x close

เทศกาลสงกรานต์พระประแดง 2566 ชุ่มฉ่ำสายน้ำ เปี่ยมวัฒนธรรมของชาวรามัญ-ไทย

           สงกรานต์พระประแดงปี 2566 กลับมาอีกครั้ง ในวันที่ 21-23 เมษายน 2566 ที่บริเวณตลาดพระประแดง สมุทรปราการ พร้อมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์พระประแดง
          ชวนเที่ยวงาน สงกรานต์พระประแดง ปี 2566 ที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้งกับงานเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ไทย โดยในปีนี้จะตรงกับวันที่ 21-23 เมษายน 2566 แต่ก่อนจะไปพบกับความสนุกและบรรยากาศคึกคักจัดเต็มให้หายคิดถึง เรามีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์พระประแดงที่คงรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ-ไทย ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เอกลักษณ์ของสงกรานต์พระประแดงโดยเฉพาะมาฝากกัน ดังนี้
สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : yaipearn / Shutterstock.com

เทศกาลงานสงกรานต์
พระประแดง

          เดิมเรียกกันว่า สงกรานต์ปากลัด ถือเป็นวันเทศกาลขึ้นปีใหม่ เป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญ หรือที่เรียกว่า ชาวไทยรามัญ ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองพระประแดง นับเป็นเวลา 180 ปีเศษแล้วที่ชาวมอญได้มาพักพิงอาศัยอยู่ที่ปากลัด และสืบทอดประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญเอาไว้ นั่นก็คือประเพณีสงกรานต์พระประแดง เป็นเทศกาลที่สนุกสนาน รวมประเพณีดั้งเดิมหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน เช่น การส่งข้าวสงกรานต์ตามวัดต่าง ๆ ทำบุญทำทานตอนเช้าตรู่ การไปรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ การเล่นสะบ้าตามหมู่บ้านต่าง ๆ การร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายรามัญ และในวันสุดท้ายของสงกรานต์ ทุกหมู่บ้านจะร่วมใจกันจัดขบวนแห่นางสงกรานต์เพื่อนำขบวนไปปล่อยนกปล่อยปลา ณ อารามหลวง วัดโปรดเกษเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ของชาวมอญ
สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : Rainbow Bkk / Shutterstock.com

สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

ความแตกต่างระหว่าง
เทศกาลงานสงกรานต์พระประแดง
กับเทศกาลสงกรานต์ปกติ

          เทศกาลงานสงกรานต์พระประแดง จะมีภาพรวมของกิจกรรมต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกับประเพณีสงกรานต์ทั่ว ๆ ไป แต่ที่แตกต่างจากประเพณีสงกรานต์อื่น ๆ คือ การจัดงานสงกรานต์พระประแดง จะช้ากว่าวันสงกรานต์ปกติ คือ แทนที่จะจัดในวันที่ 13 เมษายน ก็เลื่อนวันเวลาออกไปเป็นถัดจากวันสงกรานต์อีก 1 สัปดาห์ และเพื่อไม่ให้เกิดการซํ้าซ้อนกับการฉลองสงกรานต์ในเขตพื้นที่อื่น ผู้คนในเขตพระประแดงและเกี่ยวเนื่องไปถึงพระสมุทรเจดีย์แทบจะไม่มีใครเล่นน้ำเลย ทุกคนจะตั้งตารอหลังจากวันสงกรานต์ 1 สัปดาห์ หรือแล้วแต่ที่ทางการกำหนด เพื่อจัดเต็มกับเทศกาลสงกรานต์ที่พระประแดงนั่นเอง

