บุญข้าวประดับดิน ทำความรู้จักประเพณีโบราณบุญเดือนเก้าของชาวอีสาน

           บุญข้าวประดับดิน คืออะไร ? ทำความรู้จักกับประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน การทำบุญเดือนเก้า มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ? จัดขึ้นเมื่อไร ? พร้อมรายละเอียดประเพณีที่เรานำมาฝากกัน
           ใครที่ไปเที่ยวภาคอีสานช่วงนี้ อาจจะได้พบกับงานบุญข้าวประดับดิน ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่อยู่คู่กับความเชื่อของชาวไทยมาช้านาน โดยจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน 9 ของทุกปี โดยในปี 2567 ตรงกับวันที่ 2 กันยายน 2567 ส่วนประเพณีนี้คืออะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีพิธีกรรมอย่างไรบ้าง เรามีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับงานบุญข้าวประดับดินมาฝากกัน

บุญข้าวประดับดิน คืออะไร ?

           บุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสอง เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว คล้ายประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่นิยมไหว้ในวันสารทจีน ด้วยการจัดของเซ่นไหว้ “ข้าวประดับดิน” ซึ่งจะประกอบด้วย ข้าว อาหารคาว-หวาน พร้อมหมาก-พลู และบุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง โดยนิยมห่อหรือใส่กระทงวางไว้ตามพื้น ใต้ต้นไม้ หรือแขวนไว้ตามต้นไม้บริเวณวัด หรือตามกำแพงวัด
บุญข้าวประดับดิน

ภาพจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด

บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นเมื่อไร มีพิธีกรรมอย่างไร ?

           บุญข้าวประดับดิน เป็นพิธีที่เกิดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะเตรียมอาหารคาว-หวาน ได้แก่ เนื้อ ปลา เผือก มัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ เป็นต้น และหมาก-พลู ยาสูบ (บุหรี่) ไว้ไห้พร้อม เพื่อจัดเลี้ยงกันในครอบครัว และทำบุญถวายพระภิกษุ สามเณร รวมถึงกันเป็นบางส่วนเพื่อทำอุทิศให้แก่ญาติที่ตายไปแล้ว โดยนําข้าวปลาอาหารคาว-หวาน หมาก-พลู บุหรี่อย่างละเล็กละน้อย ห่อด้วยใบตองเป็น 2 ห่อกลัดติดกันเตรียมไว้ตั้งแต่หัวค่ำ หรือบางบ้านจะใส่ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็ได้
บุญข้าวประดับดิน

ภาพจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด

          พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ประมาณ 04.00-06.00 น. ชาวบ้านจะนำอาหารที่ห่อหรือใส่กระทงไว้ไปถวายหรือแขวนในบริเวณวัด บริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลา ตามกิ่งไม้หรือต้นไม้ใหญ่ ๆ ในบริเวณวัด หรือเรียกว่า การยายห่อข้าวน้อย (ยาย ภาษาอีสานหมายความว่า การวางเป็นระยะ ๆ) พร้อมกับจุดเทียนและบอกกล่าวแก่เปรตหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว ให้มารับเอาอาหารและผลบุญในครั้งนี้ ซึ่งจะพากันทําเงียบ ๆ ไม่มีฆ้องกลองแห่แต่อย่างใด หลังจากยายห่อข้าวน้อยเสร็จแล้ว จะกลับบ้านเตรียมหุงหาอาหารตอนรุ่งเช้าของวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เพื่อนําไปทําบุญตักบาตรเลี้ยงพระ จากนั้นพระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอานิสงส์ของบุญข้าวประดับดินและให้พร พร้อมกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับด้วย
บุญข้าวประดับดิน

ภาพจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด

           บุญข้าวประดับดิน นอกจากจะเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศล ยังถือเป็นการทำทานให้กับสัตว์จรจัดที่หิว อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้อย่างเต็มที่

บุญข้าวประดับดิน 2567

         สำหรับปี 2567 งานบุญข้าวประดับดิน ประเพณีการทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 2 กันยายน 2567 โดยมีกิจกรรมการจัดงานดังนี้ 

         กิจกรรมช่วงเช้า

         เวลา 04.00 น. ให้สัญญาณกลองดึก (ตีกลองดึก), ยาย(วาง) ห่อข้าวประดับดิน 

         เวลา 07.30 น. พิธีไหว้พระรับศีลทำบุญตักบาตร

         เวลา 08.00 น. ฟังพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ /รับพร
 

         กิจกรรมช่วงเย็น

         เวลา 16.30 น. ทำวัตรเย็น เจริญพระพุทธมนต์, เจริญจิตภาวนา / แผ่เมตตา

สถานที่จัดงานบุญข้าวประดับดิน

          สำหรับสถานที่จัดงานบุญข้าวประดับดิน ส่วนใหญ่จะนิยมจัดขึ้นในบริเวณลานเจดีย์ หรือโบสถ์ของแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะตกลงจัดกันขึ้นที่ไหนในปีนั้น ๆ โดยปกติในปีที่ผ่าน ๆ มา จะมีการจัดงานบุญข้าวประดับดินในหลายจังหวัดและหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ได้แก่ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม, วัดวิมลนิวาส จังหวัดร้อยเอ็ด, วัดสระแก้ว จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น

มูลเหตุความเป็นมาของบุญข้าวประดับดิน

          ประเพณีบุญข้าวประดับดิน เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบท ว่าด้วยเมื่อครั้งสมัยพุทธกาล มีญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกเงินวัด รวมถึงของสงฆ์ต่าง ๆ ไปเป็นของตนเอง ทำให้ตายไปแล้วจึงเกิดเป็นเปรตในนรก เมื่อพระเจ้าพิมพิสารไปถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์แล้วมิได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ ถึงเวลากลางคืนพวกเปรต ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร จึงพากันมาส่งเสียงร้องโหยหวนรบกวนเพื่อขอส่วนบุญ พอเช้าวันรุ่งขึ้น พระเจ้าพิมพิสารจึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแจ้งเหตุให้ทราบ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบจึงได้ทำบุญถวายทานอีก และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้อง จึงทำให้เกิดเป็นประเพณีบุญข้าวประดับดินขึ้นสืบมา

ของเซ่นไหว้ บุญข้าวประดับดิน มีอะไรบ้าง ?

          หลายบ้านในภาคอีสานจะเรียกของเซ่นไหว้ในบุญข้าวประดับดินว่า ห่อข้าวน้อย ซึ่งมีวิธีการห่อและต้องเตรียมของเซ่นไหว้ ดังนี้

  • ฉีกใบตองออกให้มีขนาดกว้างเท่ากับหนึ่งฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซี่ของใบกล้วย

  • นําข้าวเหนียวนึ่งสุกป่นเป็นก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ วางบนใบตองที่จะห่อ

  • แกะเนื้อปลา ไก่ หมู ใส่ลงไปอย่างละเล็กน้อย (ถือว่าเป็นอาหารคาว)

  • ใส่น้ำอ้อย กล้วยสุก มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่น ๆ ลงไปอีกนิด (ถือว่าเป็นของหวาน)

  • ใส่หมาก 1 คำ บุหรี่ 1 มวน เมี่ยง 1 คำ

  • ห่อใบตองเข้าหากัน โดยใช้ไม้กลัดหัวท้ายและตรงกลาง จะได้ห่อข้าวน้อยที่มีลักษณะยาว ๆ (คล้ายห่อข้าวเหนียวปิ้ง) 

บุญข้าวประดับดิน

ภาพจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด

ของเซ่นไหว้ใน บุญข้าวประดับดิน

          สําหรับจํานวนของห่อข้าวน้อยนี้ควรจะให้มีมากกว่าจํานวนญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะจะต้องมีจํานวนหนึ่งเผื่อเปรตหรือผีไม่มีญาติด้วย

บุญข้าวประดับดิน กับ บุญข้าวสาก ต่างกันอย่างไร ?

           หลายคนอาจจะสับสนระหว่าง บุญข้าวประดับดิน และ บุญข้าวสาก แม้ว่าจะเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ บุญข้าวประดับดิน นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เป็นการทำบุญให้ทานแบบไม่เฉพาะเจาะจง เน้นไปที่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว สัมภเวสี และเปรต แต่สำหรับ บุญข้าวสาก จะนิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 และมีการระบุชื่อผู้ที่ต้องการให้ได้รับผลบุญอย่างชัดเจน

ความแตกต่างระหว่าง บุญข้าวประดับดิน และ บุญข้าวสาก มีอยู่ 2 ข้อใหญ่ ๆ คือ

  1. บุญข้าวสาก จะเป็นการจัดข้าวปลาอาหารไว้เป็นสำรับ จากนั้นจะทำ “สาก” หรือสลาก ที่มีคำอุทิศและชื่อของผู้ที่ต้องการให้มารับส่วนกุศล จากนั้นนำสำรับอาหารนี้ไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ก่อน แล้วจึงนำไปวางไว้ตามพื้นวัด หรือตามต้นไม้ เพื่อให้ผู้ล่วงรับที่ได้ระบุชื่อไว้บนสลากมารับส่วนบุญ
     

  2. ของเซ่นไหว้ใน บุญข้าวสาก จะถูกห่อด้วยใบตองกลัดหัวท้าย รูปทรงคล้ายกลีบข้าวต้ม แต่ไม่พับสั้น และต้องเย็บติดกันเป็นคู่ ประกอบด้วย

    • ห่อที่ 1 คือ หมาก-พลู และบุหรี่ 

    • ห่อที่ 2 คือ อาหารคาว-หวานอย่างละเล็กละน้อย ประกอบด้วย อาหารคาว เช่น ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ และเนื้อหมู ส่วนของหวาน ได้แก่ กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด และฟักทอง แล้วแต่จะเลือกใส่ 

บุญข้าวประดับดิน

ภาพจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด

ของเซ่นไหว้ใน บุญข้าวสาก

          บุญข้าวประดับดิน นับเป็นประเพณีดี ๆ ที่สืบทอดมาแต่โบราณ และน่าอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป เพราะเป็นประเพณีที่มีเสน่ห์ เรียบง่ายตามวิถีของชาวไทยอีสาน และส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของสมาชิกในหมู่บ้านเพื่อมาทำบุญทำทานร่วมกันด้วย 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

แนะนำ งานเทศกาลท่องเที่ยว ที่เที่ยวภาคอีสาน อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด (1), (2), สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บุญข้าวประดับดิน ทำความรู้จักประเพณีโบราณบุญเดือนเก้าของชาวอีสาน อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2567 เวลา 09:25:46 84,674 อ่าน
TOP
x close