x close

ไปปีนังมองมะละกา สองเมืองท่าควรค่ามรดกโลก

มาเลเซีย

มาเลเซีย

มาเลเซีย

มาเลเซีย


ไปปีนังมองมะละกา สองเมืองท่าควรค่ามรดกโลก (อสท)

ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์...เรื่อง
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมรา...ภาพ

          เมื่อเดินเตร็ดเตร่อยู่ท่ามกลางตึกแถวใน จอร์จทาวน์ (George Town) เมืองหลวงของ รัฐปีนัง (Penang) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย ฉันไม่รู้สึกแปลกที่แปลกทางแต่อย่างใด นั่นเป็นเพราะผู้คนปีนังส่วนใหญ่คือคนเชื้อสายจีนที่มีผิวพรรณ สีผม และโครงหน้าไม่ผิดแผกจากคนไทยนัก

          หากไม่มองตัวอักษรบนป้ายต่าง ๆ หรือไม่เอื้อนเอ่ยถ้อยคำใด ก็แทบไม่รู้สึกเลยว่าอยู่ต่างถิ่นต่างแดน ยิ่งยามย่างเยือนย่านอาคารที่รับสไตล์ตะวันตก (โดยเฉพาะอังกฤษ) มาปรับเข้ากับตึกแถวแบบจีนในยุคล่าอาณานิคม (Colonial) ซึ่งหลายคนคุ้นเคยกับการเรียกว่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ฉันยิ่งเพลินใจราวกับเดินอยู่ในย่านเมืองเก่าของภูเก็ต ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะภูเก็ตและจังหวัดริมฝั่งอันดามันของไทยรับสไตล์การก่อสร้างอาคารมาจากปีนังด้วย เพราะชาวจีนในภูเก็ตและปีนังในยุคล่าอาณานิคม ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ของไทย มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ทั้งในฐานะญาติพี่น้องและผู้ร่วมค้าขาย จึงถ่ายทอดวัฒนธรรมและความนิยมต่อกัน แม้จะอยู่ห่างไกลเกินกว่า 1,000 กิโลเมตร แท้จริงแล้วเขตแดนสมมตินั้นไม่อาจกีดกั้นควรสัมพันธ์ของผู้คนได้เลย

มาเลเซีย

มาเลเซีย

          ด้วยความชัดเจน โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ในด้านการอยู่ร่วมของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและแตกต่างความเชื่อ คือ มาเลย์ จีน อินเดีย อาหรับ อาเจะห์ ไทย พม่า และชาวตะวันตก โดยไม่มีข้อขัดแย้งระดับชาติ อีกทั้งยังมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานตกทอดผ่านสถาปัตยกรรมที่งดงาม ทรงคุณค่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ยูเนสโก หรือ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จึงเลือกจอร์จทาวน์เป็นเมืองมรดกโลก ควบคู่กับเมืองมะละกา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ลงไป

          ความแตกต่างไม่จำเป็นต้องนำมาซึ่งความขัดแย้ง หากเราเคารพสิทธิและดำเนินชีวิตไปตามวิถีของตนโดยไม่ก้าวร้าวรุกรานกัน

มาเลเซีย

          ภูเก็ตไข่มุกอันดามันของไทย เป็นหนึ่งในเมืองท่าค้าขายที่รุ่งเรืองร่วมสมัยมากับปีนังและมะละกา ด้วยทำเลที่ตั้งทอดยาวต่อเนื่องอยู่ในแนวเส้นทางเดินเรือค้าขายจากโลกตะวันออกเชื่อมโยงโลกตะวันตก ความสัมพันธ์ของผู้คนในสามเมืองท่าจึงก่อเกิดและสืบสานตั้งแต่ยุคอยุธยา ล่วงเลยถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เข้าสู่ช่วงเวลาที่ตลาดโลกต้องการแร่ดีบุกจำนวนมาก ชาวจีนฮกเกี้ยนที่อาศัยอยู่ในปีนังและมะละกา ซึ่งชำนาญการทำเหมือง พากันลงเรือมาสู่เกาะภูเก็ตอย่างมากมาย ทั้งนายเหมืองและกรรมกร

