x close

สมุทรปราการในวันวารแห่งสายน้ำ

สมุทรปราการ

สมุทรปราการ

สมุทรปราการ

สมุทรปราการ

สมุทรปราการ

สมุทรปราการ

สมุทรปราการ

สมุทรปราการในวันวารแห่งสายน้ำ (อ.ส.ท.)

ธเนศ งามสม...เรื่อง
ธเนศ งามสม, โสภณ บูรณประพฤกษ์ และธีระพงษ์ พลรักษ์...ภาพ

          1. ลานริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ตะวันดวงกลมค่อย ๆ คล้อยลับ ท้องฟ้าทาบทาด้วยสีชมพูเย็นตา ณ ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ องค์พระสมุทรเจดีย์ ปรากฏงดงามท่ามแสงสุดท้าย ส่วนยอดอันอ่อนช้อยประดับดวงไฟสว่างนวล ราวกับดาวฤกษ์ส่องฉาย ลมยามเย็นโบกโบย พัดพากลิ่นหอมของดอกไม้ลอยมาจาง ๆ ผู้คนบ้างนั่งหย่อนใจ บ้างทอดตามององค์พระสมุทรเจดีย์ ณ อีกฟากฝั่งน้ำ

          สำหรับชาวสมุทรปราการแล้ว พระสมุทรเจดีย์เปรียบราวกับดาวฤกษ์ ด้วยเป็นทั้งหมุดหมายและศูนย์รวมจิตใจมาแต่โบราณ ย้อนเวลากลับไปสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ขณะทรงงานสร้างกำแพงและป้อมปราการต่อจากรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระราชดำริสร้างไว้ที่ป้อมผีเสื้อสมุทร พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเกาะเล็ก ๆ ล้อมรอบด้วยหาดทราย จึงโปรดเกล้าฯ สร้างพระมหาเจดีย์เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจอีกทั้งบำรุงพระพุทธศาสนา เมื่อสร้างแล้วเสร็จโปรดเกล้าฯ บรรจุพระบรมธาตุ และพระราชทานนามว่า "พระสมุทรเจดีย์"

          "สมัยก่อนแม่น้ำเจ้าพระยาคือเส้นทางสัญจรหลัก หากแล่นเรือจากอ่าวไทยเข้ามา เมื่อเห็นพระสมุทรเจดีย์ก็หมายความว่าถึงแผ่นดินยามแล้ว" คุณสมชาย ชัยประดิษฐ์รักษ์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เล่าเมื่อครั้งพาชมพระสมุทรเจดีย์

          บ่ายวันนั้นเองที่ผมมีโอกาสนมัสการพระสมุทรเจดีย์ใกล้ ๆ องค์เจดีย์สีขาวสะอาด ย่อมุมลดหลั่น ยืนตระหง่านงดงามชวนศรัทธา ผ่านเวลากว่าร้อยปี ภายหลังรัชกาลที่ 2 เริ่มทรงสร้างและแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการดูแลบูรณะเป็นระยะ ครั้งใหญ่คือสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมทั้งนำหน่อโพธิ์ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสรู้มาปลูกไว้

          จากร่มเงาพระศรีมหาโพธิ์ ผมเดินชมรอบ ๆ องค์เจดีย์ เพลิดเพลินกับการดูหลักศิลาซึ่งปักเป็นแนวด้านแม่น้ำเจ้าพระยา หลักศิลาเหล่านี้ คือที่ผูกเรือสำหรับผู้มานมัสการบูชา สมัยนั้นเรือคือพาหนะหลัก ที่ตั้งองค์เจดีย์ก็มีลักษณะเป็นเกาะกลางน้ำ และหากย้อนเวลากลับไปสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ทรงเริ่มสร้างองค์พระมหาเจดีย์ บริเวณนี้คือปากแม่น้ำเจ้าพระยา จากพระสมุทรเจดีย์ ล่องเรือไปไม่ไกลก็เป็นท้องทะเลใหญ่ ผืนแผ่นดินสมุทรปราการมาสิ้นสุด ณ บริเวณนี้

สมุทรปราการ

          2. กล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะก้าวเดินไปยังทิศทางใด องค์พระสมุทรเจดีย์จะปรากฏดั่งร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา ที่ตลาดสดริมแม่น้ำ ท่ามกลางแผงขายอาหารทะเลและผู้คนขวักไขว่ องค์เจดีย์สีขาวปรากฏไกล ๆ เคียงเกาะผีเสื้อสมุทร ที่ท่าเรือข้ามฟาก ผมเห็นหญิงชราหลายคนพนมมือไหว้ พึมพำบทสวดด้วยใจศรัทธา

