x close

วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ไหว้พระนอน ขอพรหลวงพ่ออุปถัมภ์-พระอินทร์แปลง

           วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จ.อยุธยา วัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ไปสักการะพระนอนองค์ใหญ่ พร้อมขอพรหลวงพ่อพระอุปถัมภ์เรื่องสุขภาพ ขอลูก และไหว้พระอินทร์แปลงเสริมเรื่องความเจริญก้าวหน้า
          วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร วัดโบราณที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในตัวเกาะเมือง ด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ใกล้กับตลาดหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวง ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย บรรยากาศในวัดร่มรื่น เงียบสงบ คนนิยมไปไหว้พระนอน หลวงพ่ออุปถัมภ์ และพระอินทร์แปลง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด เพราะเชื่อกันว่าหากใครได้มาไหว้พระอยุธยาที่นี่จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชีวิต ความน่าสนใจของวัดเก่าแก่แห่งนี้ยังมีอีกมากมาย เอาเป็นว่าตามเราไปชมกันเลย

วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ไหน

          วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร (อ่านว่า เส นา สะ นา ราม ราด ชะ วอ ระ วิ หาน) ตั้งอยู่ที่ หมู่ 10 ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุตนิกาย และมีกฐินพระราชทานเป็นประจำทุกปี

ประวัติวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

          เดิมชื่อ วัดเสื่อ เป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ในกำแพงหน้า หลังพระราชวังจันทรเกษม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารว่าได้สร้างขึ้นพร้อมพระราชวังจันทรเกษม โดยสร้างให้เป็นวัดประจำพระราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระยศเป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ได้โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับในคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงศรีอยุธยา เมื่อราวปี พ.ศ. 2120 ต่อมาพระเจ้าปราสาททอง พระชนกนาถแห่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระองค์ได้ทรงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระที่นั่งนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุชาธิราช คือ พระเอกาทศรถ เป็นพระมหาอุปราช พระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับ จนเป็นธรรมเนียมว่า พระราชวังจันทรเกษม เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช โดยมีวัดเสื่อเป็นวัดประจำพระราชวังตลอดมา ทั้งรุ่งเรืองและได้กลายเป็นพื้นที่รกร้างพร้อมกันในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2310
วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

          ต่อมาในสมัยราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสวยราชสมบัติทรงระลึกถึงพระนารายณ์ราชนิเวศน์แล้วไม่สบายพระทัย ตกลงพระทัยทำผาติกรรม คือตอบแทนให้มีค่าควรกันตามพระวินัย สถาปนาวัดสำคัญที่ทรุดโทรม 3 วัด เพื่อเป็นผาติกรรม โดยมีพระประสงค์จะให้เป็นที่อยู่ของพระรามัญวัดหนึ่ง เป็นที่อยู่วัดมหานิกายวัดหนึ่ง และเป็นที่อยู่ของวัดธรรมยุตวัดหนึ่ง คือ

          1. ปฏิสังขรณ์วัดขวิด ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ารามัญนิกาย พระราชทานนามว่า "วัดกวิศราราม"

          2. ปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายาราม ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกาย

          3. ปฏิสังขรณ์วัดเสื่อ ซึ่งร้างอยู่ท้ายพระราชวังจันทรเกษม ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุตนิกาย พระราชทานนามใหม่ว่า วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร คล้อยตามนามเก่าที่ว่า วัดเสื่อ ในปี พ.ศ. 2406 สิ้นพระราชทรัพย์ 300 ชั่งเศษ แล้วจึงอาราธนาพระครูพรหมเทพาจารย์ (บุญรอด พฺรหฺมเทโว) พระธรรมยุตนิกายพร้อมทั้งลูกคณะซึ่งอยู่ ณ วัดขุนญวน อันเป็นวัดที่พระองค์เคยเสด็จประทับในสมัยเมื่อทรงผนวช ให้ย้ายมาอยู่วัดเสนาสนารามแต่นั้นมา นับเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ซึ่งถ้าจะคำนวณอายุวัดเสนาสนารามฯ นับตั้งแต่การสร้างพระราชวังจันทรเกษม ตราบถึงการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 4 จะมีอายุไม่น้อยกว่า 300 ปี นับว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติอันยาวนานวัดหนึ่ง ถือเป็นสัญลักษณ์ความเจริญรุ่งเรืองของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายมาตราบเท่าทุกวันนี้

วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

สิ่งน่าสนใจวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

  • พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2406 หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนขนาด 7 ห้อง กว้าง 3 ห้อง ตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง 1.15 เมตร มีมุขหน้าและหลัง หน้าบันมุขเป็นลายปูนปั้นรูปช้างเอราวัณ มีพระมหามงกุฎอยู่หลังช้าง มีพระเศวตฉัตรประดับอยู่ 2 ข้าง พื้นหลังประดับกระจกสีครามและปิดทอง มุขด้านหน้าพระอุโบสถด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสัมฤทธิ์ปางเปิดโลก ซุ้มเป็นรูปปูนปั้นประดับกระจกยอดทรงมงกุฎ 3 ยอด ประตูข้างเป็นยอดปราสาทมีซุ้มจระนำ ภายในมีปูนปั้นพระมหามงกุฎและพระเศวตฉัตร ซุ้มหน้าต่างทำแบบเดียวกัน มีหน้าต่างด้านละ 7 บาน ประตูด้านละ 2 บาน ภายในพระอุโบสถเหนืออาสนสงฆ์เป็นที่ตั้งซุ้มเรือนแก้วยอดเป็นรูปพระมหามงกุฎ ประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก 2 นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี 3 ศอก 1 นิ้ว มีพระนามว่า “พระสัมพุทธมนี” พระประธานในพระอุโบสถ นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่น มีรองพื้น มีทัศนียวิสัย เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่องพระราชพิธี 12 เดือน และบริเวณด้านหลังพระอุโบสถตั้งพระเจดีย์องค์ใหญ่รวมไว้ในเขตพัทธสีมา มีใบเสมา หินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมตั้งไว้บนกำแพงแก้วฝาผนัง
พระอุโบสถ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

พระอุโบสถ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

พระอุโบสถ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

  • วิหารพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์ อยู่ติดกับพระเจดีย์องค์ใหญ่ และวิหารหลวงพ่อพระอินทร์แปลง ซึ่งพระวิหารนี้ตั้งขวางกับพระอุโบสถ เป็นศิลปะแบบอยุธยา ประกอบด้วยศิลาเป็นท่อน ๆ นำมาเรียงต่อกันแล้วสลักเป็นองค์พระมีขนาดยาว 14.2 แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระมหาธาตุ สมัยรัชการที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวิหารพระนอนขึ้นในวัด แล้วอัญเชิญพระพุทธไสยาสน์จากวัดพระมหาธาตุมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ เชื่อกันว่าหากใครสักการบูชาจะช่วยเสริมชะตาชีวิตเป็นสิริมงคลประสบผลสำเร็จสมปรารถนา
วิหารพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์

          คาถาบูชาพระนอน

          ตั้งนะโม 3 จบ
          ยัสสา นุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง
          ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต
          สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ
          เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เสฯ

วิหารพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์

  • ขอพรหลวงพ่ออุปถัมภ์ ปางพระพุทธเจ้าทรงพยาบาลพระภิกษุอาพาธ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารพระนอน ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าผู้ใดได้กราบสักการบูชาอธิฐานขอพรจะสัมฤทธิ์ผลทุกประการ โดยเฉพาะเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ขอลูก ขอให้มีผู้อุปถัมภ์ มีผู้ให้ความเมตตา มีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน
ขอพรหลวงพ่ออุปถัมภ์

