รอชมดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี ปรากฏการณ์เด่นในช่วงก่อนรุ่งสางของวันที่ 18 กันยายน 2566 และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ใครที่ชอบเฝ้าชมปรากฏการณ์ท้องฟ้า เร็ว ๆ นี้จะมีอีกหนึ่งปรากฏการณ์น่าสนใจ กับการชมดาวศุกร์สว่างที่สุด และปรากฏเป็นรอบสุดท้ายของปีนี้ เชื่อว่าหลายคนที่สนใจดูดาว หรือติดตามข่าวสารในแวดวงดาราศาสตร์ เห็นทีว่าจะได้ตื่นเต้นกันอีกรอบ กับดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี ส่วนจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร เรามีมาฝาก
ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี
ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี เกิดขึ้นวันไหน
สำหรับปี 2566 ปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปีครั้งนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาก่อนรุ่งสางของวันที่ 18 กันยายน จะปรากฏสว่างที่สุดครั้งที่ 2 และเป็นครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้
ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี เห็นได้ตอนไหน
หลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ ! แล้วจะเห็นดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปีได้ตอนไหน ยังไง โดยทาง NARIT หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า จะสามารถเห็นได้ในช่วงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า เวลาประมาณ 03.25 น. เป็นต้นไป และถ้าหากว่าวันนั้นเป็นวันฟ้าใส ไร้ฝน จะสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ
ทำความรู้จักดาวศุกร์สว่างที่สุด
สำหรับดาวศุกร์สว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม อาจมีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลก และขนาดปรากฏที่ลดลง ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”
ดาวศุกร์สว่างที่สุด ปรากฏอีกครั้งเมื่อไหร่
แต่สำหรับใครที่คิดว่าน่าจะพลาดการชมดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งนี้ไป ไม่เป็นไร ! เพราะปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 10 มกราคม 2568 ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่น่าดูน่าชม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเอาใจคนรักการดูดาว สามารถติดตามรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือโทรศัพท์ 0-5312-1268
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
แนะนำ สถานที่ดูดาว ที่เที่ยวดูดาว อื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