          "สมุทรปราการมีผู้คนหลากหลายอาศัยมาเนิ่นนาน ทั้งไทยพุทธ จีน มอญ เขมร พม่า" คุณสมชาย ซึ่งอาสาพาชมเมืองเป็นวันที่ 2 บอกพลางยิ้มอารมณ์ดี นอกจากเกร็ดน่ารู้คุณสมชายยังมีสัมพันธ์อันดีกับผู้คนมากหลาย ตั้งแต่สภากาแฟจนถึงข้าราชการระดับสูงของจังหวัด ขณะเดินผ่านตลาด ผ่านร้านกาแฟเก่าแก่ เราก็มีกาแฟหอมหวานซึ่งหยิบยื่นด้วยน้ำใจ

          "เราอยู่กันแบบนี้ละค่ะ" ป้าแอ่ว เจ้าของร้านบอก ยิ้มระบายบนใบหน้า จากร้านกาแฟเดินไปไม่ไกลก็ถึงศาลหลักเมือง บรรยากาศกรุ่นกลิ่นธูปเทียน ผู้คนมานมัสการองค์เจ้าพ่อและหลักเมืองไม่ขาดสาย ตามบันทึกโบราณกล่าวว่า หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ทั้งพระประแดงและสมุทรปราการ-เมืองสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้นกลายเป็นเมืองร้าง

สมุทรปราการ

          ล่วงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงฟื้นฟูเมืองหน้าด่านชายทะเล โดยรวมเมืองสมุทรปราการกับแขวงกรุงเทพมหานครบางส่วนเข้าด้วยกัน พระราชทานนามใหม่ว่า "เมืองนครเขื่อนขันธ์" ขณะเมืองสมุทรปราการอีกฝั่งก็สร้างแนวป้องกันชายทะเลใหม่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามาฝั่งตะวันออก หรือตัวเมืองสมุทรปราการในปัจจุบัน ทว่าแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 2 ในวันอาทิตย์ เดือน 4 ขึ้น 7 ค่ำ พ.ศ. 2365 ทรงทำพิธีฝังเสาหลักเมือง และเนื่องจากมีชาวจีนอาศัยอยู่มาก ตัวศาลหลักเมืองจึงสร้างลักษณะแบบจีน ทั้งเสาหลักเมืองก็ตั้งเคียงองค์เจ้าพ่อในชุดขุนนางจีนโบราณ

สมุทรปราการ

          พร้อมกันนั้นเอง ป้อมปราการต่าง ๆ สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็ถูกสร้างขึ้น มีการสร้างแนวกำแพงย่อยชักปีกกา สร้างลูกทุ่นขึงกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาป้องกันผู้รุกราน ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเจ่ง ผู้นำเชื้อสายมอญพร้อมครอบครัวชาวมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ซึ่งค่อย ๆ เติบโตรุ่งเรืองกลายเป็นเมืองพระประแดงในเวลาต่อมา

          3. ในอุโบสถวัดโปรดเกศเชษฐาราม พระอารามหลวงสำคัญของอำเภอพระประแดง บนผนังนั้นตรึงเราด้วยภาพวาดสีน้ำมันเก่าแก่

          "นี่เป็นภาพฝีมือขรัวอินโข่งค่ะ ลักษณะโดดเด่นคือจะดูมีมิติ ต่างจากภาพวาดในยุคนั้น ดูม้าตัวนั้นสิคะ เหมือนมันจะวิ่งตามเราออกมาเลยล่ะค่ะ" คุณโฉมญา กรทอง ผู้ดูแลวัด อธิบายด้วยน้ำเสียงชัดใส ไม่เพียงภาพฝีมือจิตกรเอกยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น องค์พระประธานและพระพุทธรูปรายรอบยังวิจิตรตรึงตา

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระประแดง คือ เมืองเอกของนครเขื่อนขันธ์ เมืองหน้าด่านสำคัญที่เป็นจุดแวะค้าขายของเรือจากเมืองไกล ล่วง 1,000 ปีมาแล้ว สมัยขอมเรืองอำนาจ ถิ่นแถบนี้มีชื่อว่า "พระประแดง" กร่อนกลายมาจากคำว่า “บาแดง” อันหมายถึงคนเดินสาร เมื่อเกิดเหตุการณ์ใด ๆ คนเดินสารจะแจ้งไปยังละโว้ซึ่งเป็นเมืองในอาณาจักรขอมยุคนั้น

