x close

งานสงกรานต์เชียงใหม่ 2566 สาดน้ำม่วนใจ๋กับเทศกาลปี๋ใหม่เมือง

           สงกรานต์เชียงใหม่ กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ สนุกสนานไปกับการเล่นน้ำสงกรานต์และร่วมกิจกรรมตามประเพณีในวันปี๋ใหม่เมือง

         ชวนเที่ยวงาน สงกรานต์เชียงใหม่ ปี 2566 ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 9-17 เมษายน 2566 ทั่วตัวเมืองเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามและมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ตลอดจนเป็นการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวจะได้พบกับกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์ เช่น การจัดขบวนแห่สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ การประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง กิจกรรมยอสวยไหว้สา การแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

         นอกจากนี้ยังมีการจัดสรงน้ำพระตามวัดต่าง ๆ ได้แก่ วัดเชียงยืน, วัดโลกโมฬี, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร, วัดเจ็ดลิน, วัดเชียงมั่น และวัดอื่น ๆ กว่า 11 วัด ทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างทั่วถึง แต่ก่อนจะไปพบกับความสนุกของการเล่นน้ำสุดคึกคักจัดเต็มให้หายคิดถึง เรามีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ หรือ ประเพณีปีใหม่เมือง (ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง) ซึ่งยังคงรักษาวัฒนธรรมของชาวไทย-ล้านนาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณมาฝากกัน ดังนี้

เทศกาลปีใหม่เมือง หรือสงกรานต์
เชียงใหม่

          ก่อนที่จะรับเอาปีตามปฏิทินสากลมาใช้ คนไทยและล้านนาในหัวเมืองเหนือต่างก็ถือเอาช่วงสงกรานต์ หรือปีใหม่เมือง เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านปี ต้องมีธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อชำระสิ่งไม่ดีออกไป และรับสิ่งเป็นมงคลในวันปีใหม่ โดยมีความเชื่อที่ให้ความสำคัญกับ ขุนสังกรานต์ หรือขุนสังขานต์ ที่จะล่องมาในแต่ละปี ซึ่งการล่องของขุนสังกรานต์นั้นจะมีความยิ่งใหญ่อลังการและมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันไปตามวันที่จะล่องในแต่ละปี เช่น สีเครื่องนุ่งทรง เครื่องประดับ การถือสิ่งของในแต่ละมือ อิริยาบถ พาหนะ ทิศการเสด็จ และคำทำนายที่มีอิทธิพลความเปลี่ยนแปลงของโลกมนุษย์ คล้ายคลึงกับความเชื่อเรื่องท้าวกบิลพรหมและนางสงกรานต์ทั้ง 7 วัน ในภาคกลาง

การปฏิบัติในเทศกาลสงกรานต์ เชียงใหม่

วันสังขานต์ล่อง หรือวันสังขารล่อง

          คำว่า สังขานต์ คือคำเดียวกับ สงกรานต์ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ก้าวล่วงแล้ว ผ่านไปแล้ว โดย วันสังขานต์ล่วง ก็คือ วันมหาสงกรานต์ ในภาคกลาง ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่าและก้าวเข้าสู่ปีใหม่นั่นเอง ปัจจุบันถือเอาวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันสังขานต์ล่อง โดยในวันนี้คนล้านนาจะตื่นแต่เช้า จุดประทัด ยิงปืน เพื่อขับไล่ความไม่ดี เรื่องร้าย ๆ ให้ไหลล่องไป จากนั้นจะทำความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอนหมอนมุ้ง และอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด ส่วนในตัวเมืองเชียงใหม่จะมีพิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ที่ประดิษฐาน ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เสด็จขึ้นบุษบกในตอนเช้า และช่วงบ่ายจะมีพิธีแห่รอบเมืองเชียงใหม่ ให้ประชาชนได้สรงน้ำ รวมถึงมีพระพุทธรูปสำคัญเข้าร่วมในขบวนด้วย

