ชวนไหว้พระธาตุประจำปีมะเส็ง ที่มหาเจดีย์พุทธคยา วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

           ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 2568 ตรงกับปีมะเส็ง หรือปีงูเล็ก ไปไหว้มหาเจดีย์พุทธคยา วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีมะเส็งกัน
           ปีมะโรง (งูใหญ่) ผ่านไป ก็ย่างเข้าสู่ปีมะเส็ง หรือปีงูเล็ก ตามคำเรียกของปีนักษัตร หลายคนจึงอยากเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการไหว้พระทำบุญเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีมะเส็งที่อายุมาบรรจบกันอีกหนึ่งรอบ เพื่อเป็นการสร้างความพิเศษให้ขวบปีนี้เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง จึงนิยมเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีมะเส็ง ที่โพธิบัลลังก์ วิหารมหาโพธิ์เจดีย์ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย อันเป็นปูชนียสถานที่สำคัญมาแต่โบราณ เพราะเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แต่เนื่องจากเป็นสถานที่ที่อยู่ไกลถึงต่างประเทศ จึงอนุโลมให้ไหว้พระเจดีย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งก็คือ มหาเจดีย์พุทธคยา หรือ พระเจดีย์เจ็ดยอด ที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ แทน

มหาเจดีย์พุทธคยา
พระเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด
พระธาตุประจำปีมะเส็ง

วัดเจ็ดยอด ตั้งอยู่ที่ไหน

          วัดเจ็ดยอด หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตามประวัติ ผู้สร้างวัดเจ็ดยอด คือ พระเจ้าติโลกราช แห่งราชวงศ์มังราย โดยโปรดให้สร้างพระอารามชื่อ วัดมหาโพธาราม หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร ซึ่งมาจากการที่มีพระเถระชาวลังกานำต้นศรีมหาโพธิ์จากประเทศศรีลังกามาปลูกในบริเวณนี้ และถือว่าต้นศรีมหาโพธิ์เป็นโพธิบัลลังก์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์

          ในบันทึกยังระบุว่าพระเจ้าติโลกราชโปรดให้ หมื่นด้ามพร้าคต เป็นนายช่างใหญ่แม่กองผู้คุมการก่อสร้างพระเจดีย์หลวง ซึ่งได้ไปจำลองแบบมหาวิหารและสถานที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา 7 แห่ง ที่เรียกว่า สัตตมหาสถานจากประเทศอินเดีย แล้วนำมาก่อสร้าง สัตตมหาสถาน ที่วัดโพธารามแห่งนี้ โดยมีโพธิบัลลังก์ (ต้นศรีมหาโพธิ์) เป็นศูนย์กลาง

พระเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่

           สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดเจ็ดยอด คือ มหาวิหาร หรือ พระเจดีย์เจ็ดยอด หรือ มหาเจดีย์พุทธคยา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช ที่มีรูปทรงและลักษณะโดยทั่วไปคล้ายมหาวิหารพุทธคยาในประเทศอินเดีย มหาวิหารหลังนี้มีโครงสร้างก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งแตกต่างไปจากพระเจดีย์และพระธาตุต่าง ๆ ในล้านนาและเมืองเชียงใหม่ที่สร้างด้วยอิฐ
พระเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

           ที่ฐานของมหาวิหารเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นแบบนูนต่ำและกึ่งลอยตัว เป็นรูปเทวดาในอิริยาบถยืนและนั่ง พนมมือคล้ายกระทำทักษิณาวัฏอยู่รอบผนังมหาวิหาร ถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมปูนปั้นโบราณอันสวยงามคลาสสิกชิ้นสำคัญยิ่งของเมืองเชียงใหม่
ฐานของมหาวิหารพระเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

           ภายในมหาวิหารมีพระประธานหลวงพ่อใหญ่ประดิษฐานอยู่ บนหลังคาของมหาวิหารมีเจดีย์ทั้งหมด 7 องค์ เป็นยอดเจดีย์ 7 ยอด จึงกลายเป็นชื่อวัดที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “วัดเจ็ดยอด” และเรียกมหาวิหารหลังนี้ว่า “เจดีย์เจ็ดยอด”
พระประธานหลวงพ่อใหญ่ พระเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

