เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
อากาศเย็น ๆ แบบนี้ ความรู้สึกอยากออกไปโลดแล่นสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวที่หนาว ๆ คงล้นอยู่ในใจเหล่าบรรดานักเดินทางแน่นอน...ฟันธง และสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมเมื่อสายลมหนาวมาเยือนก็คงหนีไม่พ้น “เชียงใหม่” จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย
อ๊ะ ๆ แต่รู้กันหรือเปล่าคะว่า เที่ยวเชียงใหม่ หน้าหนาว นอกจาก ดอยอินทนนท์, ม่อนแจ่ม, ดอยอ่างขาง, ดอยสุเทพ หรือดอยปุยแล้ว ยังมีสถานท่องเที่ยวแจ่ม ๆ ให้เลือกไปเยี่ยมชมอีกเพียบ ดังนั้น กระปุกท่องเที่ยวเลยนำเอา 10 สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ เจ๋ง ๆ มาแนะนำกัน โดยเฉพาะสถานีเกษตรและโครงการหลวงต่าง ๆ สถานที่ที่บางคนอาจจะคิดว่าไม่มีอะไร แต่จริง ๆ แล้วภายในกลับซุกซ่อนสิ่งน่าตื่นตาตื่นใจเอาไว้มากมาย เริ่มกันที่...
1. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)
ภาพจาก ททท.
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในวงล้อมของแนวเทือกเขาอินทนนท์ แม้ขุนวางจะอยู่ห่างจากถนนสายหลักลึกเข้ามาถึง 16 กิโลเมตร อันทำให้การเดินทางมาที่นี่จำเป็นต้องใช้พาหนะส่วนตัว หรือจะเหมารถจากปากทางของดอยอินทนนท์เพื่อเข้ามายังที่นี่ก็ได้ มิใช่อุปสรรคสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะมาพักผ่อนศึกษาธรรมชาติ หรือท่องเที่ยวทางการเกษตร ณ ที่แห่งนี้ เพราะขุนวางพร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนด้วยพันธุ์ไม้เมืองหนาวนานาชนิด ที่พร้อมใจกันออกดอกบานสะพรั่งยามหน้าหนาว ออกผลเต็มต้นให้เด็ดชิมได้ในช่วงฤดูร้อน แถมยังมีนกของเทือกเขาดอยอินทนนท์นานาชนิดให้ศึกษา รวมทั้งมีทิวทัศน์ที่เขียงชอุ่มแวดล้อมด้วยไม้ใหญ่เปลี่ยนสีสันตามฤดูกาล
ภายในพื้นที่ 450 ไร่ ของศูนย์วิจัยเกษตรหลวง (ขุนวาง) หลากลายด้วยแปลงไม้ผลเมืองหนาวต่าง ๆ หากไปถึงในช่วงฤดูกาลผลไม้เมืองหนาวผลิดอกออกผล ไม่ว่าจะเป็นสาลี่ พลัม ท้อ แนคตารีน หรือสตรอว์เบอร์รี นักท่องเที่ยวก็สามารถเด็ดชิมได้จากต้นเลยทีเดียว หรือหากไปเยี่ยมชมในช่วงฤดูหนาว ก็จะได้สัมผัสบรรยากาศอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่กลางเดือนมกราคม-เดือนกุมภาพันธ์ ที่ดอกนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระดอยจะออกดอกสีชมพูเต็มต้น ขับให้ดอยขุนวางกลายเป็นสีชมพูไปทั้งดอย
อีกทั้งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินชมศึกษาแปลงทดลองการเกษตรภายในศูนย์ได้ โดยมีเจ้าหน้าที่นำชมตามเส้นทางที่กำหนด พาหนะที่ใช้ในการเดินทางภายในศูนย์ควรเป็นรถปิกอัพ รถขับเคลื่อนสี่ล้อ และจักรยาน โดยจุดที่น่าสนใจต่าง ๆ ได้แก่ แปลงไม้ผลเมืองหนาว แปลงกาแฟ โรงกะเทาะเปลือกกาแฟ และแปลงทดสอบพันธุ์มะคาเดเมียซึ่งมีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลีย นักท่องเที่ยวสามารถทอลองเก็บผลและชิมเนื้อสด ๆ ซึ่งมีรสชาติหอมหวานมัน หรือจะชิมแบบอบคั่วเกลือทางศูนย์ก็มีให้ชิม และยังมีการทดลองสกัดน้ำมันจากผลไปทำเครื่องสำอางด้วย
สำหรับที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกนั้น ที่นี่มีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 4 หลัง แต่ละหลังพักได้ตั้งแต่ 4-8 คน มีที่กางเต็นท์ 2 จุด คือ บริเวณลานหญ้าหน้าอาคารสำนักงาน และบริเวณหุบรับเสด็จ ทั้งสองจุดรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน มีอาหารบริการในราคากันเอง ทั้งนี้ ควรติดต่อไปล่วงหน้า โทรศัพท์ 0 5311 4133, 0 5311 4136
2. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา
ภาพจาก thairoyalprojecttour.com
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา อยู่ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ความรับผิดชอบ 7,985 ไร่ ครอบคลุม 3 หมู่บ้าน 303 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้งและชาวพื้นเมือง ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและภูเขาลาดชัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,300 เมตร อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 10 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37 องศาเซลเซียส ที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวให้ทำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น ชมแปลงสาธิตการปลูกผักและดอกไม้ภายในศูนย์ฯ, ชมแปลงดอกเยอบีร่าบนไหล่เขาของชาวม้งบ้านบวกจั่น, ชมแปลงปลูกสตรอว์เบอร์รีและผักปลอดสารพิษ เช่น ยอดชาโยเต้ ลูกฟักชาโยเต้ พริกหวานหลากสี มะเขือเทศ ฯลฯ, ชมแปลงสมุนไพร เช่น ยูเอสมิ้นต์ เจแปนนิสมิ้นต์ ฯลฯ, ชมแปลงกุหลาบบ้านบวกเต๋ย
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น ชมวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าม้ง การเล่นลูกข่าง การเป่าแคนม้ง
การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น จุดชมวิวสะเมิง อยู่ระหว่างรอยต่ออำเภอแม่ริมและสะเมิง เป็นจุดวิวภูเขา สามารถมองเห็นทะเลหมอกในฤดูหนาวได้, จุดชมวิวบ้านบวกจั่น สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ทั้งสวนกุหลาบ แปลงดอกเบญจมาศหลากสีสัน, น้ำตกนางหงส์ เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำมากช่วงเดือนตุลาคม, น้ำตกแม่สา และปางช้าง
ในส่วนของที่พักนั้น ภายในศูนย์ฯ ไม่มีบ้านพักและร้านอาหารบริการ มีเพียงพื้นที่กางเต็นท์โดยนักท่องเที่ยวสามารถนำอุปกรณ์มาประกอบอาหารเองได้ หรือสามารถหาซื้ออาหารได้ตามร้านค้าริมทางทั่วไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา โทรศัพท์ 0 5331 8302, 08 9950 9417, 08 9851 1321 หรือเว็บไซต์ thairoyalprojecttour.com
3. สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง
ภาพจาก doa.go.th
สถานีเกษตรแม่จอนหลวง ตั้งอยู่ในเขตบ้านม้งขุนแม่วาง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพืชพันธุ์ที่นำมาวิจัยที่นี่ต่างมีฤดูกาลติดดอก และพักตัวผลัดเปลี่ยนกันตลอดทั้งปี ไม่ว่าวันหยุดพักผ่อนจะเป็นช่วงเดือนไหน เมื่อมาที่นี่เป็นไม่เสียเที่ยว เพราะถึงจะพลาดชมความงามของดอกซากุระ นักท่องเที่ยวก็จะได้ชิมสตรอว์เบอร์รีปลอดสารพิษสดจากไร่แทน หรือถ้ามาไม่ทันช่วงท้อติดผล ก็จะได้เห็นความงามของดอกสาลี่สีขาว และไม้ดอกเมืองหนาวนานาพันธุ์ พร้อมกับนั่งจิบชาทอดอารมณ์ ชมวิวบนยอดดอย ยิ่งบนดอยสูงอย่างที่แม่จอนหลวงนี้มีการปรับแต่งพื้นที่แบบขั้นบันได ช่วยขยายมุมมองทัศนียภาพโดยรอบได้กว้างยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่นิยมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร หากได้มาเยือนที่นี่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะซึมซับความรู้ในงานวิชาการและความงามทางธรรมชาติกลับบ้านไปพร้อมกัน โดยการเที่ยวชมงานภายในสถานีบริเวณใกล้ ๆ ที่พัก ซึ่งเป็นพื้นที่ลาดชันที่ถูกปรับแต่งให้เป็นทางเดินนั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าเที่ยวชมได้
