ชวนชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุด คืนวันมาฆบูชา 24 ก.พ. 67

           ชวนชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ตรงกับวันมาฆบูชา สังเกตการณ์ได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
           วันมาฆบูชา 2567 นอกจากจะเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปรากฏการณ์บนท้องฟ้าให้ชม กับ “ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี” หรือ ไมโครฟูลมูน (Micro Full Moon) ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ คืนวันมาฆบูชา สำหรับรายละเอียดจะเป็นอย่างไร เห็นได้ตอนไหน เรามีคำตอบมาฝาก

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี
คืนวันมาฆบูชา

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุด วันมาฆบูชา 2567

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี เห็นได้ตอนไหน ?

           NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา เวลาประมาณ 19.32 น. มีระยะห่างจากโลกประมาณ 405,909 กิโลเมตร คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเพียงเล็กน้อย

เวลาที่เหมาะสมชมดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี

         สำหรับใครที่ตั้งตาอยากจะชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี โดยเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์คือ ช่วงเย็นของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.22 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก
ขนาดดวงจันทร์

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ที่มาขนาดปรากฏของดวงจันทร์

          โดยปกติแล้ววันขึ้น 15 ค่ำ หรือวันเพ็ญ คือวันที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์เข้าหาโลก ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดวงจันทร์เต็มดวงจะขึ้นทางทิศตะวันออก ดังนั้น ในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงจะไม่สามารถสังเกตดวงอาทิตย์ในเวลาเดียวกันได้ ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 29.5 วัน ดวงจันทร์จึงจะกลับมาเต็มดวงอีกครั้ง

          ทั้งนี้ ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลา 27.3 วัน ส่งผลให้ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก แต่ ณ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดหรือไกลโลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ นักดาราศาสตร์จึงใช้ “ช่วงที่สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง” มากำหนดวันเกิดปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับตำแหน่งการโคจรของดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลกที่สุด
 

  • ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร
  • ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร


          การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติในคืนไกลโลกนั้น นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง

ดวงจันทร์ใกล้ ไกลโลก

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

          สามารถติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี เพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือโทรศัพท์ 0-5312-1268

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

แนะนำ สถานที่ดูดาว อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุด คืนวันมาฆบูชา 24 ก.พ. 67 อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2567 เวลา 16:15:45 14,344 อ่าน
TOP
x close