บ้านน้ำจวง ที่เที่ยวพิษณุโลก อันซีนนาขั้นบันได สโลว์ไลฟ์ตามวิถีชาวม้ง

บ้านน้ำจวง Unseen พิษณุโลก หมู่บ้านในหุบเขาลับ ๆ ที่งดงามและสงบ เหมือนหลุดไปอยู่เมืองนอกให้ธรรมชาติบำบัด

ชวนเที่ยวพิษณุโลก ไปชมความงามของธรรมชาติในช่วงหน้าฝน ณ บ้านน้ำจวง เดินชิลนาขั้นบันไดเขียวชอุ่ม สัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตามประสาชนเผ่าชาวม้ง กับการท่องเที่ยวแบบ Local ที่เหมาะสำหรับนักเดินทางที่รักความสงบ หลงรักความเรียบง่ายของการดำรงชีวิต ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี และภูมิศาสตร์ซึ่งอยู่ในหุบดอยที่สูง สำหรับใครที่อยากไปเที่ยวที่บ้านน้ำจวง เรามีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากกัน ดังนี้ 

นาขั้นบันได บ้านน้ำจวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ลุงป้าหนีเที่ยว

บ้านน้ำจวง พิษณุโลก

บ้านน้ำจวง ตั้งอยู่ที่ไหน

บ้านน้ำจวง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นหมู่บ้านห่างไกลจากตัวเมืองพิษณุโลกกว่า 150 กิโลเมตร มีสภาพภูมิศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประกอบกับวิถีของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวอย่างมาก 

บ้านน้ำจวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ลุงป้าหนีเที่ยว

ประวัติ บ้านน้ำจวง

เดิมทีพื้นที่บ้านน้ำจวงตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง-ภูทอง ชาวบ้านในหมู่บ้านมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร ปลูกผลผลิตได้ปีละ 1 ครั้ง บางครอบครัวตัดสินใจละทิ้งพื้นที่เข้าไปหางานทำในเมืองหลวง จนกระทั่งมีสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือพิษณุโลก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก และอีกหลายหน่วยงาน เข้ามาพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ส่งเสริมให้ทำนาขั้นบันได เทศกาลกินข้าวใหม่ การหลามปลากั้ง และการฝังเข็มจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายผลผลิตการเกษตรที่ปลูกได้มากขึ้น ชาวบ้านที่เห็นคุณค่าก็กลับมาทำงานที่บ้านเกิด และให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจ เพื่อให้นักท่องเที่ยวกระจายข่าวและกลับมาเที่ยวใหม่อีกครั้ง 

การเกษตร บ้านน้ำจวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ลุงป้าหนีเที่ยว

อ่างเก็บน้ำ บ้านน้ำจวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ลุงป้าหนีเที่ยว

บ้านน้ำจวง มีอะไรให้น่าเที่ยว ?

บ้านน้ำจวง มีคุณสมบัติพิเศษคือ ธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวชมการเกษตรแบบ นาขั้นบันได บนเนินสองเต้า หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ซาปาเมืองไทย ร่วมสนุกสนานไปกับ เทศกาลกินข้าวใหม่ หรือ ข้าวโค้ว ที่เป็นเอกลักษณ์ของวิถีชนเผ่าม้ง และมีจุดท่องเที่ยวที่ต้องให้เจ้าถิ่นนำทางไป เนื่องจากต้องใช้รถกระบะ 4x4 ไต่ไปตามเขา เช่น น้ำตกตาดปลากั้ง น้ำตกตาดปลาขาว อ่างเก็บน้ำอันเนื่องจากพระราชดำริบ้านน้ำจวง ศูนย์อนุรักษ์ต้นน้ำน้ำภาค และศูนย์การเรียนรู้ภูทับสี่ บ้านน้ำจวง

นาขั้นบันได บ้านน้ำจวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ลุงป้าหนีเที่ยว

อ่างเก็บน้ำ บ้านน้ำจวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ลุงป้าหนีเที่ยว

น้ำตก บ้านน้ำจวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ลุงป้าหนีเที่ยว

นอกจากนี้ยังมี หมอฝังเข็ม ที่มีฝีมือระดับแนวหน้าในการรักษา ซึ่งล้วนแล้วแต่ผ่านการอบรมจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และในปี 2565 กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ได้ประกาศให้บ้านน้ำจวงผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2565 โดยเฉพาะการฝังเข็มเพื่อรักษาสุขภาพ สำหรับผู้ที่นอนไม่ค่อยหลับ ผู้ที่ปวดเมื่อยตามร่างกาย และผู้ที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม 

หมอฝังเข็ม บ้านน้ำจวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ลุงป้าหนีเที่ยว

ที่พักบ้านน้ำจวง

หากตั้งใจไปพักค้างแรมควรไปตั้งแต่กลางวันและติดต่อชาวบ้านในชุมชน ซึ่งพอจะมีที่พักแนวโฮมสเตย์ไว้ให้บริการ หรือสามารถติดต่อจองที่พักของศูนย์การเรียนรู้เขตภูทับสี่ ที่มีทั้งแบบบ้านพักเป็นหลังและลานกางเต็นท์ วิว 360 องศา นอกจากนี้ยังมีจุดกางเต็นท์ท่ามกลางหุบเขาน้ำตกตาดปลาขาวเอาไว้รองรับนักท่องเที่ยวด้วย 

หมู่บ้านน้ำจวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ลุงป้าหนีเที่ยว

การเดินทางไปยังบ้านน้ำจวง

จากตัวเมืองพิษณุโลก ใช้เส้นทางหลวง 1296 และ 1143 จากนั้นให้เลี้ยวเข้าเส้นทางหลวง 1237 (ถนนสายเดียวกับทางไปอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ) เมื่อถึงโรงเรียนบ้านนาตอน เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายรองอีกประมาณ 20 กิโลเมตร 

ต้นไม้คู่ บ้านน้ำจวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ลุงป้าหนีเที่ยว

สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากไปเที่ยวชมสัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตของชนเผ่า สามารถไปเที่ยวกันได้ที่ บ้านน้ำจวง หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ นายนิรันดร์ ลีวัฒนะกุล ประธานกลุ่มท่องเที่ยวในชุมชนบ้านน้ำจวงอย่างยั่งยืน โทรศัพท์ 06-3067-6100 หรือ เฟซบุ๊ก ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศูนย์การเรียนรู้ภูทัพสี่ บ้านน้ำจวง โทรศัพท์ 08-8542-2237 และ Line su48330092

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ ที่เที่ยวพิษณุโลก ไหว้พระพิษณุโลก อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บ้านน้ำจวง ที่เที่ยวพิษณุโลก อันซีนนาขั้นบันได สโลว์ไลฟ์ตามวิถีชาวม้ง อัปเดตล่าสุด 20 มิถุนายน 2567 เวลา 13:10:32 109,926 อ่าน
TOP
x close