ประเพณีสำคัญและกิจกรรม
ในเทศกาลสงกรานต์พระประแดง

ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์

         ประเพณีสำคัญของชาวรามัญที่พระประแดงนิยมทำกันมาช้านานในช่วงวันสงกรานต์ หรือวันที่ 13-15 เมษายน โดยในแต่ละหมู่บ้านจะมีบ้านใดบ้านหนึ่งรับหน้าที่เป็นผู้หุงข้าวสงกรานต์ เมื่อถึงวันสงกรานต์ บ้านที่รับหน้าที่หุงข้าวสงกรานต์จะปลูกศาลเพียงตาขึ้น โดยใช้เสา 4 ต้น และมีชั้นสำหรับวางเครื่องสังเวยระดับสายตาที่หน้าบ้านของตน ศาลนี้เรียกเป็นภาษารามัญว่า ฮอยสงกรานต์ ซึ่งแปลว่า บ้านสงกรานต์ สำหรับการหุงข้าวสงกรานต์ในสมัยโบราณนั้นต้องนำข้าวมาซ้อมให้ขาว โดยซ้อม 7 ครั้ง เก็บกากข้าวและสิ่งอื่นที่สกปรกออกให้หมด และนำไปซาวน้ำ 7 ครั้ง แล้วนำไปหุงเป็นข้าวสวย แต่หุงให้แข็งกว่าปกติเล็กน้อย แล้วนำมาใส่น้ำเย็นเพื่อไม่ให้เม็ดข้าวเกาะตัวกัน หลังจากนั้นก็ต้มน้ำอีกหม้อหนึ่งให้เดือด แล้วปล่อยให้เย็นลงเพื่อทำน้ำดอกมะลิ เมื่อน้ำเย็นลงแล้วก็นำดอกมะลิมาลอย แล้วนำดอกมะลิมาใส่ข้าวที่หุงเตรียมไว้ ก่อนจะนำไปใส่ในหม้อดินใบเล็ก ๆ ส่วนกับข้าวนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอาหารเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปลาแห้ง เนื้อเค็ม ผักกาดเค็ม หรือยำชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนของหวาน ได้แก่ ถั่วดำต้มน้ำตาล และผลไม้ที่นิยมกัน ได้แก่ กล้วยหักมุก แตงโม เมื่อเตรียมอาหารพร้อมแล้วก็ใส่กระทงจัดใส่ถาดเตรียมไว้เท่ากับจำนวนวัดที่มีอยู่ในเขตตลาดพระประแดง

ประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป

         ในช่วงท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ชาวมอญในพระประแดงจะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูปตามวัดต่าง ๆ โดยวัดที่มีพระพุทธรูปมากมายและสวยงามคือ วัดโปรดเกษเชษฐาราม สำหรับการสรงน้ำพระสงฆ์ของชาวพระประแดง จะสร้างซุ้มกั้นเป็นห้องน้ำด้วยทางมะพร้าว ปูด้วยแผ่นกระดานสำหรับให้พระเข้าไปสรงน้ำ โดยจะนิมนต์พระสงฆ์ที่มีอาวุโสสูงลงสรงก่อน ชาวบ้านจะใช้ขันตักน้ำในโอ่งเทลงไปในราง น้ำจะไหลตามรางเข้าไปในซุ้มที่พระสรง เมื่อพระสงฆ์รูปหนึ่งสรงน้ำเสร็จก็นิมนต์พระรูปต่อ ๆ ไป จากนั้นถึงเป็นเวลาที่ผู้คนจะพากันนำน้ำอบไปสรงน้ำพระพุทธรูปรอบวัด เมื่อเสร็จสิ้นจากการสรงน้ำพระพุทธรูปแล้วหนุ่มสาวก็จะพากันไปรดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่ และเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน
สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : yaipearn / Shutterstock.com

ประเพณีแห่นก-แห่ปลา

         ประเพณีนี้เกิดจากความเชื่อของชาวมอญที่ว่า การปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นการสะเดาะห์เคราะห์ให้แก่ตนเอง ทำให้มีอายุยืนยาว และเป็นประเพณีหนึ่งในเทศกาลสงกรานต์ที่ชาวมอญยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมา จนในที่สุดเทศบาลเมืองพระประแดงพิจารณาเห็นว่า ประเพณีแห่นก-แห่ปลา เป็นประเพณีที่ดี สมควรอนุรักษ์ไว้ จึงได้รับเป็นผู้สืบสานประเพณีนี้ โดยจัดให้มีขบวนแห่นก-แห่ปลา ในขบวนแห่นางสงกรานต์ทุกปีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

ประเพณีการกวนกะละแมปากลัด (กวันฮะกอ)

         เมื่อถึงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญปากลัด ชาวมอญจะทำความสะอาดบ้านเรือนแต่เนิ่น ๆ และทำขนมที่มอญเรียกว่า กวันฮะกอ แปลเป็นภาษาไทยว่า ขนมกวน ประกอบด้วย แป้ง ข้าวเหนียว น้ำตาลมะพร้าว และกะทิ กวนให้เข้ากันจนเหนียว หรือที่คนไทยเรียกว่า กะละแม และนิยมนำขนมกวันฮะกอนี้ไปมอบให้ญาติหรือผู้ที่เคารพนับถือในต่างตำบล โดยถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้เยี่ยมเยียน พบปะสังสรรค์กันนั่นเอง

สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

การละเล่นสะบ้าบ่อน

          การเล่นสะบ้า เป็นการเล่นอย่างหนึ่งที่นิยมแพร่หลายมาแต่โบราณ ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด ซึ่งในอดีตพบการเล่นสะบ้าอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไปอย่างเห็นได้ชัด สำหรับการเล่นสะบ้าของชาวมอญนั้นมี 2 ประเภท คือ แบบที่เล่นกลางวัน เรียกว่า ทอยสะบ้าหัวช้าง และการเล่นสะบ้าบ่อนในตอนกลางคืน

          สำหรับ การเล่นสะบ้าบ่อน หรือที่ชาวมอญเรียกว่า ว่อนฮะนิ เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวมอญที่มีมาแต่โบราณ จะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มักเล่นตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน เป็นต้นไป มีกำหนดตั้งแต่ 3 วัน, 7 วัน หรือ 15 วัน แล้วแต่เจ้าของบ่อน โดยในอดีตมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หนุ่มสาวชาวมอญได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดภายใต้สายตาของผู้ใหญ่ เนื่องจากในอดีตหนุ่มสาวชาวมอญไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกันเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นการเล่นสะบ้าบ่อนของชาวมอญจึงไม่ได้เน้นที่แพ้หรือชนะ แต่หากใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบรูปร่าง หน้าตา กิริยามารยาท การสนทนา บุคลิกภาพ ตลอดจนตรวจสอบความพิการทางร่างกายของหนุ่ม-สาวที่เล่นสะบ้า

สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

เทศกาลงานสงกรานต์พระประแดง
ปี 2566 จัดเมื่อไร

          สำหรับเทศกาลงานสงกรานต์พระประแดง ปี 2566 จะจัดขึ้นในวันที่ 21-23 เมษายน 2566 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า วัดโปรดเกศเชษฐาราม พระอารามหลวง และชุมชน/หมู่บ้านชาวรามัญภายในเขตเทศบาลเมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ จะมีพิธีเปิดงานสงกรานต์พระประแดงอย่างอลังการด้วยขบวนแห่นางสงกรานต์และขบวนรถบุปผชาติ ในวันที่ 23 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป

กิจกรรมในงานสงกรานต์พระประแดง ปี 2566

  • การประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย

  • พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่

  • การกวนกะละแม 

  • การเล่นสะบ้า (สะบ้าบ่อน สะบ้าทอย)

  • การแสดงทะแยมอญของชาวไทยรามัญ

  • ขบวนแห่รถนางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผชาติ

  • ขบวนแห่นก-แห่ปลา 

  • การแสดงแสงสี ณ โบราณสถานป้อมแผลงไฟฟ้า

  • การเล่นน้ำสงกรานต์

  • ชมการแสดงบนเวที

  • เลือกซื้ออาหารพื้นบ้านและอาหารอร่อย

สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

สงกรานต์พระประแดง

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

        ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก เทศบาลเมืองพระประแดง phrapradaeng municipality โทรศัพท์ 0-2462-5028 หรือ เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์สมุทรปราการ โทรศัพท์ 0-2389 -1939

         สำหรับคนชอบเล่นน้ำสงกรานต์ และสงสัยว่า ปี 2566 งานสงกรานต์พระประแดง จะจัดไหม บอกเลยว่าจัดแน่นอน เตรียมความพร้อมไปสนุกกันในวันที่ 21-23 เมษายน นี้ ได้เลย 
 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ เที่ยวสงกรานต์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทศกาลสงกรานต์พระประแดง 2566 ชุ่มฉ่ำสายน้ำ เปี่ยมวัฒนธรรมของชาวรามัญ-ไทย อัปเดตล่าสุด 27 มีนาคม 2566 เวลา 16:26:21 18,982 อ่าน
TOP