งานนวราตรี พร้อมขบวนแห่ประจำปี 2567 วัดแขก สีลม จัดวันไหน เช็กเลย !

           ปักหมุด งานนวราตรี 2567 พร้อมขบวนแห่ประจำปี งานใหญ่ของวัดแขก สีลม จัดวันไหน ไปอัปเดตรายละเอียดกันได้เลย
           สายมูห้ามพลาดกับงานยิ่งใหญ่ประจำปีของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขก สีลม กับ งานนวราตรี 2567 อีกหนึ่งพิธีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาพระแม่ทุรคา หรือพระแม่ปารวตี หรือพระแม่อุมาเทวี โดยในแต่ละปีจะมีพิธีและขบวนแห่เพื่อเฉลิมฉลอง ใครที่เป็นสายมู หรือเคารพบูชาในองค์เทพ-เทพีของพราหมณ์ฮินดู สามารถเช็กตารางงานนวราตรี 2567 รวมถึงข้อควรทำและข้อห้ามต่าง ๆ ในวันงานนวราตรี 2567 ได้เลย

งานนวราตรี 2567

งานนวราตรี คืองานอะไร

          งานนวราตรี มาจากคำว่า นวราตรี แปลว่า 9 คืน ซึ่งหมายถึง การบูชาพระแม่ทุรคา หรือพระแม่ปารวตี หรือพระแม่อุมาเทวี เป็นระยะเวลา 9 คืน แต่ในความเป็นจริงจะจัดขึ้นทั้งหมด 10 คืน โดยเชื่อกันว่าคืนที่สิบจะเป็นวันที่สำคัญที่สุดในเทศกาลนี้ เนื่องจากเป็นวันที่พระแม่ทุรคาปราบมหิงษาสูรได้สำเร็จ หลังจากการต่อสู้ 9 วัน 9 คืนที่ผ่านมา

          ตามตำนานเดิม งานนวราตรี อินเดีย มีที่มาอย่างยาวนาน ส่วนใหญ่มักจะจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ เพียงแต่จะมีรูปแบบหรือลักษณะงานต่างกันเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ถือเป็นงานเทศกาลที่สำคัญอีกงานหนึ่งในศาสนาฮินดู มีความเชื่อกันว่าในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่พระแม่และขบวนเทพจะเสด็จมายังโลกเพื่อประทานพรให้กับมนุษย์ด้วย สำหรับในประเทศไทยจะจัดงานนวราตรีที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก สีลม

รูปปั้นจำลองพระแม่ทุรคา

ภาพจาก : Keung / Shutterstock.com

(ปี พ.ศ. 2565)

ขบวนแห่งานนวราตรี หน้าวัดแขก สีลม

ภาพจาก : kae_nata / Shutterstock.com

(ปี พ.ศ. 2559)

พิธีนวราตรี 2567 จัดวันไหน

           สำหรับในปี 2567 เพจ Hindu Meeting (Fan Page) ได้เผยกำหนดการ พิธีนวราตรี และงานแห่ประเพณี เนื่องในวันวิชัยทัสมิ ประจำปี 2567 ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) แล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 2-14 ตุลาคม 2567 โดยแต่ละวันมีกำหนดการพิธี ดังนี้

วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2567

          พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร (บรมครู) พิธีบูชาเทพประจำแผ่นดิน เทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า พิธีบูชาเพื่อขออนุญาตต่อองค์มหาเทวีและมหาเทพทั้งหลายที่ประดิษฐานภายในวัด เพื่อเริ่มงานพิธีนวราตรี ประจำปี 2567

  • พิธีเช้า 09.30 น.

  • พิธีเย็น 17.00 น.

          หลังเสร็จพิธี อัญเชิญองค์พระพิฆเนศวร องค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี องค์พระแม่ศรีมหาซูลัมกาลี ออกแห่

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567

          เริ่มงานพิธีนวราตรี ประจำปี 2567 (Navarathri 2024)

  • พิธีเช้า 09.00 น. บูชาองค์พระแม่ศรีมหาทุรคาเทวี

  • พิธีเย็น 17.00 น. บูชาองค์พระแม่ศรีมหาทุรคาเทวี

  • เวลาประมาณ 18.30 น. อัญเชิญธงสิงห์ขึ้นเสา

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2567

          พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาทุรคาเทวี

  • พิธีเช้า 09.00 น.

  • พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.

  • พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2567

          พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาทุรคาเทวี

  • พิธีเช้า 09.00 น.

  • พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.

  • พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2567

          พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาลักษมีเทวี

  • พิธีเช้า 09.00 น.

  • พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.

  • พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2567

          พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาลักษมีเทวี

  • พิธีเช้า 09.00 น.

  • พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.

  • พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567

          พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาลักษมีเทวี 

  • พิธีเช้า 09.00 น.

  • พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.

  • พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.

วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2567

          พิธีสยุมพรองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ

  • พิธีเช้า 09.00 น. (พิธีสยุมพร)

  • พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น. (พิธีบูชาพระแม่นั่งชิงช้า)

  • พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น. (พิธีบูชาพระแม่นั่งชิงช้า)

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2567

          พิธีบูชาพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ

  • พิธีเช้า 09.00 น.

  • พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.

  • พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567

          พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาสรัสวตีเทวี 

  • พิธีเช้า 09.00 น.

  • พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.

  • พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.

วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2567

           งานแห่ประเพณี เนื่องในวันวิชัยทัสมิ ประจำปี 2567 (Vijaya Dasmi 2024) โดยขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ในเวลาประมาณ 19.30 น. เป็นต้นไป

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2567

           พิธีอัญเชิญธงสิงห์ลง และพิธีอาบน้ำคณะพราหมณ์และคณะคนทรง โดยพิธีเริ่มเวลา 17.00 น. ซึ่งหลังจากเสร็จพิธีคณะพราหมณ์จะผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์ที่ทำพิธีมาแล้วให้แก่สานุศิษย์ทุกท่านฟรี
ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศวร งานนวราตรี

ภาพจาก : kan Sangtong / Shutterstock.com

(ปี พ.ศ. 2565)

การแห่พระแม่อุมาเทวีออกจากวัดแขกเพื่ออัญเชิญไปยังขบวนราชรถ

ภาพจาก : kan Sangtong / Shutterstock.com

(ปี พ.ศ. 2565)

การจัดขบวนแห่พระแม่อุมาเทวี ในเทศกาลนวราตรีของประเทศไทย

          การจัดขบวนแห่บูชาพระแม่อุมาเทวีของชาวฮินดูในประเทศไทยนั้นจะมีความแตกต่างจากที่อื่นเล็กน้อย ซึ่งโดยปกติจะเป็นการแห่พระแม่อุมา 9 ปาง แต่ในประเทศไทยจะเป็นการจัดขบวนแห่บูชาเทพฮินดู 8 ขบวน ดังนี้
 

  1. ขบวนคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
  2. ขบวนคนทรงองค์พระขันธกุมาร

  3. ขบวนคนทรงองค์พระแม่กาลี

  4. ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศวร

  5. ขบวนราชรถองค์พระขันธกุมาร

  6. ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะ

  7. ขบวนราชรถองค์พระกัตตวรายัน

  8. ขบวนราชรถองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี

องค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี ในงานนวราตรี ปีพ.ศ. 2566

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Hindu Meeting (Fan Page)

          ทั้งนี้ ก่อนขบวนราชรถคันใหญ่ขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี จะมีพิธีที่เรียกว่า ทุบมะพร้าว โดยสานุศิษย์จะปามะพร้าวลงบนพื้น โดยเชื่อว่ามะพร้าวเปรียบเสมือนผลไม้แห่งพระเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ และสะอาด ชาวฮินดูมีความเชื่อว่าการทุบมะพร้าวเบื้องหน้าพระพักตร์ของเทวรูปที่นับถือเป็นการแสดงถึงการทำลายหรือละทิ้งอัตตาของตนเอง พร้อมทั้งน้อมกายถวายตนแด่พระผู้เป็นเจ้านั่นเอง
ขบวนราชรถในงานนวราตรี ปีพ.ศ. 2566

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Hindu Meeting (Fan Page)

งานนวราตรี และงานแห่วันวิชัยทัสมิ แต่งกายอย่างไร

  • ขอแนะนำให้แต่งกายด้วยชุดที่สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด แต่สุภาพ เพราะในงานคนจะเยอะมาก บางช่วงอาจเกิดการเบียดเสียด ทำให้อึดอัดและเกิดการเป็นลม
     

  • สำหรับสุภาพสตรี ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้สวมกางเกง เผื่อต้องมีการคุกเข่าหรือนั่งลงกับพื้นเพื่อรอรับผงเจิมศักดิ์สิทธิ์ หากสวมกระโปรงอาจจะทำให้นั่งได้ลำบาก
     

  • ในส่วนสีของเสื้อผ้า แนะนำให้เป็นสีสันสดใส หลีกเลี่ยงสีโทนดำ ม่วง หรือน้ำเงินเข้ม เพราะงานนี้เป็นงานมงคล งานแห่งการเฉลิมฉลอง แต่หากจะใส่เสื้อสีขาวตามความเชื่อแบบไทย ๆ ที่มางานบุญต้องใส่สีขาว ก็สามารถใส่ได้ สำหรับผู้ประสงค์จะใส่ชุดพื้นเมืองของอินเดีย เช่น ส่าหรี มาร่วมในงาน ก็สามารถใส่ได้ไม่มีปัญหา

การแต่งกายในงานนวราตรี

ภาพจาก : teera.noisakran / Shutterstock.com

(ปี พ.ศ. 2566)

ข้อควรทำและข้อห้ามเมื่อร่วมงานนวราตรี และงานแห่วันวิชัยทัสมิ

ข้อควรทำ

  • การเดินทางมาร่วมงาน ควรใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ รถสามล้อ หรือรถเมล์ ไม่ควรนำรถส่วนตัวมา เพราะจะหาที่จอดรถยาก 
     

  • แต่งกายด้วยชุดสุภาพ สีสันสดใส เนื่องจากเป็นงานมงคล
     

  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เข้าร่วมงาน เพื่อสุขอนามัยของส่วนรวม
     

  • ผู้ที่ตั้งซุ้มในงานแห่ กรุณาจัดถาดบูชา อันประกอบด้วย กล้วย มะพร้าว พลู หมากแห้ง การบูร ผลไม้อื่น ๆ ตามกำลังศรัทธา และพวงมาลัย (งดการนำมะพร้าวที่จุดไฟการบูรแยกมาถวายเดี่ยว ๆ ให้จัดรวมอยู่ในถาดบูชาเท่านั้น) ทั้งนี้ ในการจัดถาดบูชา ควรจัดจำนวน 8 ถาด เพื่อสำหรับ 8 ขบวนด้วยกัน ได้แก่ คนทรง 3 ขบวน และรถแห่อีก 5 ขบวน

ซุ้มในงานนวราตรี

ภาพจาก : Vassamon Anansukkasem / Shutterstock.com

(ปี พ.ศ. 2560)

  • เมื่อมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าขบวนคนทรงและขบวนรถแห่มาถึง กรุณาถอดรองเท้าไว้ที่ซุ้มของท่าน และถือถาดบูชาเดินตามเจ้าหน้าที่เข้าไปถวาย เพื่อให้คนทรงหรือพราหมณ์ประจำขบวนประกอบพิธีให้เสร็จแล้วรับถาดบูชากลับ เป็นอันเสร็จพิธี


          โดยการรอรับผงเจิมจากคนทรงของวัด เมื่อขบวนคนทรงใกล้เข้ามาถึง เจ้าหน้าที่ของวัดจะให้เรานั่งลงกับพื้น เพื่อรอรับผงเจิม เมื่อคนทรงมาถึงก็ให้ตั้งใจอธิษฐานขอพรจากท่าน หากต้องการกล่าวคำสรรเสริญก็สามารถทำได้ เช่น คนทรงพระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ก็กล่าวคำว่า “โอม ศักติ โอม” หรือ “โอม ศักติ” คนทรงพระขันธกุมาร ก็กล่าวคำว่า “โอม เวล เวล” หรือ “เวล” และคนทรงพระแม่กาลี ก็กล่าวคำว่า “โอม กาลี โอม” หรือ “โอม ศักติ โอม”

คนทรงกำลังโปรยชาดในงานนวราตรี

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Hindu Meeting (Fan Page)

  • หากประสงค์จะทุบมะพร้าว สามารถทำได้ที่รถคันที่ 5 เพียงคันเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นรถแห่ขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี (คันสุดท้ายของขบวนแห่ ซึ่งจะถึงช้า โปรดรอขบวน) กรุณาอย่าทุบมะพร้าวในขบวนอื่นเป็นอันขาด เพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนขบวนและเป็นการผิดประเพณีด้วย
การทุบมะพร้าวในงานนวราตรี

ภาพจาก : teera.noisakran / Shutterstock.com

(ปี พ.ศ. 2566)

  • โปรดระวังโจรล้วงกระเป๋าหรือกรีดกระเป๋า หากพบเห็นมิจฉาชีพให้แจ้งเจ้าหน้าที่วัดหรือตำรวจประจำขบวนทันที

ข้อห้าม

  • สำหรับผู้ใช้รถยนต์ทุกประเภท โปรดขับขี่ด้วยความเร็วที่ปลอดภัย และห้ามจอดริมทางเท้าตลอดเส้นทางที่ขบวนแห่ผ่าน เนื่องจากกีดขวางเส้นทางสัญจร
     
  • ตั้งซุ้มหรือโต๊ะบูชาบนพื้นที่ทางเท้าเท่านั้น ห้ามล้ำลงมาบนถนนหรือพื้นผิวจราจร เนื่องจากต้องเว้นพื้นที่ไว้สำหรับเลนรถฉุกเฉินในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน
  • งดการพ่นสีและขีดเขียนลงบนทางเท้าและผิวการจราจรตลอดเส้นทางขบวนแห่ผ่าน เนื่องจากเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

  • กรุณางดใช้เครื่องขยายเสียงที่ส่งเสียงดังเกินความจำเป็น อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้ที่อยู่อาศัยตามเส้นทางที่ขบวนแห่ผ่าน

  • งดรดน้ำคนทรงในขบวนแห่ และไม่ต้องเตรียมขันน้ำมนต์มา

  • ในระหว่างที่ขบวนแห่เคลื่อนผ่าน ห้ามเดินฝ่าขบวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกีดขวางขบวนแห่โดยเด็ดขาด

  • โปรดอย่าจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ โดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ และไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในขณะบูชา

  • ห้ามขว้างปาพวงมาลัยใส่คนทรงหรือเทวรูปที่ประดิษฐานบนรถแห่เป็นอันขาด เนื่องจากผิดประเพณีในการบูชา แต่หากมีความประสงค์จะถวายพวงมาลัย กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่รถแห่แต่ละขบวน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ท่าน

          อย่างไรก็ตาม หลังขบวนแห่ผ่านไปหมดแล้ว แนะนำให้แวะเข้ากราบสักการะด้านในวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) เพื่อขอความเป็นสิริมงคลอีกครั้งก่อนจะเดินทางกลับ (ในวันงานแห่ วัดจะเปิดตลอดทั้งคืน)

          งานนวราตรี 2567 เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญทางศาสนาฮินดู ผู้ที่เคารพบูชาสามารถเดินทางเข้ามาร่วมพิธีได้โดยไม่มีการจำกัดเชื้อชาติหรือศาสนา โดยเชื่อว่าจะช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตของตนเองด้วย

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ ไหว้พระ เสริมดวง อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก Hindu Meeting (Fan Page)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
งานนวราตรี พร้อมขบวนแห่ประจำปี 2567 วัดแขก สีลม จัดวันไหน เช็กเลย ! อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2567 เวลา 13:30:27 76,900 อ่าน
TOP
x close