โครงการหลวง 9 ที่เที่ยวโครงการหลวง ชวนเที่ยวตามรอยเท้าพ่อหลวง

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          โครงการหลวงอันเกิดจากแนวพระราชดำริของในหลวง ที่ที่คุณจะได้พบกับความสวยงามของธรรมชาติ ลองได้ไปเที่ยวเป็นต้องตกหลุมรักกันทุกคน

          โครงการหลวงได้ก่อกำเนิดขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในเขตพื้นที่ต่าง ๆ และได้เห็นความยากลำบากของราษฎร และเกิดแนวพระราชดำริจัดตั้งโครงการหลวงขึ้นมาเพื่อพัฒนาพื้นที่ทางเกษตร และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น

          ปัจจุบันพื้นที่โครงการหลวงหลายแห่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และยังท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวจะได้พบกับบรรยากาศชิล ๆ ท่ามกลางทุ่งนา ดอกไม้ ท้องฟ้า ลำธาร และน้ำตก ทำให้โครงการหลวงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะกับการเดินทางมาพักผ่อน และรื่นรมย์ไปกับทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงาม วันนี้เราเลยได้รวบรวม 9 ที่เที่ยวโครงการหลวงมาฝากเพื่อน ๆ กันค่ะ

ที่เที่ยวโครงการหลวง

1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย จังหวัดเชียงใหม่

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีเขตติดต่อและซ้อนทับกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และอุทยานแห่งชาติออบหลวง โดยมีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งพัฒนาอาชีพ สังคม และสภาพความเป็นอยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมนั้นทำไร่แบบหมุนเวียนไม่มีเกษตรถาวร สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน และขาดปัจจัยพื้นฐานในด้านต่าง ๆ

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ที่นี่มีกิจกรรมท่องเที่ยวมากมาย ทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ชมแปลงสาธิตพืชผักต่าง ๆ กาแฟพันธุ์อาราบิก้า อะโวคาโดพันธุ์แฮส (Hass), การทำนาขั้นบันไดของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง หรือจะไปเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติออบหลวง, น้ำตกแม่เตี๊ยะ, น้ำตกแม่สะเคอะ และจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามและเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยสองเมีย ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ของชาวกะเหรี่ยง

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย มีบ้านพักรับรองจำนวน 1 หลัง รองรับได้ 10 คน มีสถานที่กางเต็นท์ และบริการเช่าเต็นท์ขนาด 2 คน หากต้องการพักแรมแบบโฮมสเตย์มีบริการที่บ้านขุนแตะ ส่วนภายในศูนย์ไม่มีร้านอาหารบริการนักท่องเที่ยวต้องเตรียมมาเอง

          การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (สายเชียงใหม่-ฮอด) ถึงอำเภอจอมทองบริเวณ กม.ที่ 58 เลี้ยวขวาเข้าถนนจอมทอง-น้ำตกแม่เตี๊ยะ (ข้างที่ว่าการอำเภอจอมทอง) เข้าไป 7 กิโลเมตร จะพบแยกขวาไปที่ทำการอุทยานฯ น้ำตกแม่เตี๊ยะ เป็นถนนลูกรังตรงไปจนถึงทางเข้าบ้านห้วยส้มป่อย เส้นทางนี้สามารถใช้รถยนต์ได้ทุกประเภท ยกเว้นฤดูฝนควรใช้รถโฟร์วีลไดรฟ์ (ไม่มีบริการรถยนต์รับจ้าง)

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย หมู่ 8 ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่  โทรศัพท์ 053-228-240, 053-318-327

ที่เที่ยวโครงการหลวง

2. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว จังหวัดเชียงใหม่

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524 เป็นศูนย์ขนาดเล็ก พื้นที่รับผิดชอบ 48.54 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 14 หมู่บ้าน 995 ครัวเรือน ประกอบด้วยคนพื้นเมืองและชาวเขาเผ่าม้ง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 450 เมตร