          สมัยรัชกาลที่ 2 ขณะสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ โปรดเกล้าฯ ให้ชุดคลองลัดหลวงตรงโค้งขดแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อย่นระยะทางเดินเรือระหว่างพระนครกับเมืองปากน้ำ จึงมีชื่อเรียกท้องถิ่นว่า "เมืองปากลัด" นอกจากขุดคลองลัดหลวง ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดทรงธรรมวรวิหาร เพื่อชาวมอญที่ย้ายเรือนมายังเมืองใหม่จะได้อาศัยเป็นศูนย์รวมจิตใจ เช่นเดียวกับวัดไพชยนต์พลเสพย์ ที่สร้างโดยกรมหมื่นศักดิพลเสพ ขณะพระเพชรพิชัย (เกศ) นายงานสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ก็สร้างวัดโปรดเกศเชษฐารามใกล้ ๆ กัน เสมือนเป็นวัดพี่วัดน้อง

สมุทรปราการ

          ริมคลองปากลัดนั่นเอง ถัดกันไม่ไกลยังมีวัดคันลัด ศาสนสถานเก่าแก่ของชาวรามัญ ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ วัดคันลัด คุณลุงประพันธ์พงษ์ เทวคุปต์ พาเราเดินชมภาพถ่ายเก่าเปี่ยมคุณค่า ทั้งภาพสงกรานต์ปากลัดเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ภาพประเพณีต่าง ๆ ของชาวมอญ อย่างงานตักบาตรน้ำผึ้งงานแต่ง บวชนาค อีกทั้งเรื่องเล่าเปี่ยมความหมาย

          "มอญถือได้ว่าเป็นชนชาติแรกที่ได้รับพระเกศาของพระพุทธเจ้ามาสักการบูชา" คุณลุงประพันธ์พงษ์เล่า ในสมัยพุทธกาล ขณะพระพุทธองค์ยังเจริญภาวนา ชาวมอญเดินทางไปสดับคำสอนและนมัสการ พระองค์ทรงมอบพระเกศาเสมือนองค์พระปฏิมาเผยแผ่พุทธวจนะ ชาวมอญจึงนำพระเกศานั้นบรรจุในตะกร้อใต้ธงตะขาบในวันสงกรานต์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธบูชา

          กล่าวถึงชาวรามัญ ชนชาติผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นอกจากอารามต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นอย่างประณีตด้วยจิตศรัทธา ประเพณีดีงามทั้งหลายก็ยังสืบทอดสานต่อกันมา ที่วัดทรงธรรมวรวิหาร ผมได้เห็นการละเล่นสะบ้าอันเป็นหนึ่งในประเพณีสงกรานต์ของชาวรามัญ ทั้งหญิงสาวและชายหนุ่มล้วนแต่งกายตามแบบมอญดั้งเดิม ขณะบรรยากาศนั้นทั้งสนุกสนานและแฝงความหมาย ด้วยท่วงท่าการโยนลูกสะบ้า อากัปกิริยา ถ้อยเจรจาพาที คือช่วงเวลาที่หนุ่มสาวจะได้พินิจพิจารณา ได้พบประสานสัมพันธ์ต่อกัน ได้ถ่ายทอดวิถีของชาวรามัญ เพื่อความดีงามทั้งหลายจะไม่หายสูญไปกับกาลเวลา

สมุทรปราการ

          4. แดดยามเย็นโรยอ่อน ฝูงนกนางนวลบินร่อนเหนือผืนน้ำรายรอบปรากฏเรือเดินสมุทรลำใหญ่ บ้างจอดทอดสมอ บ้างแล่นขึ้นล่องเจ้าพระยา บนเรือข้ามฟากระหว่างตัวเมืองกับฝั่งพระสมุทรเจดีย์ ภาพที่เห็นดูตื่นตา ผ่านเวลามากว่าร้อยปี สมุทรปราการยังคงความเป็นเมืองท่าค้าขาย

          ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นว่าแผ่นดินปากแม่น้ำเจ้าพระยางอกออกไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองหน้าด่านขึ้นใหม่พระราชทานนามว่า "เมืองสมุทรปราการ" อันหมายถึงปราการทางทะเล ล่วงสมัยรัชกาลที่ 5 จากองค์พระสมุทรเจดีย์ แผ่นดินค่อย ๆ งอกขยายออกไปถึง 4 กิโลเมตร จากป้อมผีเสื้อสมุทรซึ่งเป็นปราการหลัก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมอีกแห่งปลายสันดอนเกิดใหม่ พระราชทานชื่อว่าป้อมพระจุลจอมเกล้า

          ช่วงเวลานั้นเองที่ประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาแผ่อิทธิพลในอุษาคเนย์ พระองค์จึงมีพระราชประสงค์สร้างระบบป้องกันประเทศครั้งใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยในยุคนั้น ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีการสร้างกระโจมไฟแห่งแรกเพื่อนำร่องทางทะเล กำเนิด "รถไฟสายปากน้ำ" ทางรถไฟสายแรก วางโครงข่ายโทรเลข และโทรศัพท์ ติดตั้งปืนใหญ่อาร์มสตรอง หรือปืนเสือหมอบที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งนับเป็นปืนใหญ่ทันสมัยสุดในสยาม

          ตะวันค่อย ๆ คล้อยต่ำ เรือข้ามฟากดูขวักไขว่ ด้วยคลื่นคนในตัวเมือง และโรงงานกลับคืนเรือนอาศัย จากพระสมุทรเจดีย์ เราแวะป้อมพระจุลจอมเกล้า นมัสการพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์กษัตริย์ผู้ปราชญ์เปรื่องและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล

สมุทรปราการ

          จากนั้นก็เลาะแม่น้ำเจ้าพระยาลงใต้ ตามริมฝั่งมีอู่ต่อเรือเรียงราย บางอู่ต่อเรือเดินสมุทรลำใหญ่ชวนตื่นตา บรรยากาศเมือง "ภูธร" ค่อย ๆ ปรากฏ เริ่มจากสามล้อถีบแล้วค่อย ๆ หนาตาด้วยเรือไม้ สิ้นสุดทางคอนกรีตที่วัดสาขลา เราจอดรถไว้ แวะชมพระปรางค์เก่าแก่และไม้ฉลุลวดลายที่ศาลาการเปรียญ จากนั้นก็เดินข้ามสะพานเข้าไปในชุมชนสาขลา เสมือนเกาะเล็ก ๆ ซอกซอนด้วยคูคลองสายน้อย เรือนไม้สองสามชั้นสร้างชิดติดกันดั่งอาณาจักรริมอ่าวไทย

           "ว่ากันว่า สาขลามีแต่คนร่ำรวย" คุณสมชายซึ่งร่วมทางมาด้วย ยิ้มร่าเริงขณะพยักเพยิดไปที่หญิงชราสวมสร้อยทองเส้นโต ผู้คนล้วนยิ้มแย้มต้อนรับผู้มาเยือน วันอาทิตย์เช่นนี้แต่ละบ้านเตรียมขนมและอาหารฝีมือของตนมาวางขาย ไม่ว่าจะเป็นขนมจากรสมันหอม หมึกย่างในน้ำจิ้มหวาน โดยเฉพาะกุ้งเหยียด ของกินขึ้นชื่อบ้านสาขลา

          "สูตรอร่อยน่ะหรือ ก็แค่เลือกของดีที่สุดน่ะจ้ะ" ป้าสุนทร ต้นตำรับกุ้งเหยียดขึ้นชื่อบอกแล้วก็หัวเราะอารมณ์ดี ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสาขลา ทำให้กุ้งขาวที่นี่ชุกชุมและรสดี ตัวโตกำลังได้ที่จะถูกคัดทำกุ้งเหยียดรสหวานหอม เช่นเดียวกับปูปลาที่ยังหาได้รายรอบบ้าน

          "ถึงจะไม่มากมายเหมือนแต่ก่อน เราก็หาอยู่หากินกันง่าย ๆ แบบนี้" ลุงสุดใจเอ่ยแล้วก็ยิ้ม

สมุทรปราการ

          หลังบ่ายเรืออีแปะเข้าเทียบท่า ฝูงนกแขวกที่เริ่มหาดูได้ยาก ทยอยบินมาเกาะตามบันไดริมน้ำและชายคา จากบ้านสาขลา ไม่มีถนนไปต่อแล้ว เราจึงอาศัยเรือโดยสารลงใต้ต่อไป ราวครึ่งชั่วโมงทางเรือเราก็มาถึง บ้านขุนสมุทรจีน ชุมชนเล็ก ๆ ในแวดล้อมป่าชายเลนริมทะเลอ่าวไทย หากมองเพียงผิวเผินชุมชนเล็ก ๆ ห่างไกลเช่นนี้แทบไม่มีอะไรชวนชม ป่าโกงกางสมบูรณ์เหลือเป็นหย่อม ๆ ชายทะเลก็เป็นหาดเลนเล่นน้ำไม่ได้ ทว่าในทางภูมิศาสตร์แล้ว เมื่อเทียบจากโบราณวัตถุอายุ 300 ปีที่ค้นพบ น่าตื่นใจที่ชุมชนเล็ก ๆ นี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับแผ่นดินสมุทรปราการที่เพิ่งงอกออกมาใหม่

          "บรรพบุรุษเราเล่าต่อ ๆ กันมาว่าท่านอพยพมาจากเมืองจีน หนีภัยสงครามมาตั้งรกรากกันที่นี่" ป้าสมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านบ้านขุนสมุทรจีน เล่าพร้อมหยิบภาพถ่ายเก่าวางเรียงตรงหน้า ร่องรอยกาลเวลายังปรากฏผ่านกำไลหยกเก่าแก่ ถ้วยลายคราม เครื่องทองเหลืองรูปนกกระเรียนคู่ อันบอกเล่าว่าบรรพบุรุษที่นี่เป็นผู้มีฐานะ ไม่ได้มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบ

สมุทรปราการ

          ตะวันเริ่มคล้อย สาดแสงอบอุ่นลงมา นากุ้งทอดยาวสะท้อนแดดวับวาว ลัดเลาะคันดิน ผ่านหย่อมโกงกางช่วงสุดท้าย สะพานปูนแคบ ๆ นำเรามาถึงวัดขุนสมุทราวาส เหมือนเกาะเล็ก ๆ กลางทะเลเวิ้งว้าง ปรากฏเสาไฟเก่ากร่อนตรงโน้นตรงนี้ เรียงรายลับเส้นขอบน้ำขอบฟ้า คล้ายเมืองร้างหลังสงครามหรือหลังน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ พูดได้ว่ากระแส "โลกร้อน" ทำให้ผู้คนภายนอกรู้จักที่นี่ จากชุมชนเล็ก ๆ ซึ่งใกล้ล่มสลาย ด้วยเกลียวคลื่นกัดเซาะจนแผ่นดินจมหายไปกว่าครึ่งค่อนหมู่บ้าน เมื่อรายการโทรทัศน์จากนานาประเทศนำไปออกอากาศ ชุมชนขุนสมุทรจีนจึงปรากฏบน "แผนที่" สมุทรปราการอีกครั้ง

          ขณะตะวันดวงแดงคล้อยลับ แสงสุดท้ายทาบทาอุโบสถซึ่งยืนต้านลมพายุมาเนิ่นนาน ผมทบทวนเรื่องราวแต่เก่าก่อนแล้วก็ประหลาดใจ จากบันทึกสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวไว้ว่าชายทะเลอ่าวไทยคือแนวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และลพบุรีในปัจจุบัน ขณะสมุทรปราการยังเป็นเพียงดินตะกอนรอวันโผล่พ้นน้ำ นึกถึงถ้อยคำปราชญ์โบราณท่านกล่าวไว้ว่าการเดินทางกลับก็คือการเดินทางต่อ คงคล้ายกาลเวลา ที่วันวารอาจหมุนเวียนย้อนกลับ ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนจริงแท้

          และสำหรับเมือง "ปราการชายทะเล" แห่งนี้ สิ่งสูงค่าอาจไม่ใช่ป้อมปราการอันมั่นคงหรือผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ เพียงร่มเงาอันอบอุ่นทางใจ ดั่งพระมหาเจดีย์ ณ ริมฝั่งน้ำ อันเปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางและหมุดหมาย ประหนึ่งดาวฤกษ์ส่องฉายที่โค้งขอบฟ้า

