เรื่องน่ารู้ วัดพระธาตุวาโย จ.ฉะเชิงเทรา ชม มหาเจดีย์สูงตระหง่าน ตามรอยสายมู แห่ไหว้ขอพร ขอโชคลาภจาก หลวงพ่อปลดหนี้
ชวนสายมูทั้งหลายไปเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ กับ วัดพระธาตุวาโย หรือ วัดห้วยน้ำทรัพย์ หนึ่งในวัดจังหวัดฉะเชิงเทรา วัดที่มีทั้งเจดีย์งาม องค์พระสวยใหญ่ รวมไปถึง หลวงพ่อปลดหนี้ ชื่อดัง ที่ผู้คนนิยมไปกราบไหว้ขอพรเรื่องโชคลาภกันอย่างล้นหลามจนแน่นวัด วันนี้เราจะพาทุกคนไปเที่ยวชม วัดพระธาตุวาโย รวมถึงแนะนำวิธีการไหว้ขอพร ขอโชคลาภจาก หลวงพ่อปลดหนี้ กันด้วย
ภาพจาก : YuenSiuTien / Shutterstock.com
ภาพจาก : Rito Succeed / Shutterstock.com
วัดพระธาตุวาโย
ประวัติความเป็นมา
วัดพระธาตุวาโย หรือวัดห้วยน้ำทรัพย์ ที่ชาวบ้านมักจะเรียกกันติดปากว่า วัดวาโย ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เดิมเป็นสำนักสงฆ์ หลังจากนั้นมีชาวบ้านร่วมกันสนับสนุนให้สร้างเป็นวัดขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดยเกิดจากนิมิตของคุณแม่สุจิตรา พานทอง เกี่ยวกับเรื่องเมืองวาโยนคร ว่าในอดีตดินแดนแห่งนี้เคยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ถูกขนานนามว่า วาโยนคร มีท้าวแสนคำฟ้าเป็นเจ้าเมือง นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ดินแดนแห่งนี้ แต่ด้วยภัยธรรมชาติและโรคระบาดครั้งใหญ่ทำให้ดินแดนแห่งนี้สาบสูญไป
หลวงพ่อปลดหนี้
วัดพระธาตุวาโย
สิ่งหนึ่งที่ห้ามพลาดเลยเมื่อมาที่ วัดพระธาตุวาโย คือการได้มากราบสักการะ หลวงพ่อปลดหนี้ พระพุทธรูปปางชนะมาร หรือปางมารวิชัย ที่ตั้งอยู่ภายในวิหารหลวงพ่อปลดหนี้ แม้ว่าจะไม่เคยมีประวัติการสร้างองค์พระพุทธรูปที่แน่ชัด แต่ว่ากันว่ามีมาก่อนที่จะเริ่มสร้างวัดเสียอีก เมื่อเวลาผ่านไปก็มีผู้คนเกิดความศรัทธามากราบไหว้ขอพรกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีความเชื่อกันว่าถ้าใครได้มาขอพรเรื่องที่เกี่ยวกับการปลดหนี้สิน โชคลาภ การทำมาค้าขายต่าง ๆ ก็จะสมหวังดังปรารถนานั่นเอง
ภาพจาก : Tanu4869 / Shutterstock.com
ของไหว้ หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย
ของไหว้ดังกล่าวสามารถซื้อได้ที่วัด หรือจะเตรียมไปเองก็ได้
คาถาบูชา หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
มหาปุญโญ มหาลาโภ ภะวันตุ เม (9 จบ)
ขอให้ข้าพเจ้า (ชื่อ...สกุล...) ประสบแต่ความดี ปราศจากความทุกข์
คำภาวนา หลังจากอธิษฐานเสร็จ
สัจจะ สัจจัง อธิษฐามิ
วิธีขอพร หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย
-
จุดธูปและเทียน จากนั้นปักเทียน
-
ถือธูปและดอกไม้ พนมมือสวดคาถาบูชาหลวงพ่อปลดหนี้ จากนั้นอธิษฐานขอพรด้วยใจที่ตั้งมั่นแน่วแน่ (เคล็ดลับคือ ขอพรหลวงพ่อปลดหนี้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างแน่วแน่ จะเห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจนมากขึ้น)
-
ปักธูป ถวายดอกไม้ และปิดทองคำเปลวที่องค์หลวงพ่อปลดหนี้
-
สำหรับสายเสี่ยงโชค สามารถเสี่ยงทายเลขเด็ดได้ด้วยการล้วงไหมงคล ซึ่งจะมีลูกกลม ๆ พร้อมตัวเลขใส่ไว้ หรือจะเสี่ยงเซียมซีทายดวงก็ได้เช่นกัน
ภาพจาก : phonrat / Shutterstock.com
พระมหาเจดีย์พระธาตุวาโย
หรือ เจดีย์ทรงระฆัง ที่ตั้งอยู่โดดเด่นสวยงาม มีความสูงประมาณ 39 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยลักษณะของเจดีย์จะเป็นทรงระฆังเรียงซ้อนทับกันดูสูงตระหง่าน และลงสีคั่นเป็นแถบ 3 ชั้น ได้แก่ สีทอง สีน้ำเงิน และสีขาว มีขนาดเล็กลดหลั่นกันไป ด้านบนสุดเป็นปล้องไฉน ปลี และปลียอด ตามลำดับ ที่คอระฆังและปากระฆังแต่ละองค์ประดับลวดลายดอกมีความงดงามแปลกตา องค์มหาเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานทรงกระบอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 20 เมตร ทำเป็นซุ้มประตูทางเข้า 4 ทิศ แต่ละประตูมีบันไดพญานาคนำเข้าสู่ตัวเจดีย์ และโดยรอบเจาะเป็นช่องหน้าต่างเรียงราย ตกแต่งด้วยกระเบื้องสีเหลือง สีน้ำเงิน และสีขาว
ภาพจาก : YuenSiuTien / Shutterstock.com