          ที่นี่มีกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น ชมแปลงสาธิตไม้ผลเขตร้อน เช่น มะละกอ มะม่วง มะปราง พุทรา ขนุน ฯลฯ ที่นี่เป็นแหล่งปลูกมะม่วงหลายชนิดอย่าง มะม่วงพันธุ์เออร์วิน มะม่วงนวลคำ ที่มีผลขนาดใหญ่ น้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัม รับประทานได้ทั้งดิบและสุก, ชมสวนลิ้นจี่ของชาวบ้านที่ปลูกอยู่มากมายรอบ ๆ ศูนย์ (ลิ้นจี่จะเก็บผลผลิตช่วงเดือนพฤษภาคม)

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ชมวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวเขาเผ่าม้ง โดยเฉพาะประเพณีปีใหม่ม้ง ประเพณีสืบชะตาหลวงประจำหมู่บ้าน จัดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และประเพณีตานข้าวใหม่ จัดขึ้นหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคมของทุกปี หรือเที่ยวทางธรรมชาติชมน้ำตกตาดครก น้ำตกขนาดเล็กที่มีน้ำตลอดปี เป็นแหล่งที่มีปลามุงอาศัยอยู่ ซึ่งนับว่าเป็นปลาหายากของประเทศไทย

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยวไม่มีบริการที่พักและร้านอาหาร นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมแวะชมแล้วกลับ ไม่นิยมค้าง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่กางเต็นท์เหนืออ่างเก็บน้ำห้วยเสี้ยวไว้ให้บริการ แต่ไม่มีบริการเช่าเต็นท์และถุงนอน

          การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เส้นทาง 108 เชียงใหม่-ฮอด ประมาณ กม.ที่ 10-11 ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวง 1269 หางดง-สะเมิง ระยะทาง 12 กิโลเมตร จะพบป้ายโครงการห้วยเสี้ยวด้านซ้าย เข้าถนนลูกรังอีก 3.5 กิโลเมตร รวมระยะทาง 29 กิโลเมตร ฤดูฝนการคมนาคมลำบาก

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว บ้านห้วยเสี้ยว ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-248-425, 089-850-6586

3. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น จังหวัดเชียงราย

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ในเขตหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนพืชเสพติด เพิ่มรายได้และยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ตลอดจนเผยแพร่วิทยาการด้านการเกษตรแผนใหม่ ประชากรในพื้นที่ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ามูเซอ อาข่า กะเหรี่ยง และจีนยูนนาน

          ที่นี่มีกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น แปลงส่งเสริมผลผลิตตามฤดูกาล เช่น มะระหยก มะเขือม่วงก้านเขียว พริกซุปเปอร์ฮอท ชา กะหล่ำดาว ฯลฯ, ชมแปลงไม้ผล ได้แก่ พลับ พลัม บ๊วย ฯลฯ, ชมวิถีชีวิตชาวอาข่า พิธีโล้ชิงช้า ช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี มีการแต่งกายชุดประจำเผ่าที่สวยงาม การละเล่น การฟ้อนรำของชาวอาข่า  เช่น รำกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ หรือท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ณ จุดชมทัศนียภาพดอยม่อนล้าน และเส้นทางเดินชมธรรมชาติดอยม่อนล้าน เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกช่วงฤดูหนาว และน้ำตกห้วยชมพู เป็นน้ำตกชั้นเดียว สูง 80 เมตร มีเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ป่าดิบเขา พรรณไม้ กล้วยไม้ป่า แมลงชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ไม่มีบ้านพักให้บริการ ในกรณีนำเต็นท์มาเองไม่คิดค่าบริการ ส่วนร้านอาหารไม่มีบริการ สามารถนำอาหารไปทำเองได้ หรือใช้บริการร้านอาหารในหมู่บ้านของชาวอาข่า

          การเดินทาง : จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ผ่านอำเภอเวียงป่าเป้า ถึงบริเวณหลัก กม.ที่ 110 บ้านแม่ต๋ำ เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 25 กิโลเมตร สภาพเส้นทางเป็นถนนลูกรังค่อนข้างลำบาก ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น บ้านห้วยแม่สรวย หมู่ 16 ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 089-854-4176, 053-163-344

