ทริปไหว้พระ 9 วัด ฉะเชิงเทรา ที่เที่ยววันหยุดใกล้กรุง

ไหว้พระ 9 วัด ฉะเชิงเทรา

          วันหยุดนี้หากคุณยังไม่มีแพลนไปเที่ยวที่ไหน เราขอแนะนำทริป "ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดฉะเชิงเทรา" หรือที่หลายคนมักเรียกว่าเมืองแปดริ้ว ถือเป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยสวนผลไม้และแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมาย เอาเป็นว่าลองไปดูสิว่ามีวัดไหนให้ไปไหว้พระ 9 วัด กันบ้าง

1. วัดโสธรวรารามวรวิหาร



          เริ่มต้นที่ วัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือวัดหลวงพ่อโสธร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญคือ “หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง อันเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวแปดริ้วและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตามประวัติเล่าว่าเป็นพระพุทธรูปปาฏิหาริย์ลอยทวนน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ สันนิษฐานว่าตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2313 สมัยต้นกรุงธนบุรี แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้จะมีผู้คนต่างมานมัสการปิดทองหลวงพ่อโสธรกันเป็นจำนวนมาก

2. วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่)


ภาพจาก ททท.

          ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร เป็นวัดจีนในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ขยายมาจากวัดเล่งเน่ยยี่ในกรุงเทพฯ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2449 เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ได้ทรงพระราชทานนามวัดว่า “วัดจีนประชาสโมสร” ส่วนชื่อภาษาจีนของวัด คำว่า “ฮก” แปลว่า วาสนา โชคลาภ ความมั่งมีศรีสุข เล้ง หรือ เล่ง หมายถึง มังกร จึงมีผู้เรียกวัดนี้ว่า มังกรวาสนา หรือมังกรแห่งโชค”

          ตามหลักฮวงจุ้ยจีนกล่าวว่าวัดนี้ถือเป็นตำแหน่งท้องมังกร ส่วนตำแหน่งหัวมังกรอยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ จังหวัดกรุงเทพฯ และหางมังกรนั้นอยู่ที่วัดเล่งฮัวยี่ จังหวัดจันทบุรี ทั้งสามตำแหน่งของมังกรพาดผ่านดินแดนของความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เยาวราชดินแดนแห่งการค้าขาย เมืองแปดริ้วดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และจังหวัดจันทบุรีเมืองแห่งอัญมณีพลอย

          ภายในวัดจีนประชาสโมสรมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น ท้าวจัตุโลกบาลขนาดใหญ่ 4 องค์ทำจากกระดาษที่ประตูทางเข้า พระประธาน 3 องค์และองค์ 18 อรหันต์ ทำด้วยกระดาษนำมาจากเมืองจีน รูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่เซ่งเอี้ย) ที่อยู่ด้านขวาขององค์พระประธาน และยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์ตามคติจีน  ระฆังใบใหญ่น้ำหนักกว่า 1 ตัน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ใบในโลกที่รอบระฆังมีอักษรมหาปรัชญาปารมิตราสูตร ถือกันว่าผู้ได้ใดตีระฆังก็เหมือนกับการสวดมนต์ซึ่งได้บุญกุศล นอกจากนี้ยังมีวิหารศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เช่น วิหารบูรพาจารย์ วิหารเจ้าแม่กวนอิม แกะสลักจากรากไม้ทั้งต้นอายุประมาณ 100 ปี วิหารตี่จั๊งอ๊วง สระนทีสวรรค์และพญามังกร เป็นต้น

          วิธีสักการะพญามังกร

          1. ให้ลูบหัวมังกรลง 3 ครั้ง แล้วอธิษฐานขอเกี่ยวกับสติปัญญาและหน้าที่การงาน

          2. ให้ลูบลำตัวของมังกรขึ้นตามเกล็ดของมังกร 3 ครั้ง แล้วอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพร่างกาย

          3. ให้ลูบหางมังกรขึ้นตามเกร็ดของมังกร 3 ครั้ง แล้วอธิษฐานเกี่ยวกับอนาคต

          สำคัญมาก !! ห้ามเด็ดขาด : ห้ามจับหรือแตะต้องหนวดมังกรโดยเด็ดขาด เพราะคนจีนเชื่อว่ามังกรจะหมดอิทธิฤทธิ์และจะขออะไรไม่ได้ดังหวัง