ส่วนจุดที่ไกลออกไปจำเป็นต้องใช้รถในการเดินทางไปเที่ยวชม อย่างแปลงทดลองต่าง ๆ ได้แก่ แปลงสาลี่ แปลงไม้ดอกเมืองหนาว แปลงสตรอว์เบอร์รีและผักปลอดสารพิษ แปลงชาพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวอาจจะได้ชมกระบวนการแปรรูปชา ทั้งชาจีและชาเขียวที่โรงแปรรูปชา อีกทั้งยังสามารถซักถามรายละเอียดจากนักวิชาการที่ดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้ลิ้มรสชาเขียวเท่านั้น อาจโชคดีได้ลองชิมยำใบชาสูตรพิเศษที่จะหาชิมได้ที่นี่แห่งเดียว นอกจากนี้ ยังมีแปลงทดสอบพันธุ์มะคาเดเมียนัท แปลงทดสอบพันธุ์เสาวรส แปลงเกาลัดจีน เป็นต้น
สำหรับที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก มีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยว แบ่งเป็นเรือนพักชายและหญิง 2 หลัง มีสถานที่สำหรับประกอบอาหาร และมีเรือนรับรองหลังใหญ่ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ราว 40-50 คน มีจุดชมวิวที่สามารถกางเต็นท์ได้สองจุด รับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน ส่วนอาหารนักท่องเที่ยวสามารถเตรียมขึ้นมาประกอบเอง หรือแจ้งล่วงหน้าให้กับเจ้าหน้าที่ของทางสถานีเพื่อให้จัดเตรียมให้นักท่องเที่ยวที่สนใจต้องการไปสัมผัสกับพืชพรรณนานาชนิด สามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 0 5311 4133, 0 5311 4136
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ หมู่บ้านม้งแม่ขุนวาก จากสถานีทดลองเกษตรแม่จอนหลวง มีเส้นทางแยกไปทางเหนือเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านแม่ขุนวาก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวสถานีโดยทางรถไปไม่ถึง 20 นาที นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวม้ง และชมงานปักผ้าของหญิงชาวม้งในหมู่บ้านได้ และน้ำตกสิริรัตน์ ออกจากเขตสถานีฯ ไปทางทิศตะวันตก จะพบทางแยกไปน้ำตกสิริรัตน์ รถเข้าไม่ถึง ต้องเดินเท้าไปประมาณ 10 นาที เส้นทางไปเที่ยวน้ำตกเป็น เส้นทางปรับแต่งแล้ว สะดวกต่อการเดินเท้า แต่ควรสวมรองเท้าที่เหมาะสมต่อการเดินขึ้นเขาน้ำตกสิริรัตน์ไหลแรงมีน้ำตลอดปีเหมาะแก่การนั่งรับประทานอาหาร แต่อย่าลืมเก็บขยะออกมาทิ้งด้านนอกด้วยทุกครั้ง
4. อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก
อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ก่อนจะเปลี่ยนชื่อแบบในปัจจุบัน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 524 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนของทิวเขาผีปันน้ำ มีความสูงตั้งแต่ 400-2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีดอยสำคัญได้แก่ ดอยฟ้าห่มปก ดอยปู่หมื่น ดอยแหลม และดอยอ่างขาง สภาพป่าส่วนใหญ่ยังสมบูรณ์อยู่มาก รวมทั้งมีพันธุ์ไม้ที่หายากของไทย เช่น เทียนหาง กุหลาบพันปี เป็นต้น
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ เช่น โป่งน้ำร้อนฝาง เกิดจากพลังงานความร้อนใต้ผิวโลก น้ำมีอุณหภูมิสูงถึง 90-130 องศาเซลเซียส มีน้ำแร่ทั้งปี บริเวณกว้างโปร่งตา โป่งน้ำร้อนฝางมีห้องบริการอาบน้ำแร่ ทั้งห้องอาบน้ำและอบไอน้ำ รวมทั้งบ่ออาบน้ำร้อนกลางแจ้ง, น้ำตกโป่งน้ำดัง เป็นน้ำตกหินปูนขนาดเล็ก แต่มีเสน่ห์ไม่แพ้น้ำตกขนาดใหญ่ มีถ้ำเล็ก ๆ พอให้คนเข้าไปนั่งเล่นได้ 3-4 คน เพดานถ้ำมีน้ำหยดตลอดเวลาและเกิดเป็นหินงอกเล็ก ๆ ไปทั่ว, ถ้ำห้วยบอน เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ลึกประมาณ 300 เมตร ภายนอกถ้ำอาจดูไม่น่าสนใจนัก แต่เมื่อเข้าไปถึงประมาณกลางถ้ำ จะพบโถงถ้ำใหญ่ซึ่งจุคนได้ประมาณ 40-50 คน สภาพถ้ำเต็มไปด้วยเสาหินและหินงอกหินย้อยขนาดต่าง ๆ ซึ่งดูน่าตื่นตาตื่นใจมาก
