ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ไปสำรวจดวงดาว พร้อมเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์กัน

          ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งความรู้ดาราศาสตร์ของไทย ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์แบบบูรณาการที่น่าไปเช็กอิน

        กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรที่แวดล้อมไปด้วยตึกสูงกับแสงไฟสว่างไสว น้อยคนนักที่จะได้สัมผัสหรือดื่มด่ำกับความงดงามของดวงดาวบนฟากฟ้า อ๊ะ ๆ แต่ใครบอกว่ากรุงเทพฯ ไม่มีดวงดาว ขอเถียงนะ เพราะจริง ๆ แล้วกรุงเทพฯ มีดวงดาวเต็มท้องฟ้า ใช่แล้ว ! เรากำลังพูดถึง ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ท้องฟ้าจำลอง แหล่งส่องจักรวาลแบบเต็ม ๆ ตาของคนเมืองกรุง

ชวนเที่ยวท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ


ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพ
ภาพจาก Sbkhkt / Shutterstock.com

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ตั้งอยู่ที่ไหน


          ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ติดกับรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีเอกมัย สามารถใช้ทางออกที่ 2 จากนั้นเดินไปเพียง 200 เมตร จะเจอท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบบูรณาการที่ดีแห่งหนึ่งในประเทศไทย นอกจากที่นี่จะให้ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์เป็นหลักแล้ว ผู้เข้าชมยังจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีการจัดนิทรรศการต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ โดยเน้นให้เข้าใจง่ายและให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าชมสามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้อย่างง่ายดาย

          เปิดบริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

          ทั้งนี้ เดือนเมษายน 2566 ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ปิดให้บริการในวันที่ 6 เมษายน (วันจักรี) และในช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน

ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพ
ภาพจาก Sbkhkt / Shutterstock.com

ความเป็นมาของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ


          - พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการ โดย ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในสมัยนั้น) สร้างท้องฟ้าจำลองกรุงเทพและหอดูดาว

          - วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ

          - เดือนธันวาคม 2514 สภาคณะปฏิวัติมีมติเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

          - พ.ศ. 2515 รัฐบาลโดยคณะปฏิวัติมีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการของประเทศใหม่ "กองอุปกรณ์การศึกษา" เปลี่ยนชื่อเป็น "กองพิพิธภัณฑ์การศึกษา"

          - เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2518 เริ่มการสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

          - เดือนเมษายน พ.ศ. 2519 ประกาศพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการใหม่ "กองพิพิธภัณฑ์การศึกษา" เปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา" ประกอบด้วยหน่วยงานหลัก คือ ศาลาวันเด็ก ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

          - เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 การก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แล้วเสร็จ

          - วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2522 ประกาศจัดตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยมีศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษาเป็นหน่วยงานในสังกัด

          - วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย

          - พ.ศ. 2537 เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น "ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา" ในสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน

          - วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เปลี่ยนชื่อสังกัดจากกรมการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน

          - วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รับการถ่ายโอนภารกิจการดูแลสนามกีฬาบ้านกล้วย มีพื้นที่จำนวน 10 ไร่ 10 ตารางวา ประกอบด้วยสระว่ายน้ำและสนามเทนนิส พร้อมบ้านพักคนงานจากสำนักพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

          - พ.ศ. 2551 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เปลี่ยนชื่อสังกัดจากสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน เป็นสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 38 ไร่ 86 ตารางวา

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
ภาพจาก KOKTARO / shutterstock.com

สิ่งน่าสนใจในท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ


ท้องฟ้าจำลอง (ห้องฉายดาว)

          ห้องวงกลมขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20.60 เมตร หลังคาเป็นรูปโดม สูง 13 เมตร เพดานโดมเป็นแผ่นอะลูมิเนียมพรุน ทาสีขาวเพื่อรับแสง ฉายออกจากเครื่องฉายดาวปรากฏเป็นดวงดาวในท้องฟ้าจำลอง คล้ายกับดวงดาวในท้องฟ้าจริง ความจุ 370 ที่นั่ง ตรงกลางห้องตั้งเครื่องฉายดาวระบบเลนส์ของ Carl Zeiss ของบริษัท คาร์ล ไซซ์ ประเทศเยอรมนี

          เครื่องฉายดาว นับเป็นประดิษฐกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่มีระบบการทำงานซับซ้อน ประกอบด้วยระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และระบบแสงที่ประณีต ฉายภาพวัตถุบนท้องฟ้าและปรากฏการณ์หลายชนิดเลียนแบบธรรมชาติ สามารถปรับเครื่องขึ้น-ลงเพื่อแสดงดวงดาวในท้องฟ้าของประเทศใดก็ได้ตามวันและเวลาที่ต้องการ ทั้งดวงดาวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อีกทั้งยังเป็นเครื่องฉายดาวขนาดใหญ่เครื่องแรกในย่านเอเซียอาคเนย์ด้วย

ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพ
ภาพจาก KOKTARO / Shutterstock.com

          ศักยภาพของเครื่องฉายดาวของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ

          ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เป็นสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง สังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรมการศึกษา นอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างแหล่งที่ดีให้เยาวชนได้ชุมนุมหาความรู้และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ส่งเสริมการศึกษาวิชาดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โดยให้นักเรียนเรียนรู้จากของจำลองซึ่งคล้ายของจริง งบประมาณการก่อสร้างและดำเนินงานขั้นต้น จนสามารถเปิดแสดงให้ประชาชนได้ในปี พ.ศ. 2507

          • ฉายดาวฤกษ์ได้ประมาณ 9,000 ดวง ขณะที่ตาเปล่าสามารถมองเห็นดวงดาวในท้องฟ้าได้ราว 2,000 ดวง

          • ฉายดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ 5 ดวง โดยแสดงการเคลื่อนที่ผ่านไปในกลุ่มดาวต่าง ๆ ได้ชัดเจน

          • ฉายภาพกลุ่มดาวต่าง ๆ แสดงแนวทางช้างเผือก กระจุกดาว เนบิวลา กาแล็กซีบางแห่ง ดาวแปรแสง ดาวเทียม ดาวหาง ดาวตก เมฆ แสงรุ่งอรุณ แสงสนธยา แสดงการเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา แสดงเส้นสมมุติต่าง ๆ ในท้องฟ้า เช่น เส้นศูนย์สูตร เส้นสุริยวิถี เส้นเมอริเดียน แสดงขั้วทรงกลมฟ้า และตำแหน่งที่แกนผ่านขั้วโลก จะชี้ไปในรอบ 26,000 ปี แสดงระบบสุริยะ โลกหมุนในอวกาศ ภาพฉายแสดงรอบทิศ แสดงพื้นผิวดวงจันทร์ ดาวอังคาร พื้นผิวขั้วน้ำแข็งของโลก

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
ภาพจาก cowardlion / shutterstock.com

          จากการปรับปรุงใหม่ปี พ.ศ. 2559 เพื่อให้ได้มาตรฐานสากล ก็มีการเพิ่มเติมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องฉายระบบดิจิทัล พร้อมทั้งยังปรับปรุงระบบเครื่องฉายดาวใน 2 ส่วน ได้แก่

          1. ใช้เครื่องฉายภาพระบบคริสตี้ ซึ่งเป็นโปรเจกเตอร์ที่ดีที่สุด ด้วยมีความสว่างสูงและมีเลนส์ฉายภาพที่กว้างมากยิ่งขึ้น

          2. ปรับระบบควบคุมโดยใช้ซอฟต์แวร์ Digistar 5 ซึ่งมีความคมชัดสูงระดับ 4K สามารถฉายดาวและภาพยนตร์ได้ ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว

          นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งห้องฉายดาวให้เหมือนกับแสงออโรรา เพิ่มเติมระบบแสง สี เสียง ให้ได้มาตรฐานสากล อีกทั้งยังเปลี่ยนเก้าอี้ใหม่สีสันสดใสสวยงาม คล้ายกับที่นั่งในโรงภาพยนตร์ สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนได้อย่างเต็มเปี่ยมแน่นอน

         รอบการแสดง

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
ภาพจาก sciplanet.org

          ค่าบัตรเข้าชม

          • รอบภาษาไทย เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 30 บาท
          • รอบภาษาอังกฤษ เด็ก 30 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท (วันอังคาร 10.00 น. เท่านั้น)

          • ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อบัตรได้ที่หน้าเคาน์เตอร์ของวันที่ต้องการเข้าชม และซื้อรอบใดก็ได้ในวันนั้น รวมถึงดูที่นั่งเหลือในแต่ละวันได้ที่ seat.sciplanet.org จำหน่ายบัตรของทุกรอบการแสดง ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ทั้งนี้ ยังไม่มีระบบขายบัตรออนไลน์

          • สำหรับสถาบันการศึกษา โทรศัพท์ติดต่อสอบถามวัน เวลา และจำนวนที่นั่งว่าง ได้ที่ 0-2392-1773 หรือ 0-2391-0544

          เนื้อหาการแสดง

          • สอนดูดาว 30 นาที
          • ภาพยนตร์เต็มโดม 20 นาที

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
เฟซบุ๊ก ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ - Bangkok Planetarium


          กำหนดการฉายภาพยนตร์เต็มโดม ประจำปีงบประมาณ 2566 (เดือนมกราคม-กันยายน)

          เดือนมกราคม : ขอบฟ้าแห่งใหม่ (New horizons)
          เดือนกุมภาพันธ์ : มหัศจรรย์แห่งออโรรา (Experience the Aurora)
          เดือนมีนาคม : กลับไปดวงจันทร์กันเถอะ (Back to the Moon for Good)
          เดือนเมษายน : จากโลกสู่จักรวาล (From Earth to the Universe)
          เดือนพฤษภาคม : จักรวาลอันเกรี้ยวกราด (Violent Universe )
          เดือนมิถุนายน : โคโคมง : ผจญภัยในอวกาศ (Cocomong : A Space Adventure)
          เดือนกรกฎาคม : กว่าจะบินได้ (Flight Adventures)
          เดือนสิงหาคม : มหัศจรรย์แห่งออโรรา (Experience the Aurora)
          เดือนกันยายน : ขอบฟ้าแห่งใหม่ (New horizons)



ส่วนแสดงนิทรรศการรอบห้องฉายดาว

          ส่วนการแสดงนิทรรศการดาราศาสตร์ แบ่งออกเป็น 6 ส่วน จัดแสดงอยู่รอบ ๆ ห้องฉายดาว ให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์และอวกาศของไทยและของโลก (ไม่เสียค่าชม) ได้แก่

          ส่วนที่ 1 โลกดาราศาสตร์
          ส่วนที่ 2 ชีวิตสัมพันธ์กับดวงดาวอย่างไร ?
          ส่วนที่ 3 โลก แหล่งกำเนิดชีวิต
          ส่วนที่ 4 ชีวิตของดาวฤกษ์
          ส่วนที่ 5 ความเป็นไปในเอกภพ
          ส่วนที่ 6 มนุษย์กับการสำรวจอวกาศ

ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพ
ภาพจาก KOKTARO / Shutterstock.com

ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพ
ภาพจาก KOKTARO / Shutterstock.com


นิทรรศการถาวร

          นิทรรศการจะกระจายอยู่ 3 อาคาร ได้แก่ อาคาร 3 โลกใต้น้ำ, อาคาร 4 ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอาคารตระหนักรู้ด้านพลังงาน
         
          นิทรรศการโค้ดดิ้ง ทักษะเพื่อชีวิต : นิทรรศการที่ให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวโค้ดดิ้ง (CODING) ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

          นิทรรศการ Robot Club : จัดแสดง ณ ชั้น 4 อาคารธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (อาคาร 4) ให้บริการในรูปแบบกิจกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์กับการประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานการต่อวงจรไฟฟ้าเบื้องต้น การต่อโครงสร้างหุ่นยนต์ การนำ Coding มาใช้ในการแก้ไขปัญหา

          นิทรรศการชีวิตพิศวง (Miracle of life exhibition) : นำเสนอเรื่องราวของประสาทสัมผัสทั้งห้า โดยเน้นให้เห็นว่าประสาทสัมผัสแต่ละประเภทสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตและธรรมชาติวิทยาของร่างกายของเราอย่างไร โดยนำเสนอผ่านเกมและเครื่องเล่นรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย

          นิทรรศการเมืองเด็ก (Kids city exhibition) : เรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วยการเล่นและฟังนิทาน