ที่เที่ยวโครงการหลวง

4. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงราย

          ด้วยเหตุที่ทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลาย เพราะชาวบ้านบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ข้าวไร่และข้าวโพด พ.ศ. 2525 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี โปรดให้ตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำรินขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวเขาลดการปลูกฝิ่น มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร ทำการเกษตรด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ครอบคลุมพื้นที่ 6 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 8 บ้านเมืองน้อย บ้านห้วยน้ำริน บ้านดอยมด และหมู่ที่ 10 บ้านห้วยม่วง บ้านแสนเจริญ บ้านแม่ขะจาน ประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ามูเซอ กะเหรี่ยง และคนพื้นเมือง

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ที่นี่กิจกรรมท่องเที่ยว เช่น ชมแปลงส่งเสริมและสาธิตผลผลิตตามฤดูกาล เช่น หัวผักกาดขาว คะน้าฮ่องกง สตรอว์เบอร์รี, ชมแปลงไม้ดอก เช่น ไฮเปอร์ริกัม เฟิร์นเขากวาง, ชมวิถีชีวิตของชาวเขา เช่น การตำข้าวโดยใช้ครกกระเดื่อง การทอผ้ากี่เอวแบบกะเหรี่ยงของกลุ่มแม่บ้าน การทำไม้กวาดดอกหญ้าของกลุ่มแม่บ้านเมืองน้อย การตีเครื่องเงินแบบกรรมวิธีโบราณ หรือจะไปท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างบ่อน้ำพุร้อนแม่ขะจาน ระยะทางจากศูนย์ 16 กิโลเมตร และน้ำตกเมืองน้อย เป็นน้ำตกจากหน้าผาสูง 10 เมตร และไหลเป็นทางไปจนถึงน้ำตกห้วยม่วง เป็นเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ป่าเขา พรรณไม้ นำเที่ยวโดยไกด์ท้องถิ่นที่เป็นคนในชุมชน

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน มีบ้านพักรับรอง 2 หลัง รองรับได้หลังละ 10 คน มีสถานที่กางเต็นท์ บริการเช่าเต็นท์พร้อมถุงนอน ซึ่งภายในศูนย์ไม่มีร้านอาหารบริการ แต่สามารถสั่งจองอาหารล่วงหน้าก่อนการเดินทาง หรือสามารถเตรียมอาหารมาทำเองก็ได้ นอกจากนี้บริเวณบ่อน้ำพุร้อนแม่ขะจาน ก็มีร้านอาหารไว้คอยให้บริการมากมาย ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสชีวิตชนเผ่ามูเซอ สามารถพักแบบโฮมสเตย์ที่ห้วยน้ำริน-ห้วยมด และที่พักแบบเกสต์เฮ้าส์ที่บ้านเมืองน้อย พักได้ 50 คน

          การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ประมาณหลัก กม.ที่ 63-64 จะมีทางแยกซ้ายตรงทางเข้าโครงการ เป็นถนนลาดยาง 8 กิโลเมตร ต่อด้วยถนนลูกรัง 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 72 กิโลเมตร

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน บ้านห้วยน้ำริน หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 053-163-343, 081-030-6417, 083-323-2825

ที่พักโครงการหลวง

5. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง จังหวัดเชียงใหม่

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522 ด้วยแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีพ และขาดการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านอาชีพที่ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแลให้ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม ที่นี่จึงมุ่งเน้นพัฒนาอาชีพทางด้านการเกษตรที่เหมาะสม นำรายได้ที่มั่นคงมาสู่ชุมชน ยับยั้งการบุกรุกป่าจากการทำไร่เลื่อนลอย และสกัดกั้นการปลูกฝิ่น

          โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวงตั้งอยู่ในหุบเขา ทัศนียภาพจึงมีความงดงามเป็นพิเศษ พื้นที่เหมาะแก่การทำนาและปลูกพืช ส่วนพื้นที่ลาดเชิงเขาเหมาะแก่การปลูกผลไม้และพืชไร่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 980 เมตร ประชากรในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง นับถือศาสนาพุทธและคริสต์

          มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย เช่น ชมแปลงสาธิตการผลิตพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผลตามฤดูกาล พืชผัก ไม่ว่าจะเป็นผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แครอท และเบบี้แครอท พลับ องุ่น กีวี พลัม หรือจะไปเที่ยวน้ำตกห้วยกระแส เดินทางจากศูนย์ประมาณ 5 กิโลเมตร และเดินเท้าอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะได้สัมผัสกับป่าสนเขาน้ำตกหลายชั้น ซึ่งแม้จะมีปริมาณน้ำไม่มากนักแต่ก็มีน้ำไหลรินชุ่มชื่นอยู่ตลอดทั้งปี

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ตะลุยน้ำตกบ้านโป่งสมิต แหล่งท่องเที่ยวที่มีอย่างน้อย 3 จุด ที่ต้องเดินเท้าผ่านทุ่งนาเพื่อชมวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง การทำนาและปลูกพืชแบบนาขั้นบันได หรือไปไหว้พระที่วัดพระธาตุศรีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ สามารถไปนมัสการพระธาตุได้ตลอดทั้งปีและชมทิวทัศน์ที่สวยงามโดยรอบ

          นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง เช่น ปางช้างแม่วิน ห่างจากศูนย์ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมการล่องแพ ขี่ช้าง ตามลำน้ำแม่วาง, ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ห่างจากศูนย์ประมาณ 17 กิโลเมตร เป็นแหล่งที่มีการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งจะออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี และหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สะงะ อยู่ห่างจากศูนย์ประมาณ 17 กิโลเมตร เหมาะแก่การท่องเที่ยวแบบเดินป่า บริเวณพื้นที่มีลานกางเต็นท์ค้างแรมเพื่อซึมซับกับธรรมชาติจากผืนป่าและต้นไม้ นักท่องเที่ยวส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ

          ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง มีบ้านพักนักท่องเที่ยวหรือผู้มาศึกษาเรียนรู้ดูงาน จำนวน 2 หลัง รองรับได้ประมาณ 30 คน มีลานเพื่อใช้สำหรับกางเต็นท์ให้กับนักท่องเที่ยว สามารถกางเต็นท์ได้ประมาณ 20 หลัง แต่ศูนย์ไม่มีร้านอาหารรองรับนักท่องเที่ยว หากต้องการให้ทางศูนย์เตรียมอาหารต้องสั่งจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์

          การเดินทาง : ระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงศูนย์ประมาณ 65 กม. ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหมายเลข 108 สายเชียงใหม่-ฮอด ผ่านอำเภอสันป่าตองประมาณ 700 เมตร ให้เลี้ยวขวาไปตำบลบ้านกาด ผ่านอำเภอแม่วางและปางช้างแม่วิน กระทั่งถึงวัดพระธาตุศรีพุทธิวงศ์ ศูนย์อยู่ห่างไปประมาณ 500 เมตร ระยะทางแยกอำเภอสันป่าตองถึงศูนย์ 48 กิโลเมตร (หมายเหตุ : ใช้รถยนต์ได้ทุกประเภท ถนนลาดยางเดินทางได้ตลอดทั้งปี แต่ไม่ควรบรรทุกสัมภาระจนหนักเกิน เพราะเป็นเส้นทางขึ้นเขาและคดเคี้ยว (ไม่มีบริการรถยนต์รับจ้าง)

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง บ้านห้วยตอง เลขที่ 79 หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 098-2789061 หรือ 084-9483546