วันเนาว์ หรือวันเน่า

          วันที่สองในปีใหม่เมือง ยังไม่นับเป็นปีใหม่ เป็นวันที่อยู่ถัดจากวันสังขานต์ล่อง และอยู่ก่อนวันเถลิงศก กำหนดตามปฏิทินจุลศักราช ปัจจุบันมักตกอยู่ในวันที่ 14 เมษายน ถือเป็นวันไม่ดี ไม่ส่งเสริมสิริมงคล จึงไม่ควรดุด่าว่าร้ายกัน เพราะเชื่อว่าถ้าใครด่าทอหรือทะเลาะวิวาทกันจะเป็นอัปมงคลไปตลอดทั้งปี ในวันนี้ผู้คนจะเตรียมของต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่เมือง เช่น ช่อ ตุง ข้าวตอกดอกไม้ หมากเหมี้ยง เสื้อผ้าต่าง ๆ เพื่อใช้ในการทำบุญ รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ นอกจากนี้ในวันนี้เด็ก ๆ หนุ่มสาว และคนเฒ่าคนแก่ จะพากันไปขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย และประดับตกแต่งด้วยตุง ช่อข้าวตอก และดอกไม้ เพื่อเป็นพุทธบูชาด้วย

วันพญาวัน

          วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศกเปลี่ยนศักราช เริ่มต้นปีใหม่ ในวันนี้จะมีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่เช้าตรู่ ช่วงบ่ายจะเป็นการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปเจดีย์ รวมถึงในหลายพื้นที่จะมีพิธีแห่ไม้ค้ำศรี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนาและค้ำชูหนุนให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง

วันปากปี หรือวันปากปี๋

         วันที่สี่ของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันแรกของปีใหม่ ศักราชใหม่ ในวันนี้คนล้านนาจะทำอาหารที่มีขนุนเป็นหลัก เช่น แกงขนุน ตำขนุน เพราะมีความเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า บางพื้นที่จะมีการทำพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และคารวะรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสของหมู่บ้านนั้น ๆ

การรดน้ำดำหัวของผู้ใหญ่ ตามแบบฉบับล้านนา

         การดำหัวผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือผู้อาวุโส ของชาวล้านนา จะมีวิธีการปฏิบัติดังนี้ ใช้น้ำขมิ้นส้มป่อย พร้อมสิ่งของและเครื่องสักการะ ไปมอบแก่บุคคลที่นับถือ เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษในสิ่งที่เคยล่วงเกินไว้ เมื่อผู้ใหญ่ได้รับแล้วก็จะจุ่มมือลงในน้ำขมิ้นส้มป่อย แล้วนำมาลูบศีรษะ และอาจจะสลัดใส่คล้ายการประพรมน้ำมนต์ พร้อมให้พร (ซึ่งแตกต่างจากภาคกลางที่จะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่ขันเล็ก ๆ มารดมือผู้ใหญ่)

เทศกาลงานสงกรานต์เชียงใหม่
ปี 2566 จัดเมื่อไร

          เทศบาลนครเชียงใหม่ ชวนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนา ในเทศกาลงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566” ตั้งแต่วันที่ 1-16 เมษายน 2566 กับสถานที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่จะทำให้สุขใจกับวัฒนธรรมสุดล้ำค่า มีการจัดกิจกรรมที่เน้นวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมนตร์เสน่ห์ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมล้านนา เข้าวัดเข้าวาเพื่อเสริมบารมีรับพรปีใหม่เมือง กับกิจกรรมสืบสานประเพณีดั้งเดิมของชาวล้านนา
สงกรานต์เชียงใหม่

ภาพจาก : Virojt Changyencham / Shutterstock.com

สงกรานต์เชียงใหม่

ภาพจาก : Virojt Changyencham / Shutterstock.com

กิจกรรมต่าง ๆ
ในเทศกาลงานสงกรานต์เชียงใหม่
ปี 2566

พิธีทำบุญตักบาตร เนื่องในงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ ประจำปี 2566

           จัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน 2566 เวลา 06.00-08.00 น. ณ ข่วงประตูท่าแพ เพื่อสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี สร้างบุญ สร้างกุศล ด้วยการตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง แด่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร จากวัดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ พร้อมรับศีลรับพร เสริมสิริมงคลรับปีใหม่เมือง

พิธีอัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปสำคัญ

           จัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน 2566 ณ สี่แยกสันป่าข่อย - วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ร่วมฟื้นฟูขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ออกจากวิหารลายคำ ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ขึ้นรถบุษบกไปยังบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อเตรียมพร้อม ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะมีขบวนแห่พร้อมกับพระพุทธรูปสำคัญจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำตามประเพณีที่ปฏิบัติในเทศกาลปี๋ใหม่เมืองทุกปี ซึ่งพระพุทธสิหิงค์จะถูกอัญเชิญออกมาจากวิหารลายคำเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
สงกรานต์เชียงใหม่