ดอยฟ้าห่มปก มีความสูง 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล จึงมีเมฆหมอกปกคลุมยอดดอยและมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ดอยฟ้าห่มปก คือ หนึ่งในเทือกเขาแดนลาวที่ทอดตัวยาวตั้งแต่ทางตอนใต้ของยูนนานลงมาแบ่งชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่เชียงรายไปจนถึงแม่ฮ่องสอนจนไปจรดกับเทือกเขาถนนธงชัย บนดอยฟ้าห่มปกมีนกและผีเสื้อที่น่าสนใจ เช่น นกปีกแพรสีม่วง นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปก ซึ่งพบที่นี่แห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ เป็นต้น ในฤดูหนาวมีนกอพยพมาอาศัย เช่น นกเดินดงคอแดง นกเดินดงดำปีกเทา และนกเดินดงสีน้ำตาลแดง เป็นต้น
โดยนักท่องเที่ยวสามารถตั้งแคมป์พักแรมได้ตรงบริเวณกิ่วลม เนื่องจากทางอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้พักแรมบนยอดดอยฟ้าห่มปกซึ่งเป็นหน้าผาชันและอาจเกิดอันตรายได้ การเดินทางขึ้นยอดดอยฟ้าห่มปกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน 1 คืน ก่อนเดินทางควรติดต่อขออนุญาต ณ ที่ทำการอุทยานฯ สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 5345 3517 หรือ เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ทั้งนี้ ก่อนการจะเดินทางขึ้นสู่จุดยอดดอยฟ้าห่มปกนั้นต้องเตรียมตัวอย่างดี เพราะต้องเดินป่าปีนเขาอย่างสมบุกสมบัน และที่นี่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมไปเอง
การเดินทาง : อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จากเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ถึงตัวเมืองฝางตรงไปจนพบสามแยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายไป 9 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางชัดเจนตลอดทาง เป็นถนนลาดยาง จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ
5. ป่าสนบ้านวัดจันทร์
ภาพจาก ททท.
ป่าสนบ้านวัดจันทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม ผืนดินแห่งนี้ชาวกะเหรี่ยง มูเส่คี (หมายถึง ต้นน้ำแม่แจ่ม) ได้พึ่งพาอาศัยดำรงชีวิตมานับร้อยปี พวกเขาช่วยกันดูแลรักษาผืนดินผืนป่าแห่งนี้อย่างดีเหมือนเป็นสมาชิกครอบครัวเลยก็ว่าได้ ตามธรรมเนียมกะเหรี่ยงเมื่อมีเด็กเกิดใหม่จะนำสายสะดือของเด็กไปผูกไว้กับต้นไม้ กำหนดว่าเป็นต้นไม้ของครอบครัวใครจะมาตัดไม่ได้
สนที่ขึ้นที่นี่เป็นสนเขาทั้งสนสองใบและสามใบ ที่จะขึ้นเฉพาะในที่สูง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป ยางสนนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น นำไปใช้กับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายเป็นตัวช่วยให้ฝืด หรือนำไปสกัดเป็นน้ำมันสนที่ใช้ผสมกับสีน้ำมันช่วยให้สีแห้งเร็ว แต่เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของป่าที่นี่จึงไม่มีการทำยางสน ชาวบ้านได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงให้เลี้ยงไก่เบส ซึ่งเป็นไก่เนื้อพันธุ์ดีกิโลกรัมละหลายร้อยบาท
