บอกพิกัดสถานที่ไหว้พระประจําวันเกิดทั้ง 7 วัน ชวนเดินทางท่องเที่ยว ทำบุญ ตระเวนไหว้พระขอพรรับสิริมงคล
การไหว้พระประจําวันเกิด เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนมักทำอยู่เสมอ เพื่อสักการบูชาและขอพรในเรื่องต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ใครหลายคนศรัทธา และสำหรับคนที่กำลังมองหาสถานที่สำหรับไหว้พระเสริมดวงประจำวันเกิด เพื่อเสริมสร้างสิริมงคลให้แก่ชีวิต วันนี้เราได้รวบรวมพระประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน และสถานที่สำหรับเดินทางไปกราบไหว้ขอพรขอโชคลาภตรวจหวยมาแบ่งปันกัน เริ่มที่…
ไหว้พระประจําวันเกิด วันอาทิตย์
พระประจำวันอาทิตย์ ได้แก่ ปางถวายเนตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในพระอาการสังวรทอดพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ์
สถานที่สำหรับไหว้พระขอพร
- วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐานพระพุทธรูปรูปปางถวายเนตร ในเก๋งจีน บริเวณสัตตมหาสถาน
- วัดกษัตราธิราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตร ภายในพระวิหารด้านซ้าย (ใกล้ ๆ กันเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร)
- วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร จังหวัดสมุทรปราการ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตร บริเวณซุ้มหน้าพระวิหาร
- วัดเกริ่นกฐิน จังหวัดลพบุรี ประดิษฐาน “พระพุทธกตัญญู” บนอุทยานสถานปฏิบัติธรรม มีความสูง 19 เมตร
ไหว้พระประจําวันเกิด วันจันทร์
พระประจำวันจันทร์ ได้แก่ ปางห้ามพยาธิ, ปางห้ามญาติ และปางห้ามสมุทร โดยปางห้ามพยาธิ และปางห้ามญาติ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) แบฝ่าพระหัตถ์ตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม และปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าเสมอพระอุระ เป็นกิริยาห้ามเช่นกัน
สถานที่สำหรับไหว้พระขอพร
- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ ภายในพระอุโบสถบริเวณด้านหน้าฐานชุกชีจะประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง ปางห้ามสมุทร 2 องค์ สูง 3 เมตร นามว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ “พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย”
- วัดเขาตะเกียบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรองค์ใหญ่ หันหน้าออกสู่ทะเล
- วัดเขาพุทธโคดม จังหวัดชลบุรี ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ประทานพร ณ ยอดเขา
- วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ประดิษฐาน “พระพิงเสาดั้ง” พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร ภายในพระวิหารทับเกษตร (ด้านทิศตะวันออก)
- วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ประดิษฐาน “พระพุทธรูปทรงเครื่องเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา ทางห้ามสมุทร” ในวิหารท้ายจรนำ พระวิหารพระธรรมศาลา
- วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ประดิษฐาน “พระอัฏฐารส” พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ความสูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช
- วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติขนาดใหญ่ภายในพระวิหาร
- วัดเครือวัลย์วรวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ
- วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ภายในพระวิหารประดิษฐาน “พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะสุโขทัยตอนต้น หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์
- วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ประดิษฐาน “พระอัฏฐารส” พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ เป็นพระพุทธปฏิมาประธาน ในพระวิหารหลวง
ไหว้พระประจําวันเกิด วันอังคาร
พระประจำวันอังคาร ได้แก่ ปางโปรดอสุรินทราหู หรือปางไสยาสน์ หรือปางปรินิพพาน พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้)
สถานที่สำหรับไหว้พระขอพร
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐานในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง มีลักษณะงดงาม โดยเฉพาะศิลปะการประดับมุกที่ฝ่าพระบาท
- วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐานอยู่ ณ ห้องประชุมตึกไชยันต์ บนชั้น 6 ของอาคารไชยันต์ ในโรงเรียนวัดราชาธิวาส งดงามด้วยศิลปะประยุกต์แบบกรีก เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด พระพักตร์หลับนิ่งสงบ
- วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร กรุงเทพฯ วัดหลวงเก่าแก่ ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
- วัดราษฎร์ประคองธรรม จังหวัดนนทบุรี โดดเด่นด้วย "หลวงพ่อพระนอน" องค์พระพุทธไสยาสน์ ความยาว 32 เมตร ขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัด เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บารมีวัดมาช้านาน
- วัดโปรดเกศเชษฐาราม จังหวัดสมุทรปราการ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปที่สลักเสลาพระพักตร์เต็มไปด้วยเส้นสายคดโค้ง อันเปี่ยมด้วยเมตตาและสงบนิ่ง
- วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระนอนในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหาร
- วัดพระพุทธไสยาสน์ จังหวัดเพชรบุรี ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์อายุกว่า 400 ปี
- วัดโลกยสุธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ทรงเครื่ององค์ใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ของอยุธยา ก่ออิฐถือปูน ที่พระเศียรมีดอกบัวรองรับ พระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก นิ้วพระบาทยาวเท่ากัน
- วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ สร้างขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อใช้เป็นที่สักการบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน
- วัดขุนอินทประมูล จังหวัดอ่างทอง ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศ มีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม แลดูสงบเยือกเย็น
- วัดป่าโมกวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์พระนอนองค์ใหญ่ ลงรักปิดทองทั้งองค์ ส่วนพระพักตร์หล่อด้วยโลหะปิดทองด้วยเช่นกัน
- วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร จังหวัดสิงห์บุรี ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน "พระนอนจักรสีห์" พระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ งดงามด้วยพุทธลักษณะแบบสุโขทัย
- วัดพระนอน จังหวัดสุพรรณบุรี ภายในมีพระพุทธไสยาสน์สลักจากหิน เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในลักษณะนอนหงาย ยาวประมาณ 2 เมตร คล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
- วัดป่าประดู่ จังหวัดระยอง ประดิษฐานพระพุทธรูปนอนตะแคงซ้าย เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่แปลกที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 11.95 เมตร สูง 3.60 เมตร
- วัดไผ่ล้อม จังหวัดจันทบุรี ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ งดงามด้วยวัสดุปูนปั้นปิดทอง
- วัดธรรมจักรเสมาราม จังหวัดนครราชสีมา ประดิษฐานพระนอนหินทรายที่มีอายุกว่า 1,300 ปี ก่อด้วยหินทรายที่มีความเก่าแก่ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางเสด็จปรินิพพานแบบทวารวดี พระพักตร์ใช้หินทรายแดง 4 ก้อนวางประกอบซ้อนกัน แล้วจึงสลักเป็นรูปวงพระพักตร์ นับเป็นศิลปวัตถุที่มีคุณค่า
- วัดพระนอน จังหวัดแพร่ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ นับเป็นโบราณสถานอันงดงาม
- วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี จังหวัดแพร่ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ เป็นพระพุทธศิลป์แบบเมียนมา ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าวัด
- วัดพระนอนหนองผึ้ง จังหวัดเชียงใหม่ ภายในพระวิหารประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่ของเวียงกุมกาม ที่ปรากฏหลักฐานเหลืออยู่เพียงองค์เดียว
- วัดพระนอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบเมียนมา
ไหว้พระประจําวันเกิด วันพุธ
ผู้ที่เกิดวันพุธกลางวัน : พระประจำวันพุธ (กลางวัน) ได้แก่ ปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอว
สถานที่สำหรับไหว้พระขอพร
- วัดอินทรวิหาร กรุงเทพฯ พระอารามหลวงที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” (พระศรีอริยเมตไตรย) พระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรองค์ใหญ่
- วัดกลางคลองข่อย จังหวัดราชบุรี ประดิษฐานพระยืนปางอุ้มบาตร เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้จัดสร้างขึ้น
- วัดช่องลม จังหวัดราชบุรี ประดิษฐาน “หลวงพ่อแก่นจันทน์” พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร สร้างด้วยโลหะทองคำสัมฤทธิ์ ส่วนล่างแกะสลักจากไม้จันทน์ซึ่งเป็นไม้เนื้อหอม สูงประมาณ 2.26 เมตร
- วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม) ประดิษฐาน “หลวงพ่อบ้านแหลม” พระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร สูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร หล่อด้วยทองเหลืองปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ
- วัดกัลยาณบรรพต (เขาเลี้ยว) จังหวัดสระบุรี ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร ขนาดสูง 9 ศอก 9 นิ้ว
- วัดโพกรวม จังหวัดสิงห์บุรี ประดิษฐานพระยืนปางอุ้มบาตรองค์ใหญ่ ขนาด 30 ศอก สง่างามด้วยสีเหลืองทองอร่ามทั้งองค์
- วัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่ ภายในวิหารหลังเล็กประดิษฐาน “พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร” 1 ใน 5 พระพุทธรูปที่พญามังรายทรงปั้น มีอายุประมาณ 700 ปี
- วัดท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่ ประดิษฐาน “พระอิ่มตลอดกาล” พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เป็นพระหล่อสัมฤทธิ์ สูง 9 เมตร ประทับยืนเด่นสง่า
ผู้ที่เกิดวันพุธกลางคืน : พระประจำวันพุธ (กลางคืน) ได้แก่ ปางป่าเลไลยก์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระขนุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงาย นิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย
สถานที่สำหรับไหว้พระขอพร
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “พระพุทธปาลิไลย ภิรัติไตรวิเวก เอกจาริกสมาจาร วิมุตติญาณบพิตร” พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ อยู่ในพระวิหารด้านทิศเหนือ
- วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ เป็นพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถ
- วัดบางขุนเทียนใน กรุงเทพฯ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์เป็นพระประธาน
- วัดใหม่ทองเสน กรุงเทพฯ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ จำลองมาจากองค์จริงที่จังหวัดสุพรรณบุรี
- วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโตปางป่าเลไลยก์” เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ องค์พระสูง 23.46 เมตร รอบองค์ 11.20 เมตร
- วัดป่าประดู่ จังหวัดระยอง ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ที่มีความสูง 6.02 เมตร
ไหว้พระประจําวันเกิด วันพฤหัสบดี
พระประจำวันพฤหัสบดี ได้แก่ ปางสมาธิ หรือปางตรัสรู้ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย
สถานที่สำหรับไหว้พระขอพร
- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” (พระแก้วมรกต) เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย
- วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “หลวงพ่อยิ้มรับฟ้า” พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอกเศษ
- วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “พระพุทธอังคีรส” พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิทรงผ้ากลีบ ศิลปะรัตนโกสินทร์
- วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “พระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร” พระประธานในพระอุโบสถ ภายใต้ฉัตรแก้วเหนือฐานชุกชี 5 ชั้น ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ตราผ้าทิพย์
- วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระประธาน” พระพุทธรูปปางสมาธิที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา
- วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร (วัดศาลาสี่หน้า) กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “พระพุทธเทวนฤมิตพิชิตมาร” พระพุทธรูปปางสมาธิภายในอุโบสถ
- วัดใหญ่สว่างอารมณ์ จังหวัดนนทบุรี ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 4 ศอก ทำจากศิลาแลง
- วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประดิษฐาน “หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ
- วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระพุทธโสธร” พระพุทธรูปปางสมาธิสมัยล้านนา หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก
- วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง ประดิษฐาน “พระมหาพุทธพิมพ์” พระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํงสี)
- วัดพะเยาว์ จังหวัดสระบุรี สถานที่ประดิษฐาน “พระพุทธรูปทองคำ” เป็นประติมากรรมของกรุงศรีอยุธยาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน มีหน้าตักกว้าง 110 เซนติเมตร สูง 170 เซนติเมตร
- วัดสารภี จังหวัดสุพรรณบุรี ประดิษฐาน “พระพุทธมุณีศรีมงคล” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” พระพุทธรูปปางสมาธิอายุกว่า 100 ปี