          นิทรรศการโลกของแมลง (Insect world exhibition) : ให้ความรู้เกี่ยวกับแมลงซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจำนวนและชนิดมากที่สุดในโลก โดยเริ่มตั้งแต่วิวัฒนาการ โครงสร้าง ชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจของแมลงบางชนิด ตลอดจนความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในแง่ที่เป็นประโยชน์โดยเป็นแหล่งอาหารและเป็นตัวควบคุมพืช

          นิทรรศการขุมทรัพย์โลกสีเขียว (Green treature exhibition) : จัดแสดงที่ชั้น 4 อาคาร 4 มีการนำตัวอย่างจริงทั้งพืชและสัตว์สตัฟฟ์ ทำให้รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่จริงในธรรมชาติ

          นิทรรศการไดโนเสาร์ (Dinosaur exhibition) : จัดแสดงที่ชั้น 2 อาคาร 4 มีเนื้อหาวิชาการเกี่ยวกับการกำเนิดโลก กระบวนการภายในโลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต กำเนิดซากดึกดำบรรพ์ สิ่งมีชีวิตโดดเด่นในแต่ละยุค พฤติกรรมของไดโนเสาร์ การสำรวจไดโนเสาร์ในประเทศไทย การทำงานเพื่ออนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ สัตว์และพืชร่วมยุคไดโนเสาร์ที่ยังมีชีวิต สิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการตัวเองให้ดำรงชีวิตอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน และผนังทางเดินแสดงภาพไดโนเสาร์ไทยทั้ง 12 ชนิด

          ศูนย์สร้างสรรค์เยาวชน (กระจ่าง บริรักษ์นิติเกษตร) : ศูนย์วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย สังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จัดกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากสื่อนิทรรศการ โดยทำบทปฏิบัติการประกอบการเล่นเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กอายุ 3-6 ขวบ ให้บริการสื่อนิทรรศการภายในอาคาร จำนวน 10 ฐาน และสื่อนิทรรศภายนอกอาคาร จำนวน 13 ฐาน  

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ

ภาพจาก KOKTARO / shutterstock.com

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ค่าเข้าชม


          ราคาบัตรชมการแสดงท้องฟ้าจำลอง และบัตรเข้าชมนิทรรศการวิทยาศาสตร์

          - เด็ก นักเรียน นักศึกษา ราคา 20 บาท/คน, ผู้ใหญ่ 30 บาท/คน
          - เด็กอายุไม่ถึง 3 ขวบ ผู้สูงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (แสดงบัตรประชาชนตัวจริง) ผู้พิการ ภิกษุ สามเณร นักบวช และนักศึกษา กศน. เข้าชมฟรี

          ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ปิดปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์วิยาศาสตร์ (อาคาร 2) และอาคารโลกใต้น้ำ (อาคาร 3)

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
ภาพจาก KOKTARO / shutterstock.com

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ การเดินทาง


          รถยนต์ส่วนตัว : มีที่จอดรถ
          Google Map ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ : https://goo.gl/maps/8nmS6RNq6zHvBmNZ6
          รถไฟฟ้า BTS : สถานีเอกมัย ทางออก 2

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2391-0544 / 0-2392-0508 / 0-2392-1773 หรือ เฟซบุ๊ก ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ - Bangkok Planetarium

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
 

บทความ ที่เที่ยวกรุงเทพมหานคร อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


          - รวมสถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ
          - สวนสัตว์พาต้าปิ่นเกล้า ตะลุยชมสัตว์และกอริลลาตัวสุดท้ายในไทย
          - สถานที่ไหว้พระกรุงเทพฯ แจกพิกัด 20 วัด ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี
          - ที่เที่ยวกรุงเทพฯ กับกิจกรรมสนุก ๆ ปลุกความสุขในวันสบาย ๆ
          - อัปเดต 9 ที่เที่ยวกรุงเทพฯ สร้างโมเมนต์แฮปปี้ในวันชิล ๆ


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : sciplanet.org และ เฟซบุ๊ก ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ - Bangkok Planetarium

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ไปสำรวจดวงดาว พร้อมเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์กัน อัปเดตล่าสุด 10 เมษายน 2566 เวลา 18:50:39 207,212 อ่าน
TOP
x close