          คำบูชาพระอุปถัมภ์

          ตั้งนะโม 3 จบ
          พุทธัง โลกะอุปัตถัมภัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง
          หิตัง เทวะมะนุสสานัง นะมามิ สิระสา อะหัง
          อโรโค สุขิโต โหมิ พุทธะเตเชนะ โสตถินา ฯ

          วิธีปฏิบัติ : ตั้งนะโม 3 จบ ตั้งจิตอธิษฐานขอบารมีหลวงพ่อโปรอดเมตตาแก่ลูกด้วย ขอให้ ... (1 อย่าง) ... ลูกจะตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ ประกอบด้วยธรรม เป็นเนืองนิตย์ เทอญฯ

          *เมื่อสำเร็จแล้ว บูชาด้วยธูป 9 ดอก เทียนขาว 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก กล้าวน้ำหว้า น้ำบริสุทธิ์*

วิหารพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์

พระอินทร์แปลง วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

          พระวิหารพระอินทร์แปลง สถานที่ประดิษฐาน "พระอินทร์แปลง" พระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ศิลปล้านช้างปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 2 ศอกเศษ สูงตลอดพระรัศมี 3 ศอก 3 นิ้ว มีพระสาวกยืนถวายสักการะอยู่ทั้ง 2 ข้าง เป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2401 ประดิษฐานบนฐากซุกชี ด้านหลังทำเป็นรูปซุ้มศรีมหาโพธิ์ทำด้วยปูนปั้น ตอนบนสุดเขียนวิทยาธร คั่นด้วยริ้วริบบิ้นตลอดทั้ง 3 ด้าน แล้วเขียนลายดอกไม้ร่วง เหนือขอบหน้าต่างเขียนเทพชุมนุมนั่งพนมมือหันหน้าไปทางพระประธาน ระหว่างองค์เทพคั่นด้วยตาลปัตร มีเส้นลวดกั้นภาพ ระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนภาพเล่าเรื่อง มีภาพวัดเสนาสนาราม 3 ช่อง ตรงมุมด้านหน้าพระวิหารเขียนภาพพระสงฆ์เดินลงจากวิหารพระอินทร์แปลง เขียนใบหน้าเป็นภาพเหมือนมีแสงเงาน่าจะเป็นพระเถระสำคัญรูปหนึ่ง เชื่อกันว่าหากได้สักการะจะเสริมเรื่องความเจริญก้าวหน้า ประสบความโชคดี และมีอำนาจวาสนา
พระอินทร์แปลง วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

          บทสวดบูชาพระอินทร์แปลง

          นะโม 3 จบ
          อินทะกะระณะพุทธัง อะหัง วันทามิ สัพพะโส
          นะโมพุทธายะ นะมามิ สิระสา อะหัง
          อินทะกะระณะพุทธัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
          อินทะกะระณะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เม

พระอินทร์แปลง วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

พระอินทร์แปลง วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

การเดินทางไปวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

          จากตัวเมืองอยุธยามุ่งหน้าไปยังถนนเลียบคลองมะขามเรียง วิ่งเลียบคลองไปจนสุดถนน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนป่ามะพร้าว ไม่ไกลจะถึงทางเลี้ยวขวาเข้าวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
การเดินทางไปวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

ดูดวงไพ่เทวะมันตรา พยากรณ์ และ ไพ่ยิปซี แม่น ๆ เช็กกันที่นี่เลย ดวงชะตาในช่วงนี้ ทั้ง 12 ราศีมีอะไรต้องเจอกันบ้างไม่ว่าจะเรื่องเงินทอง ความรัก หรือสุขภาพ ห้ามพลาด ตรวจสอบลัคนาและราศีเกิดของคุณกันเลย

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ไหว้พระนอน ขอพรหลวงพ่ออุปถัมภ์-พระอินทร์แปลง อัปเดตล่าสุด 8 กันยายน 2566 เวลา 18:23:14 11,715 อ่าน
TOP