รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับหินในประเทศไทย สิ่งที่ธรรมชาติสรรค์สร้างจนก่อเกิดเป็นสิ่งอัศจรรย์ ทำให้เราได้ชื่นชมกับความสวยงามที่แปลกตา
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยมีหลากหลายแบบ ทั้งทะเล ภูเขา หรือสิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติรังสรรค์จนกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็คือ
“สถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับหิน” ที่ซุกซ่อนความงดงามอยู่ทั่วทั้งประเทศไทย วันนี้เราเลยหยิบเอาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยารูปร่างแปลกประหลาดที่น่าสนใจ พร้อมเชิญชวนให้ไปพิสูจน์ด้วยตาตัวเองกันสักครั้ง
1. มอหินขาว จังหวัดชัยภูมิ
เริ่มแรกที่ Unseen Thailand ชื่อดังอย่าง “มอหินขาว” หรือสโตนเฮนจ์เมืองไทย กลุ่มเสาหินทรายสีขาวขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นบนลานหญ้ากว้างบริเวณเนินเขา ภายในอุทยานแห่งชาติภูแลนคา โดยเกิดจากการสะสมของตะกอนทรายแป้งและดินเหนียวจากทางน้ำ เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ทำให้มีการแตกหัก ผุพัง และการกัดเซาะ จนกลายเป็นเสาหินสูงใหญ่ 5 เสา รูปทรงประหลาดบนเนินเขาอย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้บริเวณรอบ ๆ ยังมีกลุ่มลานหินอื่น ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติภูแลนคา บ้านวังคำแคน หมู่ 9 ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. (เสียค่าธรรมเนียมให้กับอุทยานแห่งชาติภูแลนคา)
เว็บไซต์ : อุทยานแห่งชาติภูแลนคา
การเดินทาง : มอหินขาว ชัยภูมิ
รีวิว : มอหินขาว ชัยภูมิ ความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติรังสรรค์
2. ผาช่อ จังหวัดเชียงใหม่
ไปต่อกันที่ดินแดนแห่งหน้าผาหินในช่วง 5 ล้านปีก่อน มีลักษณะเป็นหน้าผาหินตกตะกอน สูงประมาณ 30 เมตร กว้างราว ๆ 100 เมตร ที่ตัวหน้าผามีลวดลายลักษณะที่สวยงามแปลกตา มีริ้วลายของหินคล้ายกับผ้าม่าน สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นแม่น้ำปิงมาก่อน ต่อมาธรณีแปรสัณฐาน และได้ดันชั้นตะกอนบริเวณขอบแอ่งของแม่น้ำ ซึ่งเป็นตะกอนในยุคเทอร์เชียรี มีอายุประมาณ 5 ล้านปี ขึ้นมา เมื่อโดนทั้งลม ฝน ฯลฯ กัดเซาะจึงกลายเป็นลวดลายที่สวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งยังคงทิ้งร่องรอยการกัดเซาะจนกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ
ที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติแม่วาง ตำบลสันติสุข อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
เว็บไซต์ : อุทยานแห่งชาติแม่วาง
การเดินทาง : ผาช่อ เชียงใหม่
รีวิว : ผาช่อ เชียงใหม่ ตะลุยป่าย้อนเวลาสู่โลกแห่งยุคเทอร์เชียรี
3. สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี
แลนด์มาร์กชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าของฉายา “แกรนด์แคนยอนเมืองไทย” ที่จะโผล่มาให้ได้ยลโฉมเพียงแค่ช่วงระยะเวลาฤดูแล้งที่แม่น้ำโขงลดลงเท่านั้น โดยที่แก่งหินเหล่านี้ก็จะมีแอ่งน้อยใหญ่ เกิดจากการกัดเซาะของแรงน้ำวน เมื่อนับดูแล้วมีจำนวนมากกว่า 3,000 แอ่ง ซึ่งคำว่า “แอ่ง” ในภาษาท้องถิ่นจะเรียกว่า “โบก” จึงเป็นที่มาของคำว่า “สามพันโบก” นั่นเอง อีกทั้งด้วยความที่แก่งหินโดนน้ำกัดเซาะจนทำให้มีรูปร่างสวยงามแปลกตาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะรูปวงรี รูปดาว รูปมิกกี้ เม้าส์ รูปหัวใจ และหินหัวสุนัข เป็นต้น ตามแต่จินตนาการของคนที่มองกันทีเดียว
ที่ตั้ง : บ้านโป่งเป้า ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
