x close

งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร

ประเพณีบุญบั้งไฟ

งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร (ททท.)

          จังหวัดยโสธร ขอเชิญร่วม "งานประเพณีบุญบั้งไฟ" ในวันที่ 13 - 15 พฤษภาคม 2554 ณ บริเวณสวนสาธารณะพญาแถน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

          งานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสาน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลปักดำทำนา จะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถนบนฟากฟ้า เพื่อขอให้ "พญาแถน" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "เทพแห่งฝน" ได้ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้สรรพสิ่งบนผืนโลก ได้ดำเนินวีถีชีวิตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะผู้คนบนผืนดินอีสาน ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำใร่ทำนามาช้านาน ต้องอาศัยข้าวและพืชผลทางการเกษตร ในการหล่อเลี้ยงดำรงชีวิตมาโดยตลอด น้ำฝนจากฟ้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ คือ งานประเพณีแห่และจุดบั้งไฟ จึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อเป็นความหวังและกำลังใจของชาวอีสานมาโดยตลอด

          งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธรจัด ณ สวนสาธารณะพญาแถน และเขตเทศบาลเมืองยโสธร ประเพณีบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหก จัดขึ้นเป็นประจำปีทุกปี ในช่วงอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ก่อนที่จะถึงฤดูลงมือทำนา ทำไมงานบุญบั้งไฟของชาวยโสธรถึงน่าสนใจ เนื่องจากบุญบั้งไฟของชาวยโสธรเป็นบุญบั้งไฟนานาชาติ โดยมีบั้งไฟจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมงานทุกปี ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมจำนวนมาก ทั้งนี้ มีการประกวดแห่เซิ้งบั้งไฟ, บั้งไฟสวยงาม, ประกวดกองเชียร์ และการประกวดธิดาบั้งไฟโก้ ฯลฯ

ความเป็นมาประเพณีบุญบั้งไฟ

          ตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์ และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตาย และได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย

          ในที่สุดพญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบ โดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธ ที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้...

          1. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์

          2. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว

          3. ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว
หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้

กำหนดการจัดงานวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2554

          วันที่ 13 พฤษภาคม 2554 ชมการประกวดกองเชียร์
          วันที่ 14 พฤษภาคม 2554 ชมการประกวดขบวนรำเซิ้ง และ บั้งไฟสวยงาม
          วันที่ 15 พฤษภาคม 2554 ชมการจุดบั้งไฟ ณ ฐานจุดบั้งไฟ สวนสาธารณะพญาแถน

          ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลเมืองยโสธร โทรศัพท์ +66 4572 0951 ต่อ 306 และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี โทรศัพท์ +66 4524 3770, +66 4525 0714


  

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร อัปเดตล่าสุด 27 เมษายน 2554 เวลา 14:54:58 3,191 อ่าน
TOP