          บ้านเรือนสไตล์โคโลเนียลที่ตั้งเรียงรายงดงามอยู่ริมถนนสายเล็ก ๆ กลางเมืองเก่าภูเก็ต ก็เกิดขึ้นตามมาเพราะคนจีนกลุ่มนี้ มีทั้งตึกแถว หรือ "เตี้ยมฉู่" อาคารสองชั้นซึ่งโดยเด่นด้วยช่องซุ้มโค้งเชื่อมยาวถึงกันตลอดแนวตึก และคฤหาสน์ หรือ "อั่งม้อหลาว" อาคารคอนกรีตที่ผสานศิลปะตะวันตกเข้ากับศิลปะตะวันออกใต้อย่างดงามสะดุดตา

มาเลเซีย

          มะละกา (Melaka) มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับไทยมาตั้งแต่เรายังใช้นามว่าสยาม ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองเฟื่องฟู และเป็นหนึ่งในรัฐมหาอำนาจของภูมิภาคนี้ มะละกาซึ่งเพิ่งตั้งเป็นอาณาจักรในช่วง พ.ศ. 1939 – 1943 ตกอยู่ในฐานะเมืองประเทศราชของอยุธยา

          ที่นี่คือเมืองเก่าที่มีอายุยาวนานกว่า 600 ปี เป็นเมืองท่าค้าขายที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีนมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ปรากฏหลักฐานการมาถึงของกองเรือเจิ้งเหอ ผู้บัญชาการกองเรือมหาสมบัติผู้เกรียงไกรหลายต่อหลายครั้ง จากนั้นมะละกาก็ผ่านเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคม ถูกปกครองโดยมหาอำนาจตะวันตกถึง 3 ชาติ คือ โปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ และหนึ่งในสิ่งตกทอดผ่านกาลเวลายาวนานกว่า 5 ศตวรรษ คือ อาคารเก่าแก่มากคุณค่าที่มีเรื่องราวแฝงฝังให้ติดตาม

มาเลเซีย

          แม่น้ำมะละกาสะอาดสะอ้านขึ้น ความระเกะระกะรกรุงรังริมสายน้ำหายไปราวกับถูกสลายด้วยกาลเวลา นับแต่ได้รับเลือกให้เป็นแหล่งมรดกโลกพร้อมกับปีนังเมื่อ 4 ปีก่อน มะละกาก็ถูกปรับเปลี่ยนและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้งดงามน่าดู ทว่าอาคารเก่าแก่ยังคงได้รับการดูแลรักษาและทะนุถนอม เพราะนั่นคือ "หัวใจ" ที่ทำให้ผู้คนจากแดนไกลเดินทางเข้ามาเพื่อชิดชม

มาเลเซีย

          ทางเดินเลียบเลาะริมน้ำถูกจัดทำขึ้นอย่างดีทั้งสองฝั่งฟาก เกสต์เฮาส์ขนาดเล็ก ราคาน่าจ่าย เกิดขึ้นเรียงราย โดยเฉพาะในฝั่งเดียวกับ ถนนยองเกอร์ (Jonker Street) ที่ทุกวันนี้โด่งดังในฐานะถนนคนเดิน ทุกคืนวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ นี่คือโฮมหน้าใหม่ของมะละกา...ที่ยังคงเค้างามของโครงหน้าเดิมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม

มาเลเซีย

แหล่งอร่อยในปีนังและมะละกา

          ปีนังเป็นแหล่งอาหารอร่อยและหลากหลายมีทั้งอาหารจีน อาหารมุสลิม อาหารยอนย่า (ผสมผสานระหว่างจีนและมาเลย์) ฯลฯ ถ้าอยากไปที่เดียวแล้วได้เลือกกินอาหารหลายอย่าง แนะนำให้ไปที่เกอร์นีย์ไดรฟ์ (Gurney Drive) ซึ่งอยู่ริมทะเล ห่างจากตัวเมืองจอร์จดาวน์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร

มาเลเซีย

          อาหารจานเด็ดขึ้นชื่อ เช่น อะชาม หลักชา (Asam Laksa) บางคนเรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวแกงส้ม (Asam เป็นภาษามลายู แปลว่าเปรี้ยว) โดดเด่นที่น้ำซุปต้มปลา ซึ่งปรุงรสด้วยส้มแขก และใส่เครื่องเทศกลิ่นร้อนแรง เช่น ผักแพว ดอกดาหลาหั่นฝอย เพื่อดับคาว ที่กินง่ายกว่านี้คือ ก๋วยเตี๋ยวผัด (Char Kuey Teow) เป็นอาหารเฉพาะถิ่นปีนัง รสชาติคล้ายผัดซีอิ๊ว แต่เจือเผ็ดพอประมาณ ใส่กุ้งสด กุนเชียง หอยแครง ใบกุยช่าย ถั่วงอก ผัดด้วยไฟแรง ส่งกลิ่นหอมเตะจมูก ตักร้อน ๆ ใส่จานที่รองด้วยใบตองยิ่งหอมหวนชวนกินเข้าไปใหญ่

          ของกินแปลก ๆ อย่างหนึ่งคือ โรจัก (Rojak) มีผลไม้ เช่น ฝรั่ง ชมพู่ สับปะรด ฯลฯ หั่นพอคำรวมกับแตงกวา มันแกว เต้าหู้ หมึก แล้วราดด้วยน้ำเชื่อมเหนียวหนืด ใส่ถั่วบดคลุกเคล้าเป็นของหวานก็ไม่ใช่ ของคาวก็ไม่เชิง

          ถ้าชอบกินเป็ดย่างหนังรอบ ไก่ต้มเนื้อนุ่ม หมูย่างกลมกล่อม แนะนำร้านดั้งเดิมในตึกเก่า Sky Hotel ริมถนนซูเลีย (Lebuh Chulia) ขายประมาณ 10 โมงครึ่งถึงบ่ายโมง ส่วนตอนกลางคืนบนถนนสายเดียวกันนี้หันหลังให้ถนนปีนัง (Jalan Penang) แล้วเดินผ่านเซเว่นอีเลฟเว่นไปไม่ไกล ฝั่งตรงข้ามคือ แผงอาหารที่คึกคัก มีบะหมี่ลูกชิ้นปลาเจ้าดัง คนทำลวกเส้น-ใส่เครื่องจนมือเป็นระวังเลยทีเดียว

มาเลเซีย

          ลงใต้ไปที่มะละกาโด่งดังที่สุดต้องยกให้ข้าวปั้นมันไก่ ร้านที่มีคนยืนต่อคิวยาวดูน่าตื่นตาคือร้าน Chop Chung Wah อยู่ตรงเชิงสะพาน Tan Kim Seng ฝั่งถนนยองเกอร์ ข้าวมันปั้นนั้นเนื้อเนียนไม่เป็นเมล็ด ไก่ต้มนุ่มเนียนลิ้น ส่วนน้ำจิ้มนั้นเป็นแบบพริกน้ำส้ม ต่างจากน้ำจิ้มข้าวมันไก่ในบ้านเรา

มาเลเซีย

          อย่าพลาดการลิ้มลองรสอาหารเพอนารากัน หรืออาหารยอนย่า (Ngonya) ซึ่งเป็นสูตรผสมผสานระหว่างมาเลย์และจีนที่ร้าน Nancy’s Kitchen ถนนฮั่งเลอคี มีเมนูน่าสนใจหลายอย่าง เช่น Ponteh Chicken with Rice เป็นไก่บ้านเนื้อนุ่มปรุงมาในน้ำแกงที่ดูเหมือนมัสมั่น แต่รสชาติกลับคล้ายไก่กระเทียมพริกไทย