เวลาเปิด-ปิด : เวลาเที่ยวสามพันโบกจะอยู่ในช่วงหน้าแล้งหรือช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลง จะอยู่ราว ๆ ระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ของทุกปี (ควรตรวจสอบข้อมูลก่อนการเดินทาง) และแนะนำให้ไปช่วงเวลาประมาณ 06.00-09.00 น. และ 15.00-17.30 น. เพราะแดดจะไม่ร้อนมาก อากาศกำลังสบาย
การเดินทาง : สามพันโบก อุบลราชธานี
รีวิว : สามพันโบก อุบลราชธานี กับ 16 ข้อควรรู้ที่ห้ามพลาด
4. แพะเมืองผี จังหวัดแพร่
แหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาที่สำคัญของจังหวัดแพร่ ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เกิดจากการทับถมกันของดินตะกอนแม่น้ำนานนับล้านปี โดยลักษณะการเกิดของเสาหิน เกิดจากกรวด หิน ดิน ทราย เกาะจับตัวกัน ยังไม่แน่นแข็งเต็มที่ ประกอบด้วยชั้นหินทรายละเอียดและชั้นหินทรายสลับกันเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีความต้านทานต่อการผุพังไม่เท่ากัน เมื่อถูกน้ำฝนชะซึมชั้นหินที่มีความต้านทานต่อการผุพังน้อยกว่าก็จะถูกชะล้าง กัดกร่อน เหลือชั้นที่มีความต้านทานต่อการผุพังมากกว่า ทำหน้าที่เสมือนแผ่นเกราะวางอยู่ข้างบนที่น้ำไม่สามารถชะกร่อนต่อไปได้ง่าย ส่วนที่เหลือจึงเกิดเป็นแท่ง เป็นหย่อม และมีรูปร่างแตกต่างกันออกไปดังเช่นปัจจุบัน
ที่ตั้ง : วนอุทยานแพะเมืองผี ตั้งอยู่ระหว่างตำบลทุ่งโฮ้งและตำบลน้ำชำ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.
เว็บไซต์ : วนอุทยานแพะเมืองผี
การเดินทาง : แพะเมืองผี
5. ละลุ จังหวัดสระแก้ว
“ละลุ” ในภาษาเขมร แปลว่า “ทะลุ” ที่นี่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากน้ำฝนกัดเซาะ ยุบตัว หรือพังทลายของดิน เนื่องจากสภาพดินแข็งจะคงอยู่ไม่ยุบตัว เมื่อถูกลมกัดกร่อนจึงมีลักษณะเป็นรูปต่าง ๆ มองคล้ายกำแพงเมือง หน้าผา บ้างมีลักษณะเป็นแท่ง ๆ คล้ายกับแหล่งธรรมชาติบริเวณแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ แต่มีขนาดเล็กกว่า แต่ก็สวยงามแปลกตาไม่แพ้กัน โดยนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถอีแต๊กที่ชาวบ้านในชุมชนนำมาบริการ ลัดเลาะไปตามท้องทุ่งจนถึงตัวละลุได้อย่างสบาย ๆ
ที่ตั้ง : บ้านเนินมะขามและบ้านคลองยาง ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.
เว็บไซต์ : sakaeo.go.th
การเดินทาง : ละลุ จังหวัดสระแก้ว
6. คลองหินดำ จังหวัดชุมพร
แกรนด์แคนยอนแห่งชุมพร มีลักษณะเป็นแนวกำแพงหินทั้งสองข้างที่เกิดจากการกัดเซาะของลำธารมายาวนาน จนเกิดเป็นลำธารที่มีความกว้างประมาณ 5-10 เมตร ไหลผ่านรอยแยกของหิน ในลักษณะลัดเลาะคดเคี้ยวไป-มา ระยะทางยาวมากกว่า 1 กิโลเมตร และมีแก่งหินสูงมากกว่า 3-5 เมตร โดยรอบมีต้นไม้หายากน้อยใหญ่ตั้งอยู่มากมาย บรรยากาศร่มรื่น ซึ่งในช่วงฤดูน้ำลดสามารถลงเล่นน้ำได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมล่องห่วงยางให้ได้สนุกสนานกันด้วย
ที่ตั้ง : บริเวณวัดโรจดำริห์ (วัดคลองหินดำ) ตำบลเขาค่าย อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
เว็บไซต์ : www.chppao.go.th
เฟซบุ๊ก : คลองหินดำ Grandcanyon
การเดินทาง : คลองหินดำ จังหวัดชุมพร
7. กองแลน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เจ้าของฉายา “ปายแคนยอน” เพราะธรรมชาติได้สร้างความมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ มีลักษณะเป็นภูเขาหินรูปร่างต่าง ๆ ที่เกิดจากการยุบตัวของภูมิประเทศ บางส่วนยุบมากก็กลายเป็นเหวลึก และบางส่วนก็กลายเป็นแนวสันเขาที่มีความกว้างพอให้คนเดินได้ ที่นี่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความสนุกสนาน ตื่นเต้นจากการเดินเลียบเลาะวนรอบเขา ทำให้เปิดมุมมองใหม่ของการชมบรรยากาศความสวยงามของธรรมชาติระหว่างสองข้างทาง แต่ควรระมัดระวังในการเดินชมด้วยเช่นกัน
ที่ตั้ง : ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.
