สถานที่ไหว้พระลำพูน ไปสักการะพระธาตุและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอพร ขอโชคลาภ รวมถึงเสริมสิริมงคลกัน
ลำพูน จังหวัดขนาดกะทัดรัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ดังคำขวัญที่ว่า พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวี ศรีหริภุญชัย … อีกทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของนครหริภุญชัย ในสมัยพระนางจามเทวี ทำให้หากได้ไปเที่ยวลำพูน หลายคนมักไปสักการะอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี องค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย หรือสักการะกู่ช้างกู่ม้า แต่จริง ๆ แล้วดินแดนถิ่นล้านนาแก่าแก่แห่งนี้ ยังมีวัดวาอาราม ทั้งงดงามและมีสิ่งศักดิ์ให้ได้ไปกราบไหว้อยู่อีกมากมาย วันนี้เราเลยรวมสถานที่ไหว้พระลำพูน ในอำเภอต่าง ๆ มาแนะนำกัน ไปดูสิว่ามีที่ไหนบ้าง
ภาพจาก : kwanchai / shutterstock.com
1. วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร
สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูนมายาวนานหลายร้อยปี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 สมัยพระเจ้าอาทิตยราช ราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีถนนล้อมรอบ 4 ด้าน ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลำพูน หริภุญไชย และถนนคนเดินลำพูน เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ในอดีตนิยมเรียกว่า วัดเจดีย์หลวง มีสิ่งที่น่าสนใจคือ พระธาตุหริภุญไชย เจดีย์ทรงล้านนา หุ้มแผ่นทองจังโกทั้งองค์ สูงประมาณ 92 ศอก มีฐานเป็นบัวลูกแก้วย่อเก็จ แล้วจึงเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ซึ่งรองรับองค์ระฆังกลมสีทอง มีความเชื่อกันว่าเป็นพระธาตุประจำปีระกา หากผู้ที่เกิดปีนี้ได้มากราบไหว้ขอพรก็จะเป็นการเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต และในวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี
การกราบบูชาพระธาตุหริภุญชัย
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
สุวัณณะเจติยัง หริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฏฐัง สะหะอังคุลิฏฐิง
กัจจายะเนนานีตะ ปัตตะปูรัง สีเสนะ มัยหัง ปะระมามิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สัพพะทาฯ
ข้าพเจ้าขอน้อมเศียรเกล้าของข้าพเจ้านอบน้อมพระธาตุอันเป็นพระเจดีย์ทอง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหริภุญชัย คือ พระอัฐิเบื้องพระธารพระโมลีอันประเสริฐ พระอัฐิเบื้องพระทรวงอันประเสริฐสุด กับทั้งพระอัฐิพระองคุลี และพระธาตุย่อยเต็มบาตรหนึ่งอันพระกัจจายนะนำมา ข้าพเจ้าขอวันทาในกาลทุกเมื่อแล
ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่งทุกชาติไป ขอตั้งสัจจะอธิษฐานด้วยผลบุญแห่งการบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยความเลื่อมใส พึงเป็นปัจจัยแด่พระนิพพาน ขออุทิศกุศลผลบุญให้แด่ท่านผู้มีพระคุณ ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร ผู้ประพฤติธรรมอันสมควรค่าแก่ธรรม ตลอดจนท่านที่ขวนขวายในกิจที่ชอบ ในการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ ขอให้ท่านดังกล่าวนามมานั้น จงมีแต่ความสุขเทอญ
2. วัดมหาวันวนาราม พระอารามหลวง (พระรอด)
วัดเก่าแก่ของลำพูนที่มีอายุยาวนานถึง 1,300 ปี ตั้งอยู่ที่ถนนจามเทวี ห่างจากอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีประมาณ 1 กิโลเมตร มีชื่อเต็มคือ วัดมหาวันวนาราม เป็นอีกหนึ่งในอดีตเป็นอารามหลวงในสมัยพระนางจามเทวี และเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์วัดมหาวัน ซึ่งบรรจุพระรอดลำพูน 1 ใน 5 พระเครื่องชุดเบญจภาคีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เชื่อกันว่าพระรอดองค์นี้มีความสักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก สามารถขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีและคุ้มครองผู้ที่ไปกราบไหว้บูชาให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายและความวิบัติต่าง ๆ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม รวมถึงให้โชคลาภอีกด้วย สมัยก่อนที่นี่เป็นที่ปลุกขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนและเหล่าทหารที่ต้องสู้รบในยามศึก ในปัจจุบันก็ยังเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านทั่วไป
ภาพจาก : masaya sripum / shutterstock.com
คำกล่าวบูชาพระรอด
อิมัง พุทธะสักขีปะฏิมัง อะภิชะยามะ
อะยัง พุทธะปะฏิมายะ ปูชะนัสสะ
อานิสังโส อัมหากัง ทีฆะรัตตัง
หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาอย่างยิ่ง ซึ่งพระพุทธสักขีปะฏิมา (พระรอด) นี้
ขออานิสงส์แห่งการบูชาซึ่้งพระพุทธสักขีปะฏิมานี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานฯ
ภาพจาก : masaya sripum / shutterstock.com
3. วัดสันป่ายางหลวง
วัดสวยที่ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง ไม่ไกลจากตลาดเทศบาลเมืองลำพูนและสำนักงานเทศบาลเมืองลำพูน เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ของจังหวัด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1074 ประดิษฐานพระอัฐิธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พระสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอายุที่ยาวนานกว่าพันปี ทำให้วัดแห่งนี้ต้องผ่านพ้นหลายยุคหลายสมัย สถาปัตยกรรมของที่นี่จึงได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายวัฒนธรรม มีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นไว้อย่างสวยสดงดงาม และที่โดดเด่นที่สุดคือ ศิลปะแบบหริภุญชัยแท้ ๆ อย่าง พระวิหารพระโขงเขียว หรือพระวิหารพุทธรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย (พระหยกเขียวจากแม่น้ำโขง) มีการแกะสลักลายปูนปั้นไว้ในพระวิหารอย่างสวยงาม แม้กระทั่งมุมหน้าจั่ว เชิงเพดานหลังคาด้านต่าง ๆ รวมไปถึงเสาพระวิหารก็จะแกะสลัก ลงรักปิดทองไว้ และใช้วัสดุเสาไม้ตะเคียนทอง ไม้แดง จากประเทศลาว เมียนมา และไทยในการสร้าง นอกจากนี้ในอดียยังใช้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระนางจามเทวีด้วย จึงถือเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดลำพูนที่ควรไปสักการะสักครั้ง
คำกราบไหว้บูชาเจ้าแม่จามเทวี
ยา เทวี จะมะเทวีนามิกา อะภิรูปา อะโหสิ ทัสสะนียา ปาสาทิกา
พุทธสาสะเน จะ อะภิปะสันนา สา อตีเต เมตตายะ เจวะ ธัมเมนะ
จะ หะริภุญชะยะธานิยา รัชชัง กาเรสิ, อะหัง หะริภุญชะยานะคะระ
วาสีนังปิ มะหันตัง หิตะ สุขัง อุปาเทสิ, อะหัง ปะสันเนนะ
เจตะสา ตัง วันทามิ สิระสา สัพพะทาฯ
ภาพจาก : Bangprikphoto / Shutterstock.com
4. วัดจามเทวี
วัดเก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนา ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากวัดมหาวันวนารามเพียง 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 มีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง 5 ชั้น ฐานกว้าง 15.25 เมตร ความสูง 21 เมตร แต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนอยู่เป็นชั้น ๆ ภายในบรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ตามตำนานเล่าว่า เจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิของพระนาง เดิมมียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ แต่หายไป ชาวบ้านจึงเรียกว่า กู่กุด หรือชื่อทางการว่า พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ นอกจากนี้ยังมี รัตนเจดีย์ อยู่ด้านขวาของวิหาร รวมถึงมีกู่ที่บรรจุอัฐิของครูบาเจ้าศรีวิชัย และสถานที่พระราชทานเพลิงศพครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489
ภาพจาก : Supermop / shutterstock.com
คาถาบูชาพระแม่จามเทวี
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ยา เทวี จะมะเทวีนามิกา อะภิรูปา อะโหสิ ทัสสะนียา ปาสาทิกา
พุทธสาสะเน จะ อะภิปะสันนา สา อตีเต เมตตายะ เจวะ ธัมเมนะ
จะ หะริภุญชะยะธานิยา รัชชัง กาเรสิ, อะหัง หะริภุญชะยานะคะระ
วาสีนังปิ มะหันตัง หิตะ สุขัง อุปาเทสิ, อะหัง ปะสันเนนะ
เจตะสา ตัง วันทามิ สิระสา สัพพะทาฯ
- ที่ตั้ง : ถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
- Google Map : วัดจามเทวี
5. วัดพระยืน
วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองลำพูน มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญชัย ตั้งอยู่บ้านพระยืน ตำบลเวียงยอง ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอเมืองลำพูน โดยหลังจากที่พระนางจามเทวีขึ้นครองเมืองได้ 8 ปี ได้สร้างวัดนี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1213 เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระสังฆเถระที่ติดตามมาจากเมืองละโว้ มีชื่อว่า วัดอรัญญิการาม แต่บ้างก็ว่า พระเจ้าอัมมิกราช กษัตริย์หริภุญชัยเป็นผู้สร้างขึ้น สิ่งสำคัญภายในวัด คือ พระเจดีย์ทรงมณฑป มีพระพุทธรูปยืนทั้ง 4 ทิศ เครื่องบนประกอบด้วยเจดีย์ห้ายอด โดยมีเจดีย์ทรงระฆังและเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็กเป็นประธาน คล้ายกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกามและเจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ให้ได้สักการะ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าทันใจ ท้าวเวสสุวรรณ เป็นต้น
คำไหว้พระธาตุเจดีย์วัดพระยืน
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
สังเว จะเจติยัง กะกุสันทัง โกนาคะมะนัง
กัสสัปปัง โคตะมัง ศรีอริยะเมตตะยัง
อะหัง วันทามิ สัพพะทา
ข้าพเจ้าขอน้อมพระเจดีย์อันประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นสถานที่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
อันประกอบด้วย พระกะกุสัมโท พระโกนาคะมะโน พระกัสสะโป พระโคตะโม พระศรีอริยะเมตไตย
ขอจงประทานพร บารมีปกป้องคุ้มครองข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเทอญ
ภาพจาก : amnat30 / shutterstock.com
- ที่ตั้ง : บ้านพระยืน หมู่ที่ 1 ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
- Google Map : วัดพระยืน
6. วัดพระคงฤาษี
วัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวีครองเมืองหริภุญชัย ตั้งอยู่ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลเหมืองง่า ห่างจากศาลเจ้าแม่จามเทวีไม่เกิน 1 กิโลเมตร เดิมชื่อ วัดอาพัทธาราม พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างขึ้น เป็นหนึ่งในจำนวน 4 วัด เพื่อเป็นจตุรพุทธปราการ เมื่อปี พ.ศ. 1223 ประจวบกับก่อนหน้านี้มีฤาษี 2 ตน คือ พระสุเทวฤาษี และ พระสุกกทันตฤาษี ได้พบกัน ณ วัดแห่งนี้ เพื่อปรึกษาหารือในการสร้างหริภุญชัยนคร และเนื่องจากมีผู้พบพระพิมพ์เนื้อดินเผา เรียกว่า พระคง (พระเครื่องศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองลำพูน) ที่วัดแห่งนี้เป็นจำนวนมาก และเชื่อกันว่าเป็นพระคงที่ฤาษี 2 ตนนี้สร้างไว้ จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดพระคงฤาษี อีกทั้งตามตำนานยังเล่าว่า วาสุเทพฤาษี ได้ใช้ไม้เท้ากรีดพื้นเพื่อเขียนแผนผังเมืองลำพูนตรงพระเจีดย์นี้ พระนางจามเทวีจึงทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม แล้วให้นายช่างแกะสลักเป็นรูปพระฤาษีทั้ง 4 ตนไว้ แต่ละตนถือไม้เท้าในมือ รูปปั้นแกะสลักฤาษีสร้างด้วยศิลาแดง เมื่อทำเสร็จได้นำไปบรรจุไว้ภายในซุ้มประตูทั้ง 4 ด้านของพระเจดีย์ โดยทางทิศเหนือเป็นรูปวาสุเทพฤาษี ทิศตะวันออกเป็นรูปพระพรหมฤาษี ทิศตะวันตกเป็นรูปของพระสมณนารคฤาษี และทิศใต้เป็นรูปของสุกกทันตฤาษี
คำบูชาพระคงฤาษี
ฤ ฤ ฤาฤา ฤ ฤ ฤา ชาฤาษี นารอด
ฤาษีร้อยแปดประสิทธิเม
- ที่ตั้ง : ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
- Google Map : วัดพระคงฤาษี
7. วัดดอยติ
วัดสำคัญที่ตั้งอยู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าสัก ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2025 ไฮไลต์โดดเด่นคือ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ผู้ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยหลังจากพิธีพระราชทานเพลิงสรีระ ณ วัดจามเทวี ได้จัดสร้างสถูปหรือกู่บรรจุอัฏฐิไว้ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา
ภาพจาก : ploypemuk / shutterstock.com
คำไหว้ครูบาศรีวิชัย
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อะยัง วุจจะติ สิริวิชะโย นามะ มหาเถโร
อุตตะมะสีโล นะระเทเวหิ ปูชิโต โส ระโห
ปัจจะยาทีนัง มะหะลาภา ภะวันตุ เม
อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา
อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ
- ที่ตั้ง : บ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
- เฟซบุ๊ก : วัดดอยติ
- Google Map : วัดดอยติ
8. วัดพระพุทธบาทตากผ้า
ปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดลำพูน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง ระหว่างดอยม่อนช้างกับดอยเครือ ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จจาริกพร้อมด้วยสาวกไปตามสถานที่ต่าง ๆ จนถึงบริเวณนี้ ได้รับสั่งให้นำจีวรที่ซักระหว่างทางออกมาตากบนหน้าผาหิน จากนั้นจึงทรงอธิษฐานเหยียบพระบาท ประดิษฐานรอยไว้บนลานผาลาด ซึ่งปัจจุบันก็ยังปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายจีวรของพระอยู่ บนม่อนดอยเบื้องหลังวัดได้มีการสร้างพระเจดีย์ เป็นศิลปะที่ผสมผสานจากพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัย โดยมีบันไดนาค 469 ขั้น เชื่อมระหว่างเจดีย์บนม่อนดอยกับวัดพระบาทตากผ้าที่เชิงดอย นอกจากนี้ผู้คนยังนิยมไปไหว้ ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้าด้วย
ทั้งนี้ เมื่อถึงวันอัฐมีบูชา แรม 8 ค่ำ เดือนแปด ซึ่งเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่วัดจะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี
9. วัดบ้านเหล่าพระเจ้าตาเขียว
วัดในอำเภอป่าซาง ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเรือน ไม่ไกลจากวัดเกาะกลาง (โบราณสถานที่มีความเก่าแก่ของลำพูน) เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระเจ้าตาเขียว หรือ พระพุทธปฏิมาพระเนตรเขียว พระพุทธรูปโบราณขนาดใหญ่ ปางนั่งขัดสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 13 ศอก สูง 18 ศอก พระเนตรมีสีเขียว (ตามตำนานเล่าว่าเป็นแก้วมรกตมณีนิลจากแดนทิพย์ของพระอินทร์) การสร้างพระพุทธรูปนี้เริ่มสร้างเมื่อเดือนขึ้น 8 ค่ำ พ.ศ. 1235 เสร็จสมบูรณ์ เดือนยี่แรม 5 ค่ำ ปีพ.ศ. 1235 โดยสร้างครอบอุโมงค์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ (อุโมงค์ดังกล่าวอยู่ใต้พื้นพระพุทธรูปปัจจุบันนี้) นิยมไปไหว้ขอพรในเรื่องต่าง ๆ บริเวณหน้าด้านของพระวิหารจะมีรูปปั้นท้าวเวสสุวรรณอยู่ด้านซ้าย และรูปปั้นท้าวกุมภัณฑ์อยู่ทางด้านขวาให้ได้สักการะกันด้วย
10. วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
วัดที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอลี้ และยังเป็นวัดประจำหมู่บ้านของชาวปกาเกอะญอ บริเวณทางเข้าวัดจะมีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่ บริเวณวัดมีพื้นที่กว้างขวาง เป็นศาสนสถานที่สำคัญ ทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนห้วยต้ม ภายในมีเอกลักษณ์ที่สวยงามด้วยความเป็นล้านนา ทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลง ด้านหลังของวัดมีสถานที่สำคัญ ได้แก่ วิหารพระเมืองแก้ว ที่องค์พระธาตุได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม เป็นสถานที่บรรจุสรีระทิพย์ของ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เกจินักพัฒนา และ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย เจดีย์สีทองอร่ามที่จำลองมาจากเจดีย์ชเวดากอง ประเทศเมียนมา รายล้อมไปด้วยเจดีย์องค์เล็ก ๆ ทั้งหมด 16 องค์
คำไหว้พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ (หลวงปู่ครูบาวงศ์)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
สาธุ อาหัง นะมามิ พระชัยยะวงศาภิกขุ อะริเยนะ อังคะละวิชัยโย
ปัญฑิโต ทะสะปาระมิโย ทะสะอุปะปาระมิโย
กะตัง ปุญญังโน เมนาโถ เมนาถัง สิระสา นะมามิ
11. วัดบ้านปาง
วัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ตั้งอยู่บนเนินเขาบ้านปาง (ขับรถขึ้นไปได้) เป็นวัดที่ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนนา บวชเรียนเป็นวัดแรกและยังเป็นสถานที่ดับขันธ์มรณภาพอีกด้วย ภายในบริเวณวัดร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีโบสถ์วิหารสวยงาม รวมทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาศรีวิชัย เก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น สบง จีวร หมอน กระโถน เก้าอี้ และแจกัน เป็นต้น
คำนมัสการพระครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปาง
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อะยังวุจจะติ สิริวิชะยะจะนะ จะ มหาเถโร อุตตะมัง สีลัง
นะระเทเวหิ, ปูชิโต โสระโห, ปัจจะยาทิมหิ, มหาลาภา, ภะวันตุ เม,
อะหัง วันทามิ สัพพะทา, อะหัง วันทามิ สิระสา,
อะหัง วันทามิ สัพพะโส, สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ
(ดังข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้ พระมหาเถระเจ้ารูปใด ผู้มีนามว่าศรีวิชัยผู้มีศีลอันดุดม
ผู้อันนรชนและเหล่าทวยเทพทั้งหลายบูชาแล้วผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลทั้งปวง ด้วยการนอบน้อมนั้น
เป็นปัจจัย ขอลาภอันใหญ่ จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขออภิวาทซึ่งพระมหาเถระเจ้ารูปนั้น
ตลอดกาลทั้งปวง ข้าพเจ้าขออภิวาท ซึ่งพระมหาเถระเจ้ารูปนั้นด้วยเศียรเกล้า ข้าพเจ้าขออภิวาท
ซึ่งพระมหาเถระเจ้ารูปนั้นโดยประการทั้งปวง สาธุ สาธุ สาธุ (ดีละดีละดีละ)
- ที่ตั้ง : ถนนทางหลวงชนบท ลำพูน 5022 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น.
- Google Map : วัดบ้านปาง
12. วัดพระธาตุห้าดวง (เวียงเจดีย์ 5 หลัง)
วัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลลี้ อำเภอลี้ ห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้ไปทางใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากวัดพระธาตุดวงเดียวเพียง 1 กิโลเมตร ตามตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวี กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย ทรงได้ยินข่าวจากราษฎรเมืองลี้ว่า มีดวงแก้ว 5 ดวงปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เสด็จฯ มาดูด้วยพระองค์เองในเวลากลางคืน และได้ทอดพระเนตรเห็นแสงสว่างจากดวงแก้วทั้ง 5 ดวง ลอยอยู่บนกองดิน 5 กอง จึงได้สอบถามความเป็นมาและทราบว่าคือพระเมโตธาตุ (น้ำไคลมือ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เคยล้างพระหัตถ์และน้ำไหลผ่านปลายนิ้วทั้งห้าลงพื้นดิน พระนางจึงเกิดความศรัทธาและได้สร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้ง 5 กองไว้ โดยทุกวันที่ 20 เมษายน ของทุกปี จะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุห้าดวง
คำไหว้องค์พระธาตุห้าดวง
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อิมินา สักกาเรนะ อะหัง วันทามิ ภะคะวะโต เมโตธาตุ เจติยัง ยัง โทสัง กายะกัมมัง วะจีกัมมัง
มะโนกัมมัง สันจิตตะโทสัง จะ อะสันจิตตะโทสัง จะ ปะมาเทนะ กะตัง สัพพันตัง ขะมะตุ โน เมโตธาตุ
อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สัพพะโส อิมายะ ปูชายะ อัมหากัง
ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ วัฑฒะนายะ อนิสังโส สังวัตตะตุ
ข้าพเจ้าขอไหว้ซึ่งพระธาตุ อันเกิดจากน้ำล้างพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้
โทษอันใด อันข้าพเจ้ากระทำแล้ว ด้วยความประมาท อันเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ
เป็นโทษที่มีเจตนาและไม่มีเจตนา ขอพระเมโตธาตุ จงงดซึ่งโทษนั้นทั้งหมด แก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขอไหว้ด้วยเศียรเกล้า ข้าพเจ้าขอไหว้ในกาลทุกเมื่อ ข้าพเจ้าขอไหว้โดยประการทั้งปวง
ขออานิสงส์แห่งการบูชานี้ จงเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนานเทอญฯ
- ที่ตั้ง : บ้านพระธาตุห้าดวง ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 07.00-16.30 น.
- Google Map : วัดพระธาตุห้าดวง
13. วัดพระธาตุดวงเดียว (กลางเวียง)
วัดเก่าแก่ที่งดงามในอำเภอลี้ ตั้งอยู่บนเนินไม่ไกลจากตัวเมืองลี้มากนัก และห่างจากวัดพระธาตุห้าดวงเพียง 1 กิโลเมตร ตามตำนานเล่าว่า พระนางจามเทวี ผู้สร้างเมืองลี้ ได้รวบรวมไพร่พลอพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ได้พบกับช้างมงคล จึงได้อธิษฐานและเดินทางล่องมาตามแม่น้ำปิงจนถึงแม่น้ำลี้ ได้พบสถานที่เหมาะสำหรับตั้งบ้านเรือนเป็นหินใหญ่คล้ายไข่นกยูง ช้างมงคลก็ล้มลงที่จุดนั้น พระนางจามเทวีจึงเผาซากช้างและสร้างเจดีย์ครอบไว้ และเรียกว่า เจดีย์ดวงเดียว มีอายุ 1,000 กว่าปี ปัจจุบันเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ ทรงเหลี่ยม ย่อมุม รูปทรงเพรียวชะลูด สูงประมาณ 30 เมตร สร้างครอบเจดีย์องค์เดิมจนไม่เหลือเค้าเจดีย์เก่า
คำไหว้พระธาตุดวงเดียว
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ปะฐะมัง เจติยัง นะมะสะการัง จามรีนังนำมะ ปูชายัง เทวานังรักษะ นาคาราชะรักษะ สะรีระ ธาตุโย โคตะโม อิติปิโส ภะคะวา ขะมา สาธุ พุทธะ คารวะโต พุทธะธาตุง อะหังวันทามิ สัพพะทา นะมามิ หัง สาธุ ขะมามิ นิพพานะปัจจัยโย
- ที่ตั้ง : บ้านพระธาตุห้าดวง ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตลอดเวลา
- Google Map : วัดพระธาตุดวงเดียว
14. วัดพระพุทธบาทผาหนาม
วัดสวยที่มีอายุยาวนานกว่า 300 ปี ตั้งอยู่บนยอดเขา เดิมทีเป็นวัดร้าง แต่ได้รับแรงศรัทธาจากคนในหมู่บ้าน ช่วยกันบูรณะและพัฒนาวัดนี้ให้กลายเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของอำเภอลี้ ภายในวัดมี 2 จุดไฮไลต์ให้ได้ชม คือ ตัววัดที่ตั้งอยู่ด้านล่างจะมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของ ครูบาอภิชัยขาวปี เป็นจุดเด่น ซึ่งภายในวัดได้เก็บร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของท่านไว้ในโลงแก้ว หอปราสาทรักษาศพ ณ วัดพระพุทธบาทผาหนาม แห่งนี้ และในทุกวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี จะมีประเพณีเปลี่ยนผ้าห่อสรีระซึ่งมีผู้คนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ส่วนอีกจุดคือ องค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดดอย 2 องค์ ได้แก่ พระธาตุทองและพระธาตุขาว โดยมีสะพานไว้สำหรับเดินเชื่อมถึงกัน นอกจากจะได้กราบไหว้พระธาตุแล้ว ด้านบนยังถือเป็นจุดชมวิวบนยอดเขาที่มีความสวยงาม สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของอำเภอลี้ได้แบบ 360 องศาอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายให้สักการะ เช่น พระนอนตาหวาน จำลองมาจากเมียนมา
คำไหว้ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
สาธุ อะหัง นะมามิ พระอภิชัยยาชะนะภิกขุ เสตะเถระ
สีละวันตา นะวะโลกุต ตะระ ธัมมะ บัณฑิตตัง กะตัง
ปุญญัง ปะติสังขาระ วะระ พุทธะสาสะนัง อะระหันตะ
โพธิสัต โต ปุญญังโณ เมนาโถ สิระสา นะมามิ
15. พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
พระธาตุสูงใหญ่โดดเด่นกลางไร่สวนของชาวบ้านในอำเภอลี้ ศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย-กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ริเริ่มการก่อสร้างและออกแบบโดย ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา มีลักษณะเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ศิลปะล้านนา ฐานกว้างเทียบได้เท่ากับที่ดิน 1 ไร่ สูง 64.39 เมตร รอบ ๆ มีเจดีย์บริวารองค์เล็กอีก 28 องค์ ที่บัวยอดฉัตรทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ น้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม เส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 52 เซนติเมตร ด้านในขององค์พระธาตุจะบรรจุพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว จำนวน 84,000 องค์ พร้อมด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มากมาย
คำไหว้พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
วันทามิ พุทธัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะ เม ภันเต
วันทามิ ธัมมัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะ เม ภันเต
วันทามิ สังฆัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะ เม ภันเต
วันทามิ คุรุอุปัชฌาย์ อาจาริโย สัพพะเมโทสัง ขะมะถะ เม ภันเต
วันทามิ กัมมัฏฐาโน สัพพะเมโทสัง ขะมะถะ เม ภันเต
วันทามิ อราเม พัทธสีมายัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะ เม ภันเต
วันทามิ อุตตะมะชมพู วะระฐาเน สิงคุตตะระ มะโนรัมเม สัตตัง สะรัตนะ
ปะฐะมัง กกุสันธะ สุวัณณะทัณฑัง (ไม้เท้า) ธาตุโย ฐัสสะติ
ทุติยัง โกนาคะมะนัง ธัมมะกะระณัง (ที่กรองน้ำ) ธาตุโย ฐัสสะติ
ตะติยัง กัสสะปัง พุทธจีวะรัง (ผ้าจีวร) ธาตุโย ฐัสสะติ
จะตุตถัง โคตะมัง อัฏฐะเกศา (พระเกศา ๘ องค์) ธาตุโย ฐัสสะติ
วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพะฐาเน สุปติฏฐิตัง สรีระธาตุง
มหาโพธิง พุทธะรูปัง สะกะลัง สะทา นาคะโลเก เทวโลเก
พรหมโลเก ชมพูทีเป ลังกาทีเป สะรีระธาตุโย เกศาธาตุโย
อะระหันตาธาตุโย เจติยัง คันธะกุฏิง จะตุราสี ติสะหัสเส
ธัมมักขันเธ สัพเพสัง ปาทะเจติยัง
อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ ทูระโต
อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสาฯ
- ที่ตั้ง : หมู่ 8 บ้านหนองปู (ห้วยต้ม) ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
- Google Map : พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
16. วัดพระธาตุดอยห้างบาตร
วัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ห่างจากอำเภอบ้านธิเพียง 5 กิโลเมตร และไกลจากแกรนด์แคนยอนลำพูนไม่เกิน 10 กิโลเมตร เป็นเจดีย์ทรงจัตุรมุขสีขาว มีฉัตรทองอยู่ยอดเจดีย์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่มีตำนานเล่าว่า ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยลูกนี้ และเตรียมเสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ซึ่งการเตรียมบาตรในภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ห้างบาตร อีกทั้งได้ปรากฏร่องรอยห้างบาตรอยู่เป็นหลุมลึกลงไปในหินดินดาน และมีมณฑปครอบไว้ นอกจากนี้ยังมี พระเจ้าทันใจ ประดิษฐานภายในวิหาร สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย และหอชมวิวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลสุดสายตา
คำไหว้พระธาตุดอยห้างบาตร
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
เกสานัง ธาตุ ระถานัง นะมามิหัง อะหังวันทามิ สัพพะทา
- ที่ตั้ง : บ้านห้วยไซใต้ ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น.
- Google Map : วัดพระธาตุดอยห้างบาตร
17. วัดศรีดอนชัย
วัดเก่าแก่ของอำเภอบ้านธิ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากลำแม่น้ำกวง สถานที่ประดิษฐาน พระพุทธเฉลิมสิริราช พระพุทธรูปปางลีลา ความสูง 59 ศอก ซึ่งสูงและใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ สร้างขึ้นจากศรัทธาของประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธา เมื่อปี พ.ศ. 2538 นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ให้ได้สักการะอีกด้วย
ไหว้พระลำพูน อำเภอเวียงหนองล่อ
18. วัดบ้านดงหลวง
วัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ใกล้สะพานมิตรภาพวังผาง-ข่วงเปา สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2418 โดยตั้งชื่อว่า วัดบ้านดงหลวง ตามลักษณะของหมู่บ้าน ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย พระวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลาทรงไทย หอระฆัง หอมณฑป และปูชนียวัตถุมีพระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น และมีพระประธานในศาลาทรงไทยเป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะ
- ที่ตั้ง : บ้านดงหลวง ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
- Google Map : วัดบ้านดงหลวง
ไหว้พระลำพูน อำเภอทุ่งหัวช้าง
19. วัดพระธาตุดอยกวางคำ
วัดเก่าแก่ของอำเภอทุ่งหัวช้าง สร้างขึ้นโดย ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา มีตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งที่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาได้รู้ข่าวว่าบนดอยขุนห้วยโป่งแดง มีรอยพระบาทประทับอยู่บนก้อนดิน ท่านได้มาค้นหาและพบรอยพระบาทของพระมหาเถระ จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานและสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถาวรวัตถุ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ปัจจุบันภายในวิหารมีพระประธานทรงเครื่องปางพระมหาจักรพรรดิ ประดับด้วยเพชร พลอย รวมทั้งรอยพระพุทธบาทดอยกวางคำให้ได้สักการบูชา
- ที่ตั้ง : บ้านโป่งแดง-สัญชัย ตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
- Google Map : วัดพระธาตุดอยกวางคำ
ไหว้พระลำพูน อำเภอบ้านโฮ่ง
20. วัดพระเจ้าตนหลวง
วัดที่สำคัญของตำบลศรีเตี้ย ภายในวัดมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์ใหญ่ นามว่า พระเจ้าตนหลวง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 7.5 เมตร สูงตั้งแต่ฐานถึงพระโมลี 9.50 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1909 โดยพระเถระสิริราชวโส เพื่อหลีกเคราะห์กรรม และภัยพิบัติ จึงมีฉายาว่า พระเจ้าหลีกเคราะห์ โดยจะมีประเพณีสรงน้ำพระเจ้าหลีกเคราะห์ ในวันเดือน 8 เหนือ แรม 15 ค่ำ ของทุกปี
คำไหว้พระเจ้าหลีกเคราะห์ (พระเจ้าตนหลวง)
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
โย พุทโธ มังคะลัตถานัง สุมังคะโล โหติ ตัสสะ มหาพุทธะรูปัง วันทามิ
สัพพะทุกขะ สัพพะโรคะ สัพพะภัยยะ วินาสันตุ สะทา โสตถี ภะวันตุ โนฯ
ข้าพเจ้าขอกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ขอพระพุทธเจ้าผู้เป็น
มงคลดีของเหล่าชนผู้มีความต้องการมงคล ขอความทุกข์โศกโรคภัยทั้งหลาย
จงวินาศไป ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในการทุกเมื่อเทอญ
นี่เป็นสถานที่ไหว้พระลำพูนในอำเภอต่าง ๆ เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เรานำมาแนะนำกัน จังหวัดขนาดกะทัดรัดแห่งนี้ ยังมีวัดวาอารามอีกหลายแห่งที่มีเรื่องราวและความเป็นมาน่าสนใจ เอาเป็นว่าหากได้ไปเที่ยวลำพูนก็อย่าลืมไปไหว้พระ ทำบุญ ตามสถานที่ที่เราหยิบมาฝากกันนะ
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
บทความ เที่ยวลำพูน เที่ยวภาคเหนือ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง