วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัดแขกสีลม และพิธีนวราตรี 2566

           ชวนไปไหว้สักการะขอพรพระแม่อุมาเทวี เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์และความรัก ที่วัดแขก สีลม หรือวัดพระศรีมหาอุมาเทวี วัดฮินดูในไทย ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมเรื่องน่าสนใจต่าง ๆ เกี่ยวกับวัดแห่งนี้
           วัดพระศรีมหาอุมาเทวี วัดฮินดูในไทยที่ตั้งอยู่ย่านสีลม จนกลายเป็นชื่อเรียกกันติดปากว่า วัดแขก สีลม เป็นโบสถ์พราหมณ์ที่คนไทยนับถือในองค์เทพฮินดูนิยมไปกราบไหว้สักการะและขอพรเสริมดวงให้กับตนเอง โดยที่วัดแห่งนี้ขึ้นชื่อมากในเรื่องของการมาขอพรเรื่องความรัก นอกจากนี้ยังขอในเรื่องของการงาน การเงิน และสุขภาพได้อีกด้วย วันนี้เรามีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัดแขก สีลม มาฝากสายมูทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการไหว้สักการะ ข้อห้ามต่าง ๆ รวมถึงงานใหญ่ประจำปี พิธีนวราตรี

เรื่องน่ารู้ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี

วัดแขก

ภาพจาก : NavyBank / Shutterstock.com

สำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งแสวงหาความชัดเจนในเรื่องของความรัก การดูดวงชะตาก็นับเป็นหนึ่งในความนิยมอีกด้วย ทั้งการดูลายมือ ดูดวงชะตาราศี ดูดวงไพ่ยิปซี หรือทำนายโชคชะตาด้วยไพ่เทวะมันตรา พยากรณ์ ซึ่งไพ่แต่ละใบจะช่วยตีความเพื่อคลี่คลายปัญหาและยังช่วยหนุนนำความรักของเราได้เช่นกัน

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ตั้งอยู่ที่ไหน
           วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก สีลม เป็นโบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ถวายการบูชาพระศรีมหาอุมาเทวี ซึ่งเป็นพระชายาของพระศิวะ และคาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ราว พ.ศ. 2453-2454 โดยคณะชาวอินเดียใต้ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยนานแล้ว
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก

ภาพจาก : NavyBank / Shutterstock.com

          วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เป็นเทวสถานในลัทธิศักติ คือนับถือเทพีเป็นหลักสำคัญ โดยเฉพาะพระตรีศักติ หรือ 3 เทวี ซึ่งเป็นพระชายาของมหาเทพตรีมูรติ ได้แก่
  • พระนางอุมาเทวี ชายาพระศิวะ (ผู้ทำลายโลก-ทำลายความชั่วร้าย) เทพีแห่งความเมตตากรุณาและงามสง่า ดังนั้นผู้มีจิตศรัทธาจึงนิยมไปกราบไหว้บูชาและขอพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรักและเรื่องการขอบุตร ไปจนถึงขอเรื่องความสำเร็จในด้านอำนาจ หน้าที่การงาน

  • พระนางลักษมี ชายาพระวิษณุ (ผู้ดูแลโลก) เทพีแห่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย และความงาม รวมถึงความงามภายใน การบูชาพระลักษมีเพื่อความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จทางการประกอบกิจการ และการเงิน

  • พระนางสรัสวดี ชายาพระพรหม (ผู้สร้างโลก) เทพีแห่งความรอบรู้ ความเฉลียวฉลาด และความรู้ พระองค์คือสัญลักษณ์แห่งงานศิลปะทุกแขนง ทั้งการวาดเขียน การดนตรี อักษรศาสตร์ การแต่งตำรา การเขียนหนังสือ การบูชาพระสรัสวดีเพื่อความเฉลียวฉลาด ทันคน ความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานต่าง ๆ

สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม
ของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี

         สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของเทวสถาน เป็นลักษณะศิลปะประเพณีโบราณของอินเดียตอนใต้ เมื่อเข้าไปด้านในเทวสถานจะพบโบสถ์ตั้งอยู่ตรงกลาง หันหน้าไปด้านถนนปั้น ด้านในสุดของโบสถ์แบ่งเป็น 3 ซุ้ม ซุ้มใหญ่ตรงกลางมี 2 ล็อก ล็อกหน้าเป็นทางเดินเข้า ส่วนล็อกด้านในเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปปูนปั้นและเทวรูปหล่อลอยองค์พระแม่มารีอัมมัน ซุ้มด้านซ้ายและขวาของโบสถ์เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปของพระโอรสทั้ง 2 พระองค์ โดยซุ้มด้านซ้าย (ด้านข้างในเทวสถาน) เป็นซุ้มประดิษฐานเทวรูปศิลาสลักองค์พระพิฆเนศ และซุ้มด้านขวา (ด้านริมถนนสีลม) เป็นซุ้มประดิษฐานเทวรูปสลักศิลาองค์พระขันธกุมาร สำหรับซุ้มในโบสถ์ทั้ง 3 ซุ้มนี้ไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าไปข้างใน ยกเว้นพราหมณ์พิธีผู้มีคุณสมบัติอันสมควรเท่านั้น

         ด้านลานเทวสถานด้านหน้าโบสถ์ มีเสาสีทองขนาดใหญ่สูงเท่าหลังคาโบสถ์ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างประตูหน้าของเทวสถานและช่องกลางโบสถ์ ด้านบนสุดของเสาเป็นโยนีลึงค์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะถูกตกแต่งประดับประดาและชักธงรูปสิงห์ประจำองค์พระแม่ขึ้นในช่วงสัปดาห์เทศกาลนวราตรี

สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี

ภาพจาก : JOYFULLIFE / Shutterstock.com

          บนลานหน้าเทวสถานยังมีเทวาลัยขนาดเล็กอีก 3 เทวาลัย เทวาลัยแรกอยู่บริเวณกลางลานหน้าโบสถ์ด้านขวา (ด้านถนนสีลม) เป็นเทวาลัยประดิษฐานศิวลึงค์อันเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ อีก 2 เทวาลัยอยู่ที่มุมริมสุดด้านหน้าของเทวสถานด้านถนนปั้นตัดกับถนนสีลม เป็นเทวาลัยประดิษฐานพระพรหม และเทวาลัยประดิษฐานเทวรูปเทวดานพเคราะห์ โดยริมรั้วด้านถนนสีลมระหว่างเทวาลัยพระพรหมและศิวลึงค์ จะมีหอระฆังที่ต้องตีตลอดเวลาขณะที่พราหมณ์ทำพิธีบูชาเทพเจ้า
สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี

องค์เทพและเทวีในวัดพระศรีมหาอุมาเทวี
           ภายในวัดแขกนั้นมีองค์เทพและเทพีของศาสนาฮินดูให้ได้สักการบูชามากมาย ซึ่งแต่ละองค์ก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์และโดดเด่นในการไปขอพรที่แตกต่างกัน ดังนี้
  • พระแม่อุมาเทวี องค์ประธานของวัดแขก โดดเด่นมากในเรื่องขอพรให้ความรักสมหวัง รวมถึงสามารถขอพรในเรื่องของการงาน การเงิน และความสำเร็จได้อีกด้วย ของที่ควรนำไปไหว้ คือ ดอกไม้สีแดงหรือสีเหลือง ขนมโมทกะ ขนมลาดู มะม่วงสุก หรือผลไม้อื่น ๆ

  • พระพิฆเนศ องค์เทพที่คนทั่วไปให้การนับถือกันอย่างมาก โดดเด่นในเรื่องของการขอพร ความสำเร็จต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องงาน การเรียน หรือการค้าขาย ของที่ควรนำไปไหว้ คือ นม ขนมโมทกะ ขนมลาดู ผลไม้ 9 ชนิด หรือ 9 ผล

