หากพูดถึง “นางาซากิ” ความทรงจำแรกที่เรามักจะหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นเสมอ นั่นคือ ความทรงจำในบทเรียนวิชาสังคมศึกษา โดยมีภูมิหลังในฐานะเมืองที่เป็นประวัติศาสตร์โลก ที่โดนระเบิดนิวเคลียร์ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นับจากวันนั้นถึงวันนี้ กาลเวลาเคลื่อนที่ไปข้างหน้า พร้อมเยียวยาร่องรอยบาดแผลทางประวัติศาสตร์


ตอนนี้...ที่นี่กลายเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนแบบไม่ขาดสาย ด้วยเพราะสถานที่ท่องเที่ยวดึงดูดน่าสนใจหลากหลาย เช่น การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม เนื่องจากนางาซากิเป็นเมืองท่าสำคัญของญี่ปุ่น จึงรับเอาวัฒนธรรมจากยุโรปและจีนมาผสมผสาน จนเกิดเป็นชุมชนชาวต่างชาติต่าง ๆ แหล่งท่องเที่ยวทะเล แหล่งออนเซ็น และภูเขาไฟ หลากหลายพิกัดทั้งลับและไม่ลับของนางาซากิที่แวะไปเช็กอินครั้งนี้ เผยภูมิหลังตลอดจนรายละเอียดวิถีชีวิตผู้คนหลากหลายเรื่องราว
การเดินทางมายังจังหวัดนางาซากิ ก็ง่ายแสนง่าย โดยนักท่องเที่ยวสามารถนั่งเครื่องมาลงสนามบินนานาชาติฟูกุโอกะ แล้วต่อรถไฟหรือรถบัส เพื่อเดินทางเข้าตัวเมือง หากในทริปครั้งนี้ของเรา เราและบล๊อกเกอร์จากเว็บไซต์ลาพักเที่ยวเลือกจะเดินทางมายังนางาซากิด้วยเรือเฟอร์์รี่จากจังหวัดคุมาโมโตะ เพื่อมาลงที่เมืองชิมาบาระ ซึ่งก็ได้รับความสะดวกสบายไม่แพ้กัน นั่งมาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง สัญญาณหวูดของเรือเฟอร์รี่ก็ดังขึ้น เปรียบเสมือนสัญญาณเริ่มต้นเวลาแห่งการสำรวจนางาซากิ ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย...
พิกัดที่ 1 Carp Swimming Street หมู่บ้านปลาคาร์พ



เหล่าปลาคาร์พกำลังว่ายน้ำอวดโฉมแก่นักท่องเที่ยว
เอาจริง ๆ การหาที่เที่ยวดูปลาคาร์พที่ญี่ปุ่น อาจไม่ใช่เรื่องยากเย็นเกินไปนัก ลำพังตามสวนสาธารณะต่าง ๆ ที่มีบ่อน้ำ ก็มีโอกาสเห็นฝูงปลาคาร์พแหวกว่ายไป-มาแล้ว จริง ๆ แล้วก็ดูเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่สำหรับเมืองชิมาบาระ มีอะไรให้คุณได้ตื่นเต้นมากกว่านั้น เพราะในเมืองนี้มีถนนสายหนึ่งที่ชื่อว่า Carp Swimming Street (Koi No Mizube Michi) ตลอดบริเวณของถนนสายนี้ จะมีฝูงปลาคาร์พแหวกว่ายเป็นทางยาวตลอดคูน้ำสองข้างทางของถนน จะว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อก็ไม่เชิง หากแต่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่า ท่อน้ำทิ้งซึ่งเป็นทางลำเลียงน้ำเสียที่ออกจากโรงงานและอาคารบ้านเรือน กลับถูกเหล่าปลาคาร์พจับจองอาณาเขตเป็นที่อยู่ของตัวเองได้อย่างไรกัน ?

ณ ท่อระบายน้ำในเมืองชิมาบาระ ใสกิ๊งจนปลาคาร์พว่ายน้ำเล่นได้

พลันใช้สายตาเปล่าสำรวจเพียงชั่ววินาทีเท่านั้น เราก็ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเหล่าปลาคาร์พถึงดำรงชีวิตอยู่ในท่อน้ำเสียเมืองนี้ได้ เพราะน้ำใสกิ๊ง ชนิดที่เรียกว่าไม่มีอะไรมาเจือปน แม้แต่เศษขยะลอยน้ำมาสักชิ้น ยังไงก็ดูเป็นของหายากอย่างน่าเหลือเชื่อ สิ่งแปลกปลอมในน้ำเพียงอย่างเดียวที่ดูไม่เข้าพวกมากที่สุด เห็นจะมีแต่เศษใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นตามแรงโน้มถ่วงของโลก


พิกัด Google Maps : Carp Swimming Street
พิกัดที่ 2 Shimabara เรียนรู้การเดินทางของเส้นโซเมน
โซเมน หรือ บะหมี่เย็น อาหารเย็นอีกหนึ่งประเภทของญี่ปุ่น ลักษณะของเส้นโซเมนเป็นเส้นเรียว เล็ก สีขาวนวล ดูเผิน ๆ คล้ายกับเส้นขนมจีนบ้านเรา หากจะแตกต่างกันที่กรรมวิธีการผลิต ที่คงมาตรฐานความใส่ใจและพิถีพิถันมาจนถึงปัจจุบัน ณ เมืองชิมาบาระ แห่งนี้ ถือเป็นแหล่งผลิตเส้นโซเมนขึ้นชื่อของนางาซากิ โดยมีโรงงานประมาณ 200 กว่าแห่ง ผลิตเส้นโซเมนส่งออกทั่วประเทศญี่ปุ่น


การเดินทางของเส้นโซเมนแห่งเมืองชิมาบาระเริ่มต้นตั้งแต่เช้ามืดของทุกวัน ส่วนผสมสำคัญของเส้นโซเมนประกอบไปด้วยทั้งหมด 3 อย่าง คือ แป้งสาลี น้ำ และเกลือ ในแต่ละวันจะใช้แป้งสาลีกว่า 300 กิโลกรัม เท่ากับเสิร์ฟได้ประมาณ 3,000 จาน นำส่วนผสมทั้งสามเข้าเครื่องนวด ความละเอียดและซับซ้อนสำหรับการทำเส้นโซเมนเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนนี้เป็นต้นไป เราพยายามทำความเข้าใจกับข้อมูลตรงหน้าอย่างตั้งใจ หากนั่นก็ไม่เพียงพอที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูด นอกเสียจากว่าเดินทางมาเห็นด้วยตาตัวเอง แม้แต่รอยตำหนิเพียงเล็กน้อยที่ทำให้เส้นโซเมนออกมาไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ปรากฏให้เราเห็นง่าย ๆ



การทำเส้นโซเมนที่ทุ่มเททั้งแรงกายและความใส่ใจในทุก ๆ ขั้นตอนการผลิต
หลังผ่านขั้นตอนของการ นวด ดึง ยืด หมุน...นวด ดึง ยืด หมุน...นวด ดึง ยืด หมุน ของเส้นโซเมนเป็นสิบ ๆ รอบจนทุกอย่างได้ที่ ขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การตัดเส้นโซเมน ซึ่งมาตรฐานทั่วไปต้องตัดความยาว 19 เซนติเมตร ห่อหนึ่งจะบรรจุน้ำหนัก 50 กรัม ไม่ขาดไม่เกินไปกว่านี้

หน้าตาของเส้นโซเมน ความยาว 19 เซนติเมตร เป๊ะ ! ไม่มีขาดไม่มีเกิน




นำเส้นโซเมนจุ่มลงในน้ำร้อน ๆ

ไม่นานเส้นโซเมนก็ค่อย ๆ คลายตัวนิ่มลงทันใด


เวลากิน จุ่มกับซอสทสึยุ “อืมมมมม...โออิชิ”
เราอดคิดไม่ได้เลยว่า เพราะอะไรที่ทำให้เราดื่มด่ำกับเส้นโซเมนเป็นจริงเป็นจังได้ขนาดนั้น นั่นอาจเป็นเพราะเราไม่ได้แค่อิ่มเอมกับความอร่อยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ละเส้นที่กิน เราได้ละเลียดเรื่องราวการเดินทางของเส้นโซเมนเข้าไปด้วย นี่ต่างหากที่ทำให้เส้นโซเมนแห่งชิมาบาระยังคงมีเสน่ห์ติดตรึงนักกินทั้งหลายมาถึงวันนี้
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : เว็บไซต์ nouchi-seimen.jp, เฟซบุ๊ก のうち製麺【大八屋】
พิกัดที่ 3 Unzell Onsen ชมน้ำพุร้อนธรรมชาติขึ้นชื่อ
เมื่อมานางาซากิทั้งที อีกหนึ่งพิกัดที่เที่ยวที่ไม่ควรมองข้าม ต้องที่ “Unzell Onsen” ที่นี่เป็นเมืองน้ำพุร้อน ตั้งอยู่ใกล้กับยอดเขาอันเซ (Mount Unzen) ธรรมชาติและความสงบ ยังคงเป็นจุดขายที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนมาแล้วนักต่อนัก