มาเลเซีย

          ริมถนน Temenggong ค่อนไปทางเชิงเขาซำปอกง เป็นที่ตั้งของ Restoran Dong Fung ศูนย์อาหารแบบชาวบ้าน แต่รสชาติไม่บ้าน ๆ เป็ดย่าง ไก่ย่างนั้นมีคนมายืนรอคิวซื้อตั้งแต่ 7 โมงเช้า พอ 10 โมง ก็หมดเกลี้ย งก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นสารพัดแบบก็อร่อยสุด ๆ

มาเลเซีย

          พ้นโค้งถนน Temenggong เข้าถนน Laksamana Cheng Ho มีก๋วยเตี๋ยวเนื้อรสเด็ด ขายในร้าน Sup Lembu Tangkak เนื้อวัวนุ่มอร่อย น้ำซุปรสกลมกล่อมกินแล้วติดใจจนต้องกลับไปซ้ำ

          ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของอาหารอร่อยในปีนัง มะละกา ยังมีอีกมากเมนูที่ขึ้นชื่อลือชาจนคนรักการกินต้องถือโดยไปลิ้มรส หากมีโอกาสไปเยือนสองเมืองมรดกโลก ปีนัง มะละกา ขอบอกสามคำว่า...ไม่ควรพลาด

มาเลเซีย

คู่มือนักเดินทาง

          การไปเยือนสองเมืองมรดกโลก ปีนัง มะละกา โดยเริ่มเที่ยวที่ปีนัง สามารถเดินทางเชื่อมโยงจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้อย่างสะดวกสบาย เพราะมีรถตู้สายหาดใหญ่-ปีนัง ออกจากหลายบริษัทในย่านตัวเมืองทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ก่อนเยือนปีนังยังเที่ยวชม ชิมอาหารอร่อย ๆ ที่หาดใหญ่ได้ก่อนด้วย

          หากชื่นชอบการนั่งรถไฟ แนะนำให้นั่งรถขบวนกรุงเทพฯ-บัตเตอร์เวิร์ธ ไปจนสุดปลายทางจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 23 ชั่วโมง แต่ถ้าขึ้นจากหาดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง เมื่อถึงปลายทางที่บัตเตอร์เวิร์ธแล้ว ก็ลงเรือเฟอร์รีข้ามฟากสู่เมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง ได้เลย มีเรือข้ามฟากบริการตลอด 24 ชั่วโมง

          จากปีนังไปยังมะละกา มีรถทัวร์ออกจากหลายบริษัทที่ตั้งอยู่ในบริเวณตึกคอมตาร์ วันละ 2 เที่ยว คือ เวลา 11.30 และ 23.30 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง

มาเลเซีย

รู้ก่อนเที่ยวมาเลเซีย

          คนไทยไปเที่ยวมาเลเซียไม่เกิน 30 วัน ไม่ต้องทำวีซ่า ใช้พาสปอร์ตที่มีอายุใช้งานมากกว่า 6 เดือน ประทับตราผ่านแดนเข้ามาเลเซียได้เลย

          เวลาที่มาเลเซียเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง

          ระบบไฟฟ้าในมาเลเซียเป็นแบบ 260 โวลต์ ใช้ปลั๊กไฟแบบสามขาแบน หากต้องการชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควรนำอะแดปเตอร์ไปด้วย

          สกุลเงินของมาเลเซีย คือ ริงกิต มาเลเซีย (Ringgit Malasia-RM) อัตราแลกเปลี่ยนคิดง่าย ๆ คือ 1 ริงกิต เท่ากับ 10 บาท

          ผู้ที่นำโทรศัพท์มือถือไปจากเมืองไทย โดยเปิดบริการโรมมิ่งไว้ แนะนำให้ปิด Cellular Data และ Data Roaming แล้วใช้ Airplane Mode เพื่อป้องกันการเกิดค่าใช้จ่ายบริการต่างแดนโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งร้านกาแฟส่วนใหญ่ให้บริการฟรี Wi-Fi

มาเลเซีย

เพลินปีนัง

          วิธีที่ง่ายที่สุดในการเที่ยวย่านแหล่งมรดกโลกคือการเดิน อย่าลืมหยิบแผนที่เดินเที่ยวจากสนามบินปีนังหรือโรงแรมติดเป้ไว้ด้วย