  • พระพรหม มีพระพักตร์ทั้งหมด 4 พระพักตร์ พระพักตร์แต่ละด้านก็จะให้พรไม่เหมือนกัน โดดเด่นทั้งในเรื่องของการงาน การเรียน การสอบ โชคลาภ ครอบครัว และความรัก ซึ่งควรไหว้ให้ครบทั้ง 4 ด้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยเริ่มจากด้านหน้าและวนตามเข็มนาฬิกา ของที่ควรไหว้ คือ ดอกมะลิ ดอกดาวเรือง ดอกบัว ขนมหวานรสอ่อนไม่ผสมสี และผลไม้ทุกชนิด

  • พระแม่ลักษมี องค์เทพีแห่งความงาม ที่โดดเด่นในการขอพรเรื่องความรัก หรือขอให้มีความรักที่ดี รวมถึงทางด้านค้าขาย ขอให้ร้านขายดีก็ได้เช่นกัน ของที่ควรไหว้ คือ นม น้ำผึ้ง น้ำอ้อย กล้วย และมะพร้าว ขนมที่ไม่มีส่วนผสมของไข่ ดอกบัว ดอกดาวเรือง

  • พระแม่กาลี องค์เทพีที่ช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดี สิ่งชั่วร้าย นิยมขอพรให้คุ้มครองในเรื่องของไสยศาสตร์หรือสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ของที่นำมาไหว้ควรเป็นสีแดงทั้งหมด เช่น น้ำแดง ขนมที่มีสีแดง ผลไม้สีแดง และดอกไม้สีแดง รวมถึงมะนาว เพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีได้

  • พระขันธกุมาร องค์เทพที่ช่วยคุ้มครอง สามารถขอพรในด้านความกล้าหาญ หรือขจัดความกลัวในใจ ขอให้คุ้มครองตัวเองก็ได้เช่นกัน ของที่ควรนำไปไหว้ คือ ดอกไม้ที่มีสีแดง สีเหลือง หรือสีขาว และผลไม้ต่าง ๆ

  • พระแม่สรัสวดี องค์เทพีแห่งสรรพความรู้ วิชาการอันล้ำลึก วิทยาการอันก้าวหน้า โดดเด่นในการขอพรเรื่องความรุ่งเรือง ความก้าวหน้า ความรอบรู้ในศิลปวิทยาการ ของที่ควรนำไปไหว้ คือ ดอกไม้ที่มีสีขาวหรือสีเหลือง เช่น ดอกบัว ดอกมะลิ ดอกดาวเรือง ขนมรสหวาน มีกลิ่นหอม ผลไม้ต่าง ๆ โดยเฉพาะมะพร้าว เพราะถือเป็นผลไม้ที่อยู่สูง มีความสะอาด บริสุทธิ์

เตรียมของไหว้อย่างไร
เมื่อไปไหว้วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
          การจะเข้าไปสักการะเพื่อขอพรต่อเหล่าองค์เทพและเทพีต่าง ๆ ในวัดแขกนั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ เพราะมีของไหว้ขายอยู่บริเวณหน้าวัด ราคาอยู่ที่ประมาณ 60-100 บาทต่อชุด รายได้จากการซื้อจะนำไปช่วยเหลือวัด โดยของไหว้ที่จัดชุดหลัก ๆ จะมีธูป เทียน ดอกไม้ และผลไม้ เป็นหลัก แต่หากใครต้องการที่จะจัดเตรียมไปเองจากบ้านก็ได้เช่นกัน ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด
ของไหว้ วัดแขก

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

ขั้นตอนการไหว้ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี

         เมื่อเตรียมของไหว้เสร็จเรียบร้อย ให้นำไปวางตรงลานกลางหน้าเทวสถาน จุดธูป เทียน และตั้งจิตอธิษฐานเพื่อขอพร ให้นึกถึงพระแม่อุมาเทวีก่อนเป็นองค์แรก และตามมาด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกองค์ในบริเวณโบสถ์ สามารถขอพรได้ตามต้องการ แต่ไม่ควรบนบานต่อองค์เทพและเทพี