ส่วนภายในองค์เจดีย์เป็นโถงขนาดใหญ่เน้นสีเหลืองทองอร่าม ประดับด้วยลวดลายไทยสวยงาม ตรงกลางมีเสาแกนกลางเจดีย์ และเสารับคานรายล้อมอีก 8 ต้น เสาแต่ละต้นตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักดูอ่อนช้อย เสาแกนกลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางยืน 5 องค์ ประทับยืนหันหน้าออกจากเสา ขอบด้านบนหน้าต่างผนังเจดีย์ จิตรกรรมภาพเขียนสีน้ำมันบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ พระบรมสารีริกธาตุ และ พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระศากยมุนีโคดมพุทธเจ้า (องค์ปัจจุบัน) และ พระอริยเมตไตรยพุทธเจ้า (จะมาตรัสรู้ในอนาคตกาล) อีกทั้งยังมีบทสวดมนต์อันเป็นมงคลต่าง ๆ ให้สวดบูชา หนึ่งในนั้นคือ คาถาบูชาดวงชะตา ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยแก้ดวงตก ทำให้กลับร้ายกลายเป็นดี ทำอะไรก็ราบรื่น ให้ผู้คนที่สัญจรเข้ามาท่องเที่ยวได้เรียนรู้เรื่องราวในพระพุทธศาสนากันอย่างเพลิดเพลิน และมีบันไดให้สามารถเดินขึ้นไปชั้นบน
ภาพจาก : YuenSiuTien / Shutterstock.com
หากเดินขึ้นมาถึงชั้น 2 จะมีลักษณะเป็นโถงขนาดกลาง เสาแต่ละต้นประดับกระเบื้องสีน้ำเงิน ที่เสากลางและคานรับเสาประดับด้วยลวดลายอ่อนช้อย ชั้นนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ มากมาย ทั้งโดยรอบเสาแกนกลางและริมผนังด้านข้าง ชั้นนี้ยังมีหน้าต่างกระจกใสโดยรอบสูงจากพื้นขึ้นมา สามารถมองเห็นวิวอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงได้
ส่วนชั้น 3 เป็นชั้นบนสุดของพระมหาเจดีย์ ชั้นนี้จะเปิดให้ขึ้นไปชมได้เฉพาะวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น ชั้นบนนี้เน้นโทนสีขาวตัดกับลวดลายประดับและองค์พระสีทอง เป็นชั้นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ มากมาย และยังมีหน้าต่างสูงจากพื้นโดยรอบ ได้เห็นทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงในมุมกว้าง
หลวงพ่อใหญ่ประทานพร
พระพุทธรูปองค์ใหญ่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535-2537 องค์พระหน้าตักกว้าง 20 เมตร มีความสูง 29 เมตร ตั้งบนฐานไพทีที่ทำเป็นห้องโถงชั้นล่าง มีลักษณะเหมือนใต้ถุนอาคาร ชั้นบนเป็นองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง การขึ้นไปกราบสักการะจะขึ้นทางบันไดด้านหน้า
อนุสาวรีย์สมเด็จพ่อแสนคำฟ้า
เชื่อกันว่า สมเด็จพ่อแสนคำฟ้า เป็นผู้สร้างเมืองวาโยนครในอดีต ดูแลไพร่ฟ้าประชาชนให้มีความสุขสมบูรณ์กันถ้วนหน้า ต่อมาเมืองวาโยนครได้ถึงกาลสลายลงด้วยภัยธรรมชาติ สมเด็จพ่อแสนคำฟ้า ได้ให้ลูกหลานสร้างเมืองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยเริ่มสร้างจากวัดพระธาตุวาโย และขยายไปเรื่อย ๆ ลูกหลานวาโยจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นี้ไว้เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อกราบระลึกถึงพระคุณของท่าน
พระพุทธไสยาสน์
มีความยาว 20 เมตร ประดิษฐานอยู่ภายในศาลา ใต้ฐานองค์พระบรรจุอัฐิคุณแม่สุจิตรา พานทอง ผู้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างวัด
นอกจากนี้ภายในวัดพระธาตุวาโยยังมีจุดอื่น ๆ ที่น่าสนใจอยู่รอบบริเวณวัด อาทิ องค์พระพิฆเนศ เจ้าแม่กวนอิม และพ่อปู่ท้าวพญาชมภูนาคราช เป็นต้น
การเดินทางไปวัดพระธาตุวาโย
การเดินทางจากกรุงเทพฯ ให้ใช้ถนนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ตรงไปทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ขับผ่านลาดกระบัง ลงถนนทางเข้าจังหวัดฉะเชิงเทรา-บางปะกง ไปจนเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ข้ามแม่น้ำบางปะกง จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอสนามชัยเขต ไม่นานก็จะถึง วัดพระธาตุวาโย
ข้อมูลติดต่อ วัดพระธาตุวาโย
วัดพระธาตุวาโย หรือวัดห้วยน้ำทรัพย์ เดิมเป็นวัดที่เงียบสงบและไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนัก แต่ในปัจจุบันกลับกลายมาเป็นวัดที่มีชื่อเสียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเขตอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีประชาชนเดินทางมากราบไหว้ หลวงพ่อปลดหนี้ เพื่อขอโชคลาภกันเป็นจำนวนมาก เรียกว่าเป็นจุดหมายที่ทั้งสายบุญ สายมู และสายเสี่ยงโชค ต้องมาไหว้พระขอพร เสริมบุญ เสริมดวงกันแล้วล่ะ
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
บทความ วัด ที่เที่ยวฉะเชิงเทรา อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง