ตระเวนไหว้พระราหู เสริมสิริมงคลให้ชีวิต

         ไหว้พระราหู ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หลากหลายสถานที่ไหว้พระราหู เสริมบุญ โชคลาภ และบารมีกันถ้วนหน้า

          เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  "พระราหู"  เป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่งในคติไทย ซึ่งมีความเชื่อกันว่าการบูชา "พระราหู" สามารถบันดาลประโยชน์และโทษให้เกิดขึ้นกับบุคคล หรือสิ่งต่าง ๆ ได้ ดังนั้นจึงได้มีคิดค้นวิธีการ "ไหว้พระราหู" เกิดขึ้น เพราะเชื่อทำให้สิ่งเลวร้ายอันอาจจะเกิดขึ้นบรรเทาเบาบางลงและแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ดี เกิดความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีโชคมีลาภ เจริญก้าวหน้าร่ำรวย เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงอาสาพาเพื่อน ๆ ไปตระเวนไหว้พระราหู ณ วัดต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต แต่จะมีที่ไหนบ้างนั้นตามเราเข้าไปชมกันดีกว่า...

          เกี่ยวกับ พระราหู มีเรื่องเล่าต่อ ๆกันมาว่าเป็นพระราหูนั้นเป็นยักษ์ที่มีหัวเป็นงู มีร่างกายเป็นมนุษย์ มีหางเป็นงู อาศัยอยู่ในท้องทะเลลึก วันหนึ่งพระราหูได้ดื่มน้ำอมฤตจากเกษียรสมุทร ทำให้พระราหูกลายเป็นอมตะ แต่พระอิศวรผู้เป็นเจ้าแห่งเหล่าเทพได้โกรธแค้นพระราหูที่ดื่มน้ำอมฤต จึงสาปพระราหูให้หัวขาดออกจากลำตัว แต่พระราหูก็ยังคงมีชีวิตอยู่เพราะอมตะ พระราหูจึงกลายเป็นอสูรที่มีหัวขาดและลำตัวเป็นงู พระราหูยังเป็นหนึ่งใน 78 เทพของไพ่เทวะมันตรา พยากรณ์ ซึ่งเป็นไพ่ทำนายโชคชะตา จุดประสงค์ของการทำนายก็เพื่อหาคำตอบให้กับแนวทางชีวิตในอนาคต และช่วยคลี่คลายปัญหาและความคับข้องใจหมองใจที่เกิดขึ้นกับเรา


สถานที่ไหว้พระราหู


พระราหู

สถานที่ไหว้พระราหู ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด


           + วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพมหานคร ประชาชนนิยมไปไหว้พระนารายณ์ทรงครุฑประทับยืนบนพระราหู ซึ่งตั้งอยู่ในบนวิหารหลังเก่าของวัดไตรมิตรวิทยาราม เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิต โดยวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เปิดให้ไหว้บูชาพระราหูที่พระวิหารหลังเก่า ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. ซึ่งเปิดทำการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ และหากวันพุธไหนตรงกับวันข้างแรม จะมีการเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วยตั้งแต่เวลา 19.00-21.00 น. 

          + วัดขุนจันทร์ ตลาดพูล กรุงเทพมหานคร โดยจะมีการเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมพิธีสวดนพเคราะห์-พระราหู ณ บริเวณลานหลวงพ่อใหญ่วัดขุนจันทร์ ซึ่งสามารถอัพเดทวันและเวลาได้จาก เฟซบุ๊ก วัดขุนจันทร์ ทั้งนี้สำหรับค่าบูชาเครื่องไหว้พระราหู เฉพาะพุธสิ้นเดือน ราคา 99 บาท ส่วนวันธรรมดาอื่น ราคา 49 บาท หรือเตรียมมาเอง ตามแต่สะดวก

          + วัดท่ากระบือ จังหวัดสมุทรสาคร จะมีพิธีไหว้บูชาพระราหู ทุกวันพุธและทุกวันพระ เวลา 18.00 น. โดยจะมีการถือศีลทำวัตรปฏิบัติกรรมฐานด้วย

          + วัดท่าไม้ จังหวัดนครปฐม ทุกวันพุธทางวัดจัดพิธีบูชาพระราหู โดยมีการสวดนพเคราะห์เสริมสิริมงคล ทั้งนี้ ทางวัดไม่มีของดำบริการ ต้องเตรียมมาเอง 
 
          + วัดศีรษะทอง จังหวัดนครปฐม เป็นวัดที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เพราะมีประชาชนเป็นจำนวนมาก นิยมมาสักการบูชาพระราหูที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลที่วัดนี้ โดยทางวัดได้จัดสร้างพระราหูขนาดใหญ่ ไว้ให้ประชาชนได้มาสักการบูชา ซึ่งสามารถไหว้พระราหูได้ทุกวัน (ยกเว้นวันพระ) และหากใครไม่ได้เตรียมของดำไปไหว้พระราหู ทางวัดมีของดำไว้บริการ

           + วัดสมานรัตนาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปพระราหูองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คุ้มดวงคุ้มภัย หรือแก้ปีชง




          ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่ระบุของไหว้เพราะเชื่อว่าในแต่ละพื้นที่อาจจะไม่สามารถหาของได้เหมือนกัน ของบางอย่างมีราคาถูกแพง ดังนั้นดีที่สุดคือการหาของที่สะดวกและพอเหมาะกับสตางค์ในกระเป๋า ส่วนจำนวนธูปให้ใช้ตามจำนวนของที่ไหว้ ถ้าไหว้ 8 อย่างก็ใช้ธูป 8 ดอก

วิธีไหว้พระราหู


          การไหว้พระราหูควรทำวันพุธตอนกลางคืน ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. โดยการบูชาครั้งแรกจงบูชาด้วยของดำ 8 อย่าง และธูปดำ 8 ดอก และวันพุธต่อไปให้บูชาด้วยเหล้า 1 จอก ธูปดำ 8 ดอก
 
          คาถาบูชาพระราหู (ตั้งนะโม 3 จบ)

          บทสวดบูชาพระราหู
 

          กินนุ สันตะระมาโน วะราหุ สุริยัง ปะมุญจะสิ     
          สังวิคคะรูโป อาคัมมะกินนุ ภีโต วะ ติฏฐะสีติ 
          สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ  
          พุทธะคาถาภิคีโตมหิ โน เจ มุญเจยยะ สุริยันติ
          กินนุ สันตะระมาโน วะราหุ จันทัง ปะมุญจะสิ     
          สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต วะ ติฏฐะสีติ
          สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ 

          พระคาถาสุริยะบัพพา 

          กุสเสโตมะมะ กุสเสโตโต ลาลามะมะ
          โตลาโม โทลาโมมะมะ โทลาโมมะมะ
          โทลาโมตัง เหกุติมะมะ เหกุติฯ

          พระคาถาจันทบัพพา

          ยัตถะตังมะมะ ตังถะยะ ตะวะตัง
          มะมะตัง วะติตัง เสกามะมะ
          กาเสตัง กาติยังมะมะ ยะติกาฯ

          จากนั้นกล่าวคำถวายเครื่องสังเวยพระราหู ดังนี้

          นะโมเม พระราหูเทวานัง ธูปะทีปะ
          จะปุปผัง สักการะวันทะนัง สูปะพะยัญชะนะ
          สัมปันนัง โภชะ นานัง
          สาลีนัง สะปะริวารัง อุทะกังวะรัง
          อาคัจฉันตุ ปะริภุญชันตุ สัพพะทา
          หิตายะ สุขายะ พระราหูเทวา
          มะหิทธิกา เตปิ อัมเห
          อะนุรัก ขันตุ อาโรคะ
          เยนะ สุเขมะจะฯ
         
          ข้าพเจ้า (ชื่อ-นามสกุล) ขอบูชาพระราหูด้วยของดำ (8 หรือ 12) อย่าง ขอให้อิทธิพลของดาวราหูจงส่งผลดีแก่ดวงชะตาของข้าพเจ้า ขอให้เกิดทางสว่างในหน้าที่การงาน ขอให้มีสุขภาพที่แข็งแรงปราศจากโรคร้ายใด ๆ ขอให้มีสติในเรื่องความรัก ขอให้ดาวราหูประทานพรโชคลาภและความสำเร็จแก่ข้าพเจ้า (อธิฐานเรื่องอื่น ๆ ตามที่ปรารถนา)

         จากนั้นให้ตั้งของบูชาทิ้งไว้ เมื่อธูปหมดดอกก็เป็นอันเสร็จพิธี ให้นำของบูชาทั้งหมดมารับประทานได้และก่อนทานของไหว้ควรท่องคาถา "คะ พุท ปัน ทู ธัม วะ คะ"

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก หมอช้าง ทศพร ศรีตุลา, wattraimitr-withayaram.com,
watkhunchan.com และ watphrarahoo.com                      




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตระเวนไหว้พระราหู เสริมสิริมงคลให้ชีวิต อัปเดตล่าสุด 25 กรกฎาคม 2566 เวลา 10:35:57 94,419 อ่าน
TOP
x close