พระบรมมหาราชวัง ความงดงามคู่แผ่นดินรัตนโกสินทร์

พระบรมมหาราชวัง

        พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ  พระราชวังที่สวยงามและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อันเปรียบเสมือนเป็นอัญมณีคู่กรุงรัตนโกสินทร์

        พระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าพระลาน ในอดีตเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลายคนอาจเห็นว่าพระบรมมหาราชวังเป็นสถานที่เที่ยวใกล้ตัว หากแต่ในทุกตารางพื้นที่ของที่นี่กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เชื่อว่าถ้าใครได้เข้ามาอ่าน เป็นต้องอยากเข้าไปพิสูจน์ความงดงามนี้ด้วยตาตัวเองสักครั้ง

พระบรมมหาราชวัง

        พระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จากเดิมเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาดของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ที่ต่างเดินทางเข้ามาชมความงดงามของหมู่พระที่นั่งที่ตั้งอยู่เบื้องหลังกำแพงสีขาว และแวะสักการะพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานในบริเวณพระบรมมหาราชวัง

พระบรมมหาราชวัง
ภาพจาก Chere / shutterstock.com

พระบรมมหาราชวัง
ภาพจาก gumbao / shutterstock.com

        โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2325 เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จฯ ออกมหาสมาคม นับจากช่วงเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระบรมมหาราชวังแห่งนี้ได้รับการก่อสร้างเพิ่มเติมในทุกรัชกาล ซึ่งภายในพระบรมมหาราชวัง สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และหมู่พระที่นั่งสำคัญ ๆ อันเป็นพื้นที่สำหรับเป็นที่ประทับและบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์

        ปกติแล้วนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมพระบรมมหาราชวัง โดยเข้ามาที่ประตูวิเศษไชยศรี ซึ่งอยู่ตรงกับถนนหน้าพระธาตุ หลังจากนั้นจะเจอกับประตูพิมานไชยศรี ซึ่งเมื่อมองออกไปเบื้องหน้าจะเห็นพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ไกล ๆ

พระบรมมหาราชวัง

        - วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ทั้งยังเป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ภายในประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของแผ่นดินสยาม (** สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าชมภายในวัด ไม่ควรใช้แฟลชถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในพระอุโบสถเด็ดขาด)

        หลังจากที่เดินชมวัดพระศรีรัตนศาสดารามเสร็จแล้ว หลังจากนั้นให้เดินออกทางประตูศรีรัตนศาสดาราม จะเห็นหมู่พระที่นั่งสำคัญภายในพระบรมมหาราชวัง อันประกอบไปด้วย

        - หมู่พระมหาปราสาท ประกอบด้วย องค์พระมหาปราสาท พระราชมณเฑียร พระปรัศว์ เรือนจันทร์ครบถ้วน เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งพิมานรัตยา พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท พระที่นั่งราชกรัณยสภา เรือนจันทร์ และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เป็นต้น

        ปัจจุบันหมู่พระมหาปราสาทใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล สถานที่สำหรับสรงน้ำพระบรมศพและประดิษฐานพระบรมศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์

พระบรมมหาราชวัง

        - หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประกอบด้วย พระที่นั่ง 5 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์, พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ, พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และพระที่นั่งเทวารัณยสถาน หากแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมีความสวยงามโดดเด่นกว่าหมู่พระที่นั่งองค์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างไทยและยุโรป ทั้งยังเป็นหนึ่งในพระที่นั่งที่ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของพระบรมมหาราชวังอีกด้วย

        - บริเวณสวนศิวาลัย เป็นสวนภายในพระบรมมหาราชวัง มีพระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ ตั้งอยู่ ได้แก่ พระพุทธรัตนสถาน, พระที่นั่งมหิศรปราสาท, พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท, พระที่นั่งสีตลาภิรมย์, อาคารอเนกประสงค์ เอ และบี, พระที่นั่งบรมพิมาน, พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เป็นต้น