หมอกควันขาวเคลื่อนที่ลอยละลิ่วตามแรงลม และปกคลุมพื้นที่ถนนบางส่วน เราสาวเท้าเดินไปดูที่มาของกลุ่มควันดังกล่าวอย่างสนใจใคร่รู้ กลิ่นกำมะถันยิ่งแรงขึ้นตามจำนวนฝีเท้าที่เคลื่อนเข้าใกล้ จนสุดท้ายก็ยืนเผชิญหน้ากับกลุ่มควันอย่างจัง และไม่ทันตั้งตัว กลุ่มควันก็ลอยล้อมรอบตัว ทุกอย่างกลายเป็นสีขาวโพลน เมื่อจังหวะลมเปลี่ยนทิศ เราถึงค่อย ๆ เห็นทุกอย่างคืนสภาพกลับดังเดิม และนี่คือบางส่วนของปรากฏการณ์ความตื่นเต้นที่เราเจอ ณ บ่อน้ำพุร้อน Jigoku



มองไปทางไหนก็เจอแต่กลุ่มควันจากบ่อน้ำพุร้อนที่กำลังพวยพุ่ง



เจ้าถิ่นสี่ขา รอทำหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างน่าเอ็นดู


พิกัดที่ 4 Guchinotsu ชมความน่ารักเหล่าฝูงโลมา



เรือนักท่องเที่ยวอีกลำที่กำลังแล่นสู่ท้องทะเลเพื่อชมฝูงโลมา

“นั่นไง ! โลมาโผล่มาให้เห็นแล้ว”



ฝูงโลมาที่นี่ไม่มีเคอะเขิน อวดโฉมว่ายน้ำเล่นให้เราดูกันเพลิน ๆ
โลมาที่แหวกว่ายและกระโดดไป-มาเหนือผืนน้ำที่สะท้อนแสงระยิบระยับ ชั่วเวลาหนึ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าได้อยู่ท่ามกลางสวรรค์ของเหล่าโลมา ใครอยากสัมผัสช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้นจากประสบการณ์ที่ไม่เคยพบจากที่ไหนมาก่อน เห็นทีว่าต้องลองดูสักครั้ง และที่สำคัญ...มีให้ชมตลอดทั้งปีอีกด้วย
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : เว็บไซต์ dolwatch.jp
พิกัด Google Maps : Guchinotsuพิกัดที่ 5 Misoji-en Park ตามหาใบไม้เปลี่ยนสี

ตะลึงกับความสวยงามของใบไม้เปลี่ยนสี จนหลงคิดว่าตัวเองเป็นนางเอกในซีรีส์


จะว่าไปก่อนหน้านี้ที่นี่ยังเป็นพิกัดแบบลับ ๆ ที่ยังไม่ค่อยรู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมากนัก หากแต่ความงดงามได้ล่อตาล่อใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ที่นี่จะแปรสภาพเป็นสรวงสวรรค์ เมเปิลยืนต้นตระหง่านบนพื้นที่กว้าง ถูกตกแต่งด้วยกลีบใบไม้สีเหลือง ส้ม แดง คละเคล้ากันไป ดูราวกับภาพวาดของจิตรกรเอกที่สะบัดสีผ่านปลายพู่กันอย่างชำนาญ




ไม่ว่าจะเป็นมุมไหนของสวนก็ถ่ายรูปสวยทุกมุม


สามารถเช็กตารางใบไม้เปลี่ยนสีได้ที่ : unzen-amakusa.jp
พิกัด Google Maps : Misoji-en Parkพิกัดที่ 6 Fruit Bus Stop จุดเช็กอินสุดคูล ไว้อัปลงโซเชียล


ป้ายรถเมล์สตรอว์เบอร์รีและเมลอน น่ารักน่าเอ็นดู !


พิกัด Google Maps : Fruit Bus Stop
เต็มอิ่มกับพิกัด (ไม่ลับ) สำหรับการเที่ยวนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น แบบจุใจ ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดแห่งภูมิภาคคิวชู ที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลงรักเสน่ห์แบบไม่มีเบื่อ ของอย่างนี้ แค่พูดอย่างเดียวอาจไม่เห็นภาพ เท่ากับเดินทางมาเปิดประสบการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง แล้วอย่าลืม...มาตามหาหัวใจที่ “นางาซากิ” กันนะ สุดท้ายขอขอบคุณกรมการขนส่งคิวชู และจังหวัดนางาซากิ ที่สนับสนุนการเดินทางตลอดจนอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นอย่างดี ^ ^