง

          หลัก เต็ง เง็ก นึ่ง สุ่ย จอ อิ๋ว     โปย สั่วะ เจียง กุง อ่วย เอ่า เชี้ยง

          โปย ข่วย สิ่ง กู จั่ว เจี่ยง     กั่ง หง เซี่ย จก เท้ง ปวย เซี้ยง

          อุย เฮี้ยง สิ่ง เล้ง ทงสี่ ไฮ่     เสียะ ซี ฮก เจ๊ก บ่วง มิ้ง เตียม

          เหียง เก็ง หุก เกาะ แจ่ สก สก     เจ็ง เล้ง เหียก สิ่ว ห่วย จวง เงี้ยม

          กิม ซี้ อู้ อี่ ห่ง หุก เสี่ย     จี เซียว เล้า เจี๋ย เยี่ยว เชง เฮียง

          ซำ กุ๋ย กิว ไป่ คึง เค่า เชี่ย     เหี่ยง เทียง เสี่ยง ตี่ เกี้ย เหมี่ยว เฮี้ยง

          ฮก หง่วง ไต่ ชี้ย เทียง จุง กั่ง     อี๋ ตื๋อ เอียว ม้อ เจง สุ่ย เซี้ยง

          กิ้บ กิบ หยู่ หลุก เหลง

          ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อเสือเปิดให้ผู้คนเข้ามาสักการะตั้งแต่เวลา 06.00-17.00 น. ทุกวัน ควรแต่งกายสุภาพ และเพื่อความสะดวกไม่ควรขับรถมา เนื่องจากสถานที่จอดรถมีจำนวนจำกัด

          ใครที่กำลังอยากไปไหว้ขอพรสิ่งดี ๆ ก็ไปที่ศาลเจ้าพ่อเสือกันได้ทุกวันค่ะ กระปุกดอทคอมก็ขออวยพรให้ปีนี้และปีต่อ ๆ ไปเป็นปีทองของทุกคนนะ :)

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก ศาลเจ้าพ่อเสือเสาชิงช้า, dhammathai.org
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลเจ้าพ่อเสือ เสี่ยงเซียมซีศาลเจ้าพ่อเสือและไหว้ขอพร อัปเดตล่าสุด 2 สิงหาคม 2566 เวลา 18:14:30 166,592 อ่าน
TOP
x close