ที่เที่ยวโครงการหลวง

6. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จังหวัดเชียงใหม่

          หมู่บ้านแม่แฮและหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง ในเขตตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง และตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ราษฎรที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง และจีนยูนนาน ประกอบอาชีพทำนาและทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ข้าวไร่ ข้าวโพดและเลี้ยงสัตว์ตามธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาอาชีพของประชากรชาวเขาหมู่บ้านแม่แฮและหมู่บ้านใกล้เคียง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี  ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ขอให้สำนักเกษตรภาคเหนือ เป็นผู้ดำเนินงาน "โครงการหลวงพัฒนาเกษตรที่สูงแม่แฮ" ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ"

          ที่นี่มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น ชมแปลงสาธิตการผลิตพืชผักเมืองหนาว ได้แก่ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหวาน กะหล่ำปลีแดง และสาธิตการเพาะกล้าผักเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ, ชมแปลงสาธิตการผลิตไม้ผล ได้แก่ พลับ องุ่น กีวี เคพกูสเบอร์รี สาลี่

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีจุดท่องเที่ยว เช่น ดอยม่อนยะ สามารถชมวิวของศูนย์และยอดดอย จุดที่สูงที่สุดในพื้นที่คือดอยม่อนยะ ตั้งอยู่ในเขตบ้านห้วยน้ำจางและม่อนยะใต้ ตลอดเส้นทางสู่ยอดดอยจะได้สัมผัสกับทิวทัศน์ที่สวยงาม ชมดอกซากุระบาน (นางพญาเสือโคร่ง) ช่วงฤดูหนาวในพื้นที่ศูนย์ รวมทั้งริมถนนมีดอกบัวตองบานในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน ตลอดเส้นทางสายแม่เตียน-แม่แฮ-ป่าเกี๊ยะน้อย รวมทั้งแม่แฮ-ห้วยขมิ้นนอก การเดินทางสะดวกสบายสามารถเดินทางโดยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์

          สวนสตรอว์เบอร์รีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่บ้านบ่อแก้ว เก็บผลผลิตช่วงพฤศจิกายน-มีนาคม, หน่วยจัดการต้นน้ำแม่สะงะ อยู่ห่างจากศูนย์ประมาณ 7 กิโลเมตร เหมาะแก่การท่องเที่ยวแบบเดินป่า บริเวณพื้นที่มีลานกางเต็นท์ค้างแรมเพื่อซึมซับกับธรรมชาติจากผืนป่าและต้นไม้ นักท่องเที่ยวส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ, กังหันลม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณบ้านแม่แฮเหนือ บริเวณดังกล่าวสามารถเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามบริเวณพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ, รอยพระบาท คนในชุมชนเชื่อว่าเป็นรอยพระบาทของคนยุคสมัยโบราณซึ่งสามารถเห็นรอยมือและรอยเท้าได้อย่างชัดเจน และบ่อน้ำแร่ธรรมชาติ อยู่ห่างจากศูนย์ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นต้น

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ มีบ้านรับรองภายในศูนย์จำนวน 2 หลัง รองรับจำนวนประมาณ 34 คน และยังมีโฮมสเตย์บ้านแม่แฮเหนือ ปัจจุบันมี 6 หลัง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 40 คน เป็นบ้านพักโฮมสเตย์ที่น่าอยู่ สะอาด เจ้าของบ้านมีอัธยาศัยดีมีความเป็นกันเองบ้านแต่ละหลังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมีวิวสวยงาม

          การเดินทาง :
ระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงศูนย์ประมาณ 101 กม. ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (สายเชียงใหม่-ฮอด) ถึงอำเภอสันป่าตองเลี้ยวขวาบริเวณแยกบ้านกาด  เข้าทางหลวงหมายเลข 1013 (ถนนสันป่าตอง-แม่วาง) อีก 27 กิโลเมตร ผ่านศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวงไปอีก 16 กิโลเมตร จะถึงศูนย์

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ บ้านแม่แฮเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 085-7161122, 091-8529435 หรือ 084-9483546


