ไหว้พระกรุงเทพฯ
ณ วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ไหน
ประวัติวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
วัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชาวบ้านเรียกว่า “วัดสมอแครง” เล่ากันว่าเพราะมีต้นสมอร่องแร่งมาก บ้างก็สันนิษฐานว่า “สมอ” เพี้ยนมาจากคำว่า “ถมอ” (ถะมอ) เป็นภาษาเขมร แปลว่า “หิน” วัดนี้คงเรียกกันครั้งแรกว่า “ถมอแครง” ซึ่งแปลว่า “หินแกร่ง” สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ต่อมาสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี พระโอรสของสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของรัชกาลที่ 1 (ต้นสกุลมนตรีกุล) ทรงบูรณะต่อ โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษเทเวศร์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (ต้นราชสกุลกุญชร) ทรงอุปถัมภ์ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ พระโอรส ทรงอุปถัมภ์ต่อ หลังจากนั้นเจ้านายผู้สืบสกุลกุญชรให้ความอุปถัมภ์โดยลำดับ ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า “วัดเทวราชกุญชร” โดยคำว่า “เทวราช” แปลว่า “พระอินทร์” มานำหน้าพระนามของพระองค์เจ้ากุญชร ซึ่งแปลว่า “ช้าง” รวมความแล้วแปลว่า “ช้างพระอินทร์” ปัจจุบันกรมศิลปากรจดทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญ
สิ่งที่น่าสนใจในวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
- พระอุโบสถ ถูกสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีรูปทรงคล้ายกับพระอุโบสถวัดพระแก้ว ผนังพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน เหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเหตุการณ์ตอนเหล่าเทพยดามาชุมนุมกัน ภายในประดิษฐาน “พระพุทธเทวราชปฏิมากร” พระพุทธรูปโลหะหล่อลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4.35 เมตร สูงตั้งแต่ทับเกษตรถึงยอดเปลวรัศมี 5.65 เมตร ฝีมือช่างสมัยทวารวดี เป็นองค์ประธาน นิยมถวายผ้าไตรแทนดอกไม้ ธูป เทียน เพราะเชื่อว่าจะสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในการกราบขอพรเป็นเท่าทวีคูณ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
- หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานอยู่ภายในพระมณฑปจตุรมุข อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดแสดงพุทธศิลป์ เช่น พระพุทธรูปเก่าโบราณ และรอยพระพุทธบาทไม้ประดับมุก เป็นต้น ผู้คนนิยมไปกราบไหว้บูชา
- หอพระรัตนตรัย สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร
- ศาลารายสุชาดา สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ใช้เป็นสถานที่สวดมนต์และปฏิบัติธรรม สำหรับพระภิกษุ สามเณร และพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
- ศาลารายเภาลีนา สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ใช้เป็นสถานที่ทำบุญถวายสังฆทานในโอกาสต่าง ๆ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
- พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ทำด้วยทองเหลืองลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตัก 19 นิ้ว สูง 43 นิ้ว จำนวน 9 องค์
- อาคารเทวราชธรรมศาลา อาคารทรงไทยตรีมุข 2 ชั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรัตนโกสินทร์มหาวชิราลงกรณ ขนาดหน้าตัก 19 นิ้ว มาประดิษฐานประจำพระแท่นบุษบกภายในอาคารหลังนี้
- อาคารอเนกประสงค์เฉลิมพระเกียรติ มวก. อาคารทรงปั้นหยาประยุกต์ สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2555 ภายในประดิษฐาน “พระพุทธดาวดึงส์เทวราช” พระยืนปางอุ้มบาตร และ “พระพุทธจักรพรรดิ” พระพุทธรูปโบราณยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
- อาคารเทวราชกุญชร อาคารทรงปั้นหยาประยุกต์ 2 ชั้น มีอายุกว่า 100 ปี ปัจจุบันเป็นอาคารอนุรักษ์
- อาคารเทวราชธรรมสภา อาคารทรงปั้นหยาประยุกต์ มีอายุกว่า 100 ปี ปัจจุบันเป็นอาคารอนุรักษ์
- พิพิธภัณฑ์สักทอง อาคารที่มีลักษณะทรงปั้นหยาประยุกต์ 2 ชั้น ใช้เสาไม้สักทองทั้งหลัง ขนาดเสา 2 คนโอบ มีอายุกว่า 400 ปี ด้านนอกประดิษฐานประติมากรรม “พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ” หล่อสัมฤทธิ์ โดยพระอินทร์ถือเป็นหนึ่งในเทพศักดิ์สิทธิ์ตามคติเทวะมันตรา พยากรณ์ ส่วนภายในจัดแสดงรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งเท่าพระองค์จริงของสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์ และพระอริยสงฆ์ชื่อดังมากมาย นอกจากนี้ยังประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา
คาถาบูชาพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
เอราวะโณ นามะ เทวะราชะกุญชะโร มะหาเตโช โหติ มะหายะโส มะหัพพะโล มะหิทธิโก มะเหสักโข อิมินา สักกาเรนะ ตัง เอราวะณัง นามะ เทวะราชะกุญชะรัง ปูเชมิ ฯ
อธิษฐานขอพร
เอราวะณัสสะ นามะ เทวะราชะกุญชะรัสสะ อานุภาเวนะ สัพพะสิทธิ ภะวะตุ เม ฯ
ด้วยอานุภาพของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ขอความสําเร็จทุกประการ จงมีแก่ข้าพเจ้า ฯ
- องค์เทวราชเนรมิต หรือที่เรียกกันว่า เทพทันใจ วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ประติมากรรมองค์เทวราชเนรมิต ประกาศิตดลใจ ปกเกล้าคุ้มภัย อธิษฐานดั่งใจ สำเร็จสมปรารถนา ความสูง 1.50 เมตร เป็นองค์เทพประจำวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เททองเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 15.19 น. และอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นหน้าอาคารเทวราชธรรมสถิต อาคารทรงปั้นหยาประยุกต์ 3 ชั้น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 09.19 น. ขนาดกว้าง 9.50 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา พ.ศ. 2554
วิธีขอพรองค์เทวราชเนรมิต วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
คาถาบูชาองค์เทวราชเนรมิต
ประกาศิตดลใจ ปกเกล้าคุ้มภัย อธิษฐานดั่งใจสําเร็จสมปรารถนา เทพประจําวัดเทวราชกุญชร
อะหัง วันทามิ เทวะราชะนิมมิตัง
อิจฉิตัง ปัตถิตัง มัยหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ ฯ
จากนั้นนำธนบัตรจำนวน 2 ใบ ม้วนเข้าด้วยกันแล้วสอดเข้าที่มือองค์เทวราชเนรมิต อธิษฐานตามความปรารถนา (เพียง 1 ข้อ) แล้วเอาหน้าผากแตะที่นิ้วชี้องค์เทวราชเนรมิต จากนั้นนำธนบัตรใบหนึ่งใส่ตู้บริจาค ส่วนอีกใบหนึ่งประทับยันต์องค์เทวราชเนรมิตแล้วนำติดตัวกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ปล่อยปลา
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เดินทาง
- รถยนต์ จากทางด่วนยมราช ตรงเข้าถนนพิษณุโลก เมื่อเข้าสู่ถนนพิษณุโลกสามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ
1. จากถนนพิษณุโลก ให้เลี้ยวขวาที่สี่แยกพาณิชยการ เข้าถนนพระราม 5 ให้เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกเข้าสู่ถนนศรีอยุธยา ตรงไปยังวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
2. จากถนนพิษณุโลก ให้เลี้ยวขวาที่แยกมิสกวัน เข้าถนนราชดำเนิน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนศรีอยุธยา ตรงไปยังวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
3. จากถนนพิษณุโลก ให้เลี้ยวขวาที่แยกวังแดง เข้าถนนราชสีมา ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนศรีอยุธยา ตรงไปยังวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ทั้งนี้ ภายในวัดมีที่จอดรถให้
- รถประจำทางที่ผ่าน : สาย 3, 9, 16, 30, 32, 33, 49, 64 และ 65
- ทางเรือ : ขึ้นเรือที่ท่าน้ำเทเวศร์ วัดเทวราชกุญชรวรวิหารจะอยู่ซ้ายมือ
- ที่ตั้ง : เลขที่ 90 ถนนศรีอยุธยา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
- โทรศัพท์ : 0-2281-2430
- Email : watdevaraj@hotmail.com
- Facebook : วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร ออนไลน์
- LINE Official : @watdevaraj
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
บทความ ไหว้พระกรุงเทพมหานคร ที่เกี่ยวข้อง
► สถานที่ไหว้พระกรุงเทพฯ แจกพิกัด 20 วัด ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี
► เปิดลิสต์ 25 วัดดังที่สายมูไม่ควรพลาด ขอพรเรื่องอะไรแล้วปัง ไปดูกัน
ดูดวงไพ่เทวะมันตรา พยากรณ์ และ ไพ่ยิปซี แม่น ๆ เช็กกันที่นี่เลย ดวงชะตาในช่วงนี้ ทั้ง 12 ราศีมีอะไรต้องเจอกันบ้างไม่ว่าจะเรื่องเงินทอง ความรัก หรือสุขภาพ ห้ามพลาด ตรวจสอบลัคนาและราศีเกิดของคุณกันเลย