3. วัดโพธิ์บางคล้า

         
ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 23 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2310-2325 สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นศิลปะอยุธยากับรัตนโกสินทร์ พระวิหารจัตุรมุข ก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องเกล็ดเต่าทำจากดินเผา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ บริเวณวัดจะเห็นค้างคาวแม่ไก่เกาะอยู่ตามต้นไม้ (หากล่องเรือชมทัศนียภาพตามลำน้ำบางปะกงจะผ่านวัดนี้ นักท่องเที่ยวสามารถแวะขึ้นชมวัดได้จากท่าน้ำของวัด)


          ในปี พ.ศ. 2485 มีผู้ใจบุญได้ซ่อมหลังคาใหม่ โดยมุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่าเคลือบสี หน้าบันจั่วทิศตะวันตก เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประดับด้วยลายเครือเถาหน้าบัน จั่วด้านประตูปั้นเป็นรูปดอกบัว 5 ดอก ประดับแจกัน หลังคาประดับด้วยช่อฟ้ารูปหัวพญานาค มีใบระกา และต่อมาหลังคาและนาคปั้นก็เกิดความชำรุดเสียหายอีก ทางอำเภอบางคล้าได้ร่วมกับประชาชนบริจาคทรัพย์เพื่อช่วยซ่อมแซมขึ้นในปี พ.ศ. 2541 เป็นการอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้เพื่อเป็นมรดกของชาติ โดยได้ทำการซ่อมหลังคาโครงสร้างใหม่หมด ตั้งเสาเสริมความเข้มแข็ง 4 ด้าน รวม 8 ด้าน ฉาบผนังภายในโดยก่ออิฐฉาบปูนทุกด้าน  เปลี่ยนฝ้าเพดาน เปลี่ยนโคมไฟ ปูพื้นใหม่ด้วยหินอ่อน และปูศิลาแลงโดยรอบวิหารทั้ง 4 ด้าน และทางวัดได้ดำเนินการประดับตกแต่งเครื่องบนตัวนาคและลวดลายหน้าบัน เพื่อทรงคุณค่าทางศิลปกรรมและมรดกทางวัฒนธรรม

4. วัดสมานรัตนาราม

วัดสมานรัตนาราม

          วัดสมานรัตนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีองค์พระพิฆเนศวรปางนอนเสวยสุข ซึ่งถือเป็นปางนอนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยให้ได้ไปกราบไหว้ อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ ฐานพิฆเนศองค์ใหญ่จะมีพระพิฆเนศทั้ง 32 ปาง ประดิษฐานอยู่ เพื่อให้ผู้คนกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วัดสมานรัตนารา (ใหม่ขุนสมาน) ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 081-983 0400 หรือที่เว็บไซต์ วัดสมานรัตนาราม

5. วัดชมโพธยาราม


ภาพจาก ททท.

          เป็นวัดแห่งเดียวในจังหวัดฉะเชิงเทราที่มีการก่อสร้างสังเวชนียสถานให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการครบทั้ง 4 ตำบล สำหรับสังเวชนียสถานคือสถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช โดยเมื่อดูแล้วทำให้จิตหันมาคิดถึงสิ่งที่ดีงาม เกิดความไม่ประมาท และเพียรพยายามทำสิ่งที่ดีงาม โดยมี 4 แห่ง คือ

          1. สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ สถานที่แห่งนี้เป็นอุทยานเรียกว่า “ลุมพินี” ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล

          2. พุทธคยาเจดีย์ตรัสรู้ เป็นเจดีย์สีเหลืองทอง สามารถเห็นได้แต่ไกล สถานที่จริงปัจจุบันตั้งอยู่ที่เมืองปัตนะ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

          3. เจดีย์ปฐมเทศนา จำลองเหมือนจริงเจดีย์เป็นรูปทรงตัวโอคว่ำหรือบาตรคว่ำ เรียกว่า ธัมเมกขสถูป เป็นสถานที่แสดงธรรม เรียกว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตร สถานที่จริงปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลสารนาถ เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย

          4. สถานที่ปรินิพพาน สร้างเป็นอาคารโดมขนาดใหญ่ ภายในเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ สถานที่จริงปัจจุบันตั้งอยู่ที่เมืองกาเซีย รัฐอุตตร ประเทศอินเดีย
 
6. วัดอุภัยภาติการาม (วัดซำปอกง)


ภาพจาก ททท.

          ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง บนถนนศุภกิจ ใกล้กับตลาดบ้านใหม่ เดิมเป็นวัดจีนแต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในลัทธิมหายาน ภายในวัดมีวิหารลักษณะเหมือนศาลเจ้า เป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อโต (พระไตรรัตนนายก) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า เจ้าพ่อซำปอกง ซึ่งในประเทศไทยมีเพียง 3 องค์เท่านั้น ประดิษฐานอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร (ฝั่งธนบุรี) จังหวัดกรุงเทพฯ วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดอุภัยภาติการาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุกวันเสาร์และอาทิตย์จะมีนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน มานมัสการอยู่เป็นประจำ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วัดอุภัยภาติการาม

7. เจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ (มูลนิธิสว่างศรัทธาธรรม)


ภาพจาก ททท.

          ประดิษฐานอยู่ที่สมาคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา (หน่วยกู้ภัยฉะเชิงเทรา) ถนนศุภกิจ ตำบลหน้าเมือง เป็นรูปยืนองค์ลอย สูงประมาณ 119 เซนติเมตร น้ำหนัก 40 กิโลกรัม ทำจากซีนีก้า เมื่อปี พ.ศ. 2540 ด้านในหล่อเต็มองค์ เนื้อองค์สีออกเหลือง ในมือของเจ้าแม่กวนอิมถือคัมภีร์ กล่าวได้ว่าเป็นปางถือคัมภีร์ โปรดสั่งสอนมนุษย์ทุกชนชั้นวรรณะ มีผู้พบลอยน้ำมาติดฝั่งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ชาวแปดริ้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งนี้ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสเดินทางไปสักการะเป็นประจำ

8. วัดพยัคฆอินทาราม (วัดเจดีย์)


ภาพจาก ททท.

          ตั้งอยู่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จากหลักฐานจารึกแผ่นเงินที่พบบริเวณรอยแตกตรงคอระฆังของเจดีย์องค์ใหญ่ภายในวัด ทำให้ทราบว่าวัดนี้สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย นายเสือ หรือพระเกรียงไกรกระบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา กับภรรยาชื่ออิน แรกเริ่มสร้างเจดีย์ก่อนเมื่อปีพ.ศ. 2416 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2418 ส่วนวัดนั้นสร้างเสร็จภายหลังในราวปี พ.ศ. 2424 นับว่าเป็นวัดเก่าแก่ ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2525 สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ เจดีย์องค์ใหญ่ 1 องค์ เจดีย์องค์เล็ก 2 องค์ วิหารพระพุทธบาท อุโบสถ และหอระฆัง

8. วัดเขาดิน




          วัดเขาดิน ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง เดิมชื่อวัดปัฎฐวีปัพพตาราม เป็นชื่อทางทะเบียนคณะสงฆ์ ชาวบ้านทั่วไปจะเรียกว่า วัดเขาดิน วัดแห่งนี้ได้รับอนุญาตให้เป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2470 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนภูเขาเล็ก ๆ แห่งเดียวในอำเภอบางปะกง (ตั้งอยู่ข้างถนนมอเตอร์เวย์) ห่างถนนประมาณ 500 เมตร ในเนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา รวมทั้งภูเขาด้วย ซึ่งถือเป็นวัดที่มีธรรมชาติสวยงามแห่งหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ยังคงสภาพของธรรมชาติ คือป่าไม้ ภูเขา หิน ตามธรรมชาติที่สวยงามมาก และส่วนราชการได้ประกาศให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของอำเภอบางปะกง และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ขึ้นทะเบียนจัดเป็นสำนักงานปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ประจำอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. 2546

          ภายในวัดเขาดินจะประกอบด้วย พระอุโบสถ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องกว้าง มีรั้วกันพร้อมกระจก สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางวัดจัดขึ้น ชั้นบนเป็นพระอุโบสถสำหรับพระสงฆ์ทำกิจของสงฆ์, พระมหาธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนม์พรรษา ขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 27 เมตร สูง 39 เมตร เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2540 ทรงระฆังคว่ำ เป็นอาคาร 3 ชั้น สำหรับใช้ประโยชน์ต่าง ๆ, มณฑปเก่า ปัจจุบันได้รับการบูรณะแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นอนุสรณ์สถานที่พักกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

          อาคารยานภัณฑ์ศรัทธา ชั้นล่างประดิษฐานพระพุทธอภัยทาน เปิดให้ประชาชนได้เข้าสักการะกราบไหว้ ชั้นที่สองประดิษฐานองค์หลวงพ่อพุทธโสธรจำลอง องค์ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร 9 นิ้ว ขนาดความสูงพร้อมฐาน 20 เมตร เพื่อประดิษฐานบนยอดเขาให้พุทธศาสนิกชนผู้ที่มีความศรัทธาได้มากราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล, ถ้ำ เชื่อกันว่าเป็นถ้ำที่พระเจ้าตากสินมหาราช ใช้พักทัพเมื่อเดินทางผ่านมา  ปัจจุบันภายในถ้ำยังสามารถลงไปได้ ทางวัดติดไฟให้ความสว่างตลอดทาง และศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เป็นศาลที่ศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านแถวนี้ให้ความเคารพนับถือมาก

9. วัดสัมปทวนนอก


ภาพจาก ททท.

          ตั้งอยู่ที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ที่นี่มีภาพปูนปั้นเล่าเรื่องความเป็นมาของชาวฉะเชิงเทรา ผู้ที่ดำริเรื่องนี้คือ ท่านเจ้าอาวาสวัดสัมปทวน พระพุทธิรังสีมุนีวงศ์ (ฮ้อ) ที่สร้างพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2479 แต่มาแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2496 ระหว่างนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การก่อสร้างจึงต้องชะงักไปช่วงหนึ่ง เพราะวัสดุการก่อสร้างราคาแพง ภาพปูนปั้นที่เล่าเรื่องเมืองฉะเชิงเทรานี้อยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถ บอกเล่าสภาพพื้นที่ของเมืองฉะเชิงเทรา บริเวณหมู่บ้านที่สร้างวัด ตลอดจนสภาพชีวิตของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เช่น การตั้งบ้านเรือน การแต่งกาย การคมนาคม เครื่องมือเครื่องใช้ และการดำรงชีวิตประจำวัน ฯลฯ

          ช่างปั้นคือ นายเซียนกี่ แซ่โหง้ว กับลูก ๆ อีก 4 คนเป็นผู้ช่วย ปั้นรูปตามที่พระพุทธิรังสีมุนีวงศ์บอกเล่าด้วยปากเปล่า โดยไม่มีการเขียนแบบให้ดูแต่อย่างใด อาจารย์อิงตะวัน แพลูกอินทร์ ได้ทำประวัติของวัดนี้เอาไว้ในรายงานการวิจัยเรื่องภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวเมืองฉะเชิงเทราในช่วง 150 ปี : รัตนโกสินทร์ กรณีศึกษารูปปูนปั้นวัดสัมปทวน โดยจะสรุปย่อมาดังนี้

          พ.ศ. 2313 หลังกรุงแตก นายอยู่ กับนายอิน ชักชวนชาวบ้านสร้างวัดชื่อวัดสัมปทวร (ใน) เดิมชื่อวัดสวนพริก แล้วทั้งสองคนก็บวชเป็นพระ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนั้น ต่อมาพระภิกษุอินได้แยกออกมาสร้างวัดสัมปทวน (นอก) หรือวัดสวนพริก (นอก) ที่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง เหตุที่เรียกว่าวัดสัมปทวนนั้น ชาวบ้านมีเรื่องเล่าอยู่ว่า อดีตมีพระพี่น้องสามองค์ ได้แก่ หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ ได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยมาตามน้ำจากทิศเหนือ (ล้านนา) ลงสู่ทิศใต้ แล้วมาผุดที่แม่น้ำบางปะกงบริเวณบ้านสวนพริก ทั้งสามองค์แสดงอภินิหารโดยการลอยทวนน้ำทั้งสามองค์ ชาวบ้านพยายามจะดึงขึ้นจากน้ำแต่ไม่สำเร็จพระทั้งสามองค์ก็จมน้ำหายไป จากนั้นชาวบ้านจึงเรียกบ้านสวนพริกบริเวณที่พระทั้งสามองค์ลอยทวนน้ำว่า บ้านสามพระทวน ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็นบ้านและวัดสัมปทวนดังปัจจุบัน

          จังหวัดฉะเชิงเทราอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ถึง 100 กิโลเมตร จึงเป็นอีกจังหวัดที่น่าเที่ยว น่าชม เพราะที่นี่ยังมีของดีซุกซ่อนอยู่มากมายชนิดที่หลายคนก็คาดไม่ถึง


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทริปไหว้พระ 9 วัด ฉะเชิงเทรา ที่เที่ยววันหยุดใกล้กรุง อัปเดตล่าสุด 20 กันยายน 2566 เวลา 17:46:28 254,771 อ่าน
TOP
x close