ที่เที่ยวโครงการหลวง

7. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

          เดิมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง ขึ้นอยู่กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย จนกระทั่ง พ.ศ. 2536 จึงแยกออกมาตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง เพื่อความสะดวกของราษฎรชาวเขาในการเดินทางมาปรึกษาเรื่องพื้นที่ทำกินและการทำอาชีพการเกษตร ซึ่งที่นี่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 800-1,000 เมตร ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและที่ราบหุบเขามีความลาดชัน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและลัวะ

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น ชมแปลงผักชาวเขาอย่างถั่วแดงหลวง กะหล่ำ ฟักทอง มันฝรั่ง, ชมแปลงผักไม้เมืองหนาว, ชมการทำนาขั้นบันไดของชาวเขาเผ่าละว้า, ชมวิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยง, ชมพิพิธภัณฑ์บ้านละว้า ภายในจำลองวิถีชีวิต เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และภาพชนเผ่าดั้งเดิมในสมัยพญามังราย, ชมหัตถกรรมชาวเขา เช่น ทอผ้า ตีมีด เครื่องจักสาน เครื่องประดับ ฯลฯ

          นอกจากนี้ยังมีเส้นทางชมธรรมชาติบ้านอมพาย เป็นเส้นทางชมพรรณไม้ ดูนก มีจุดชมวิวที่สวยงาม, น้ำตกฮากไม้ใต้ เป็นธารน้ำตกที่มีทิวทัศน์สวยงาม ชมพรรณไม้ป่านานาชนิด สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล หรือชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำสาละวิน ล่องเรือไปตามลำน้ำเพื่อเที่ยวสบเมยหรือหาดทรายต่าง ๆ

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง มีบ้านพักรับรองภายในศูนย์จำนวน 2 หลัง รับรองได้หลังละ 4-5 คน มีสถานที่กางเต็นท์ และบริการเต็นท์ขนาด 2 คน พร้อมถุงนอน กรณีนำเต็นท์มาเองคิดค่าบำรุงพื้นที่ และไม่มีร้านอาหารบริการ ควรเตรียมมาให้พร้อม

          การเดินทาง :
จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน) มุ่งหน้าอำเภอแม่สะเรียงถึงบริเวณหน้าป้อมตำรวจบ้านกองลอย ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1270 ตรงไป 34 กิโลเมตร จะพบศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง เส้นทางนี้สามารถใช้รถได้ทุกประเภท


          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง บ้านอมพาย หมู่ที่ 4 ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์  085-716-3518, 053-210-935

ที่เที่ยวโครงการหลวง

8. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก จังหวัดเชียงใหม่

          หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้น้อย ความเป็นอยู่ยากลำบาก จวบจนกระทั่ง พ.ศ. 2524 สายพระเนตรที่ทรงห่วงใยราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 300,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดและกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง การรับรู้รับฟังตลอดจนสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ร่วมสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการดำรงชีวิต ทำให้ชาวบ้านก้าวสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ บ้านป๊อก แม่ลาย บ้านแม่กำปอง และบ้านธารทอง ประชากรเป็นคนเมืองทั้งสิ้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ สูงจากระดับน้ำทะเล 700-1,200 เมตร

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ ชมแหล่งผลิตกาแฟอราบิก้าคุณภาพดีของโครงการหลวง ล้อมรอบด้วยธรรมชาติป่าไม้ และลำน้ำจากน้ำตก มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการหลวงแห่งแรก และชุมชนคนเมืองมีชื่อเสียงในด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน "บ้านแม่กำปอง" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากว่าเป็นบริการที่พักแบบ Home Stay ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแม่กำปอง ชมวิถีชีวิตชาวพื้นเมือง การทำสวนเมี่ยง หมัก-นึ่งเมี่ยงแบบดั้งเดิม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สวนสมุนไพร โดยสามารถติดต่อให้ไกด์ท้องถิ่นนำชมหมู่บ้านได้รับรองได้ว่าได้ทั้งความรู้และความสนุก นอกจากนี้ยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ที่ได้รับรองมาตรฐาน บริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรพื้นถิ่น และชมขั้นตอนการทำหมอนใบชา

