เบตง ยังคงโอเค จากปัตตานีสู่ดินแดนใต้สุดของประเทศไทย



 
            เที่ยวเบตง สู่ปัตตานี ยังเป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าค้นหาทั้งธรรมชาติ และวิถีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายและน่าค้นหาตามไปเยือนสุด ๆ

            ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้หลายคนหวาดกลัวการเดินทางไปท่องเที่ยว วันนี้เราจึงมีอีกหนึ่งบันทึกการเดินทางไปเยือนจังหวัดชายแดนใต้ของ คุณผู้พันจุ้น สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ได้มีโอกาสไปสัมผัสและถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาให้เราได้ชมกันในมุมที่เงียบสงบและสวยงาม


            "เบตง" พูดชื่อนี้ขึ้นมา ใคร ๆ หลายคงนึกถึงเมืองในหุบเขา ไก่ตอนแสนอร่อย หรือเมืองใต้สุดแดนสยาม ผมก็เช่นเดียวกัน นึกอยากจะมาหลายครั้งต่อหลายครั้ง แผนการเดินทางก็ต้องเป็นหมันอยู่ทุกครั้งเมื่อเปิดจอโทรทัศน์หรืออ่านข่าว จากหนังสือพิมพ์ เรื่องราวต่าง ๆ ที่เราเห็นจากสื่อเหล่านี้ ล้วนทำให้ความคิดจะมาเยือนเป็นอันต้องมลายหายไปทุกที ครั้งนี้ผมเตรียมข้อมูลอยู่นานเพื่อจะวางแผนการเดินทางให้ปลอดภัยที่สุด แล้วสุดท้ายยังได้เพื่อนร่วมทีมที่เพียงแค่หย่อนไปคำถามเดียวว่า "ไปไหม" คำตอบที่ได้คือ "โอเค" ไดอารี่การเดินทางรอบนี้จึงบังเกิดขึ้น

            ผมจะพาไปพิสูจน์ว่า "เบตง" ยังคง "โอเค" อยู่เสมอครับ อ่านจบแล้วแวะไปคุยกันต่อได้ครับที่ เฟซบุ๊ก หมอๆ ตะลุยโลก

            จุดเริ่มต้นของการเดินทาง เริ่มต้นที่นี่ "เมืองปัตตานี"



            หนึ่งในจุดหมายปลายทางของคนไทยพุทธทุกคนที่มาที่นี่ ก็คงหนีไม่พ้นมาสักการะ “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” เพื่อมาขอพรหรือขอสิ่งที่ตนเองปรารถนา



            รูปปั้นที่เห็นอยู่อันนี้ คือ องค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่มีมาตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว



            บรรยากาศทั้งภายในและภายนอกดูเงียบเหงาไปมากทีเดียวครับ ถามจากผู้ดูแลแล้วที่นี่จะคึกคักก็ช่วงเทศกาลของชาวจีน เช่น ตรุษจีนหรือกินเจอะไรแบบนี้



            คงมีแค่ดินแดนแถบนี้เท่านั้นที่เวลาจอดรถมอเตอร์ไซค์แล้วต้องเปิดเบาะออก และต้องจอดที่เกาะกลางถนนอีกด้วยครับ



            ชาวบ้านแถบนี้ก็พร้อมใจที่จะทำตามกันเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจซึ่งกันและกัน ทั้งรถใหญ่และรถเล็กถ้าอยู่ในเขตเมืองเท่าที่เห็นต้องมาจอดที่เกาะกลางถนน หมดครับ



            ส่วนพื้นที่ริมทางเท้าก็จะมีแผงกั้นไว้ห้ามจอดรถทุกชนิด ที่เห็นจอดอยู่น่าจะเป็นรถของเจ้าของร้านเองหรือเปล่าก็ไม่รู้ครับ



            ช่วงเช้าอากาศกำลังดี แดดกำลังเหมาะ เดินออกจากถนนเส้นหลักไปที่สวนริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี คนน้อยมากครับ เดินได้สบายมาก ๆ



            ศาลหลักเมืองประจำจังหวัด



            แม่น้ำปัตตานีก็เหมือนกับแม่น้ำสายอื่น ๆ ในประเทศไทยครับ เป็นเส้นเลือดหลักของดินแดนภาคใต้ตอนล่างและของประชาชนที่นี่ ความยาวกว่า 200 กิโลเมตร จากต้นน้ำเทือกเขาสันกาลาคีรีไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวไทย



            ไม่ว่าจะเป็นคนไทยที่ไหน ๆ เราก็อยู่ห่างจากสายน้ำไม่ได้



            ได้เวลาอาหารเช้าแล้ว เป้าหมายของเรา คือ ที่นี่ครับ ร้าน "นำรส" ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมานาน "ซูเปอร์ราดหน้าแห่งเมืองปัตตานี" ผมเรียกแบบนั้น เปิด 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นของทุก ๆ วัน



            ร้านราดหน้าร้านนี้เปิดมาจะ 30-40 ปีแล้วครับ คนแถวนี้รู้จักหมด ผมว่าคนทั้งภาคใต้เลยมั้งครับ ถามใคร ๆ ก็รู้จัก ตอนนี้เป็นทายาทรุ่นที่ 2 แล้ว



            การทำราดหน้าบนเตาถ่าน คือ เอกลักษณ์ของที่นี่ ด้วยความร้อนที่สูงมากทำให้อาหารที่ปรุงออกมาหอมหวนชวนทานยิ่งนัก



            เอาล่ะ...ใกล้จะได้กินแล้วเว้ย มารอกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า



            กำลังบรรจงตักใส่จานพร้อมเสิร์ฟ



            ราดหน้าจัดหนัก ขนกันมาทั้งทะเล กุ้งตัวโต ปลาหมึกใหญ่บึ้ม ปลากะพงทอดกรอบ กระเพาะปลา หอย เนื้อหมู กินจานเดียวอิ่มไป 2 มื้อ กับราคาเบาะ ๆ ที่ 90 บาทครับ



            หลังจากอิ่มพุงก็เดินทางกันต่อ ออกจากปัตตานีมาวิ่งลงมาทางใต้มากขึ้น สู่จังหวัด "ยะลา" เมืองที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ผังเมืองสวยที่สุดในประเทศไทยครับ



            ศาลหลักเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนประจำเมืองพอดี จึงถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองอย่างแท้จริง ต่อจากนี้ไปเราจะวิ่งเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 410 ผ่านอำเภอกรงปินัง บันนังสตา ธารโต และเบตงครับ



            ทีนี้มาพูดถึงการเดินทางไปเบตง ปัจจุบันเรามีทางให้เราเลือก 2 ทาง คือ

            1. อ้อมไปทางมาเลเซียทางด่านสะเดา แล้วกลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งที่ด่านอำเภอเบตง

            2. มาตามเส้นทางหลวง 410 วิ่งผ่านอำเภอกรงปินัง บันนังสตา และธารโต เส้นทางหลัก

            ทางแรก : พูดง่าย ๆ ออกจากไทยไปมาเลเซียแล้วก็ออกจากมาเลเซียมาเข้าไทยอีกที ทางนี้จะไม่ผ่าน 3 จังหวัดชายแดนใต้เลยครับ เขาว่ากันว่าทางนี้ "ปลอดภัย สบายใจ" ซึ่งส่วนใหญ่รถประจำทางจากหาดใหญ่จะวิ่งทางนี้กันหมดแล้ว

            ทางที่สอง : อันนี้ทางมาตรฐาน วิ่งผ่านจังหวัดปัตตานีและยะลา วิ่งตามเส้นทางหลักที่เป็นเส้นทางเดียว ผ่านอำเภอต่าง ๆ จนถึงเบตง ทางนี้คือทางที่คนท้องถิ่นใช้กันเป็นปกติครับ

            ออกจากอำเภอเมืองยะลา มีจุดตรวจทหารเป็นระยะตลอดทาง จนมาถึงที่อำเภอบันนังสตา หลักกิโลเมตรที่ 46 ของทางหลวงหมายเลข 410 หลบเข้าไปจากทางสายหลักประมาณ 10 กิโลเมตร เราจะมาเจอสถานที่ที่เรียกได้ว่าเป็น "ดินแดนที่ถูกลืมจากคนภายนอก" (แต่ไม่ใช่สำหรับคนภายใน)



            จุดพักผ่อนหย่อนใจบนจุดชมวิวเหนือเขื่อน ทำไว้ดีถึงดีมากจริง ๆ ครับ สภาพการดูแลก็ยังถือว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก ไม่แพ้เขื่อนรัชชประภาหรือเขื่อนเชี่ยวหลานอันโด่งดังเลยครับ แต่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนที่แห่งนี้น้อยมาก ๆ