         จากนั้นให้นำธูปและเทียนไปปักในที่ที่ทางวัดจัดไว้ให้ แล้วถือถาดใส่ของไหว้เดินเข้าไปหาพราหมณ์ในโบสถ์ จะมีพราหมณ์อยู่ 2 คน ประจำตำแหน่งอยู่ด้านหน้าประตูกลาง โดยพราหมณ์คนแรกจะทำหน้าที่รับถาดของบูชาเพื่อนำไปถวายพระแม่อุมาเทวี ให้ตั้งจิตรับพร จากนั้นจะได้ของไหว้คืนมาส่วนหนึ่ง ซึ่งสามารถนำกลับไปเป็นสิริมงคลหรือจะนำไปกินก็ได้ เมื่อได้ของไหว้คืนแล้วให้หันหน้าไปทางพราหมณ์ที่ถือถาดผงเจิม ให้ท่านเจิมหน้าผากให้ ซึ่งแปลว่าเราได้รับพรจากทุกพระองค์แล้ว

         ขั้นตอนสุดท้าย ให้ทำความเคารพกราบไหว้ที่องค์เทพแต่ละองค์ทั้งภายในโบสถ์และบริเวณรอบนอกโบสถ์ และก่อนจะก้าวขาออกจากโบสถ์ ต้องไม่ลืมที่จะไหว้ลาพระแม่อุมาเทวีอีกครั้ง เป็นอันเรียบร้อย

ข้อห้ามต่าง ๆ ที่ควรรู้ก่อนไปไหว้วัดพระศรีมหาอุมาเทวี

  • ห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าไปในบริเวณโบสถ์ สามารถถวายได้เฉพาะนม ผลไม้ ดอกไม้ และขนมอินเดียเท่านั้น

  • ห้ามผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนเข้าไปในบริเวณโบสถ์ เพราะศาสนาฮินดูจะถือว่ากายของหญิงที่มีรอบเดือนนั้นคือกายที่ไม่สะอาด หากยังเข้าไปจะถือว่าเป็นการลบหลู่สถานที่ องค์เทพ และเทพีต่าง ๆ ด้วย

  • ไม่ควรลบหลู่หรือล้อเล่นกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถานที่แห่งนี้ เพราะในทางศาสนาฮินดูจะถือว่าการลบหลู่ดูถูกองค์เทพและเทพีต่าง ๆ นั้นเป็นความผิดบาปอย่างมาก

  • ควรแต่งกายสุภาพ ผู้หญิงไม่สวมกระโปรงสั้น กางเกงขาสั้น เสื้อแขนกุด สายเดี่ยว

  • ห้ามถ่ายรูปในบริเวณโบสถ์ 

วัดแขก

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Maymei Maythinee

เทศกาลนวราตรี
        ในช่วงวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 11 รวม 9 วัน 9 คืนนั้น เป็นช่วงเวลาของเทศกาลดูเซร่า หรือนวราตรี ของชาวฮินดู เป็นงานแห่พระแม่อุมาเทวีประจำปี จัดขึ้นในวันวิชัยทัสสมิ ซึ่งเป็นวันฉลองชัยชนะขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี (ในภาคพระแม่มหาทุรคา) ที่ทรงต่อสู้กับอสูรควาย (มหิงสาสูร) เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน จนกระทั่งสามารถเอาชนะเหนืออสูรร้ายได้ในวันที่ 10 จึงได้มีการจัดงานแห่เพื่อเฉลิมฉลอง และเชื่อกันว่าในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่พระแม่และขบวนเทพจะเสด็จมายังโลกเพื่อประทานพรให้กับมนุษย์ด้วย
เทศกาลนวราตรี วัดแขก

ภาพจาก : kae_nata / Shutterstock.com

ภาพปี พ.ศ. 2559

          ในแต่ละปี ทางวัดพระศรีมหาอุมาเทวีจะมีการจัดงานเทศกาลนวราตรีขึ้น และในวันสุดท้ายของงาน จะมีการอัญเชิญองค์เทวรูปพระแม่อุมาเทวี และเทวรูปองค์อื่น ๆ ออกมาแห่บนถนนสีลม และเริ่มเคลื่อนขบวนแห่ออกจากหน้าวัด ทั้งนี้ ก่อนขบวนราชรถคันใหญ่ขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี จะมีพิธีที่เรียกว่า ทุบมะพร้าว โดยสานุศิษย์จะปามะพร้าวลงบนพื้น โดยเชื่อว่ามะพร้าวเปรียบเสมือนผลไม้แห่งพระเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ และสะอาด ชาวฮินดูมีความเชื่อว่าการทุบมะพร้าวเบื้องหน้าพระพักตร์ของเทวรูปที่นับถือ เป็นการแสดงถึงการทำลายหรือละทิ้งอัตตาของตนเอง พร้อมทั้งน้อมกายถวายตนแด่พระผู้เป็นเจ้านั่นเอง