          การนั่งรถเมล์เที่ยวเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว รถเมล์ทุกสายจะผ่านตึกคอมตาร์ ต้องเตรียมธนบัตรใบย่อยหรือเหรียญเพื่อหยอดลงกล่องค่าโดยสารข้างคนขับให้พอดี เพราะไม่มีการทอนเงิน ขึ้นรถแล้วบอกคนขับว่าจะลงที่ไหน คนขับจะฉีกตั๋วให้ สำหรับการไปยังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมนั้น ส่วนใหญ่แล้วราคาจะอยู่ที่ 1.4 ริงกิต และ 1 ริงกิต ส่วนเส้นทางระหว่างสนามบินปีนังกับตึกคอมตาร์ ราคา 2.7 ริงกิต ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

          รถเมล์ในจอร์จทาวน์เป็นรถปรับอากาศทั้งหมด ต้องขึ้นลงเฉพาะทาง คือ ประตูหน้าเป็นทางขึ้น ประตูหลังเป็นทางลง

          สำรวจรอบเมืองจอร์จทาวน์ได้ด้วยการขึ้นรถปรับอากาศฟรี มีป้าย Hop on Free ติดอยู่ที่ด้านหน้าและด้านข้างรถ รอรถที่ป้ายรถเมล์หรือสถานีรถใต้ตึกคอมตาร์

          ช่วงวันที่ 15 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม เมืองจอร์จทาวน์มีงานเทศกาลเฉลิมฉลองการเป็นมรดกโลก ชื่องาน George Town Festival 2012 ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.georgetownfestival.com

มาเลเซีย

เพลินมะละกา

          เลือกที่พักที่อยู่ในย่านเมืองเก่ามะละกา เช่น ย่านถนนยองเกอร์ ถนนฮีรีน (Hereen Street) เพราะสะดวกในการเดินเที่ยวชมเมือง

          วิธีที่ดีที่สุดในการเที่ยวแหล่งมรดกโลกคือการเดิน ขอแผนที่ได้จากที่พักหรือศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ตรงเชิงสะพาน ฝั่งตรงข้ามกับจัตุรัสดัตช์

          หากอยากชมเมืองโดยไม่ต้องเดิน แนะนำให้นั่งรถสามล้อถีบที่ตกแต่งประดับประดากันไม่ซ้ำแบบ ค่าบริการชั่วโมงละ 40 ริงกิต คิวรถอยู่ในบริเวณจัตุรัสดัตช์ หรือลงเรือล่องแม่น้ำมะละกา ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ลงเรือได้ที่ท่าใกล้ ๆ กับพิพิธภัณฑ์การเดินเรือ (Manitime Museum) ค่าบริการ ผู้ใหญ่คนละ 15 ริงกิต เด็กคนละ 7 ริงกิต

          ชมวิวเมืองมะละกาจากมุมสูงได้ด้วยการขึ้นหอชมวิว มีห้องกระจกรองรับนักท่องเที่ยว สร้างเป็นวงแหวนรอบเสาหอคอย ซึ่งจะค่อย ๆ เคลื่อนขึ้นไปบนความสูง 80 เมตร ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ หมุนรอบ 360 องศา หอชมวิวตั้งอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์การเดินเรือ ค่าบริการ ผู้ใหญ่คนละ 20 ริงกิต เด็กคนละ 10 ริงกิต

           ขอขอบคุณ : คุณปิยฉัตร ประยูรเวช และ คุณวันพืช ปานเสน สำหรับการเอื้อเฟื้อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำสารคดีเรื่องนี้

          หนังสืออ้างอิง : ปริวัฒน์ จันทร. คู่มือนำเที่ยวมะละกา. พิมพ์ครั้ง 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี. 2550.





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
ปีที่ 52 ฉบับที่ 12 กรกฎาคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไปปีนังมองมะละกา สองเมืองท่าควรค่ามรดกโลก อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 14:50:55 21,269 อ่าน
TOP