- วัดพระแก้ว (วัดพระหยก) จังหวัดเชียงราย ประดิษฐาน “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” หรือ “พระหยกเชียงราย”
ไหว้พระประจําวันเกิด วันศุกร์
พระประจำวันศุกร์ ได้แก่ ปางรำพึง พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
สถานที่สำหรับไหว้พระขอพร
- วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐานพระประธานปางรำพึงบนฐานชุกชี ภายในศาลาการเปรียญ
- วัดถนนสุทธาราม จังหวัดอ่างทอง ประดิษฐาน “หลวงพ่อรำพึง” พระพุทธรูปปางรำพึงแกะสลักด้วยไม้ สูง 2 เมตร มีอายุกว่า 300 ปี
- วัดรัตนคีรี จังหวัดสระแก้ว ประดิษฐานพระยืนเป็นพระพุทธรูปปางรำพึง สูง 20 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516
- วัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง บริเวณผนังด้านนอกหลังพระอุโบสถ
ไหว้พระประจําวันเกิด วันเสาร์
พระประจำวันเสาร์ ได้แก่ ปางนาคปรก พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์ และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร
สถานที่สำหรับไหว้พระขอพร
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “พระพุทธชินศรีมุนีนาถ” หรือ “พระนาคปรก” เป็นพระประธาน ภายในพระวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า
- วัดเศวตฉัตร กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “พระพุทธอังคีรสมุนีนารถอุรคอาสน์อำไพ” พระประธานปางนาคปรกในพระอุโบสถ
- วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “หลวงพ่อนาค” พระศิลาปางนาคปรก ศิลปะลพบุรี ได้อัญเชิญมาจากจังหวัดลพบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 6
- โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช” พระพุทธรูปประจำพระราชวังพญาไท และตั้งอยู่ใกล้กับท้าวหิรัญพนาสูร
- วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “พระพุทธติสสะมงคลมุจลินท์”
- วัดนาคปรก กรุงเทพฯ ประดิษฐาน “หลวงพ่อนาคปรก” เป็นพระประธานในวิหาร
- วัดแดงธรรมชาติ จังหวัดนนทบุรี สถานที่ประดิษฐานพระปางนาคปรกองค์ใหญ่ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา
- วัดบางขันแตก จังหวัดสมุทรสงคราม ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระพุทธชัยสิทธิ์” (หลวงพ่อหิน) พระพุทธรูปนาคปรก แกะสลักด้วยหินทราย เป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยลพบุรี
- วัดคีรีวัน จังหวัดนครนายก ประดิษฐาน “หลวงพ่อโพธิ์ 1,000 ปี” เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกแกะจากไม้ต้นโพธิ์
- วัดปู่บัว จังหวัดสุพรรณบุรี ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางนั่งสมาธิบนขนดพญานาค 3 ชั้น มีเศียรพญานาค 7 เศียร ศิลปะเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18
- วัดสังกระต่าย จังหวัดอ่างทอง ประดิษฐาน “หลวงพ่อแก่น” มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมรอบโบสถ์ 4 ต้น
- วัดธรรมสถิต จังหวัดระยอง ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกองค์ใหญ่ วัดนี้เป็นวัดปฏิบัติสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
- วัดทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ประดิษฐาน “หลวงพ่อศิลา” พระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรกที่งดงาม
- วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์ใหญ่ เศียรของพญานาคมี 7 เศียร แสดงถึงมรรคทั้ง 7
- วัดถ้ำผาแด่น จังหวัดสกลนคร ประดิษฐาน “พระพุทธมหาราชานาคาบรีรักษ์” พระปางนาคปรกองค์ใหญ่ ขนาดลำตัว 1.68 เมคร ความสูง 19 เมตร และความยาว 139 เมตร
- วัดศรีคุณเมือง จังหวัดเลย ประดิษฐานพระพุทธปางนาคปรก 9 เศียร ภายในพระอุโบสถ
- วัดราษฎร์อุปถัมภ์ (วัดบางเหรียง) จังหวัดพังงา ประดิษฐาน “พระพุทธอัฐิมงคลชัยนาคปรก” องค์ใหญ่
- วัดสามัคคีบุญญาราม จังหวัดลำปาง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 9.99 เมตร ความสูง 28 เมตร ตั้งอยู่บนเขาสูงดอยพระบาท
นี่เป็นสถานที่ไหว้พระประจําวันเกิดเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เรานำมาแนะนำ เพื่อน ๆ มีที่ไหนที่ไปสักการบูชาเป็นประจำ แชร์ข้อมูลให้เพื่อน ๆ รับทราบกันด้วยนะ
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก
thai.tourismthailand.org, onab.go.th, watpamahachai.net, pra9wat.com, suphan.biz, phyathaipalace.org, traveleastthailand.com
thai.tourismthailand.org, onab.go.th, watpamahachai.net, pra9wat.com, suphan.biz, phyathaipalace.org, traveleastthailand.com