           ในมหาวิหารยังมีทางขึ้น-ลงเพื่อขึ้นไปสักการะพระเจดีย์ พระเจดีย์องค์ใหญ่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน ส่วนเจดีย์บริวารทั้ง 4 มุมมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ และทางทิศตะวันออกของเจดีย์สี่เหลี่ยมยังมีเจดีย์ทรงระฆังอีก 2 องค์
เจดีย์บริวาร พระเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

           เนื่องจากองค์เจดีย์เจ็ดยอดเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีมะเส็ง ที่ด้านล่างขององค์พระเจดีย์จึงมากไปด้วยรูปปั้นงูเล็ก (ส่วนมากเป็นงูเห่า) ที่มีผู้นำมาถวายแก้บน
รูปปั้นงูเล็กที่คนนิยมนำมาแก้บน พระเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

สิ่งสำคัญอื่น ๆ ในวัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่

           ที่วัดเจ็ดยอดยังมีอีกสิ่งสำคัญคือ สัตตมหาสถาน ซึ่งเป็นการจำลองสถานที่สำคัญเนื่องในพระพุทธประวัติ 7 แห่งมาไว้ในวัดแห่งนี้ ได้แก่ ปฐมโพธิบัลลังก์, อนิมิสเจดีย์, รัตนฆรเจดีย์, มุจจลินทเจดีย์, รัตนจงกลมเจดีย์, อชปาลนิโครธเจดีย์ และราชาตนเจดีย์
ต้นศรีมหาโพธิ์ หรือ โพธิบัลลังก์ วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

           รวมถึงมี พระสถูปเจดีย์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าติโลกราช ซึ่ง พระยอดเชียง พระราชาธิบดีลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นพระราชอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานพระอัฐิพระราชอัยการ คือ พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ หรือสมเด็จพระเจ้าติโลกราช เมื่อ พ.ศ. 2031
พระสถูปเจดีย์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าติโลกราช วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

           นอกจากนี้ที่วัดเจ็ดยอดยังมีองค์พระเจ้าทันใจ ที่บรรดานักท่องเที่ยวสายมูนิยมมากราบไหว้ขอพรกันเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อว่า พระเจ้าทันใจ จะช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ และหนุนส่งให้การงาน การเงิน การค้า เจริญและร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็วทันใจ
พระเจ้าทันใจ วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ ความสำคัญ

          นอกจากความสำคัญในเรื่องคติความเชื่อพระธาตุปีเกิดประจำปีมะเส็งแล้ว วัดเจ็ดยอดยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นหนึ่งในโบราณสถานสำคัญของเชียงใหม่ และยังเป็นสถานที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก เมื่อประมาณ 500 ปีก่อน โดยพระเจ้าติโลกราชโปรดให้มีการทำการสังคายนา ชำระพระไตรปิฎก และอาราธนาพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจากทั่วดินแดนล้านนามาร่วมประชุมทำสังคายนาในครั้งนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมสังคายนาที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งที่ 8 ของโลก (ส่วนใหญ่แล้วการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกจะจัดขึ้นในประเทศอินเดียและศรีลังกา) และใช้ตัวอักษรล้านนาจารึกเป็นภาษาพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรก

ลวดลายปูนปั้นรอบมหาวิหาร วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

ข้อมูลติดต่อ วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่

  • ที่อยู่ : 90 หมู่ 2 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 

  • โทรศัพท์ : 08 2749 7499

  • เฟซบุ๊ก : วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง-Jedyod Royal Temple

  • เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น.

ลวดลายปูนปั้นรอบมหาวิหาร วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

          และนี่ก็คือมนตร์เสน่ห์ของวัดเจ็ดยอด ซึ่งตามคติความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของชาวล้านนาโบราณ ผู้ที่เกิดในปีนักษัตรที่เป็นปีมะเส็ง หรือปีงูเล็ก ให้มากราบสักการะองค์พระเจดีย์เจ็ดยอดที่วัดเจ็ดยอด ซึ่งเชื่อกันว่าจะได้บุญกุศลสูงล้น ส่วนคนที่เกิดปีนักษัตรอื่น ๆ นั้น หากได้มาไหว้องค์พระธาตุเจ็ดยอดในปีนี้ก็เชื่อว่าจะได้บุญกุศลใหญ่เช่นเดียวกัน
 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

แนะนำบทความ ไหว้พระธาตุ เที่ยววัดเชียงใหม่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนไหว้พระธาตุประจำปีมะเส็ง ที่มหาเจดีย์พุทธคยา วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ อัปเดตล่าสุด 8 มกราคม 2568 เวลา 17:55:55
TOP
x close