        - ประตูกำแพงพระบรมมหาราชวัง แบ่งออกเป็นประตูชั้นนอกและประตูชั้นใน

พระบรมมหาราชวัง

        ประตูชั้นนอก อยู่ตามแนวกำแพงพระบรมมหาราชวัง  มีทั้งหมด 12 ประตู ประกอบด้วย ประตูรัตนพิศาล, ประตูวิมานเทเวศร์, ประตูวิเศษไชยศรี, ประตูมณีนพรัตน์, ประตูสวัสดิโสภา, ประตูเทวาพิทักษ์, ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ, ประตูวิจิตรบรรจง, ประตูอนงคารักษ์, ประตูพิทักษ์บวร, ประตูสุนทรทิศา, ประตูเทวาภิรมย์ และประตูอุดมสุดารักษ์

        ประตูชั้นใน
มีทั้งหมด 22 ประตู (บางประตูได้ถูกรื้อไปแล้ว) ประกอบด้วย ประตูสุวรรณบริบาล, ประตูพิมานไชยศรี,ประตูสีกรลีลาศ, ประตูเทวราชดำรงศร, ประตูอุดรสิงหรักษ์, ประตูจักรพรรดิ์ภิรมย์, ประตูกมลาสประเวศ, ประตูอมเรศร์สัญจร, ประตูสนามราชกิจ, ประตูดุสิตศาสดา, ประตูนางในไคลคลา, ประตูกัลยาวดี, ประตูศรีสุดาวงศ์, ประตูอนงคลีลา, ประตูยาตราสตรี, ประตูศรีสุนทร, ประตูพรหมศรีสวัสดิ์, ประตูพรหมโกหด, ประตูแถลงราชกิจ, ประตูปริตรประเวศ, ประตูราชสำราญ และประตูพิศาลทักษิณ

        ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เป็นที่รับแขกเมือง พระราชอาคันตุกะ รวมถึงยังเป็นที่ตั้งพระบรมศพและพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ส่วนบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก ก็ใช้เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ ได้แก่ สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ ราชบัณฑิตยสถาน เป็นต้น ตลอดจนเขตพระราชฐานชั้นใน กลายเป็นที่ทำการและที่พำนักของข้าราชการสำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นผู้หญิงล้วนทั้งสิ้น

        การเดินทาง

พระบรมมหาราชวัง
ภาพจาก MJ Prototype / shutterstock.com

        นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเข้าชม หากนำรถยนต์มาเองต้องหาสถานที่จอดรถ หรือสถานที่ใกล้เคียงที่อนุญาตให้จอดรถได้ จากนั้นก็ต้องเดินเข้ามาที่ประตูวิเศษไชยศรี ซึ่งอยู่ตรงกับถนนหน้าพระธาตุ ปัจจุบัน ประตูวิเศษไชยศรีเป็นประตูทางเข้าออกพระบรมมหาราชวังที่สำคัญที่สุด ถัดเข้ามาด้านในจะเป็นประตูพิมานไชยศรี และหากมองผ่านประตูนี้เข้าไปจะเห็นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในมุมที่สวยมาก ๆ

        เวลาเปิดทำการ : พระบรมมหาราชวังเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. (ห้องจำหน่ายบัตรเข้าชม ปิดเวลา 15.30 น.)

        *** วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 หลังจากปิดให้ทำการเพื่อให้ประชาชนได้เข้าสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ "เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมวัดพระแก้ว-พระบรมมหาราชวัง 1 พ.ย. นี้"

        ค่าเข้าชม : คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม, คนต่างชาติค่าเข้าชมท่านละ 500 บาท ซึ่งรวมบัตรเข้าชมศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ พระที่นั่งวิมานเมฆ หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม
        หมายเหตุ : โปรดแต่งกายสุภาพ ( ** สำหรับนักท่องเที่ยวที่แต่งกายไม่สุภาพต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ทางสำนักพระราชวังจัดให้)
        โทรศัพท์ : 02 623 5500 ต่อ 3100 หรือ 02 224 3273
        เว็บไซต์ : palaces.thai.net


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, palaces.thai.net


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พระบรมมหาราชวัง ความงดงามคู่แผ่นดินรัตนโกสินทร์ อัปเดตล่าสุด 7 มีนาคม 2562 เวลา 11:30:23 64,262 อ่าน
TOP
x close