          ในปี 2566 เพจ Hindu Meeting (Fan Page) ได้เผยกำหนดการ พิธีนวราตรี และงานแห่ประเพณี เนื่องในวันวิชัยทัสมิ ประจำปี 2566 ที่ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) แล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14-26 ตุลาคม 2566 โดยแต่ละวันมีกำหนดการพิธี ดังนี้
 

  • วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร (บรมครู) พิธีบูชาเทพประจำแผ่นดิน เทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า พิธีบูชาเพื่อขออนุญาตต่อองค์มหาเทวี และมหาเทพทั้งหลายที่ประดิษฐานภายในวัด เพื่อเริ่มงานพิธีนวราตรี ประจำปี 2566

    พิธีเช้า 09.00 น.
    พิธีเย็น 16.00 น.
     
  • วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566 เริ่มงานพิธีนวราตรี ประจำปี 2566

    พิธีเช้า 09.00 น. บูชาองค์พระแม่มหาทุรคา
    พิธีเย็น 16.00 น. บูชาองค์พระแม่มหาทุรคา
    เวลาประมาณ 18.30 น. อัญเชิญธงสิงห์ขึ้นเสา
     
  • วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคา

    พิธีเช้า 09.00 น.
    พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.
    พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.
     
  • วันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2566 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคา

    พิธีเช้า 09.00 น.
    พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.
    พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.
     
  • วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี

    พิธีเช้า 09.00 น.
    พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.
    พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.
     
  • วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี

    พิธีเช้า 09.00 น
    พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.
    พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.
     
  • วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2566 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี

    มีพิธีเช้า 09.00 น
    พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.
    พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.
     
  • วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 พิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ

    พิธีเช้า 09.00 น (พิธีอภิเษกสมรส)
    พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น. (พิธีบูชาพระแม่นั่งชิงช้า)
    พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น. (พิธีบูชาพระแม่นั่งชิงช้า)
     
  • วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566 พิธีบูชาพระแม่ปางบูชาองค์พระศิวลึงค์

    พิธีเช้า 09.00 น.
    พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.
    พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.
     
  • วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาสรัสวดี

    พิธีเช้า 09.00 น.
    พิธีบูชาโฮมัม 17.00 น.
    พิธีบูชาใหญ่ 19.30 น.
     
  • วันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2566 งานแห่ประเพณี เนื่องในวันวิชัยทัสมิ ประจำปี 2566 โดยขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ในเวลาประมาณ 19.30 น. เป็นต้นไป
     
  • วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2566 พิธีอัญเชิญธงสิงห์ลง และพิธีอาบน้ำคณะพราหมณ์และคณะคนทรง

    พิธีเริ่ม 17.00 น. หลังจากเสร็จพิธี คณะพราหมณ์จะผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์ที่ทำพิธีมาแล้วให้แก่สานุศิษย์ทุกท่านฟรี
วัดแขก

ภาพจาก : kae_nata / Shutterstock.com

ภาพปี พ.ศ. 2559

ปฏิทินงานไหว้องค์เทพ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ประจำปี 2566

          เดือนมีนาคม
 
  • 6 มีนาคม พิธีบูชาองค์แม่ศรีมหาุมาเทวี (Masi Magam)
  • 6 มีนาคม พิธีบูชาองค์แม่ศรีมหาุมาเทวี (Pournami Bhooja)
  • 10 มีนาคม พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร

    เดือนเมษายน
     
  • 5 เมษายน พิธีบูชาองค์พระขันธ์กุมาร เนื่องในพิธีปังกูนี่ อุทีรั่ม
  • 5 เมษายน พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
  • 9 เมษายน พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร
  • 14 เมษายน วันปีใหม่ของทางอินเดียตอนใต้