ภาพจาก : nuwatphoto / Shutterstock.com

สงกรานต์เชียงใหม่

ภาพจาก : 501room / Shutterstock.com

กิจกรรมอุโมงค์น้ำ และถนนสายน้ำ สืบสานมหาสงกรานต์เชียงใหม่ “จุ้มก๋ายเย็นใจ๋ ปี๋ใหม่เมือง”

          จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2566 ณ บนถนนท่าแพ ชุ่มฉ่ำให้ทั่วหน้ากับอุโมงค์น้ำและถนนสายน้ำ เย็นกายสบายใจไปพร้อมกัน เพื่อเป็นการสร้างสีสัน ความสนุกสนาน รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ขบวนแห่ไม้ค้ำสะหลี และขนทรายเข้าวัด

         จัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน 2566 ณ วัดบนถนนท่าแพ แห่ขบวนไม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เป็นขบวนที่จะมีการตกแต่งอย่างสวยงาม โดยการนำไม้ที่มีขนาดใหญ่มาทาด้วยขมิ้น แล้วประดับกระดาษสีอย่างสวยงาม และได้มีการขนทรายร่วมกับขบวนด้วย โดยในขบวนทั้งหมดนั้นจะแสดงถึงการร่วมใจ ทั้งการแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองอย่างสวยงามเพื่อร่วมขบวนกันอย่างคึกคัก และแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป
สงกรานต์เชียงใหม่

ย้อนวันวานสงกรานต์ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่

          จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2566 ร่วมย้อนวันวานไปพร้อมกับชาวเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนสืบสานอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม ทั้งถนนคนเดินย้อนวันวาน (วันที่ 13-15 เมษายน 2566 ณ ถนนช้างคลาน), เวทีรำวงย้อนยุค (วันที่ 13-15 เมษายน 2566 ณ ข่วงประตูท่าแพ), การแข่งขันลาบพื้นเมือง (วันที่ 15 เมษายน 2566 ณ ข่วงประตูท่าแพ), การแข่งขันทำอาหารพื้นเมืองรูปแบบขันโตกล้านนา ทั้งนี้ ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ยังคงปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีล้านนาตั้งแต่ดั้งเดิม และคงความเป็นเมืองพุทธด้วยการเชิญชวนเข้าวัดทำบุญ ปักตุงแบบล้านนา ขนทรายเข้าวัด ร่วมก่อเจดีย์ทราย และยังจัดกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมอีกกว่า 14 กิจกรรม สามารถติดตามกิจกรรมอื่น ๆ ในเทศกาลงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ “สืบฮีตโตยฮอย เมืองเจียงใหม่ 727 ปี” ได้ทาง เฟซบุ๊ก เทศบาลนครเชียงใหม่

งาน Water War Chiang Mai

          จัดขึ้นในวันที่ 16 เมษายน 2566 ณ ลานม่วนใจ๋ เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ต้อนรับการกลับมาของเทศกาลสงกรานต์ ด้วยความมันส์สุดเปียกแห่งปีของภาคเหนือ ทุกตารางเมตรจะต้องลุกเป็นน้ำ กับมิวสิกเฟสติวัลใหญ่งานเดียวของชาวเชียงใหม่ เมื่อเทศกาลดนตรีมารวมตัวกับ 6 ผับดังและร้านอาหารดังตลอด 12 ชั่วโมง ศิลปินจัดเต็ม เพื่อปิดท้ายเทศกาลสงกรานต์ ครบ จบ ทุกความระห่ำในงานเดียว ม่วนหนักจัดเต็มพิกัดที่สุดที่เคยมี

พิกัดเล่นน้ำสงกรานต์ เชียงใหม่

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

         เริ่มต้นฉลองสงกรานต์ เชียงใหม่ 2566 ตามแบบฉบับคนพุทธ ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ทุกปีที่วัดแห่งนี้จะจัดขบวนแห่ พระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์) พระคู่บ้านคู่เมืองของทางจังหวัด ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสสรงน้ำพระเอาฤกษ์เอาชัย เมื่อเสร็จจากการสรงน้ำพระ รับศีลรับพร ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย ร่วมชมขบวนแห่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริเวณด้านหน้าวัดก็จะเป็นสถานที่เล่นน้ำ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ด้วยการเล่นน้ำแบบเบา ๆ ตามประเพณีท้องถิ่นของสงกรานต์เชียงใหม่นั่นเอง

