สงกรานต์พระประแดง 2568 เทศกาลแห่งความชุ่มฉ่ำ เปี่ยมวัฒนธรรมของชาวไทยมอญ

           สงกรานต์พระประแดง 2568 เต็มอิ่มกันให้จุใจกับเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทย-มอญ ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
           สงกรานต์พระประแดง หรือ สงกรานต์ปากลัด ประเพณีวันปีใหม่ไทยที่กำหนดการช้ากว่าสงกรานต์ปกติประมาณ 1 อาทิตย์ บวกกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันของชาวไทยเชื้อสายมอญ หรือที่เรียกว่า ชาวไทยรามัญ ทำให้ สงกรานต์พระประแดง เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่หลายคนรอคอยไปร่วมสนุกและซึมซับวิถีชีวิตของชาวไทยมอญกัน โดยในปีนี้มีกำหนดการจัดงาน สงกรานต์พระประแดง 2568 ออกมาแล้ว จะมีรายละเอียดอย่างไร เรามีข้อมูลมาฝากกัน ดังนี้

สงกรานต์พระประแดง 2568

สงกรานต์พระประแดง 2568 จัดวันไหน

           ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ ได้แจ้งกำหนดการเกี่ยวกับการจัดงานสงกรานต์พระประแดง 2568 ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2568 ตั้งแต่ที่ว่าการอำเภอพระประแดง ถนนนครเขื่อนขันธ์ ตลอดจนถึงถนนสุขสวัสดิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
สงกรานต์พระประแดง 2568 กำหนดการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก เทศบาลเมืองพระประแดง phrapradaeng municipality

สงกรานต์พระประแดง 2568 กำหนดการ

วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน 2568

  • การซ้อมเดิน 

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2568

  • การประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย ณ อุทยานป้อมแผลงไฟฟ้า

วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2568

  • การแสดงแสง สี เสียง การละเล่นสะบ้ารามัญ 

  • การแสดงดนตรี หน้าท่าเรือพระประแดง 

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2568

  • พิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง

  • ขบวนแห่รถบุปผชาติ นางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย นางประจำปี นางถือเศียรและนางฟ้าทั้ง 7 พร้อมขบวนรถบุปผชาติที่สวยงามตระการตา เพื่ออนุรักษ์ประเพณีชาวไทยรามัญ ประจำปี 2568

  • ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์พระประแดง 

สงกรานต์พระประแดง 2568

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

สงกรานต์พระประแดง 2568 กิจกรรมภายในงาน

      1. กิจกรรมการประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย มีการประกวดนางสงกรานต์ เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเน้นความสนุกสนานรื่นเริง จึงจัดให้มีการประกวดหนุ่มลอยชายควบคู่กับการประกวดนางสงกรานต์ไปด้วย โดยผู้ได้รับตำแหน่งนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชายจะต้องร่วมขบวนแห่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง และจะต้องร่วมเล่นสะบ้าโชว์ตามบ่อนสะบ้ารามัญในชุมชนต่าง ๆ
สงกรานต์พระประแดง ประกวดนางสงกรานต์ 2568

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก เทศบาลเมืองพระประแดง phrapradaeng municipality

สงกรานต์พระประแดง ประกวดหนุ่มลอยชาย 2568

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก เทศบาลเมืองพระประแดง phrapradaeng municipality

      2. กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และเล่นน้ำสงกรานต์ ช่วงท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ชาวไทยเชื้อสายรามัญในพระประแดงจะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป ณ วัดโปรดเกศเชษฐาราม
สงกรานต์พระประแดง 2568 กิจกรรมภายในงาน การสรงน้ำพระพุทธรูป

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

สงกรานต์พระประแดง 2568 กิจกรรมภายในงาน การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่

ภาพจาก : yaipearn / Shutterstock.com

     3. กิจกรรมขบวนแห่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวรามัญ ประกอบด้วย

          ขบวนแห่รถนางสงกรานต์ เป็นขบวนรถที่สำคัญของขบวนแห่สงกรานต์ พระประแดง ซึ่งลักษณะและรูปแบบของรถสงกรานต์จะประกอบด้วยสัตว์ประจำปี ตัวพญานาค จามร ที่อยู่บนเศียรของท้าวมหาพรหม

          ขบวนแห่รถบุปผาชาติ เทศบาลเมืองพระประแดงและชุมชน หมู่บ้าน หน่วยงานต่าง ๆ จะร่วมแรงร่วมใจจัดรถบุปผชาติที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้สวยงามตระการตา โดยมีสาวมอญของแต่ละหมู่บ้านนั่งประจำบนรถในขบวนแห่สงกรานต์พระประแดงเป็นประจำทุกปี

          ประเพณีแห่นก-แห่ปลา จัดให้มีขบวนแห่นก-แห่ปลา ร่วมในขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ เพื่อไปทำพิธีปล่อยนก-ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวง วัดโปรดเกศเชษฐาราม
สงกรานต์พระประแดง 2568 กิจกรรมภายในงาน ขบวนแห่รถบุปผาชาติ

ภาพจาก : Rainbow Bkk / Shutterstock.com

สงกรานต์พระประแดง 2568 กิจกรรมภายในงาน พิธีปล่อยนก-ปล่อยปลา

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

      4. กิจกรรมการละเล่นสะบ้ารามัญ เป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวมอญที่นิยมเล่นทั่วไปตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันการเล่นสะบ้าได้ลดความนิยมลงจนหาดูได้ยาก ซึ่งจะหาดูได้เฉพาะในเทศกาลสงกรานต์พระประแดง
สงกรานต์พระประแดง 2568 กิจกรรมภายในงาน การละเล่นสะบ้ารามัญ

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

      5. กิจกรรมการกวนกะละแม ขนมคู่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ชาวมอญจะทำขนมที่มอญเรียกว่า กวันฮะกอ หรือที่คนไทยเรียกว่า กะละแม นั่นเอง
สงกรานต์พระประแดง 2568 กิจกรรมภายในงาน การกวนกาละแม

ภาพจาก : Artem Z / Shutterstock.com

     6. กิจกรรมกล่อมบ่อนสะบ้ารามัญ การละเล่นร้องเพลงรำประกอบเพลงพื้นบ้านของชาวมอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชนิด คือ เปิงมาง ปี่ ซออู้ ซอด้วง และกลองเล็ก

     7. กิจกรรมย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า (สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5) เพื่อย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์จุดสำคัญที่สุด คือการเปิดอุโมงค์ใต้ป้อมแผลงไฟฟ้า ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่สนใจทั่วไปเข้าชมฟรี

     8. กิจกรรมพิธีทำบุญเมืองและบวงสรวงรัชกาลที่ 2

          และนี่คือข้อมูลของ สงกรานต์พระประแดง 2568 ที่เรานำมาฝากกัน เอาเป็นว่าใครที่ยังไม่จุใจกับ เทศกาลสงกรานต์ช่วงกลางเดือนเมษายน ก็ไปสนุกสนานกันต่อได้ที่พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ได้เลย
 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ เที่ยวสงกรานต์ เที่ยวเดือนเมษายน เที่ยวหน้าร้อน อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สงกรานต์พระประแดง 2568 เทศกาลแห่งความชุ่มฉ่ำ เปี่ยมวัฒนธรรมของชาวไทยมอญ อัปเดตล่าสุด 4 เมษายน 2568 เวลา 13:49:58 1,146 อ่าน
TOP
x close