x close

เปิดฤดูกาลชมดาว รับลมหนาว ประจำปี 2566-2567 กิจกรรมดูดาวแน่น ๆ

          เที่ยวหน้าหนาว ชวนดูดาวกับ เทศกาลชมดาว…รับลมหนาว 2566-2567 เปิดกิจกรรมด้วยการชมดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี พร้อมพาเหรดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อีกมากมาย 
          หลังจากที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเทศกาลชมดาว…รับลมหนาว 2566-2567 เริ่มต้นฤดูกาลชมดาวหน้าหนาวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ในคืนดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างล้นหลาม มีประชาชนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก
ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2566

ภาพจาก narit.or.th

          โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สดร. จัดงาน
เปิดเทศกาลชมดาว…รับลมหนาว 2566-2567 ในคืนดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เริ่มต้นฤดูกาลชมดาวหน้าหนาวอย่างเป็นทางการ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นพร้อมกัน 5 แห่ง ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และสงขลา ได้รับความสนใจจากประชาชนเดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง แต่ละหอดูดาวมีประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาร่วมเปิดเทศกาลชมดาวหลายพันคน นอกจากนี้ยังจัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่าน Facebook Live พร้อม Special Talk เปิดโผกิจกรรมและปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามที่จะเกิดขึ้นตลอดเทศกาล ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ต่อไป
เทศกาลชมดาว รับลมหนาว 2566-2567

ภาพจาก narit.or.th

เทศกาลชมดาว รับลมหนาว 2566-2567

ภาพจาก narit.or.th

เทศกาลชมดาว รับลมหนาว 2566-2567

ภาพจาก narit.or.th

ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

          สำหรับปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Jupiter Opposition) เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวพฤหัสบดีโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 595 ล้านกิโลเมตร สังเกตได้ด้วยตาเปล่า สว่างสุกใส ขนาดใหญ่ สีส้มแดง ทางทิศตะวันออกหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และปรากฏยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หลังจากนี้ดาวพฤหัสบดียังคงปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงค่ำ จนถึงประมาณปลายเดือนมีนาคม 2567 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดในทุก ๆ ประมาณ 13 เดือน ครั้งต่อไปดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาใกล้โลกที่สุดในรอบปี ตรงกับวันที่ 8 ธันวาคม 2567

เทศกาลชมดาว...รับลมหนาว 2566-2567 

เทศกาลชมดาว...รับลมหนาว ประจำปี 2566-2567

          ช่วงปลายปีแบบนี้ ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ไม่ได้จบลงเพียงแค่ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปีเท่านั้น เพราะระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 ยังมีกิจกรรม Stellar Winter Festival 2023-2024 ดังนี้

          1. ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี : วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 

  • เข้าใกล้โลกที่ระยะประมาณ 595 ล้านกิโลเมตร
  • ปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
  • สังเกตได้ด้วยตาเปล่าตลอดคืน


          2. ฝนดาวตกลีโอนิดส์ : คืนวันที่ 17 พฤศจิกายน - เช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 

  • อัตราการตกสูงสุด 15 ดวง/ชั่วโมง
  • เริ่มสังเกตได้หลังเที่ยงคืนจนถึงรุ่งเช้า
  • ศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวสิงโต
  • แนะนำชมด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ไม่มีแสงรบกวน
  • คืนดังกล่าวไร้แสงจันทร์รบกวน


          3. ฝนดาวตกเจมินิดส์ : คืนวันที่ 14 ธันวาคม - เช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2566

  • อัตราการตกสูงสุด 120-150 ดวง/ชั่วโมง
  • เริ่มสังเกตได้ 20.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า
  • ศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่
  • แนะนำชมด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ไม่มีแสงรบกวน
  • คืนดังกล่าวไร้แสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การรับชม


          4. ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) : วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567

  • ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย
  • เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า


          5. วัตถุท้องฟ้าน่าติดตาม : คืนไหนฟ้าใสไร้เมฆบัง ออกมาดูดาวกันได้ทุกที่ เริ่มสังเกตได้ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป

  • ดาวเสาร์ (เดือนพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567)
  • ดาวพฤหัสบดี (เดือนพฤศจิกายน 2566 - มีนาคม 2567)
เทศกาลชมดาว รับลมหนาว 2566-2567

ภาพจาก narit.or.th

กิจกรรมพิเศษช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 - กุมภาพันธ์ 2567

  • วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 : เปิดเทศกาลชมดาวรับลมหนาว ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา
     
  • วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 : ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี 
     
  • คืนวันที่ 14 ธันวาคม - เช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2566 : ฝนดาวตกเจมินิดส์ 
     
  • วันที่ 23 ธันวาคม 2566 : ดูดาวกลางกรุง ณ สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ
     
  • วันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 : NARIT Night at the Museum 2023
     
  • วันที่ 6 มกราคม 2567 : เปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติ TNO Open house (ครั้งที่ 1) ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ 
     
  • วันที่ 13 มกราคม 2567 : มหกรรมดาราศาสตร์ วันเด็กแห่งชาติ
     
  • วันที่ 13 มกราคม 2567 : Stargazing Night พร้อมกันทั่วประเทศ
     
  • วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 : เปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติ TNO Open house (ครั้งที่ 2) ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
     
  • วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 : Dark Sky Star Party ณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม
เทศกาลชมดาว รับลมหนาว

ภาพจาก narit.or.th

  • NARIT Public Night ดูดาวทุกคืนวันเสาร์ : กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน ชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกหลายชนิด พร้อมแนะนำการดูดาวเบื้องต้น ทุกคืนวันเสาร์ เวลา 18.00-22.00 น. ฟรี ! ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถดูได้ที่ 

    1. อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ (เดือนพฤศจิกายน 2566 - พฤษภาคม 2567) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 08-4088-2261

    2. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 06-3892-1854 หรือ เฟซบุ๊ก หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น  

    3. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 08-6429-1489 หรือ เฟซบุ๊ก หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา  

    4. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ตำบลวังเย็น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 08-4088-2264 หรือ เฟซบุ๊ก หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา

    5. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (เปิดบริการเฉพาะเดือนมกราคม-ตุลาคม 2567) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 09-5145-0411 หรือ เฟซบุ๊ก หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา  
          ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเทศกาลชมดาว…รับลมหนาว 2566-2567 เพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดฤดูกาลชมดาว รับลมหนาว ประจำปี 2566-2567 กิจกรรมดูดาวแน่น ๆ อัปเดตล่าสุด 7 พฤศจิกายน 2566 เวลา 00:16:14 9,050 อ่าน
TOP