    เดือนพฤษภาคม
     
  • 4 พฤษภาคม พิธีบูชาองค์แม่ศรีมหาอุมาเทวี เนื่องในพิธีจิตราปูรนามี
  • 8 พฤษภาคม พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร

    เดือนมิถุนายน
     
  • 3 มิถุนายน พิธีบูชาองค์พระขันธ์กุมาร เนื่องในพิธีไวภาษี วิสาคัม
  • 3 มิถุนายน พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
  • 7 มิถุนายน พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร

    เดือนกรกฎาคม
     
  • 2 กรกฎาคม พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
  • 6 กรกฎาคม พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร  

    เดือนสิงหาคม
     
  • 1 สิงหาคม พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
  • 5 สิงหาคม พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร
  • 25 สิงหาคม พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาวาราห์ลักษมีเทวี
  • 31 สิงหาคม พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี

    เดือนกันยายน
     
  • 4 กันยายน พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร
  • 6 กันยายน พิธีบูชาวันคล้ายวันประสูติองค์พระกฤษณะ
  • 19 กันยายน พิธีบูชาวันคล้ายวันประสูติองค์พระพิฆเนศวร
  • 23 กันยายน พิธีบูชาองค์พระวิษณุ
  • 29 กันยายน พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
  • 30 กันยายน พิธีบูชาองค์พระวิษณุ

    เดือนตุลาคม
     
  • 3 ตุลาคม พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร
  • 7 ตุลาคม พิธีบูชาองค์พระวิษณุ
  • 15-24 ตุลาคม งานพิธีนวราตรี ประจำปี 2566
  • 28 ตุลาคม พิธีบูชาองค์พระวิษณุ
  • 29 ตุลาคม พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี

    เดือนพฤศจิกายน
     
  • 2 พฤศจิกายน พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร
  • 12 พฤศจิกายน พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาลักษมีเทวี เนื่องในวันดีปาวลี
  • 26 พฤศจิกายน พิธีบูชาองค์พระขันธ์กุมาร เนื่องในวันเผาใบลาน
  • 27 พฤศจิกายน พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี

    เดือนธันวาคม
     
  • 1 ธันวาคม พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร
  • 23 ธันวาคม พิธีบูชาองค์พระวิษณุนารยณ์ เนื่องในวันเปิดประตูสวรรค์
  • 27 ธันวาคม พิธีบูชาองค์พระศิวะนาฏรายา และองค์พระแม่ศิวะกามี่
  • 27 ธันวาคม พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี

การเดินทางไปวัดพระศรีมหาอุมาเทวี

  • เดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS : ลงสถานีศาลาแดง จากนั้นลงทางออก 2 เพื่อมาต่อรถเมล์สาย 15, 76 (ปอ.) หรือ 77 

  • เดินทางโดยรถประจำทาง : สายรถเมล์ที่ผ่านหน้าวัดแขก ได้แก่ สาย 172 (ปอ.) (AC), 177 (ปอ.) (AC), 547 (ปอ.) (AC), 76 (ปอ.) (AC), 77 และ 15

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก

ภาพจาก : NavyBank / Shutterstock.com

         ตามปกติ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี จะเปิดให้เข้าไปกราบไหว้สักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. และในวันวิชัยทัสสมิ หรือวันที่มีขบวนแห่พิธีนวราตรี วัดจะเปิดจนถึง 00.00 น.

         ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่สายมูควรรู้ก่อนจะไปวัดแขก ทั้งข้อปฏิบัติ ข้อห้าม รวมถึงการเตรียมของไหว้ และการบูชาองค์เทพต่าง ๆ อีกด้วย หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากจะไปไหว้เทพและเทพีของทางฮินดูกันนะ 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ Hindu Meeting, เฟซบุ๊ก Hindu Meeting (Fan Page)
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัดแขกสีลม และพิธีนวราตรี 2566 อัปเดตล่าสุด 20 กันยายน 2566 เวลา 11:28:38 123,099 อ่าน
TOP
x close