            มุมมองจากภายในศาลาพักผ่อน ภาพสันเขื่อนบางลางอยู่เป็นฉากหน้า มีแนวเทือกเขาสันกาลาคีรีและป่าบาลาฮาราเป็นฉากหลัง



            หมู่บ้านใต้สันเขื่อน "หมู่บ้านบางลาง" กลางขุนเขาสันกาลาคีรี



            เขื่อนบางลาง นับเป็นโครงการพัฒนาแม่น้ำแห่งแรกของภาคใต้ตอนล่าง



            ภาพความอุดมสมบูรณ์ด้านหลัง คือ แนวของ "ป่าฮาลา" หรือป่าอแมซอนแห่งลุ่มน้ำปัตตานี



            "ป่าฮาลา" เป็นป่าที่อยู่ทางชายแดนฝั่งยะลา "ป่าบาลา" เป็นป่าที่อยู่ทางชายแดนฝั่งนราธิวาส เรามักได้ยินชื่อรวม ๆ กันว่า "ป่าบาลาฮาลา" หรือ "ป่าฮาลาบาลา" แล้วแต่ว่าเราจะเรียกชื่อด้านไหนก่อน



            ถือเป็นเขื่อนที่มีทิวทัศน์และบรรยากาศที่สวยมากอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เลยครับ แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ที่นี่ดูเงียบเหงาซบเซามาก



            เราจะไปกันต่อครับ จากเขื่อนบางลางนี้วิ่งลงใต้ไปตามถนนเส้นทาง 410 อีกประมาณ 90 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดหมายปลายทางของเราที่ "เบตง" ถนนหนทางช่วงถัดจากนี้ไปจะคดเคี้ยวดั่งงูเลื้อยกับโค้งไปมานับร้อย ๆ โค้ง



            เมื่อเข้าสู่เขตอำเภอธารโต ถนนช่วงนี้จะสวยที่สุดครับ วิ่งเลียบทะเลสาบเหนือเขื่อนบางลางไปเรื่อย ๆ



            สะพานข้ามเขื่อนที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางที่คดเคี้ยวบนภูเขาแล้ว ยังกลายเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากอีกจุดหนึ่ง



            ฉากหลังไกล ๆ นั่นก็ยังคงเป็นผืนป่าอันยิ่งใหญ่ "ป่าบาลาฮาลา" มีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมระบบนิเวศน์ที่ยังคงสมบูรณ์อยู่มาก เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญ 3 สาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำโกลก หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้



            ล่องเรือ กินลม ชมเล สูดโอโซน กันที่ผืนป่าดิบชื้นที่บริสุทธิ์ที่สุดในภาคใต้ของเรา



            หลังจากเมารถกันได้ที่จนกระเพาะอาหารเริ่มปั่นป่วน ระดับความโค้งก็น้อง ๆ แม่ฮ่องสอนเลย เราก็มาถึงเบตงกันพอดิบพอดี



            "โอเค เบตง" เบตง...เธอยังโอเคอยู่ไหม ผมถามในใจ



            ก่อนจะมาเยือนเบตง ลองไปหาหนังเรื่องนี้มาดูก่อนเพื่อเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยว



            ตะลอนทัวร์กันแต่หัวรุ่ง รถยนต์ยังต้องเติมน้ำมัน ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่คนต้องเติมพลังกันแล้ว ร้านอาหารที่ผมมาใคร ๆ เขาก็มากัน คือ ร้านต้าเหยิน นี่เองครับ มีสาขาเบตงเป็นสาขาดั้งเดิม และมีสาขาที่สองที่อำเภอหาดใหญ่ด้วยนะครับ



            เคาหยก อาหารขึ้นชื่อของที่นี่ เป็นหมูสามชั้นเอามาอบกับเผือก ได้กลิ่นและรสชาติที่กลมกล่อม



            ส่วนอันนี้ไม่พูดถึงคงเป็นไปไม่ได้กับ ไก่เบตง นี่เอง ไก่สายพันธุ์แท้และดั้งเดิมของที่นี่ เนื้อนุ่ม ๆ กับซีอิ๊วแบบละมุนลิ้น พิมพ์ไปน้ำลายไหลย้อยใส่แป้นพิมพ์ไป