          จุดชมวิวดอยม่อนล้าน ชมธรรมชาติป่าไม้ ต้นกฤษณา กล้วยไม้ป่า และจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งบานและทะเลหมอกช่วงฤดูหนาว และเส้นทางนี้ยังเชื่อมไปถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง, โบสถ์กลางน้ำ ในเชียงใหม่มี 2 แห่ง คือที่อำเภอแม่แจ่มและที่วัดแม่กำปอง (วัดคันธาพฤกษา) ยังมีวิหารที่ทำด้วยไม้สักทอง แกะสลักลวดลายวิจิตรงดงาม เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของชุมชน เป็นโบสถ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยปลูกไว้กลางน้ำและมีน้ำเป็นใบเสมา

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก มีบ้านพักรับรองภายในศูนย์ 3 หลัง และห้องพักอีก 14 ห้อง รองรับได้ 35 คน และมีโฮมสเตย์ในชุมชนบ้านแม่กำปอง อีกทั้งโครงการหลวงตีนตกยังมีร้านอาหารบริการตั้งแต่ 07.30-21.00 น. เน้นอาหารจากผลผลิตโครงการหลวงและผลผลิตในพื้นถิ่น นอกจากนี้ยังมีมุมกาแฟโครงการหลวง และมีร้านค้าของที่ระลึกมุมด้านหน้าทางเข้ามีผลิตภัณฑ์โครงการหลวงและของชุมชนจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว

          การเดินทาง : เส้นทางที่ 1 (ทางคดเคี้ยว) จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 118 ผ่าน อำเภอดอยสะเก็ด กม.ที่ 27 เลี้ยวขวาผ่านบ้านโป่งกุ่ม แม่ตาดิน ถึงแยกห้วยแก้วเลี้ยวขวาไปจนถึงที่ทำการศูนย์ ระยะทาง 43 กิโลเมตร และเส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เส้นทางสายดอนจั่น-อำเภอแม่ออน ผ่านน้ำพุร้อนสันกำแพงไป ถึงแยกห้วยแก้วเลี้ยวขวาไปจนถึงที่ทำการศูนย์ ระยะทาง 55 กิโลเมตร

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก บ้านปางผึ้ง หมู่ 8 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-318316 จองที่พัก 093-1467726

ที่เที่ยวโครงการหลวง

9. สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่


          สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง" มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่าง ๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้ผลกว่า 12 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด

          สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีพื้นที่สำหรับวิจัยทดสอบพันธุ์พืชเขตหนาวจำนวน 1,800 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีหมู่บ้านชาวเขาบริเวณรอบสถานี เป็นเขตส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวม 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขอบด้ง บ้านนอแล บ้านหลวง บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านคุ้ม บ้านผาแดง บ้านถ้ำง้อบ และบ้านสินชัย ประชากรเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าจีนยูนนาน ไทใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี

          มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ จุดท่องเที่ยวในสถานีอย่างสวนแปดสิบ สวนกลางแจ้งตรงข้ามสโมสรอ่างขางเป็นสวนตกแต่งสไตล์อังกฤษ มีดอกไม้ ไม้ประดับปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ด้านบนยังเป็นลานต้นซากุระญี่ปุ่นจะบานช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม, สวนหอม เป็นสวนที่รวบรวมพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งในและต่างประเทศ, สวนบอนไซอ่างขาง จัดแสดงพรรณไม้หลากชนิดยุคแรกเริ่มก่อตั้งสถานีในรูปแบบการปลูกเลี้ยงในกระถางแบบบอนไซ นอกจากนี้ยังมีพืชทนแล้ง พืชกินแมลง และสวนหินธรรมชาติ จุดชมวิวภายในสถานี

