พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่อีสานตอนล่างกัน

           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ที่เที่ยวโคราช ไปชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำเมืองพิมายกัน
           พิมาย อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายทั้งโบราณสถาน ธรรมชาติ และวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อุทยานไทรงาม อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เป็นต้น วันนี้เราเลยจะพาไปเที่ยวชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย แหล่งท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญ หลังปรับโฉมใหม่ ไปดูว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ตั้งอยู่ที่ไหน

           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย (Phimai National Museum) ตั้งอยู่ในเขตโบราณสถานเมืองโบราณพิมาย บนถนนท่าสงกรานต์ ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา บริเวณเชิงสะพานท่าสงกรานต์ ก่อนถึงอุทยานประวัติศาสตร์พิมายประมาณ 300-500 เมตร และห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 60 กิโลเมตร
 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ประวัติ

          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี โดยเก็บรวบรวมหลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับรากฐานและพัฒนาการของวัฒนธรรมอีสานในอดีต ที่เจริญรุ่งเรืองในพื้นที่อีสานตอนล่างแถบลุ่มแม่น้ำมูล-แม่น้ำชี ในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000 ปี จนถึงปัจจุบัน 

          โดยเริ่มต้นมาจากการเป็นพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 กระทั่ง พ.ศ. 2518 ได้โอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ต่อมา พ.ศ. 2532 กรมศิลปากรเสนอของบประมาณโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง (โครงการอีสานเขียว) เพื่อดำเนินการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ให้ถูกต้องตามหลักพิพิธภัณฑสถานวิทยา โดยการจัดสร้างอาคารจัดแสดง สำนักงานและห้องประชุม และได้รับงบประมาณต่อเนื่องมาจนกระทั่งดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการถาวรแล้วเสร็จ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2536

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มีอะไรบ้าง

          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ได้เก็บรวบรวมหลักฐานและจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมอีสานในอดีต โดยเฉพาะโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ ที่ค้นพบในเขตอีสานตอนล่าง
 

  • โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่นำมาจัดแสดง ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาโบราณ โครงกระดูก เครื่องมือ เครื่องประดับที่ทำจากสำริดและหิน
     
  • โบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ ได้แก่ ใบเสมาแบบศิลปะทวารวดี ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมแบบเขมร เช่น ทับหลัง หน้าบัน เสาประดับกรอบประตู ทวารบาล และประติมากรรมรูปเคารพ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป รูปพระโพธิสัตว์ และรูปสลักศิลาพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งพบที่ปราสาทพิมาย นับเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมของพิพิธภัณฑ์นี

          โดยแบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็น 2 อาคาร ได้แก่
 

  • อาคารจัดแสดงที่ 1 เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรที่เรียงร้อยเรื่องราวของเมืองพิมายผ่านหลักฐานทางโบราณคดี
     
  • อาคารศิลาจำหลัก เป็นอาคารคลังเก็บโบราณวัตถุ ประเภทองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ที่พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
สิ่งน่าสนใจ
  • ก่อร่างสร้างปราสาทพิมาย : บอกเล่าเรื่องราวของปราสาทพิมาย ตั้งแต่ที่มาของชื่อ พิมาย และการก่อสร้างปราสาทพิมาย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ เครื่องมือ วิธีการ รวมถึงความเชื่อและพิธีกรรมในการก่อสร้าง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

  • หลักฐานคนพิมาย : จัดแสดงหลักฐานที่บอกเล่าวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องไทยธรรม และพาหนะในการเดินทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

  • ศาสนาในเมืองพิมาย : เมืองพิมาย เป็นศูนย์กลางสําคัญของศาสนาพุทธลัทธิมหายาน นิกายวัชรยาน ที่สําคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา (ประมาณ 900 ปีมาแล้ว) นอกจากปราสาทพิมายแล้ว ยังปรากฏวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เมืองพิมายยังพบการเคารพนับถือศาสนาฮินดูควบคู่กันไปด้วย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

  • เมืองพิมาย สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 : กษัตริย์ผู้ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์มหิธรปุระ ในรัชสมัยของพระองค์ เมืองพิมายมีนามว่า วิมายปุระ เป็นเมืองสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งและเจริญรุ่งเรืองมากในขณะนั้น มีการสร้างประตูเมืองพิมายขึ้นทั้ง 4 ด้าน และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสถานพยาบาล (อาโรคยศาล) ขึ้นที่เมืองพิมาย รวมทั้งสร้างที่พักคนเดินทาง (วหนิคฤหะ - บ้านมีไฟ) ตามถนนสายหลักที่ตัดจากเมืองพระนครหลวงมายังพิมายด้วย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

  • เมืองพิมาย หลังพุทธศตวรรษที่ 18 : เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อิทธิพลทางการเมืองของอาณาจักรเขมรโบราณเริ่มเสื่อมลง เป็นผลให้อาณาจักรอยุธยาขยายอํานาจเข้าสู่บ้านเมืองในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน ดังจะพบหลักฐานรูปเคารพสมัยอยุธยาที่ถูกนําเข้าไปประดิษฐานภายในปราสาทเขมรโบราณ เช่น ปราสาทพนมวัน ปราสาทพิมาย รวมถึงการพบโบราณสถานสมัยอยุธยาในเมืองพิมาย เช่น อุโบสถวัดเจ้าพิมาย และเมรุพรหมทัต
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

  • ลวดลายจําหลัก : ศิลปะแห่งเมืองพิมาย ห้องจัดแสดงไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงทับหลังจากปราสาทพิมาย ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และประติมากรรมรูปสตรีที่สันนิษฐานว่าเป็นพระนางศรีชัยราชเทวี มเหสีองค์แรกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

          ทั้งนี้ ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 การเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จะเปิดเฉพาะส่วนจัดแสดงชั้นล่างที่มีการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ส่วนอาคารศิลาจำหลักเท่านั้น ในส่วนอาคารจัดแสดงชั้นบน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มีแผนการดำเนินงานปรับปรุงต่อไปในอนาคต (ปีงบประมาณ 2568)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ค่าเข้าชม

          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เข้าชมฟรี !! ไม่เสียค่าเข้าชม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เปิด-ปิด

           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เปิดให้บริการตั้งแต่วันพุธ-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์-อังคาร) เวลา 09.00-16.00 น.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา / ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ช่องทางการติดต่อ

           สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-4447-1167 อีเมล phimaimuseum@hotmail.com หรือ เฟซบุ๊ก Phimai National Museum:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย การเดินทาง

           จากตัวเมืองนครราชสีมาเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ระยะทาง 50 กิโลเมตร ถึงทางแยกตลาดแคเลี้ยวขวาไปตามทางหลวง 206 อีก 10 กิโลเมตร หากใช้บริการรถโดยสารสามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งแห่งที่ 2 ในตัวเมืองนครราชสีมา

บทความ ที่เที่ยวนครราชสีมา เขาใหญ่ และอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก Phimai National Museum:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย, finearts.go.th, thai.tourismthailand.org, virtualmuseum.finearts.go.th
ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก พิมาย 360 องศา
ถ่ายภาพ : รังสฤษฏ์ อารีย์วงศ์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่อีสานตอนล่างกัน อัปเดตล่าสุด 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 09:14:04 5,916 อ่าน
TOP
x close