ผู้สนใจมาหาประสบการณ์ชีวิตจากที่นี่นำจักรยานมาปั่นได้จะดีมาก เพราะอากาศที่นี่เย็นสบายตลอดปี ทิวทัศน์เป็นป่าสนสวยงาม หรือจะนำเรือยางมาพายในทะเลสาบที่นี่ก็ได้ กิจกรรมแบบนี้นอกจากไม่ก่อมลพิษแล้วเรายังได้อยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดด้วย บ้านพักติดต่อที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) บ้านวัดจันทร์ โทรศัพท์ 0 5324 9394 หรือเว็บไซต์ fio.co.th
การเดินทาง : มีหลายเส้นทางให้เลือกแต่ไม่ว่าจะใช้ทางใดก็ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น หากมาในช่วงฤดูหนาวจะพบใบไม้เปลี่ยนสีในป่าสองข้างทาง เส้นทางที่สะดวกที่สุด คือ ทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่มาลัย-ปาย สามารถเข้าได้สองทาง ซึ่งทั้งสองเส้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 40 กิโลเมตร คือ เส้นทางที่ 1 ตามป้ายทางหลวง ประมาณ 80 กิโลเมตร จากแม่มาลัย หรือเส้นทางที่ 2 ทางเข้าตรงวัดพระธาตุ อยู่ถัดจากวัดพระธาตุมาประมาณ 500 เมตร แยกซ้ายเข้าตรงโค้งเล็ก ๆ แยกเข้าเส้นทาง จอมแจ้ง-บ้านเมืองแร่-บ้านบ่อแร่ รวมระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร
เส้นทางอื่น ๆ คือ สายสะเมิง-วัดจันทร์-บ้านบ่อแก้ว-บ้านดงสามหมื่น เป็นทางลูกรังเช่นกันระยะทาง 80กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 155 กิโลเมตร อีกสองเส้นทางที่ลำบากกว่าสองทางแรก คือ อำเภอแม่แจ่ม-บ้านวัดจันทร์ และอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน-บ้านวัดจันทร์ เส้นทางหลังจะมีความงามมาก หรือสามารถโดยสารรถประจำทางได้เป็นรถสองแถวสีเหลือง คิวรถบ้านวัดจันทร์อยู่ที่ถนนช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ รถออกทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
6. สันป่าเกี๊ยะ
ฤดูหนาวสำหรับคนเดินทางหลาย ๆ คน จุดหมายคงหนีไม่พ้นเทือกเขาและยอดดอย แต่หากหนึ่งในเส้นทางของจุดหมายที่มีสีสันและความหวานของสีชมพูแห่งจินตนาการเข้ามาสอดแทรก ใครเล่าอยากจะปฏิเสธที่จะเดินทางไปชื่นชม...ซากุระ เจ้าหญิงแห่งดอกไม้สีชมพู ณ สถานีวิจัยเกษตรที่สูงป่าเกี๊ยะ ดอยเชียงดาว ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถึงแม้ชื่อ สันป่าเกี๊ยะ อาจจะยังไม่คุ้นหู แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นที่จะเดินทางมาค้นหาดินแดนแห่งขุนเขาสูงเสียดฟ้า อบอวลด้วยทะเลหมอกและดอกไม้ที่บานสะพรั่ง
คำว่า เกี๊ยะ เป็นคำเมืองแปลว่า ต้นสน บนยอดดอยมีทิวสนต้นใหญ่เรียงรายไปตามแนวเขา มีแปลงดอกไม้และแปลงทดลองปลูกกาแฟ ที่สำคัญในช่วงฤดูหนาวจะมองเห็นทะเลหมอกกับแสงแรกของอาทิตย์ตรงเส้นขอบฟ้าบนยอดดอยหลวงเชียงดาว เป็นภาพที่ยิ่งใหญ่แอบแฝงด้วยความอ่อนหวานและงดงาม ณ จุดกางเต็นท์ ในยามค่ำคืนจะมองเห็นดวงดาวเต็มท้องฟ้าและแสงระยิบระยับจากเมืองเชียวดาว เป็นภาพที่ยิ่งใหญ่แอบแฝงด้วยความอ่อนหวานและงดงามน่าจดจำ
รู้ก่อนเดินทาง : ดอกซากุระหรือนางพญาเสือโคร่งจะผลิบานเต็มที่ช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม การเดินทางค่อนข้างลำบาก เป็นทางลูกรังและเป็นหลุมเป็นบ่อ ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น การเยี่ยมชมควรติดต่อขออนุญาตจากสถานีวิจัยเกษตรที่สูงป่าเกี๊ยะดอยเชียงดาว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างน้อยล่วงหน้า 10 วัน โทรศัพท์ 0 5322 2014, 0 5394 4052 หรือ เว็บไซต์ tourismthailand.org
7. ดอยเชียงดาว
ภาพจาก ททท.