            เอกลักษณ์อีกอย่างของเบตง คือ เป็นอำเภอเดียวในประเทศไทยที่มีป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นของตัวเอง เนื่องด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ไกลจากอำเภอเมืองมากนั่นเองครับ ป้ายสีเหลืองคือป้ายทะเบียนของทางฝั่งมาเลเซียครับ



            "ป้ายใต้สุดแดนสยาม" ตั้งอยู่บริเวณชายแดนปลายสุดถนนทางหลวงหมายเลข 410 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นแนวเขตแดนระหว่างอำเภอเบตง กับรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ที่นี่คือหมุดแผ่นดินอันสุดท้ายที่อยู่ใต้ที่สุดของประเทศไทยครับ



            ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์นี่เอง ที่ทุก ๆ ด้านถูกล้อมรอบด้วยเทือกเขาและป่าดงดิบผืนใหญ่ การเดินทางนอกจากถนนเส้นหลักแล้วทำได้ลำบากมาก จึงทำให้ปัญหาความขัดแย้งจากภายนอกไม่สามารถแทรกซึมเข้ามาในพื้นของเขตเมือง เบตงได้



            อีกทั้ง "เบตง" เป็นเมืองที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ชัดเจนมาก ๆ คนไทย คนจีน คนมุสลิม คนมลายู ทุก ๆ คนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของที่นี่ยังคงทำให้เบตงมีสันติสุขอยู่จนถึงทุก วันนี้



            เบตง ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้ คล้าย ๆ กับสุไหงโก-ลกของนราธิวาส



            "เบตง" มีสถานะเป็นอำเภอนะครับ เห็นแบบนี้แล้วบางทีคิดว่าเป็นอำเภอเมืองไปซะอีก



            "โรงแรมแกรนด์ แมนดาริน เบตง" โรงแรมที่หรูที่สุด สูงที่สุด และแพงที่สุดในเบตง เริ่มต้นที่คืนละ 1,400 บาท/ห้อง



            สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากในเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ คือ "ศูนย์กีฬากลางหุบเขาและสวนสุดสยาม" เขามาทำสวนสาธารณะและสนามกีฬาทุกอย่างไว้ที่เดียวกันกลางหุบเขาเลยนี่แหละ ครับ คนที่นี่ก็จะใช้สถานที่เหล่านี้แหละครับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจหลังจากทำงาน มาทั้งวัน



            "ใครจะรู้ว่าในพื้นที่กลางหุบเขาเช่นนี้จะมีความยิ่งใหญ่ของสนามกีฬา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของชาวเบตง ที่นอกจากใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเป็นสนามกีฬาที่ตั้งอยู่ในระดับความสูงที่สุดของประเทศไทย อีกด้วย" คนเบตงคนหนึ่งได้กล่าวเอาไว้



            คงมีแค่ไม่กี่เมืองในประเทศไทยที่สามารถสัมผัสความชิลได้ในทุก ๆ วินาทีของการดำเนินชีวิต ไม่มีรถติด ไปไหนมาไหนกำหนดเวลาได้แน่นอน และยังได้ออกกำลังกายเพิ่มพลังชีวิตแบบนี้ทุกวันอีกด้วย



            หอนาฬิกาคู่บ้านคู่เมือง ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดระหว่างถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ เป็นสิ่งก่อสร้างอันเก่าแก่  ที่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมายาวนาน



            เปรียบเป็นสัญลักษณ์ที่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของเมือง ทำการก่อสร้างด้วยหินอ่อนอันเลื่องชื่อจากยะลา ซึ่งได้รับการยอมรับในเรื่องของความแข็งแรง



            "พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง" บรรจุเรื่องราวและเรื่องเล่าต่าง ๆ ของเบตงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดของเมืองอีกด้วย



            องค์ประกอบหลาย ๆ อย่างทำให้ "เบตง" กลายเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ในตัวเองอย่างชัดเจน ไม่เหมือนใคร และยากที่จะหาใครมาเหมือน



            ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ๆ ของเมือง หอนาฬิกาก็จะตั้งอยู่เด่นเป็นประกายเสมอ



            เมื่อพระอาทิตย์ลาลับไปชีวิตของคนทำงานกลางวันพึ่งจบลง แต่ชีวิตของคนทำงานกลางคืนพึ่งเริ่มต้น