การเดินทาง : กองแลน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
8. ลานหินปุ่ม – ลานหินแตก (ภูหินร่องกล้า) จังหวัดพิษณุโลก
ปรากฏการณ์ที่ธรรมชาติรังสรรค์ให้ก่อเกิดเป็นรูปทรงแปลกตา ซึ่งทั้ง “ลานหินปุ่ม” และ “ลานหินแตก” ตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า สถานที่ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย และตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันมากนัก โดยมีเส้นทางที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินได้สบาย ๆ ไม่ลำบาก มีป้ายบอกไว้ชัดเจน ตลอดเส้นทางจะได้เห็นความหลากหลายของธรรมชาติ ทั้งพรรณไม้ ดอกไม้ และก้อนหินใหญ่สวยงามชวนให้ดูแปลกตา
ลานหินปุ่ม : อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผาลักษณะเป็นลานหินผุดขึ้นเป็นปุ่มไล่เลี่ยกัน สูงประมาณ 1 ฟุต เกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหินทางเคมีและฟิสิกส์ ประกอบกับการขัดเกลาของกระแสลมและสายฝน จนกลายเป็นรูปร่างดังปัจจุบัน
ลานหินแตก : อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร มีลักษณะเป็นหินที่มีรอยแตกเป็นแนวเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแยก สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการโก่งตัวหรือเคลื่อนตัวของผิวโลกจึงทำให้พื้นหินนั้นแตกลักษณะนี้
ที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. (เสียค่าธรรมเนียมให้กับอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า)
เว็บไซต์ : อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
การเดินทาง : ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก
รีวิว : 24 ข้อแนะนำก่อนเที่ยวภูหินร่องกล้า อ่านจบเที่ยวสนุกยิ่งกว่าเดิม
9. เกาะหินงาม จังหวัดสตูล
เกาะเล็ก ๆ กลางทะเลอันดามัน ตั้งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอาดัง ไกลออกไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร ความโดดเด่น คือ ชายหาดที่ทรายถูกแทนที่ด้วยก้อนหินสีดำเงางามสุดลูกหูลูกตา ก้อนหินกลมเกลี้ยงเนียนเรียบ ลวดลายสวยงาม ขนาดเล็ก-ใหญ่แตกต่างกันไป โดยหินเหล่านี้ทับถมกันจนเกิดเป็นเกาะเล็ก ๆ ไม่มีหาดทราย รอบ ๆ เป็นน้ำทะเลสีฟ้าใส งดงามเกินบรรยาย เล่ากันว่าหินทุกก้อนมีคำสาปของเจ้าพ่อตะรุเตา หากใครนำติดตัวไปจะเกิดแต่หายนะ แต่อีกนัยหนึ่งคือมาตรการการป้องกันทรัพยากรทางจิตใจได้เป็นอย่างดี
ที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น.
เว็บไซต์ : เกาะหินงาม
การเดินทาง : เกาะหินงาม จังหวัดสตูล
10. หินสามวาฬ (ภูสิงห์) จังหวัดบึงกาฬ
Unseen จังหวัดบึงกาฬที่หลายคนอยากไปเยือนสักครั้ง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่ติดหน้าผาสูง แยกตัวเป็น 3 ก้อน มีอายุประมาณ 75 ล้านปี หนึ่งเดียวของโลก เมื่อมองดูจากระยะไกล หิน 3 ก้อนนี้จะดูคล้ายกับฝูงครอบครัววาฬ ที่ประกอบด้วย พ่อวาฬ แม่วาฬ และลูกวาฬ ซึ่งเรียกตามขนาดของหินแต่ละก้อน ตัวหินมีสีน้ำตาลแดงเข้ม พร้อมกับมีจุดสีขาว ๆ อยู่โดยรอบ ทั้งยังเป็นหนึ่งในจุดชมวิวที่สวยที่สุดในภูสิงห์ มองเห็นผืนป่า ทัศนียภาพของป่าภูวัว ห้วยบังบาตร แก่งสะดอก หาดทรายแม่น้ำโขงและภูเขาเมืองปากกระดิง ประเทศลาว อีกด้วย ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นหน้าผาสูงชัน ไม่ควรวิ่งไป-มา หรือกระโดด
ที่ตั้ง : ตำบลโคกก่อง อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-18.30 น. (อนุญาตให้ขึ้นรอบสุดท้ายเวลา 17.00 น. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและธรรมชาติ ควรรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่)
โทรศัพท์ : 08 8536 2717 (ฝ่ายบริหารทั่วไป)
การเดินทาง : หินสามวาฬ
รีวิว : หินสามวาฬ ภูสิงห์ หินยักษ์รูปวาฬสุดอันซีนที่บึงกาฬ
และนี่เป็นสถานที่เกี่ยวกับหินในประเทศไทยเพียงไม่กี่แห่งที่เราหยิบมาแนะนำกัน จริง ๆ แล้วยังมีที่เที่ยวที่ธรรมชาติรังสรรค์อยู่อีกมากมาย เอาเป็นว่าหากมีโอกาสก็อย่าลืมไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยว เหล่านี้กันนะ