ดอยเชียงดาว อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว ยอดสูงสุดของดอยเชียงดาว เรียกว่า ดอยหลวงเชียงดาว (เพี้ยนมาจากคำที่ชาวบ้านในละแวกเปรียบเทียบดอยนี้ว่าสูง เพียงดาว) มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนรูปกรวยคว่ำสูง 2,195 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นยอดดอยที่สูงอันดับ 3 ของประเทศรองจากดอยอินทนนท์และผ้าห่มปก
จากบนยอดดอยซึ่งเป็นที่ราบแคบ ๆ สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามรอบด้าน คือ ทะเลหมอกด้านอำเภอเชียงดาว ดอยสามพี่น้อง เทือกดอยเชียงดาว ตลอดจนถึงยอดดอยอินทนนท์อันไกลลิบ อากาศเย็น ลมแรง และสมบูรณ์ด้วยดอกไม้ป่าภูเขาที่หาชมได้ยากมากมาย รวมทั้งนกและผีเสื้อด้วย (ไม่เหมาะที่จะขึ้นไปยืนบนยอดดอยทีละกลุ่มใหญ่ ๆ เพราะจะไปเหยียบย่ำทำลายพรรณไม้บนนั้นได้ แม้จะโดยไม่ตั้งใจก็ตาม)
ทั้งนี้ การเข้าไปใช้พื้นที่ต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ อย่างน้อย 2 อาทิตย์ก่อนการเดินทาง รายละเอียดโทรศัพท์ 0 2561 2947 หรือที่ เฟซบุ๊ก สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว
สำหรับการเดินทางสู่ยอดดอยเชียงดาวเริ่มที่ถ้ำเชียงดาว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถติดต่อคนนำทาง ลูกหาบ รวมทั้งรถไปส่งที่จุดเริ่มเดินได้ บนดอยเชียงดาวไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวไปด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน อาหาร และน้ำ ส่วนเส้นทางลงนิยมใช้ทางสายบ้านถ้ำซึ่งอยู่ใกล้กับถ้ำเชียงดาว เพราะมีทางสูงชันสามารถลงได้รวดเร็วกว่าแต่ไม่เหมาะกับการขึ้น
8. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ
ภาพจาก thairoyalprojecttour.com
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง มีพื้นที่รับผิดชอบ 17 หมู่บ้าน 451 ครัวเรือน บนพื้นที่ 84.27 ตารางกิโลเมตร หรือ 52,670 ไร่ ประชากรประกอบด้วยคนพื้นเมืองและเผ่าม้ง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน ที่ราบมีน้อยมาก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 700-1,250 เมตร ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย 24 องศาเซลเซียส
และกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนที่นี่ ได้แก่ การชมวิวทิวทัศน์สวยงามของแปลงปลูกชาลุงเดช, เรียนรู้วิธีการชงชาและชิมชา ตลอดจนขั้นตอนกรรมวิธีการแปรรูปชาและการบรรจุหีบห่อที่โรงงานชาบ้านปงตอง, ชมโรงเรือนเพาะเห็ดระบบปิด เช่น เห็ดนางรมภูฎาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดปุยฝ้าย ฯลฯ, ชมแปลงส่งเสริมผลผลิตตามฤดูกาล เช่น กาแฟอาราบิก้า อะโวคาโด ฟักทองญี่ปุ่น ฯลฯ, ชมแปลงกล้วยไม้ซิมบิเดี้ยมขนาดใหญ่หลากหลายสีสัน, ชมสวนส้มของเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง และชมการเก็บและแปรรูปเมี่ยงอาหารขึ้นชื่อของชุมชน
หรือใครอยากไปท่องเที่ยวธรรมชาติเราขอแนะนำ จุดชมวิวดอยม่อนเงาะ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,425 เมตร ด้วยความสวยงามของชั้นเขา จึงสามารถชมทะเลหมอกและชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกเป็นมุมกว้าง 360 องศา ได้อย่างสุดลูกหูลูกตา และล่องแพผจญภัยที่บ้านสบก๋าย ชมธรรมชาติที่สวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ชมโขดหินที่มีลักษณะแตกแต่งกัน รวมถึงต้นไม้ใหญ่อายุกว่าพันปีที่โค่นล้มโดยธรรมชาติ โดยมีทั้งล่องแพไม้และแพยาง โดยแพไม้ไผ่จะงดล่องในช่วงฤดูฝน ส่วนแพยางสามารถล่องได้ตลอดทั้งปี หรือจะไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง บ้านม่อนเงาะ เยี่ยมบ้านอดีตชาวม้งที่ผมยาวที่สุดในโลกก็ได้ไม่ว่ากัน