            หอนาฬิกาที่นี่มีอะไรพิเศษอย่างหนึ่ง คือ เป็นที่อยู่ของนกนางแอ่นที่มาเกาะอาศัยอยู่นี้ โดยที่คุ้นเคยกับมนุษย์จนไม่ย้ายถิ่นที่อยู่ไปไหนครับ



            มองทางมุมซ้ายล่างจะเห็นอะไรแวบ ๆ มันคืออดีตตู้ไปรษณีย์ที่เคยใหญ่ที่สุดในประเทศนี่เองครับ



            เช้าวันรุ่งขึ้นออกเดินชมเมืองอีกครั้ง บรรยากาศภายในเบตงยังดูธรรมดาและปลอดภัยมาก ๆ ครับ ชีวิตดำเนินกันไปอย่างปกติมาก ๆ



            "บะหมี่เบตง" อร่อยจนยังต้อง...งง



           "โรงเรียนจงฝามูลนิธิ" โรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง ผลิตคนเบตงคุณภาพจากรุ่นสู่รุ่น เป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่เมืองนี้มาตลอด



            ด้วยอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร



            ที่นี่สอนระบบสามภาษานะครับ คือ ไทย อังกฤษ และจีน



            พื้นที่ไหน ๆ ในประเทศไทย ธงไตรรงค์ของเราก็ล้วนปลิวไสวเป็นสง่าอยู่เสมอ ๆ ครับ



            เดินลงมาด้านล่างอย่างกับมาเที่ยวเมืองจีน นับเป็นโรงเรียนที่น่ามาสัมผัสบรรยากาศการเรียนอย่างมากเลยครับ



            ถัดจากโรงเรียนจงฝาไปอีกนิดนึงก็จะพบกับ วัดพุทธาธิวาส หรือวัดเบตง



            เรากำลังเดินขึ้นสู่พระธาตุกัน



            "พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ"



            โดยในองค์มหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ครับ



            สถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ขนาดความสูงเท่ากับตึก 13 ชั้น สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ



            เขาว่ากันว่าที่นี่เป็นพระธาตุที่มีความสวยงามที่สุดในภาคใต้



            ด้วยความที่วัดมีที่ตั้งทำเลอยู่บนเนินเขา ทำให้ทุกอย่างถูกสร้างอย่างลดหลั่นกันมา ทำให้วัดนี้มีความโดดเด่นไม่เหมือนวัดแห่งอื่น ๆ



            พระอุโบสถของวัดแห่งนี้ ภายในจะมีรูปหล่อขนาดเท่าร่างจริงของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดอยู่



            "พระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธาน"



            เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยประเภททองสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปองค์นี้ได้หล่อจากประเทศจีน และจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญในพระพุทธศาสนาประจำเมืองเบตง



            นอกจากในเมืองแล้วสถานที่รอบนอกก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กันครับ แถบนี้เป็นภูเขาหมดต้องขับรถกันมาดี ๆ โค้งเยอะมากกกก เริ่มต้นกันที่ "อุโมงค์ปิยะมิตร"



            ที่นี่เป็นเครือข่ายระบบอุโมงค์ใต้ดินที่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา ใช้เป็นที่ซ่อนกำลังและทำสงครามจรยุทธ์กับทางรัฐบาลในสมัยนั้น

            ในรูป : เป็นการสาธิต "เตาขงเบ้ง" หรือเตาหุงอาหาร ทำยังไงไม่ให้มีควัน เพื่อป้องกันการตรวจพบจากข้าศึกฝ่ายตรงข้าม



            อุโมงค์ด้านในเปิดให้เข้าชมและเดินดูได้ มีทางเข้าออกเชื่อมถึงกันถึง 9 ด้าน ระหว่างทางจะมีป้ายกำกับเป็นระยะว่าห้องที่เราอยู่คือห้องไหน ห้องนอน ห้องครัว ห้องเก็บเสบียง ห้องบัญชาการ ดูให้รู้ว่าคนสมัยก่อนนี้อุดมการณ์ในความคิดเขาทำให้เขายอมทนลำบากได้ขนาด ไหน



            ในอดีตอุโมงค์แคบและเล็กกว่านี้เยอะมากครับ ตอนที่ตอนแรกสร้างนี้ใช้มือคนขุดทั้งหมดนะครับ เวลาเดินต้องก้มตัวลง แต่ปัจจุบันทางการได้ขยายขนาดให้คนเดินได้สบาย ๆ และติดไฟตามทางเดินส่องสว่าง เดินได้ง่ายมาก ๆ ครับ ไม่ต้องกลัวที่แคบหรือที่มืดเลย



            คุณอาท่านนี้เป็นคนเชื้อสายจีนแท้ ๆ เป็นลูกหลานของอดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่กลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ในภายหลัง เป็นคนเดินแนะนำนักท่องเที่ยวให้รู้จักเส้นทางต่าง ๆ ครับ



            นอกจากอุโมงค์แล้วก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยนั้น อย่างในภาพเป็นเครื่องมือแพทย์ในสมัยเป็นโรงพยาบาลสนามในสมัยนั้น



            ส่วนอันนี้เป็นของหมอฟันครับ



            ออกจากหมู่บ้านปิยะมิตรขับรถขึ้นเขาสูงขึ้นไปอีก สู่ "สวนหมื่นบุปผา" หรือสวนดอกไม้เมืองหนาวนั่นเอง



            ด้วยระดับความสูงจากน้ำทะเลเกือบพันเมตร ทำให้สภาพอากาศเย็นพอที่จะให้ดอกไม้เหล่านี้ได้มีโอกาสออกดอกออกผลให้เราได้ เชยชมครับ อีกทั้งยังเป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวแห่งเดียวในภาคใต้อีกด้วย



            สำหรับคนใต้เราไม่ต้องไปถึงเชียงรายก็มีดอกไม้นานาพรรณ หลากหลายสีสันให้ดูเหมือนกัน



            นอกจากสวนแล้วที่นี่ยังเป็นหมู่บ้านที่ทางการให้อดีตครอบครัวผู้ร่วมพัฒนา ชาติเป็นผู้ดูแลสวนและสร้างอาชีพให้คนแถวนี้ครับ ดังนั้น คนที่นี่ก็คืออดีตคนจีนเก่านั่นเอง พูดได้ทั้งไทยและจีน แต่ดูเหมือนว่าพูดจีนจะชัดกว่าพูดไทยซะอีกครับ อาคารที่เห็นข้างหน้า คือ บ้านพักที่เราสามารถมาพักค้างคืนได้



            สวนที่นี่ได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพที่ยังสมบูรณ์อยู่มากครับ แต่นักท่องเที่ยวน้อยถึงน้อยมาก นอกจากคนไทยท้องถิ่นที่เห็นไม่กี่คนแล้ว ก็เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่มาเที่ยวบ้านเรานี่แหละ



            ดอกไฮเดรนเยียนั่นเองครับ



            ส่วนอันนี้เยอบีร่าครับ



            เบตงพร้อมจะต้อนรับคนไทยทุก ๆ คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่เสมอ



            ยามบ่าย ๆ เมื่อแสงแดดเริ่มลดอุณหภูมิตัวเองลง "บ่อน้ำร้อนเบตง" เป็นอีกหนึ่งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองที่มาผ่อนคลายกันหลังเมื่อยล้า จากการทำงานมาทั้งวัน



            ทั้งลูกเด็กเล็กแดง ลุงป้า น้าอา มาโดยพร้อมเพรียงกัน การมาแช่น้ำร้อน ๆ ในวันสบาย ๆ นี่มันโคตะระฟินเลยนะครับ



            นอกจากบ่อน้ำร้อนแล้วยังมีรีสอร์ท แอนด์ สปา ไว้ให้บริการอีกด้วย มองเห็นไอน้ำจากความร้อนที่ลอยอยู่ผิวน้ำไหมครับ



            พื้นที่ริมบ่อใหญ่นี้ชาวบ้านต่างมาจับจองปูเสื่อ นอนเอกเขนก หรือมาจู๋จี๋กันตามประสาหนุ่มสาว



            บรรยากาศสบาย ๆ ที่พบเห็นได้ในทุก ๆ วัน



            กลับมาที่เมืองกันอีกครั้ง ผมอยู่ที่นี่เป็นวันที่สามแล้วความปลอดภัยยังคงสัมผัสได้ทุกตารางนิ้วในเบตง



            คนเบตงทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "เบตงปลอดภัย" ด้วยจากหลากหลายเหตุผล



            "อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ หรืออุโมงค์เบตง"



