x close

วัดพระแก้ว วัดคู่บ้านคู่เมืองไทย ชวนไหว้พระขอพร พร้อมแนะนำเรื่องน่ารู้ต่าง ๆ

          พาเที่ยววัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แนะนำสิ่งน่าสนใจภายในวัด พร้อมทั้งกฎระเบียบการเข้าชมต่าง ๆ

          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันว่า วัดพระแก้ว พระอารามหลวงชั้นพิเศษ ที่ตั้งอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐาน พระมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต รวมถึงใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ เราจึงอยากจะพาไปทำความรู้จักกับวัดพระแก้วให้มากขึ้นกัน

วัดพระแก้ว

ประวัติวัดพระแก้ว

          พระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชนิเวศน์แห่งแรกในกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2325 บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระราชวังเดิมของกรุงธนบุรี โดยโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ และ พระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองในการก่อสร้าง และในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325 เวลา 6 นาฬิกา 24 นาที พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากพระราชวังกรุงธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังพระบรมมหาราชวัง ทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก และเฉลิมพระราชมณเฑียร แต่เดิมมีเนื้อที่ 132 ไร่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงให้ขยายเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 20 ไร่ 2 งาน รวมมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 152 ไร่ 2 งาน

วัดพระแก้ว

          โดยแบ่งเขตออกเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง เขตพระราชฐานชั้นใน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โดยได้ทำการสร้างวัดพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวัง ตามประเพณีการสร้างวัดภายในเขตพระราชวังที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ความแตกต่างจากวัดทั่วไป คือ มีเฉพาะเขตพุทธาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เป็นวัดสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี



สิ่งน่าสนใจในวัดพระแก้ว


          ภายในวัดพระแก้วมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบเป็นจำนวนมาก จึงขอแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม ตามตำแหน่งและความสำคัญ

          กลุ่มพระอุโบสถ : เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด มี "พระอุโบสถ" เป็นอาคารประธาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิ์ธาตุพิมาน หอราชพงศานุสรณ์ หอราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง หอพระคันธารราษฎร์

          สำหรับพระอุโบสถตั้งอยู่ส่วนกลางของวัด มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมารวม 8 ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2326 ก่อนจะสำเร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. 2328 ส่วนหลักฐานการก่อสร้างและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถไม่ชัดเจนนัก นอกจากบ่งไว้ว่าฝาผนังรอบนอกเป็นลายรดน้ำปิดทองรูปกระหนกเครือแย่งทรงข้าวบิณฑ์ดอกในบนพื้นสีชาด ฝาผนังด้านในเหนือประตูสกัดเป็นภาพเรื่องมารวิชัยและเรื่องไตรภูมิ ฝาผนังด้านยาวเขียนภาพเทพชุมนุมตามแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา ฝาผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเรื่องปฐมสมโพธิ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ซึ่งปรากฏว่ามีการแก้ไขในรัชกาลที่ 3 และ 4 ดังจะเห็นได้ในปัจจุบัน ภายในพระอุโบสถได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามตั้งแต่เพดานถึงพื้น กลางห้องประดิษฐาน พระแก้วมรกต ในบุษบกทองคำ พร้อมด้วยพระพุทธรูปสำคัญมากมาย

วัดพระแก้ว

          กลุ่มฐานไพที : กลุ่มอาคารบริเวณฐานไพที มีอาคารหลัก 3 หลัง คือ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ และวัตถุประดับตกแต่งอื่น ๆ เช่น รูปปั้นสัตว์หิมพานต์ บุษบกพระราชลัญจกร นครวัดจำลอง พระสุวรรณเจดีย์ และพนมหมาก

วัดพระแก้ว

          กลุ่มอาคารและสิ่งประดับอื่น ๆ : หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง ซึ่งมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง


          พระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ นั่งขัดสมาธิราบ เป็นศิลปะแบบล้านนาตอนปลาย สร้างขึ้นราวพุทธศวรรษศที่ 20 แกะสลักจากเนื้อหยกสีเขียวทึบชิ้นเดียว มีขนาดหน้าตักกว้าง 48.30 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงพระรัศมี 66 เซนติเมตร มีพุทธลักษณะงดงาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงอัญเชิญมาจากพระวิหารน้อย วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2327

พระแก้วมรกต
ภาพจาก cowardlion / shutterstock.com


          พระราชประเพณีการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต กระทำปีละ 3 หน คือ

          - วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 เพื่อทรงเครื่องสำหรับฤดูร้อน
          - วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เพื่อทรงเครื่องสำหรับฤดูฝน
          - วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 เพื่อทรงเครื่องสำหรับฤดูหนาว

          คาถาบูชาพระแก้วมรกต

          นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
          พุทธะ มะหามะณีระตะนะ ปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
          ทุติยัมปิ พุทธะมะหามะณีระตะนะ ปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
          ตะติยัมปิ พุทธะมะหามะณีระตะนะ ปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
          เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ มะหาเตโช เจวะ มะหาปัญโญ
          จะ มะหาโภโค จะ มะหายะโส จะ ภะวันตุ เม
          นิพพานัสสะ ปัจจะโย โหตุ (หรือเป็น วาละลุกัง สังวาตังวา)

พระแก้วมรกต

          ทั้งนี้ วัดพระแก้วได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอารามมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม ในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามอีกครั้งใน พ.ศ. 2525 เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะ

วัดพระแก้ว เวลาเปิด-ปิด และค่าบริการต่าง ๆ


          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันที่มีพระราชพิธีต่าง ๆ) ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น.

          - คนไทยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถแสดงบัตรประชาชนได้ที่ทางเข้า

          - นักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าบัตรเข้าชม 500 บาท สามารถเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พิพิธภัณฑ์ผ้า ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง

          *** กรณีที่ต้องการ Audio Guide สำหรับฟังบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน รัสเซีย ญี่ปุ่น จีนกลาง และไทย สามารถเช่าในราคา 200 บาท บริเวณจุดประชาสัมพันธ์

          ส่วนการซื้อบัตรสามารถซื้อได้ที่ห้องจำหน่ายภายในพระบรมมหาราชวัง หรือสามารถซื้อบัตรผ่านทางออนไลน์ ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนวันเข้าชม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.royalgrandpalace.th

วัดพระแก้ว

การแต่งกายเข้าวัดพระแก้ว


          การเข้าชมวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน ทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญยิ่งของชาติ จึงต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ อีกทั้งควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัด ได้แก่ ห้ามสวมเสื้อแขนกุด สายเดี่ยว หรือเสื้อที่เปิดไหล่ทุกชนิด, ห้ามสวมใส่กางเกงขาสั้น กางเกงสามส่วน กางเกนยีนส์ขาด ๆ ส่วนกระโปรงก็ไม่สั้นจนเกินไป ทางที่ดีควรเลยหัวเข่าลงมา สำหรับรองเท้าก็ควรเป็นรองเท้าสุภาพ

          ทั้งนี้ หากเครื่องแต่งกายของคุณไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง ทางสำนักพระราชวังได้จัดเตรียมเสื้อผ้าให้ยืมฟรี โดยมีค่ามัดจำชิ้นละ 200 บาท (ไม่อนุญาตให้ใช้ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ในการปกปิดเสื้อแขนกุด) กับบัตรประชาชนเอาไว้ และเมื่อเอาชุดมาคืนทางเจ้าหน้าที่ก็จะคืนทุกอย่างให้

วัดพระแก้ว

          ข้อควรระวัง

          - ไม่ควรใช้แฟลชในการถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับภาพจิตรกรรมได้

          - ภายในอาคารอื่นทั้งหมดโดยเฉพาะพระอุโบสถ ห้ามถ่ายภาพอย่างเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษปรับและยึดสื่อบันทึก

          สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.royalgrandpalace.th

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง ที่เที่ยวกรุงเทพฯ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


          - เที่ยววัดพระแก้ว ไหว้พระทำบุญให้ประทับใจ ควรรู้ 20 สิ่งเหล่านี้
          - พระบรมมหาราชวัง ความงดงามคู่แผ่นดินรัตนโกสินทร์
          - 30 ที่เที่ยวกรุงเทพฯ ลุยเที่ยววันเดย์ทริปแบบสบาย ๆ
          - รวมสถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร มีทั้งย่านสำคัญและแลนด์มาร์กต่าง ๆ
          - สถานที่ไหว้พระกรุงเทพฯ แจกพิกัด 20 วัด ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี


ขอบคุณข้อมูลจาก : royalgrandpalace.th, thai.tourismthailand.org, finearts.go.th, royaloffice.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดพระแก้ว วัดคู่บ้านคู่เมืองไทย ชวนไหว้พระขอพร พร้อมแนะนำเรื่องน่ารู้ต่าง ๆ อัปเดตล่าสุด 4 เมษายน 2566 เวลา 09:32:23 376,363 อ่าน
TOP