สงกรานต์เชียงใหม่

ภาพจาก : Take Photo / Shutterstock.com

ประตูท่าแพ

          ซิกเนเจอร์สำคัญของการเล่นน้ำสงกรานต์เชียงใหม่ การเล่นน้ำที่นี่จะอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่มีกลิ่นอายของเชียงใหม่โบราณ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำคลายความร้อนได้อย่างเต็มที่ เพราะในแต่ละปีประตูท่าแพจะเป็นสถานที่หลักในการจัดงานตามประเพณีสงกรานต์ของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ขบวนแห่ดอกไม้ พระพุทธรูป และนางรำ โดยขบวนแห่มักจะมีขึ้นในช่วงเช้าวันแรกของวันสงกรานต์ ต่อจากนั้นก็จะมีการจัดตั้งเวทีประกวดนายและนางสงกรานต์ รวมถึงการจัดบูธแสดงผลงานหัตถกรรมและของดีของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสสนุกกับการเล่นน้ำ ควบคู่ไปกับการเดินชม ชิม ช้อป ของดีของจังหวัดเชียงใหม่ไปในตัว
สงกรานต์เชียงใหม่

ภาพจาก : 501room / Shutterstock.com

คูเมืองเชียงใหม่

         ไม่ไกลจากประตูท่าแพก็มาต่อกันที่ คูเมืองเชียงใหม่ สถานที่เล่นน้ำยอดนิยมสำหรับสงกรานต์เชียงใหม่ในทุกปี โดยคูเมืองเชียงใหม่อยู่ใกล้ ๆ กับประตูท่าแพชนิดที่ว่าเดินถึงกันได้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมความสวยงามของการประดับตกแต่งสถานที่และเล่นน้ำตามวิถีสงกรานต์เชียงใหม่ได้ที่นี่  ซึ่งก่อนวันสงกรานต์จะมีการถ่ายน้ำในคูทิ้งแล้วโรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพน้ำ พร้อมเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค จึงรับรองได้ว่าน้ำจากคูเมืองนั้นสะอาดแน่นอน

สงกรานต์เชียงใหม่

ภาพจาก : Pair Srinrat / Shutterstock.com

กาดสวนแก้ว

          ย่านช้อปปิ้งยอดนิยมของเชียงใหม่ ที่มักจะมีการจัดเวทีคอนเสิร์ตบริเวณลานด้านหน้าอย่างยิ่งใหญ่ช่วงเทศกาล หรือจัดอีเวนต์ต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง รวมถึงช่วงสงกรานต์ด้วย

ถนนนิมมานเหมินท์

         ย่านสุดฮิปของเมืองเชียงใหม่ที่อัดแน่นไปด้วยร้านค้า ร้านกาแฟ รวมถึงที่พักมากมาย เปรียบได้กับถนนข้าวสารในกรุงเทพฯ ที่มีนักท่องเที่ยวจากทุกชาติแวะมาเที่ยวจนครึกครื้น สนุกสนาน ไม่หลับใหล ด้วยเหตุนี้ถนนสายนี้เลยกลายเป็นแหล่งเล่นน้ำยอดฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงสงกรานต์เชียงใหม่ไปด้วย บรรดาร้านค้าก็จะขนเอาถังน้ำมาร่วมเล่นน้ำกับนักท่องเที่ยวอย่างสนุกสนาน ซึ่งบางช่วงถนนหรือซอยก็จะมีการปิดการจราจรให้เล่นน้ำได้อย่างเต็มที่
สงกรานต์เชียงใหม่

ภาพจาก : I love photo / Shutterstock.com

        วันหยุดช่วงสงกรานต์นี้ ถ้ายังไม่รู้จะไปเล่นน้ำที่ไหน ก็ลองตีตั๋วขึ้นเชียงใหม่ไปชุ่มฉ่ำกับสายน้ำเย็น ๆ และวิถีวัฒนธรรมแบบล้านนากันที่เทศกาลสงกรานต์ เชียงใหม่ ปี 2566 ดูนะ
 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ สงกรานต์ 2566

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
งานสงกรานต์เชียงใหม่ 2566 สาดน้ำม่วนใจ๋กับเทศกาลปี๋ใหม่เมือง อัปเดตล่าสุด 30 มีนาคม 2566 เวลา 16:31:00 47,203 อ่าน
TOP