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          โรงเรือนดอกไม้ เป็นการจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว ภายในโรงเรือนมีมุมน้ำตก มุมนั่งเล่นพักผ่อน, โรงเรือนกุหลาบตัดดอก รวบรวมกุหลาบชนิดตัดดอกสายพันธุ์ต่าง ๆ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ติดกับโรงเรือนเป็นร้านค้าของที่ระลึก จำหน่ายสินค้าของโครงการหลวงและชุมชน, โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก จัดตกแต่งด้วยผักเมืองหนาวหลายชนิด พืชสมุนไพรของโครงการหลวงให้ได้ชม, แปลงบ๊วย ต้นบ๊วยที่นี่ปลูกตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโครงการหลวงปัจจุบันแตกกิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาเย็นสบาย, แปลงไม้ผลตามฤดูกาล ที่มีไม้ผลเมืองหนาวหลายอย่างให้ได้ชมตลอดทั้งปี เช่น พีช พลับ สาลี กีวี

          นอกจากนี้ยังมีจุดท่องเที่ยวชุมชน เช่น หมู่บ้านนอแล เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่อง (ดาราอั้ง) ตั้งอยู่ติดกับชายแดนเมียนมา มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และงานหัตถกรรมสวยงามแปลกตา, หมู่บ้านขอบด้ง เป็นชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ) มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีการถักหญ้าอิบูแค เป็นกำไรสีสันสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝาก, ชุมชนชาวจีนยูนนาน ที่บ้านคุ้ม บ้านหลวง บ้านปางม้า มีร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ชา สมุนไพร ผลไม้แห้ง เป็นต้น

          สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีบ้านพักรับรองภายในสถานีหลายหลัง ได้แก่ บ้าน AK 1-20 พักได้หลังละ 2 คน บ้านริมดอย 1-6 พักได้หลังละ 6 คน บ้ายพัก AK ใหญ่พักได้ 47 คน และอาคารหอประชุม สอบถามข้อมูล โทรศัพท์ 053-969476-78 ต่อ 113 หรือ 114 เว็บไซต์ angkhangstation.com มีลานกางเต็นท์จุดชมวิวกิ่วลมภายใต้การดูแลของ อบต., ลานกางเต็นท์ฐานทหารบ้านนอแล, ลานกางเต็นท์ป่าสน และมีรีสอร์ทอีกหลายแห่งบริเวณใกล้เคียง

ที่เที่ยวโครงการหลวง

          ที่นี่มีร้านอาหาร เวลาบริการเปิด 07.30-20.00 น. รองรับนักท่องเที่ยวได้ 150 คน ภายในสโมสรประกอบด้วย จุดบริการติดต่อบ้านพัก ร้านกาแฟโครงการหลวง ร้านจำหน่ายของที่ระลึก มุมถ่ายรูป โดยประเภทของอาหารจะเน้นวัตถุดิบผลผลิตของโครงการหลวงตามฤดูกาลและอาหารชนเผ่า

          การเดินทาง : เส้นทางที่ 1 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 เชียงใหม่-ฝาง ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว ไชยปราการ ถึง กม.ที่ 137 เลี้ยวซ้าย สู่ทางหลวงหมายเลข 1249 ขึ้นไปอีก 25 กิโลเมตร จนถึงดอยอ่างขางเส้นทางลาดชันมาก และเส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 ถึงแยกเมืองงายเลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 1178 ผ่านบ้านอรุโณทัย ขึ้นดอยอ่างขาง 45 กิโลเมตร ทั้ง 2 เส้นทางใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง


          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-969476-8, ศูนย์ข้อมูลสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง 053-696489 หรือเว็บไซต์ angkhangstation.com

         นี่เป็นโครงการหลวงเพียงไม่กี่แห่งที่เราหยิบมาแนะนำกัน หากใครยังไม่จุใจสามารถเข้าไปดูที่อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ thairoyalprojecttour.com

          หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง ข้อมูล ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2559

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
thairoyalprojecttour.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โครงการหลวง 9 ที่เที่ยวโครงการหลวง ชวนเที่ยวตามรอยเท้าพ่อหลวง อัปเดตล่าสุด 3 เมษายน 2566 เวลา 13:56:50 24,040 อ่าน
TOP