            "...การใช้วิศวกรรมชั้นสูงในการก่อสร้างเป็นจุดเด่นแห่งอุโมงค์เบตงมงคล ฤทธิ์ อุโมงค์รถยนต์ลอดที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุด สวยที่สุด และเป็นหนึ่งในประเทศไทย ที่ตระหง่านอยู่กลางความภาคภูมิใจของชาวเบตงและชาวไทยทุกคน ......" คนเบตงได้กล่าวเอาไว้อีกเช่นกันครับ



            สร้างขึ้นโดยการเจาะทะลุภูเขาเข้าไปเลย เชื่อมกันระหว่างเขตเมืองใหม่และเมืองเก่า อยู่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองมากว่า 13 ปีแล้ว



            ด้านในทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก นับเป็นอุโมงค์รถลอดภูเขาแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากจะช่วยเรื่องการจราจรแล้วยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ไปซะ อีกด้วย



            เสียดายไฟที่พิพิธภัณฑ์ด้านหลังเปิดน้อยไปนิดนึงนะ ไม่อย่างนั้นน่าจะสวยสว่างไสวกว่านี้เพิ่มขึ้นเป็นกอง



            มองจากบนฟ้าหอนาฬิกาโดดเด่นเป็นสง่าอยู่เสมอ



            ทิวทัศน์ยามรุ่งอรุณจากจุดที่สูงที่สุดของเมือง ชั้น 24 ของโรงแรมแกรนด์ แมนดาริน เบตง



            เมืองนี้ถูกล้อมรอบด้วยเทือกเขาในทุก ๆ ด้าน ถ้าวันที่เป็นฟ้าหลังฝนหมอกจะปกคลุมไปทั่วทั้งเมือง



            ช่วงเวลาสุดท้ายในเบตงกำลังจะจบลง มุมมองผมต่อ 3 จังหวัดแห่งนี้เปลี่ยนชนิดพลิกฝ่ามือไปเลยครับ

            ภาพ : พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ แห่งวัดพุทธาธิวาส



            เรื่องราวระหว่างทางอาจมีความหมายกว่าจุดหมายปลายทาง การเดินทางครั้งนี้บอกผมเช่นนั้น เบตงมีความหมายในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ระหว่างทางก่อนมาถึงเบตงนี่แหละครับ คือ สิ่งที่ผมอยากมาเห็นมากกว่าซะอีก

            ภาพ : วัดพุทธาธิวาสและโรงเรียนจงฝามูลนิธิ



            ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส 3 จังหวัดนี้มีพื้นที่รวมกันกว่าหมื่นตารางกิโลเมตร แต่เวลามีข่าวอะไรเกิดขึ้นที่หมู่บ้านไหน คนที่รับข่าวจากสื่อกระแสหลักก็มักที่จะเหมารวมถึงพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ด้วยไปกันทั้งหมด



            เราทุกคนโดนสปอยล์จากข่าวที่ออกทางสื่อกระแสหลักทุก ๆ วัน จนภาพที่สร้างขึ้นมันดูน่ากลัว แต่เมื่อได้มาเห็นด้วยตาตนเองแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด ความสวยงามระหว่างทางยังมีให้เห็น ธรรมชาติต่าง ๆ ยังคงได้รับการปกป้องไว้อย่างดี ผมไม่ได้การันตีว่าพื้นที่ตรงนี้ปลอดภัย 100% แต่กำลังบอกว่า "มันเดินทางได้" ครับ เพราะคนท้องถิ่นก็ใช้เส้นทางเหล่านี้อยู่เป็นประจำ เพียงแต่เราต้องเตรียมตัว เตรียมพร้อม และเตรียมข้อมูลอยู่ตลอดเวลา



            แล้วไปเที่ยว "เบตง" กันนะครับ ไปให้รู้ว่าความจริงเหมือนกับคำขวัญประจำเมืองหรือเปล่า "เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน" สวัสดีครับ



            "เบตง" ยังคง "โอเค" อยู่จริง ๆ ใช่ไหมครับ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณผู้พันจุ้น สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม และ เฟซบุ๊ก หมอๆ ตะลุยโลก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เบตง ยังคงโอเค จากปัตตานีสู่ดินแดนใต้สุดของประเทศไทย อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2565 เวลา 14:28:43 20,234 อ่าน
TOP
x close