สมุทรปราการ

ขอขอบคุณ

          คุณสมชาย ชัยประดิษฐรักษ์ สำหรับข้อมูลน่ารู้และมิตรไมตรี
          คุณลุงประพันธ์พงษ์ เทวคุปต์
          คุณโฉมญา กรทอง
          คุณสมร เข่งสมุทร
          คุณสุวรรณ บัวพลาย พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ
          นาวาโท ไพรัช สมุทรสินธุ์ คุณธัญธร แสงพลสุข ป้าอาภรณ์ จารุกสัส
          ชุมชนบ้านสาขลาและบ้านขุนสมุทรจีน ซึ่งเอื้อเฟื้อผู้มาเยือนด้วยน้ำใจ

สมุทรปราการ

คู่มือนักเดินทาง

          สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเขตจังหวัดสมุทรปราการ น่าชมทั้งวิถีวัฒนธรรมและโบราณสถาน

          อาจเริ่มจากอำเภอพระประแดง ชมอุโบสถและภาพวาดฝีมือขรัวอินโข่ง ที่วัดโปรดเกศเชษฐารามวรวิหาร ชมอุโบสถผสมผสานศิลปะไทย-จีนที่วัดทรงธรรมวรวิหาร แล้วชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ วัดคันลัด

          อำเภอเมืองฯ แวะชมเรือโบราณราชประเพณีที่พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือแล้วนมัสการศาลหลักเมือง เดินชมวิถีชีวิตคนปากน้ำที่ตลาดท่าเรือวิบูลย์ศรี จากนั้นข้ามเรือไปนมัสการพระสมุทรเจดีย์

          หากมีเวลาเดินทางตามถนนสุขุมวิทไปชมนกนางนวลที่บางปู แล้วเลยไปนมัสการหลวงพ่อปานที่วัดโคธาราม ซึ่งตั้งอยู่ปากคลองด่านริมอ่าวไทย

          ที่ฝั่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ถัดจากองค์พระสมุทรเจดีย์ไปไม่ไกล มีเกาะผีเสื้อสมุทร บนเกาะมีป้อมปืนโบราณสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งยังคงสภาพดี มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติซึ่งน่าชมด้วยนกกระเต็นน้อยธรรมดา และค้างคาวแม่ไก่ฝูงใหญ่

          สามารถโดยสารเรือข้ามฟากพระสมุทรเจดีย์ไปที่เกาะได้

          จากพระสมุทรเจดีย์ บ่ายหน้าลงใต้ไปยังป้อมพระจุลจอมเกล้า นอกจากป้อมปราการน่าชม ยังมีร้านอาหารสโมสรท้ายเรือหลวงแม่กลองบรรยากาศชายทะเล

          มีเวลาน่าไปเยือนบ้านสาขลา ที่วัดสาขลามีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จัดแสดงข้าวของพื้นบ้าน ขณะชุมชนสาขลาซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ก็น่าเดินเที่ยว ลองชิมกุ้งเหยียดรสดีของป้าสุนทร

          ก่อนถึงบ้านสาขลา ที่ท่าป้าลี่ตรงตีนสะพานมีเรือโดยสารไปบ้านขุนสมุทรจีน แวะชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่บ้านผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร แล้วค่อยไปชมวัดขุนสมุทราวาส ซึ่งถูกคลื่นกัดเซาะคล้ายเกาะกลางทะเล

แนะนำที่กิน

          อำเภอเมืองฯ ตลาดสดท่าเรือวิบูลย์ศรีมีอาหารทะเลสด ๆ หลากหลาย เยื้องท่าเรือมีขนมจาก ร้านลิ้มดำรง ซึ่งสืบทอดมากกว่า 100 ปี ขณะที่ศาลากลางจังหวัด ยามเย็นจะมีของกินเล่นขาย เหมาะนั่งชมตะวันคล้อยลับแม่น้ำและองค์พระสมุทรเจดีย์

          อำเภอพระประแดง ร้านข้าวหมกไก่บังมัด รสชาติดี อยู่ใกล้ซอยเพชรหึงษ์ 20/1 ขายตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง หากมาวันเสาร์-อาทิตย์ ตลาดบางน้ำผึ้งมีของกินท้องถิ่นหลากหลาย

          อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ก่อนถึงบ้านสาขลามีร้านปูหลน ทั้งปูหลนและอาหารทะเลรสอร่อย บรรยากาศโปร่งสบาย





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 53 ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2556


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมุทรปราการในวันวารแห่งสายน้ำ อัปเดตล่าสุด 24 กรกฎาคม 2556 เวลา 17:11:10 4,396 อ่าน
TOP