ในส่วนของที่พักนั้น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะบ้านพักให้บริการ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 15 คน และมีเต็นท์บริการให้เช่ากับนักท่องเที่ยว และสามารถนำเต็นท์ไปกางเองได้ และภายในศูนย์ฯ ไม่มีร้านอาหารให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้ที่ตลาดแม่มาลัย หรือสั่งรายการล่วงหน้ากับกลุ่มแม่บ้าน เพื่อความสะดวกในการเตรียมวัตถุดิบประกอบอาหาร โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ โทรศัพท์ 053-318-308 หรือดูเว็บไซต์ thairoyalprojecttour.com
9. อำเภอไชยปราการ
ภาพจาก ททท.
อำเภอไชยปราการ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 128 กิโลเมตร เป็นอำเภอที่มีภูเขาล้อมรอบถึง 3 ด้าน ได้แก่ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม แหล่งท่องเที่ยวอำเภอไชยปราการ มีมากมายหลากหลาย ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เช่น อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำแม่ฝางและป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ยอดดอยที่สูงที่สุดคือยอดดอยเวียงผา มีความสูง 1,834 เมตร, เขื่อนแม่ทะลบหลวง มีบริการล่องเรือ ร้านอาหารเมนูปลา, หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสูน (ภูแสนดาว) ธรรมชาติเขียวขจีที่ความสูง 1,000 เมตร มีเรือนรับรอง ลานกางเต็นท์, วัดพระเจ้าพรหมมหาราช (วัดป่าไม้แดง) วัดประจำอำเภอไชยปราการ เป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง ประดิษฐานอนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช และพระพุทธมหามงคล ตั้งอยู่ที่บ้านป่าไม้แดง ตำบลหนองบัว
วัดถ้ำตับเต่า ภายในมีถ้ำ 2 ถ้ำ คือ ถ้ำแจ้ง ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ และถ้ำมืด ประดิษฐานเจดีย์นิ่ม, กาดเมืองผี เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติเกิดเป็นแท่งหินเสาหินรูปร่างต่าง ๆ วิจิตรงดงาม, น้ำซาวรู มหัศจรรย์อุโมงค์ส่งน้ำใต้พิภพที่หล่อเลี้ยงชาวอำเภอไชยปราการ กว่า 20 รู จึงเรียกว่า "เมืองมหัศจรรย์ น้ำซาวรู" เป็นธารน้ำธรรมชาติไหลออกจากช่องหิน กลายเป็นลำน้ำสายใหญ่ โดยไม่ทราบว่าน้ำมาจากไหน, ถ้ำผีแมน การค้นพบอารยธรรมของมนุษย์ที่เคยตั้งรกรากอยู่ในแถบนี้ มีหลักฐานคือโลงบรรจุศพมนุษย์โบราณอายุประมาณ 1-2 พันปี
สระน้ำมรกต สระน้ำจืดธรรมชาติสีฟ้าครามเหมือนน้ำทะเลลึก, ป่าพันปี ป่าดึกดำบรรพ์มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้, สวนอินทผลัม บ้านสวนโกหลัก แห่งเดียวในประเทศไทย, กองบัญชาการกองทัพ 3 คณะชาติ ก๊กมินตั๋ง กองพล 93 (ถ้ำง๊อบ) เคยเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารเช่นเดียวกับที่ดอยแม่สลอง, หมู่บ้านหัตถกรรม เครื่องปั้นดินเผา ที่หมู่ 12 บ้านสันทราย ตำบลศรีดงเย็น เป็นหมู่บ้านหัตกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่สวยงาม และดอยผาแดง ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีทิวทัศน์งดงาม อากาศเย็นตลอดปี จนสามารถปลูกไม้เมืองหนาวและดอกทิวลิปได้
ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5345 7029
10. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ
ภาพจาก thairoyalprojecttour.com
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ตั้งอยู่ที่บ้านแม่แฮ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 33 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่วาง อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอสะเมิง ครอบคลุม 24 หมู่บ้าน 1,750 ครัวเรือน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน มีที่ราบแคบตามแนวเหนือ-ใต้ของห้วยแม่แฮและห้วยแม่เตียน อุณหภูมิเฉลี่ย 24 องศาเซลเซียส
ที่นี่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เลือกทำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างชมแปลงสาธิตผักและไม้ดอกที่มีผลผลิตตลอดทั้งปี, ชมแปลงผลผลิตของเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ เช่น พลับ สาลี่ พลับ องุ่นไร้เมล็ด สตรอว์เบอร์รี ฯลฯ, ชมไร่สตรอว์เบอร์รีขนาดใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่ศูนย์ฯ ย่อยบ่อแก้ว โดยจะออกผลช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสตรอว์เบอร์รี เช่น ไวน์ น้ำสตรอว์เบอร์รี ฯลฯ หรือจะท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยการไปชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง
รวมถึงการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น หน่วยจัดการต้นน้ำแม่สะงะซึ่งเคยเป็นที่ประทับแรมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ห่างจากศูนย์ฯ ประมาณ 7.5 กิโลเมตร มีป่าที่สมบูรณ์และธรรมชาติงดงามเหมาะสำหรับการศึกษาธรรมชาติ และมีบริเวณที่กางเต็นท์ตั้งแคมป์ได้, จุดชมวิว ชมทะเลหมอก พระอาทิตย์ขึ้นและตกที่งดงามที่ยอดดอยม่อนยะ บ้านน้ำจาง และบ้านม่อนยะใต้ มีบริเวณตั้งแคมป์ได้, เส้นทางเดินป่าและตั้งแคมป์ที่หน่วยจัดการต้นน้ำแม่สะงะ, แหล่งน้ำธรรมชาติที่บ้านห้วยขมิ้น ห่างจากศูนย์ฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร, ถนนทุ่งบัวตอง ตามเส้นทางแม่เตียน-แม่แฮ- และแม่แฮ-ป่าเกี๊ยะน้อย ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะมีดอกบานสะพรั่ง และดอกนางพญาเสือโคร่ง (ซากุระเมืองไทย) ออกดอกในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
ทั้งนี้ บ้านพักรับรองภายในศูนย์ฯ จำนวน 1 หลัง มี 5 ห้อง รองรับได้ 30 คน มีสถานที่กางเต็นท์ และบริการเช่าเต็นท์ขนาด 2 คน พร้อมถุงนอน กรณีนำเต็นท์มาเองคิดค่าบำรุงพื้นที่ และภายในศูนย์ฯ ไม่มีร้านอาหารบริการ แต่สามารถจัดหารับรองให้ได้ โดยแจ้งล่วงหน้าก่อนเดินทาง นอกจากนี้ ยังมีโฮมสเตย์ของชุมชนไว้คอยให้บริการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 08 9948 3546, 0 5321 1489 หรือดูที่เว็บไซต์ thairoyalprojecttour.com
และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งสำหรับการ “เที่ยวเชียงใหม่ หน้าหนาว” ในสถานที่ที่หลาย ๆ คนอาจคาดไม่ถึงว่าจะงดงาม เพราะจังหวัดนี้ยังมีอะไรให้ท่องเที่ยวอีกมากมาย นั่นแน่ ! ได้เวลาเก็บกระเป๋า สะพายกล้อง สวมรองเท้า และเดินทางออกไปเที่ยวกันแล้วล่ะสิ ^___^
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
, thairoyalprojecttour.com , เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก